ช่วยแนะนำด้วยครับ ผมทุกข์ทรมานกับการดำรงชีวิตมากเลยครับ

 
วิษณุ
วันที่  10 มี.ค. 2552
หมายเลข  11570
อ่าน  6,066

ผมเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เป็นโรคในกลุ่มวิตกกังวล

อาการคือเมื่อมีความคิดเกิดขึ้น และกังวล เรื่องหนึ่งเรื่องใด (ย้ำคิด)

ก็จะต้องทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ (ย้ำทำ) เพื่อลดความวิตกกังวล

ยกตัวอย่างเช่น เวลาเช็คความถูกต้องของตัวเลขในขณะที่เช็คอยู่เกิดความคิดขึ้นมาว่า

ไม่ถูกหรือไม่แน่ใจ ทำให้เกิดความกังวล จนต้องเช็คแล้วเช็คอีกเพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้อง

บางทีเช็คจนหยุดไม่ได้ทำให้เกิดความเครียด

หรือเวลาออกจากบ้านแล้วล็อคกุญแจบ้าน แล้วเกิดไม่แน่ใจว่าล็อคเรียบร้อยหรือเปล่า

จึงทำการเช็คแล้วเช็คอีกจนหยุดไม่ได้จนเกิดความเครียด

คุณหมอให้ทานยา ร่วมกับทำพฤติกรรมบำบัด

พฤติกรรมบำบัดคือ เมื่อเกิดความย้ำคิด แล้วห้ามทำการย้ำทำ

แม้จะกังวลขนาดไหนก็ตาม ให้ทนอยู่กับความกังวลนั้นจนกว่าความกังวลนั้นจะหายไป

ผมพยายามทำความเข้าใจ และมีความหวังว่าจะทำได้ แต่เมื่อ

เกิดการย้ำคิด ขึ้นมา บางครั้งก็ฝืนการย้ำทำได้ แต่บางครั้งก็ฝืนไม่ได้

แต่ส่วนมากจะฝืนไม่ได้ จึงต้องย้ำทำอยู่เรื่อยไป

จึงทุกข์ทรมานกับโรคนี้มาก ผมได้เข้ามาเวปนี้และได้ศึกษาธรรมะจากที่นี่

ผมมีอยากถามครับ

1. ความย้ำคิด และความกังวล เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

ใช่ไหมครับ เพราะบางครั้งเกิด บางครั้งก็ไม่เกิด แล้วแต่เหตุปัจจัย

และการฝืนการย้ำทำที่คุณหมอแนะนำให้ทำ ก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

ใช่ไหมครับ บางครั้งจึงทำได้ บางครั้งจึงทำไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย

2. ผมควรจะทำอย่างไรต่อไปกับการรักษาโรคนี้ครับ

ช่วยแนะแนะหน่อยครับ ผมดำรงชีวิตอย่างทรมานมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 10 มี.ค. 2552
๑. ถูกต้องครับ ทั้งหมดเป็นอนัตตา แม้ขณะนี้ จิต เจตสิก รูป ที่กำลังเกิดก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดเพราะปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีเรา๒. ค่อยๆ ศึกษาพระธรรมคำสอนไปเรื่อยๆ ส่วนที่เคยรักษาอยู่ก็อย่าทิ้งต้องอาศัยกาลเวลาค่อยเป็นค่อยไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อปัญญาได้รับการอบรมจนคู่ควรแก่การดับกิเลส การดับกิเลสอันเป็นโรคทางใจจึงมีได้แม้พระอริยสาวกทั้งหลาย ในสังสารวัฏฏ์ท่านก็เคยมีความทุกข์ทรมานกับโรคภัยนานับประการเช่นกัน แต่เมื่อท่านได้รับการอบรมในอริยวินัยของพระพุทธเจ้า ท่านจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 10 มี.ค. 2552
ขออภัย ขออย่าได้คิดว่าเป็นการแนะนำนะครับ ขอสนทนาด้วยเท่านั้นครับ ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนากับคุณวิษณุด้วยครับที่ได้พบกับแนวทางในการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องแห่งนี้ ที่ว่าถูกต้องก็เพราะสอน (ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง) ให้รู้และเข้าใจความจริงของการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสในทุกๆ ขณะนี้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแลดับไปในทุกๆ ขณะ จากการศึกษา การฟังและการพิจารณาพระธรรมที่ถูกต้องนี้บ่อยๆ เนืองๆ เมื่อมั่นคงขึ้นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลใด ความทุกข์ ความกังวลใดที่ท่านเล่ามา ก็ล้วนเป็นแต่ธรรมทั้งสิ้น หาใช่ตัวตนคนสัตว์ใดๆ ไม่ ไม่ใช่เราที่ทุกข์ ไม่ใช่เราที่กังวลไม่ใช่เราที่ย้ำคิด ย้ำทำ เมื่อความจริงคือไม่ใช่เราแล้ว เบาสบายไหมครับ? ดังนั้นการฟังและพิจารณาพระธรรมบ่อยๆ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น เมื่อมั่นคงขึ้น ก็ค่อยๆ ละคลายความยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนไปทีละเล็กทีละน้อยทุกสิ่งเป็นแต่ธรรมครับ ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 10 มี.ค. 2552

