ผาสุวิหารสูตร..ปฐมอขันติสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12606
อ่าน  2,318

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

ผาสุวิหารสูตร

ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ

และ

ปฐมอขันติสูตร

ว่าด้วยโทษของอขันติและคุณของขันติ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๒๔๑

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๒๔๑

๕. ผาสุวิหารสูตร

ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ

[๑๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

มีศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อยเป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่เกี่ยวเกาะ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

ทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำออกเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ แห่งผู้กระทำ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้แล.

จบผาสุวิหารสูตรที่ ๕

อรรถกถาผาสุวิหารสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในผาสุวิหารสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เมตฺตํ กายกมฺมํ ได้แก่ กายกรรมที่ให้เป็นไปด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา.

บทว่า อาวิ เจว รโห จ ได้แก่ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้แหละ.

บทว่า ยานิ ตานิ สีลานิ เป็นต้น ตรัสด้วยจตุปาริสุทธิศีล

บทว่า สมาธิสํวตฺตนิกานิ ได้แก่ อันทำให้มรรคสมาธิและผลสมาธิบังเกิด

บทว่า สีลสามญฺญคโต แปลว่า ถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน อธิบายว่าเป็นผู้มีศีลเช่นเดียวกัน

บทว่า ตกฺกรสฺส ได้แก่ ผู้กระทำตามความเห็นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความมีศีลเสมอกัน ตรัสทิฏฐิวิปัสสนาและสัมมาทิฏฐิในสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้

จบอรรถกถาผาสุวิหารสูตรที่ ๕

๕.ปฐมอขันติสูตร

ว่าด้วยโทษของอขันติและคุณของขันติ

[๒๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ๑

ย่อมเป็นผู้มากด้วยเวร ๑

ย่อมเป็นผู้มากด้วยโทษ ๑

ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑

เมื่อตายไปย่อมเขาถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ๑

ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยเวร ๑

ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ ๑

ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ ๑

เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการนี้แล.

จบปฐมอขันติสูตรที่ ๕

อรรถกถาปฐมอขันติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอขันติสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า เวรพหุโล ได้แก่ เป็นผู้มีเวรมากด้วยบุคคลเวรบ้าง ด้วยอกุศลเวรบ้าง

บทว่า วชฺชพหุโล คือ เป็นผู้มากไปด้วยโทษ

จบอรรถกถาปฐมอขันติสูตรที่ ๕


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 9 มิ.ย. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 มิ.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผาสุวิหารสูตร

ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ

ข้อความโดยสรุป

พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ คือ เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีศีลไม่ขาด มีทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์.

ปฐมอขันติสูตร

ว่าด้วยโทษของอขันติและคุณของขันติ

พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงโทษของความไม่อดทน (อขันติ) ๕ ประการ ได้แก่ ผู้ไม่อดทน ไม่เป็นที่รักของคนเป็นอันมาก มากไปด้วยเวร มากไปด้วยโทษ เป็นผู้หลงกระทำกาละ (หลงตาย) และ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนคุณของความอดทน (ขันติ) มีนัยตรงกันข้าม

คำว่า ผู้หลงกระทำกาละ ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติม ได้ที่นี่ครับ

ขันติธรรม กับ การหลงกระทำกาละ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 9 มิ.ย. 2552

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะสามารถนำออกไปจากทุกข์ทั้งปวงได้จริง นำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งพระนิพพานถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ มีความเข้าใจเจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรเว้น อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ เป็นต้น แล้วกระทำสิ่งที่ควรกระทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมจะทำให้เป็นผู้อยู่เป็นสุขตามสมควร จนกว่าจะมีปัญญาเจริญจนถึงขั้นที่สามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เป็นผู้สิ้นทุกข์ได้ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
คุณ
วันที่ 10 มิ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 13 มิ.ย. 2552

ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไรทั้งต่อหน้าและลับหลังที่มีต่อเรา ข้อนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ตัวเราที่เมตตากับบุคคลอื่น ทั้งทางกาย วาจาและใจ ไม่ถือโทษในบุคคลเหล่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tanrat
วันที่ 1 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ประสาน
วันที่ 1 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 พ.ย. 2557

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Nataya
วันที่ 9 เม.ย. 2561
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