ความคงอยู่ของสังสารวัฏฏ์

 
พุทธรักษา
วันที่  27 เม.ย. 2552
หมายเลข  12065
อ่าน  1,106

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรมที่เขาเต่า ๑ - ๔ สิงหาคม ๒๕๓๗

ท่านผู้ฟัง เมื่อเห็นแล้ว เป็นกุศล หรือ อกุศล ทางปัญจทวารได้หรือไม่ครับ

ท่านอาจารย์ ได้ซิคะ กุศลจิต และ อกุศลจิต เกิดหลังจากวิบากจิต ทางปัญจทวาร ก็ได้ เพราะว่า เมื่อวิบากจิตเกิด แล้ว ดับไป "ชวนะวิถีจิต" ที่เกิดต่อ เป็นกุศล หรือ อกุศล ถ้าเกิดทางมโนทวาร ก็ไม่ใช่ทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้น กุศลจิต และ อกุศลจิต เกิดได้ทั้ง ๖ ทวารไม่ใช่เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น และ ขณะนั้น (ขณะที่เป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต) ยังไม่ใช่ ขณะที่เป็น "กรรม (บถ) "เพราะว่า "กรรม" คือ "เจตนาเจตสิก" (เพราะว่า เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง) กุศล และ อกุศล ก็เป็นกิเลสเพราะว่า ยังเป็น "เหตุ" ที่ทำให้ยังต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์

ถ้าไม่มี "กิเลส" ก็ต้องไม่มี "กุศลจิต" คือ ต้องมีแต่ "กิริยาจิต" เท่านั้น ในชีวิตประจำวันของเราเป็น "วิบาก" ทั้งนั้น เพราะเลือกไม่ได้เช่น (จิต) เห็น ขณะนี้ หรือ (จิต) ได้ยินขณะนี้ก็เลือกไม่ได้ เพราะว่า แต่ละคน ต่างก็มี "เหตุปัจจัย" ที่ทำให้ เห็น ได้ยิน ฯลฯ ต่างๆ กันไป ตามการสะสม ของแต่ละคน

แต่ กุศลจิต และ อกุศลจิต เกิดสลับกับ วิบาก เช่น ขณะที่หลับสนิท ก็เป็น "วิบาก" ขณะที่ตื่น ก็เป็น "วิบาก" ขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ก็เป็น "วิบาก" คือเป็น "ผลของกรรม" ทั้งหมดซึ่ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย แต่ หลังจากวิบากจิตเกิดแล้วคือ ผลของกรรม เกิดแล้วนั้นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต ก็เกิดสลับกับวิบาก ทันที เพราะ "เหตุ" นี้จึงไม่สิ้นสุด "วัฏฏะ" เพราะว่า หลังจาก "วิบาก" ก็เป็น "กิเลส" แล้วก็เป็น "กรรม" แล้วก็เป็น "วิบาก" ต่อไปอีก เป็น "วิบาก" อีก แล้วก็เป็น "กิเลส" อีก แล้วก็เป็น "กรรม" แล้วก็เป็น "วิบาก" อีก วนเวียนอยู่เช่นนี้ ไม่สิ้นสุด

ถ้าจะพูดถึง "ปฏิจจสมุปฺปาท" สังสารวัฏฏ์ นี้ ก็ยังคงอยู่ ตราบใดที่มี "กิเลส" เพราะมีกิเลส จึงมีกรรม คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรมไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมอะไรก็ตามก็เพราะมี "กิเลส"

ท่านผู้ฟัง ถ้าเป็น "กุศลจิต" จะว่าเป็น "กิเลส" ได้อย่างไร

ท่านอาจารย์ ก็เพราะว่า ยังมี "กิเลส" จึงมี "กุศลจิต" ซึ่ง ไม่ใช่ "กิริยาจิต" เพราะว่า กุศลนั้น เป็นกุศล เพราะยังมีกิเลสถ้าหมดกิเลสจริงๆ ต้องไม่เป็น "กุศลจิต" แต่ต้องเป็น "กิริยาจิต" ถ้าเป็น "สังสารวัฏฏ์" ก็ต้องมี "กิเลส" .. "กรรม" .. "วิบาก".และเพราะเหตุที่ "ทุกขณะจิตที่เกิดขึ้น" นั้นยังมี "กิเลส" อยู่จึงยังมีทั้ง "กุศลกรรม" และ "อกุศลกรรม" .. "วิบาก" มีอยู่แล้ว ในชีวิตประจำวัน "กิเลส" คือ "กุศลจิต" และ "อกุศลจิต" .. "กรรม" คือ "กุศลกรรม" และ "อกุศลกรรม" ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมี "เหตุ" คือ "กิเลส" ถ้าเราเห็น ความ เป็น อนัตตา เราก็จะไม่โทษใครเลย เพราะว่าทุกสิ่ง ทุกอย่าง เกิดขึ้นจาก "เหตุปัจจัย" ทั้งสิ้น เพราะ ไม่มี ตัวตน