ผมไม่มีความรู้ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แต่ลองคิดๆ ดู

มีการกระทำหลายอย่างที่ทำซ้ำบ่อยๆ แล้วไม่มีโทษ

เช่น การฟังหรืออ่านพระสัทธรรม การเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น

ไม่ทราบว่า คุณสามารถเลือก กิจกรรมที่ต้องทำซ้ำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม

ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

ขอนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงสละนิพพานสุข อันมีในที่ใกล้พระหัตถ์

เมื่อครั้งยังเป็นพระสุเมธโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีอันกระทำได้ยาก

ทรงยอมเวียนว่ายในสังสารวัฎฎ์ ตลอดกาลนาน แสนนาน

เพียงเพื่อช่วยให้สัตว์ทั้งหลายได้บรรลุธรรมพ้นจากทุกข์ .

ปล.อันนี้อาจเป็นประโยชน์ก็ได้

ขั้นแรกลองสร้างความมั่นใจโดยการท่องออกมาดังๆ เมื่อทำเสร็จแล้ว

และจดลงในสมุดพกเพื่อประกันความมั่นใจอีกชั้นหนึ่ง เช่นว่า

"เมื่อเวลานี้ได้ทำงานชิ้นนี้เสร็จแล้ว (เช่นล็อคกุญแจ) "

จนเมื่อชำนาญแล้วจึงค่อยทิ้งสมุดเพราะเบื่อที่จะจดอีก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
choonj
วันที่ 10 มี.ค. 2552

อ่านกระทู้แล้วมีความคิดว่าการสังสมของแต่ละคนก็ต่างๆ กันไป เช่นในกระทู้นี้มีการสังสมที่ไม่มั่นใจในตัวเองจึงมีการย้ำคิดและย้ำทำ เป็นการสังสมกิเลสจนมีกำลังกลายเป็นโรคทางจิตไป การที่คุณหมอให้ยาและพฤติกรรมบำบัดก็เป็นการรักษาทางโลก แต่จะให้หายขาดนั้นผมว่าต้องทางธรรมเป็นการตัดกิเลสเลยทีเดียว ก็ต้องเริ่มด้วยการฟังธรรมให้เข้าใจเพื่อเจริญสติให้มีกำลังพอที่จะรู้ว่า นี่กำลังคิด คิดแล้ว นี่กำลังทำ ทำแล้ว เมื่อมีสติรู้ว่าคิดแล้ว ทำแล้ว ก็จะไม่มีการย้ำคิดและย้ำทำอีก เพราะสติระลึกได้ว่าคิดแล้วทำแล้ว ในระยะเริ่มต้นการฟังธรรมให้เกิดสติจนมีกำลังจึงมีความสำคัญมากในการที่จะรักษา แล้วถ้ามีความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดดับเป็นธรรม ก็จะช่วยให้สติมี่กำลังได้ แต่ก็ต้องค่อยๆ เจริญไปอย่ารีบร้อน เพราะปัญญาเป็นพืชที่โตช้าถ้ารีบร้อนก็จะผิดทางอีก ครับ ความทุกข์ที่เกิดอยู่ขณะนี้ก็เป็นธรรมเกิดแล้วก็ดับ จึงไม่ควรยึดให้ทุกข์ใจไปเปล่าๆ ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
sopidrumpai
วันที่ 10 มี.ค. 2552

ทุกๆ คนเป็นโรคทางใจทั้งนั้นค่ะ

สิ่งที่คุณเป็น ไม่ได้แปลกแยกแตกต่างจากบุคคลอื่นๆ เลย ^_^

ทำใจให้สบายนะคะ...สิ่งที่คิดไม่ว่าเรื่องใดๆ ไม่มีอยู่จริง

แต่สภาพคิดเท่านั้นที่เป็นจริงในขณะนั้น...

