ความจริงแห่งชีวิต [001] ทรงตรัสรู้สภาพธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในอดีตสมัย ณ สาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานระหว่างไม้สาละคู่ หมดโอกาสที่สัตวโลกจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อีกต่อไป พระผู้มีพระภาคประทานพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้ว ทรงบัญญัติแล้ว ไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
พุทธบริษัทย่อมถวายความนอบน้อมสักการะพระธรรมอันประเสริฐสุดของพระผู้มีพระภาค ตามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย แม้ผู้ใดเห็นพระวรกายของพระองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ หรือแม้ได้จับชายสังฆาฏิติดตามพระองค์ไป แต่ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม ผู้นั้นก็หาได้เห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต
พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ขั้น
๑. ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย
๒. ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์
๓. ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์
พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึง การเห็นธรรม รู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ การเห็นธรรมขั้นปฏิเวธเป็นผลของการเจริญธรรมขั้นปฏิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติต้องอาศัยปริยัติ ด้วยเหตุนี้ปริยัติ คือ การศึกษาพระธรรมวินัย จึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติ และขั้นปฏิเวธ เป็นลำดับไป
พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคได้จดจำสืบต่อกันมาโดยมุขปาฐะ คือ การท่องจำจากพระอรหันตสาวกผู้กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็น ๓ ปิฎก เรียกว่า พระไตรปิฎก การท่องจำ ได้กระทำสืบต่อกันมา ตราบจนกระทั่งได้จารึกเป็นตัวอักษร พระธรรมวินัยซึ่งพระอรหันตสาวกได้สังคายนาเป็น ๓ ปิฎกนั้น คือ
๑. พระวินัยปิฎก
๒. พระสุตตันตปิฎก
๓. พระอภิธรรมปิฎก
พระวินัยปิฎกเกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่ พระสุตตันตปิฎกเกี่ยวกับหลักธรรมที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ พระอภิธรรมปิฎกเกี่ยวกับสภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง พระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่ออนุเคราะห์สัตวโลก ตั้งแต่สมัยตรัสรู้ ตราบจนถึงสมัยปรินิพพานด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ อันไม่มีผู้ใดเปรียบปาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงถึงพร้อมด้วยสัมปทา คือ เหตุสัมปทา ผลสัมปทา สัตตูปการสัมปทา
เหตุสัมปทา การถึงพร้อมด้วยเหตุ คือ การทรงบำเพ็ญพระบารมีจนถึงพร้อมเพื่อตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า
ผลสัมปทา การถึงพร้อมด้วยผล มี ๔ อย่าง คือ
๑. ญาณสัมปทา ได้แก่ มัคคญาณ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพระสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณ เป็นต้น ซึ่งมีมัคคญาณนั้นเป็นมูล
๒. ปหานสัมปทา ได้แก่ ละกิเลสทั้งสิ้น พร้อมทั้งวาสนาที่ไม่ดี วาสนา คือ กิริยาอาการทางกายวาจาที่ประพฤติจนเคยชิน ซึ่งถ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ละไม่ได้
๓. อานุภาวสัมปทา ได้แก่ ความเป็นใหญ่ในการทำ ให้สำ เร็จได้ตามที่ปรารถนา
๔. รูปกายสัมปทา ได้แก่ พระรูปสมบัติ อันประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ และอนุพยัญชนะ อันเป็นที่เจริญตาเจริญใจของชาวโลกทั้งมวล
เมื่อเหตุคือบารมีถึงพร้อมแล้ว ก็ทำให้ถึงพร้อมด้วยผลสัมปทา คือ การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ทำให้พระองค์พ้นทุกข์แต่เพียงพระองค์เดียว พระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ก็เพื่อการตรัสรู้และบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ ถ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อดับกิเลสพ้นทุกข์แต่พระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ก็จะไม่ทรงพระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นมี ๒ ประเภท คือ
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งซึ่งสัจจะด้วยพระองค์เองในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และทรงบรรลุความเป็นผู้มีความชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และไม่ถึงความเป็นผู้ชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
ฉะนั้น การบำเพ็ญเหตุ คือ บารมี เพื่อบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผล จึงมากน้อยต่างกัน
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์