... ขออนุโมทนา ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
aiatien
วันที่ 27 เม.ย. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornpaon
วันที่ 27 เม.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 30 เม.ย. 2552

ถ้าเป็น "สังสารวัฏฏ์" ก็ต้องมี "กิเลส" .. "กรรม" .. "วิบาก" คำถาม เพราะปุถุชนมีกิเลส และพ้นวิบากไม่ได้ ที่จะไม่เป็นกรรมได้ไหม ยกตัวอย่าง เมื่อสุภนิมิตรเกิดขึ้นทางปัญจทวาร วางเฉยได้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 30 เม.ย. 2552

ปุถุชนพ้นกรรมไปไม่ได้ครับ เพราะในขณะชวนวิถีจิตต้องเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต เจตนาที่เกิดร่วมกับจิตทั้งสองประเภท เป็นกรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
suwit02
วันที่ 1 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 3 พ.ค. 2552

สังสารวัฎฎ์ที่น่าสงสารเอ๋ย จะช่วยอย่างไรดีเล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 3 พ.ค. 2552
เพราะกิเลสจึงเกิดวิบาก หรือเพราะกรรมจึงเกิดวิบาก
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 3 พ.ค. 2552

อ้างอิงจากคำสอนที่ว่า "กิเลส"คือ "กุศลจิต" และ "อกุศลจิต" กิเลส คือ กุศลจิต ในแง่ใดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prachern.s
วันที่ 4 พ.ค. 2552

เป็นการกล่าวโดยรวมๆ ว่า เพราะคนมีกิเลส จึงมีกุศลจิตและอกุศลจิต แต่ ถ้ากล่าวอย่างละเอียด กิเลส ต้องเป็นธรรมฝ่ายอกุศลธรรมเท่านั้น กุศลธรรม จะเป็นกิเลสไม่ได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 พ.ค. 2552

จากข้อสงสัยของคุณ จักรกฤษณ์

ข้าพเจ้าขออนุญาตเสริมความเห็นของอาจารย์ประเชิญ (prachern.s) ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า ดังนี้นะคะ (หากมีความคลาดเคลื่อนประการใด ขอความกรุณาทักท้วงด้วยนะคะ เพราะข้าพเจ้าเองก็ยังเป็นผู้ที่กำลังศึกษา เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย) เข้าใจว่า

กุศล จะเป็น อกุศล ไม่ได้ อกุศล จะเป็น กุศล ไม่ได้ แต่ "กุศล" เป็นปัจจัยให้เกิด "กุศล" ก็ได้ เช่น ฟังพระธรรมแล้วเป็นปัจจัยให้เกิด ความเข้าใจพระธรรม เป็นต้น (และ "อกุศล" เป็นปัจจัยให้เกิด "อกุศล") แต่บางกรณี "กุศล" เป็นปัจจัยให้เกิด "อกุศล" เช่น บางท่าน ถวายภัตตาหารแด่สงฆ์ แต่ พระสงฆ์ บางท่าน เกิดอาพาธเพราะอาหารนั้น (เช่น เกิดท้องร่วง) ผู้ถวาย ไม่มีเจตนาที่เป็นอกุศลขณะให้ทานทานกุศล คือ สังฆทาน นั้น เป็น กุศลกรรม เป็น กุศลเจตนา แต่ เป็นปัจจัยให้ผู้ถวายทาน เกิดอกุศลจิต ในกรณีเช่นนี้ ก็ได้เพราะเกิดความไม่แช่มชื่นใจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ภายหลังจากการให้ทานสำเร็จแล้ว เป็นต้น (เพราะเข้าใจว่า พระท้องร่วง เพราะตนป็นเหตุ ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นอกุศลวิบากของพระท่านเอง) แต่ขณะที่ให้ทานขณะนั้น กุศลจิต เกิดแล้ว ดับแล้วแต่ที่อกุศลจิต เกิดต่อได้ เพราะ กุศลจิต และ อกุศลจิต เกิดสลับกันได้ ตามเหตุปัจจัย

หรือ "อกุศล" เป็นปัจจัยให้เกิด "กุศล" ก็ได้ เช่น เมื่อมีการกระทำปาณาติบาต แล้วเกิด "ความสลดใจ" ในภายหลังเพราะเห็นโทษ ด้วยหิริ โอตตัปปะซึ่งเป็นปัจจัย ให้ต่อไป เกิดความสำรวมระวังมากขึ้น เป็นต้น