เกิดขึ้นมากมาย แล้วก็ดับไปใช่มั้ยค่ะ

แม้เกิดใหม่ ก็เป็นสภาพธรรมคิดใหม่อีก แล้วก็ดับอีก

ไม่มีสิ่งใดควรให้ยึดถือ

ความคิดไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ของเรา...ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 มี.ค. 2552

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อาศัยเรา ผู้เป็นกัลยาณมิตรเหล่าสัตว์ ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชราผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดาก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส."
...................................................

ความทุกข์ที่เกิดกับเรา ไม่ว่าทุกข์กาย หรือ ทุกข์ใจเรามักจะมองว่าใหญ่หลวงยิ่งนัก หากเราจะลองพิจารณา ชีวิตอื่นๆ ที่ประสบ ทั้งความทุกข์กาย ทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส เช่น ทุกข์ของคนในครั้งพุทธกาล อย่างเช่น............
.
.
ปฏาจาราภิกษุณี
.
.
.
ขออนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
suwit02
วันที่ 10 มี.ค. 2552

ที่นี่น่ารื่นรมย์

ขอพระสัทธรรมอันงดงาม บังเกิดแต่ดอกบัว

คือพระโอษฐ์ของพระสัมพุทธเจ้า

ผู้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์

ทำให้ใจของท่านทั้งหลายเบิกบาน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
hadezz
วันที่ 10 มี.ค. 2552
อาจต้องใช้เวลามากสักนิดหนึ่งก่อนจะทำสิ่งใด ว่าสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดควรทำที่หลัง ค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำ ทำทีละอย่างๆ เข้าใจ ควรแก้ไขทีละจุดตามลำดับความสำคัญมากหรือน้อย แล้วปรับใจหรือสมาธิให้อยู่กับปัจจุบันมากที่สุด ให้รู้เท่าทันจิตว่าคิดหรือทำอะไรอยู่ในขณะนี้ ลองดูสิค่ะเผื่อว่าอาการดังกล่าวอาจจะดีขึ้นมาบ้างนะค่ะ เพราะคุณแม่ที่บ้านมีอาการแปลกกว่าคุณตรงที่คุณแม่ทำอะไรแบบปุ้บปับทีนี้ร่างกายไม่เร็วเท่าใจคิดเท่าไรนักจนมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะสังขารไม่เป็นใจนั้นเอง
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Sam
วันที่ 10 มี.ค. 2552

ขออนุญาตสนทนากับคุณวิษณุด้วยคนนะครับ เพราะคนใกล้ตัวของผมก็ย้ำคิดย้ำทำ

เหมือนกัน ผมก็เลยแนะนำคล้ายๆ กับคุณ suwit02 ว่าให้เขาพูดออกมาดังๆ เช่น ก่อน

ออกจากบ้านก็จะทำพร้อมพูดดังๆ ว่า ปิดหลังบ้านแล้ว ปิดเตาแก๊สแล้ว ปิดสวิทช์ไฟ

แล้ว ฯลฯ พอขับรถออกมาเขาก็จะทบทวนได้ว่าที่ได้ทำ (และพูด) ไปแล้วนั้น ครบถ้วน

ดี ไม่ต้องกังวลอะไร และหากจะเพิ่มการจดบันทึกอย่างที่คุณ suwit02 แนะนำ ก็น่าจะ

ช่วยได้มากขึ้นนะครับ

ข่าวดีก็คือ คุณวิษณุมีความเข้าใจขั้นต้นแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ควบคุม

ไม่ได้ บังคับไม่ได้ ดังที่ได้ถามในประเด็นที่ 1 และข่าวดียิ่งกว่านั้นคือ หากคุณวิษณุ

ศึกษาพระธรรมต่อไปโดยละเอียด จนเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายนอกจากจะ

ควบคุมไม่ได้แล้ว ยังไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะเป็นอนัตตาอย่างไร ความทุกข์

ความเดือดร้อนใจเพราะความเป็นไปในชีวิต ก็จะคลายลง ทุเลาลง หรือหมดลงได้ครับ

การนำหญ้า ณ พระวิหารเชตวันไปเผา

ย่อมไม่ทำให้เศร้าโศก

เพราะหญ้านั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ฉันใด

หากมีความรู้ว่า ความเป็นไปแห่งกาย (รูปและนาม) นี้

ก็ไม่ต่างไปจากหญ้าที่ถูกนำไปเผา

(เพราะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา)

ย่อมทำให้ละความทุกข์อันเกิดจากกายนี้ได้ ฉันนั้น

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 10 มี.ค. 2552

การศึกษาธรรมะที่ถูกต้อง แล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม เป็นหนทางเดียวที่จะทำ

ให้เราพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญเรื่องของปัญญาว่าประเสริฐที่สุดในโลก คน

ที่มีปัญญาจะไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าเป็นธรรมะที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่เที่ยงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2552

อดทนต่อไปนะครับ สหายธรรมแต่ละท่านก็ได้อธิบายให้เข้าใจแล้วว่าธรรมทั้งหลาย

เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย ก็ควรรักษาโรคทางกายตามวิธีของหมอแนะนำต่อ

ไป แต่เหตุของโรคจริงๆ ก็คือกิเลส หากไม่มีกิเลสก็คงไม่เกิดและไม่คงเป็นโรคกาย

อย่างไรก็ตามทุกคนก็มีความทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางดับทุกข์ แต่ต้อง

อาศัยระยะเวลา โดยการฟังพระธรรมให้เข้าใจนะครับ มีโอกาสดีแล้วครับที่สนใจธรรม

เป็นกำลังใจให้ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ninga001
วันที่ 10 มี.ค. 2552

ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลยค่ะ เป็นสมาชิกใหม่เพิ่งเข้ามา

ยังไงก็ขอเป้นกำลังใจให้คุณวิษณุหายไวๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 11 มี.ค. 2552

ผมก็เคยทุกข์มากเช่นกัน จึงขอสนทนาธรรมด้วยนะครับ

ควรรู้ในความจริงว่า ชีวิตดำเนินไปด้วยขณะจิต ที่เกิดดับ สืบต่อ ทุกขณะเป็นผลของเหตุที่เคยทำไว้แล้ว ทั้งกุศลและอกุศล สิ่งที่ปรากฏแต่ละขณะของชีวิตประจำวัน ทางทวารทั้งหก เกิดดับสืบต่อรวดเร็วมาก เร็วจนไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นอนัตตา ทำให้ยึดถือเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรื่องราว ในแต่ละขณะติดต่อกัน เป็นวินาที นาที วัน เดือน ปี จนขณะนี้ ตั้งแต่เล็กจนโต ไม่อาจรู้ได้เลย จึงมีแต่ทุกข์ เศร้า ไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังแน่นหนา

หากไม่ฟังพระธรรม ไม่พิจารณาในความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏ ก็จะไม่เห็นในความจริงว่า แท้จริงเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ทางทวารหก เท่านั้น เกิดแล้ว ทำกิจหน้าที่ ทั้งสุข ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ ย้ำคิด ย้ำทำ แล้วดับไปจริงๆ ไม่เหลือเลย จริงๆ

เพราะฉะนั้นหากมัวแต่คิดเรื่องย้ำคิด ย้ำทำ กังวลเพราะยังยึดมั่นแน่นหนาในความเป็นตัวตน เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เรื่องราวต่างๆ จิตแต่ละขณะก็จะส่งต่อเรื่องราว ความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวตน เรื่องราวต่อไป หาความละคลาย ผ่อนเบาไม่ได้เลย

