ความจริงแห่งชีวิต [002] ความจริงที่ทรงตรัสรู้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัตตูปการสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยพระอัธยาศัยและอุตสาหะอุปการะแก่สัตวโลกเป็นนิจ แม้ในเหล่าสัตว์ผู้มีความผิด มีท่านพระเทวทัต เป็นต้น กับการรอเวลาแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของเวไนยสัตว์ผู้มีปัญญินทรีย์ยังไม่แก่กล้า และพระองค์ทรงแสดงพระธรรมอันจะนำสัตว์ออกจากทุกข์ทั้งปวง โดยมิได้ทรงเพ่งลาภสักการะ เป็นต้น
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยเหตุสัมปทา และผลสัมปทาแล้ว พระองค์ก็ทรงโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ เป็นการถึงพร้อมด้วย สัตตูปการสัมปทา การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการถึงพร้อมด้วยสัมปทาทั้งสาม
ด้วยเหตุนี้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาจึงเป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ การตรัสรู้ธรรมทำให้พระองค์ทรงหมดกิเลส และพระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามหมดกิเลสด้วย
ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นต่างกับความจริงที่เราคิดนึก หรือเข้าใจอย่างไรบ้าง
ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน
การที่หลงยึดความโลภ ความโกรธ และสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น เป็นความเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิด เพราะธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย การหลงเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ก็เพราะไม่รู้ความจริงของธรรมทั้งปวง เมื่อเห็นขณะใดก็ยึดการเห็นซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งว่าเป็นตัวตน เป็นเราเห็น เมื่อได้ยิน ก็ยึดสภาพธรรมที่ได้ยินนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้ยิน เมื่อได้กลิ่นก็ยึดสภาพธรรมที่ได้กลิ่นนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้กลิ่น เมื่อลิ้มรสก็ยึดสภาพธรรมที่ลิ้มรสนั้นเป็นตัวตน เป็นเราลิ้มรส เมื่อคิดนึกเรื่องใดก็ยึดสภาพธรรมที่คิดนึกนั้นเป็นตัวตน เป็นเรานึกคิด เป็นต้น
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวงแล้ว พระองค์ก็ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้ว่า สภาพธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นปรมัตถธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใครจะเรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดภาษาใด หรือไม่เรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดๆ เลยก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ดังที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ท่านพระอานนท์ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป...
ขออนุโมทนาขออทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์