ในกรณีของกระทู้นี้ เข้าใจว่า ท่านอาจารย์กล่าวธรรมะโดยนัยของความเป็น "ปุถุชน" คือ ตามปกติแล้ว หลังจากการเห็น เป็นต้น (ชวนจิต) จิตหลังจากเห็น ต้องเป็นกุศล หรือไม่ก็ เป็นอกุศล แล้วแต่ "เหตุปัจจัย" ได้แก่ "การสะสมของผู้นั้น" เป็นต้น

โปรดพิจารณาจากข้อความจากกระทู้ เพราะท่านอาจารย์ได้กล่าวระบุชัดเจน จากข้อความในกระทู้นี้ ว่า กุศล และ อกุศล ก็เป็นกิเลสเพราะว่า ยังเป็น "เหตุ" ที่ทำให้ยังต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่มี "กิเลส" ก็ต้องไม่มี "กุศลจิต" คือ ต้องมีแต่ "กิริยาจิต" เท่านั้น เพราะว่า เมื่อวิบากจิตเกิด แล้ว ดับไป "ชวนะวิถีจิต" ที่เกิดต่อ เป็นกุศล หรือ อกุศล (ผู้หมดกิเลสเป็นสมุจเฉท จะมีแต่จิตชาติวิบาก และ กิริยา เท่านั้น)

ดังนั้น จากข้อสงสัยของท่าน ที่ว่า "กิเลส"คือ "กุศลจิต" และ "อกุศลจิต กิเลส คือ กุศลจิต ในแง่ใดครับ จึงควรจะหมายความว่ากุศล ก็ยังเป็น "มูล" คือ เป็น "เหตุ" ให้เกิดผลข้างหน้าอันเป็นการต่อสังสารวัฏฏ์ ไม่รู้จักจบสิ้น.เช่น การทำความดี มีศีลบริสุทธิ์แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดในสวรรค์ เป็นต้น.แต่ "การเกิด" ไม่ว่าจะเป็นสุคติภูมิ อย่างเลิศ เช่น สวรรค์ หรือ พรหมโลกก็ยังต้องกลับมาสู่อบายภูมิ อีกก็ได้เพราะมี "เหตุปัจจัย"


และตราบใด ที่ยังไม่บรรลุมรรค ผลยังไม่ใช่พระโสดาบันขึ้นไปก็ยังไม่พ้นจาก "อบายภูมิ" ไปได้ แม้เกิดในพรหมโลกเพราะว่า ยังดับ"เหตุปัจจัย" คือ "อนุสัยกิเลส" ไม่หมด เข้าใจว่า ที่ท่านอาจารย์ กล่าวธรรม ในกรณีนี้เพราะ ตามหลักธรมแล้ว กุศล เป็น "กุศลเหตุ" (หนึ่งในเหตุ ๖) ซึ่งทำให้ไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์.

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเรื่อง เหตุ ๖ จากกระทู้นี้ค่ะ

จำแนกเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ออกเป็นเหตุ ๙

และผู้ที่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ ในชาติสุดท้าย คือ พระอรหันต์ เท่านั้น เพราะท่าน ดับ "อนุสัยกิเลส" ได้แล้วเป็นสมุจเฉทพระอรหันต์ ท่านจึงไม่มี ทั้งกุศลจิต และอกุศลจิตมีแต่ "วิบากจิต" และ "กิริยาจิต" เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า กิเลส คือ กุศลธรรม แน่นอน

ข้าพเจ้าต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยนะคะถ้า คัดลอกข้อความการสนทนามาโพสต์ แล้วเกิดข้อสงสัย แต่การคัดลอกนั้น ยึดหลักว่าพยายามที่จะถ่ายทอดข้อความอย่างตรงไปตรงมาตามที่ต้นฉบับแสดงไว้. และขอบน้อมรับการกล่าวทักท้วง ในทุกกรณี หากท่านมีขอสงสัย กรุณาถามนะคะ ท่านวิทยากรของ มศพ. จะมีคำตอบให้ท่านเพื่อความเข้าใจ ที่ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน จากหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้. และหากท่านจะเทียบเคียงจากพระไตรปิฎกได้ด้วยเองโดยตรงเพื่อเป็น "ความเข้าใจที่ถูกต้อง" ของท่านเองก็ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของท่าน เพราะพระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมากและการกล่าวธรรมนั้น กล่าวได้หลายนัยแล้วแต่ว่าจะ มุ่งประโยชน์ให้เข้าใจในส่วนไหน เป็นสำคัญ

ขออนุโมทนาค่ะสำหรับคำถาม ที่มีประโยชน์

ที่เกื้อกูล แก่การเข้าใจพระธรรม ให้ละเอียดขึ้นๆ ทั้งต่อตนเอง และท่านผู้อื่นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