จึงควรเปลี่ยนมาศึกษาพระธรรมด้วยการฟัง เพราะขณะฟังจะหยุดคิดเรื่องย้ำคิดย้ำทำ จิตฝ่ายกุศลจะเกิดขึ้น แทนจิตฝ่ายอกุศลคือกังวล ทุกข์เศร้า การฟังจะทำให้เกิดความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ขณะที่รู้เป็นปัญญา ปัญญาเป็นเจตสิกฝ่ายกุศลเกิดพร้อมกับจิตฝ่ายกุศล ผลของกุศลจะค่อยๆ ละคลายสภาพทุกข์ไปเอง ทีละน้อย ทีละน้อย คุณเองจะค่อยๆ มีความรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่งโล่งสบายจะเกิดขึ้นเอง โดยไม่รู้เลยว่ามันเกิดขึ้นเมื่อใดเช่นเดียวกัน ต่างจากขณะที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล และไม่เคยฟังและพิจารณาพระธรรมเลย

ประการสำคัญที่สุด การศึกษาพระธรรมไม่ใช่เพื่อจะให้ไม่มีความทุกข์ หรือเมื่อมีทุกข์แล้วจึงหันมาศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เลย เพราะเป็นไปด้วยความหวัง อยากไม่มีทุกข์ เป็นการศึกษาพระธรรมที่เป็นไปด้วยความต้องการ จะทำให้ไม่เข้าใจ ไม่รู้ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษา เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็จะท้อแท้ ความทุกข์เดิมก็ยังมีอยู่ต่อไป พร้อมกับความผิดหวังเพราะคิดว่าศึกษาธรรมะแล้วไม่เข้าใจ ศึกษาธรรมะแล้วไม่เห็นจะช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้

ดังนั้นเมื่อมีทุกข์ จงรู้ว่านั่นเป็นธรรมะฝ่ายอกุศลที่เกิดขึ้นจริงๆ มาจากเหตุที่ได้ทำไว้แล้วจริงๆ มันเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ เอาสาระอะไรไม่ได้จริงๆ และควรเปลี่ยนมาฟังพระธรรม จากการอกศุล มาเป็นกุศลบ่อยๆ ความรู้ความเข้าใจจะเกิดขึ้นทีละน้อย โดยไม่ต้องไปหวัง ธรรมะฝ่ายดีจะทำหน้าที่ของตนเอง การละคลาย ผ่อนเบาสบายจะเกิดขึ้นเองจริงๆ

ขออนุโมทนาและเป็นกำลังใจให้นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วิษณุ
วันที่ 11 มี.ค. 2552

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยเป็นกำลังใจให้นะครับ

ผมจะศึกษาธรรมะต่อไป ครับ

เป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสิ้นทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 11 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาที่จะศึกษาธรรมะต่อไป..เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดคะ

และขอเป็นกำลังใจให้คุณวิษณุหายไวๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Jans
วันที่ 12 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวิษณุที่มีกำลังใจที่ดี

และขอให้ธรรมะเป็นที่พึ่งอันเกษมนะคะ

และเป็นทางดับทุกข์ได้หนทางเดียวจริงๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Komsan
วันที่ 12 มี.ค. 2552

ขอเป็นกำลังใจให้คุณวิษณุ

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ING
วันที่ 13 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนากับกัลยาณมิตรทุกๆ ท่านค่ะ และขอเป็นกำลังใจให้คุณวิษณุด้วยนะคะดิฉันได้เข้าสู่หนทางแห่งพระสัทธรรม ขององค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการฟังธรรมที่เป็นธรรมแท้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ด้วยเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแห่งทุกข์ที่ดิฉันประสบอยู่ อันเหลือประมาณ ณ เวลานั้นโดยความรักตัวตน กลัวความพรัดพราก กลัวการเสียของที่ตนรักมากที่สุดคือ คุณพ่อ-คุณแม่ และความยึดเหนี่ยวแห่งความเป็นของเราคือสามี หน้าที่การงานพบอุปสรรคจากความไม่ยุติธรรม ซึ่งคอยแต่จะคิดว่าเราทำดี แต่ทำไมไม่ได้ดี โรคภัยไข้เจ็บประดังเข้าหาจนเวียนแต่ประโยคว่า ทำไมเราทำดี ความดีจึงไม่คุ้มครองเรา ...ถ้ามิได้มีกุศลกรรมที่ได้กระทำมา ในการฟังพระสัทธรรมแล้ว คงไม่มีวันนี้สำหรับดิฉัน ทุกวันนี้ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองโง่เหลือเกินที่ในอดีตตั้งคำถามที่น่าขันว่า ทำไมทำดีไม่ได้ดี คำตอบก็คือเพราะว่าดิฉันไม่เข้าใจพระธรรมแท้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อนหน้านั้นนั่นเอง....ความเข้าใจพระสัทธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งประเสริฐสุดในชีวิตของดิฉัน เกือบ 10 ปีแล้วค่ะที่ดิฉันได้ดำเนินทางที่เพื่อนกัลยาณธรรมทั้งหลายกำลังแนะนำและเป็นกำลังใจให้คุณวิษณุ ถ้าหากการที่ดิฉันจะเรียนให้คุณทราบว่าดิฉันเองป่วยเป็นโรค Panic disorder ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาพธรรมแล้วยึดว่าเป็นของตนคือสาเหตุทั้งหมดของความทุกข์ทรมานของดิฉันแล้วทำให้คุณรู้สึกถึงความเป็นอนัตตาความไม่เป็นแก่นสารของสิ่งทั้งหลายได้ ก็ขออนุโมทนาไว้ณ ที่นี้ด้วยค่ะ.........

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 มี.ค. 2552

ไม่มีใครในโลกนี้....ที่เกิดมาแล้วไม่เป็นโรคอะไรเลย.!
.
.
.

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 70
ข้อความบางตอนจาก คิลานสูตร

ว่าด้วยคนไข้และผู้เปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวก
[๔๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ ประเภทนี้ มีอยู่ในโลกคนไข้ ๓ ประเภทคืออะไรบ้าง คือ

คนไข้บางประเภทในโลกนี้จะได้อาหารที่เหมาะ หรือไม่ได้อาหารที่เหมาะก็ตาม

ได้ยาที่เหมาะ หรือไม่ได้ยาที่เหมาะก็ตาม

ได้คนพยาบาลที่สมควร หรือไม่ได้คนพยาบาลที่สมควรก็ตาม

ก็คงไม่หายจากอาพาธนั้น.
.

คนไข้บางประเภทในโลกนี้ จะได้อาหารที่เหมาะ หรือไม่ได้อาหารที่เหมาะก็ตาม

ได้ยาที่เหมาะ หรือไม่ได้ยาที่เหมาะก็ตาม

ได้คนพยาบาลที่สมควร หรือไม่ได้คนพยาบาลที่สมควรก็ตาม

ก็คงหายจากอาพาธนั้น.
.
คนไข้บางประเภทในโลกนี้
ได้อาหารที่เหมาะ ได้ยาที่เหมาะ

ได้คนพยาบาลที่สมควร จึงหายจากอาพาธนั้น

ไม่ได้อาหารที่เหมาะ ยาที่เหมาะ คนพยาบาลที่สมควร

ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น.
.


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในคนไข้ ๓ ประเภทนั้น

คนไข้ประเภทที่ได้ อาหารที่เหมาะ ได้ยาที่เหมาะ ได้คนพยาบาลที่สมควร

จึงหายจากอาพาธนั้นไม่ได้อาหารที่เหมาะ ยาที่เหมาะ คนพยาบาลที่สมควร ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น

เราอาศัยคนไข้ประเภทนี้แล จึงอนุญาตคิลานภัต (อาหารคนไข้) คิลานเภสัช (ยาแก้ไข้) คิลานุปัฏฐาก (ผู้พยาบาลคนไข้)

แลก็เพราะอาศัยคนไข้ประเภทนี้ คนไข้ประเภทอื่นๆ ก็จำต้องพยาบาลด้วย.

.
.
.

[๒๘๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง

บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์แปด เป็นทางอันเกษม.

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาคัณฑิยปริพาชก ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์นักไม่เคยมีมาแล้ว เพียงข้อที่ท่านพระโคดมตรัสดีแล้วนี้ว่า
ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.
แม้ข้าพเจ้าก็ได้ฟังข้อนี้มาต่อปริพาชกทั้งหลายแต่ก่อน ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ ผู้กล่าวกันอยู่ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ข้อนี้ย่อมสมกัน.
ดูกรมาคัณฑิยะ ก็ข้อที่ท่านได้ฟังมาต่อปริพาชกทั้งหลาย ก่อนๆ ผู้เป็นอาจารย์ และปาจารย์ ผู้กล่าวกันอยู่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่งนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ดังนี้นั้น ความไม่มีโรคนั้นเป็นไฉน?นิพพานนั้นเป็นไฉน?
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ทราบว่า มาคัณฑิยปริพาชกเอาฝ่ามือลูบตัวของตัวเอง กล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ความไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ นิพพานนั้นคืออันนี้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าเดี๋ยวนี้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข อะไรๆ มิได้เบียดเบียนข้าพเจ้า.

[๒๘๘] ดูกรมาคัณฑิยะ ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกันไม่มีจักษุ ไม่รู้ความไม่มีโรค ไ ม่เห็นพระนิพพาน เออ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ยังกล่าวคาถานี้ได้ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้.
ดูกรมาคัณฑิยะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้ตรัสพระคาถาไว้ว่า

ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์แปดเป็นทางเกษม.

บัดนี้ คาถานั้น เป็นคาถาของปุถุชนไป โดยลำดับ.
ดูกรมาคัณฑิยะ กายนี้แลเป็นดังโรคเป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ ท่านนั้นกล่าวกายนี้ (ซึ่ง) เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ว่า ท่านพระโคดม ความไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ นิพพานนั้นคืออันนี้. ก็ท่านไม่มีจักษุของพระอริยะ อันเป็นเครื่องรู้ ความไม่มีโรคอันเป็นเครื่องเห็นนิพพาน


ท่านมาคัณฑิยะไ ด้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ ทั้งหลาย ดังนี้แล.
.
.
.
07779


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 190
๑๐. อาพาธสูตร
ว่าด้วย ทรงแสดง สัญญา ๑๐ ประการ แก่พระคิริมานนท์ ผู้อาพาธ



[๖๐] สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชต- วัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่คิริมานนท์ภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมา-นนท์ภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ สัญญา ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑. ดูก่อนอานนท์ ก็อนิจจสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขาร ทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้ เรียกว่า อนิจจสัญญา. ดูก่อนอานนท์ ก็ อนัตตสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตาเสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฎฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะ ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา.

ดูก่อนอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องต่ำ แต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มโดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตาเปลวมัน น้ำลา น้ำมูก ไขข้อ มูตร ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา.

ดูก่อนอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรค กาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิดโรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อโรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคิดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง

โรคริดสีดวง อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐานอาพาธ มีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอัน เกิดแต่ วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา.
ดูก่อนอานนท์ ก็ปหานสัญญา เป็นไฉน
ดูก่อนอานนท์ ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึง ความไม่มี ซึ่งกามวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึง ความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมด สิ้นไป ย่อมทำให้ถึง ความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่ง อกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว
ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า ปหานสัญญา.
ฯลฯ
........................................
ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
saifon.p
วันที่ 13 มี.ค. 2552

โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ.........รักษาหายได้ ย้ำคิดเพราะกังวล.....ย้ำทำเพราะกลัว (ในสิ่งที่กังวล) ลืมว่า.....ทั้งกังวลและกลัว....ก็เป็นธรรมะ แท้ที่จริง....ที่ทุกข์ เพราะ...ไม่อยากให้ตนเอง ย้ำคิดย้ำทำ หรือทำอะไรซ้ำๆ พอไม่เป็นไปตามที่อยาก.....ก็เดือดร้อนใจ เป็นทุกข์

ทุกข์กับเรื่องราวที่คิดและที่ทำ.... เพราะยึดว่าคิดและที่ทำนั้น...เป็นเรา
การพบจิตแพทย์รักษา ทานยาสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหนือสิ่งอื่นใดคือ....ธรรมโอสถค่ะ ศึกษาธรรมคือ การศึกษาสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

เมื่อเริ่มเข้าใจธรรมก็จะค่อยๆ เห็นตัวเองตามความเป็นจริงค่ะ ขอเป็นกำลังใจนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
opanayigo
วันที่ 17 มี.ค. 2552

กำลังใจมากมาย :)

ค่อยเป็นค่อยไป

ทีละเล็กละน้อย

เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ขออนุโมทนาทุกท่านนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
anong55
วันที่ 24 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนา กำลังใจของแต่ละท่านที่มอบให้คุณวิษณุ คุณวิษณุคงจะอดทนต่อความ

ทุกข์ทรมาน การศึกษาธรรมที่ถูกทางพร้อมคำแนะนำต่างๆ ต้องประสบความสำเร็จใน

การพ้นทุกข์ได้
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