บาป กับ กรรม

 
ama
วันที่  12 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12642
อ่าน  5,348

บาป กับ กรรม ความหมายเดียวกันหรือไม่ครับ

เคยได้ยินว่า :-

บาปอยู่กับคนทำ กรรมอยู่กับคนกิน หมายความว่าอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 13 มิ.ย. 2552
คำว่า บาป เป็นชื่อของอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลเจตนา คำว่า กรรม เป็นคำกลางๆ คือ มีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ที่พูดว่า บาปอยู่กับคนทำ กรรมอยู่กับคนกิน เป็นคำพูดของคนที่ไม่เข้าใจธรรมะ เพราะความจริงคนที่ทำปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) เป็นบาปด้วย เป็นอกุศลกรรมด้วย แต่คนที่กิน ถ้าไม่รู้เรื่อง ไม่มีเจตนา ไม่ได้สั่งให้ฆ่า ก็ไม่เป็นบาป ไม่เป็นอกุศลกรรม
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 13 มิ.ย. 2552

กรรมคือการกระทำมีทั้งดีและชั่ว บาปคืออกุศลไม่ดีให้ผลเป็นทุกข์ เมื่อทำกรรมดีก็ให้ ผลดี ทำกรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว ถ้าเรากินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว ไม่เห็นเขาฆ่า ไม่ได้ยินเขาสั่ง ฆ่า แล้วเราก็ไม่ได้สั่งฆ่า ไม่ได้สงสัยว่าเนื้อนี้ฆ่าเพื่อเรา ก็ไม่บาปค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
คนสัมผัสวิญญาณ
วันที่ 14 มิ.ย. 2552

บาป = อกุศลจิต

กรรม = เจตนาทำกรรมทางกาย วาจา ใจ

บาปเป็นแค่อกุศลจิต แต่ถ้าไม่กระทำกรรมลงไปทางกาย วาจา ใจ ก็ไม่มีผู้ละเมิดและผู้ถูกละเมิด บาปกรรมจึงกิดขึ้นไม่ได้

ยกตัวอย่าง : เราคิดวิธีหาเงินได้ง่ายๆ อย่างหนึ่ง คือ ไปชกชิงวิ่งราว หรือขโมยของนั่นเป็นแค่ความคิดของจิตที่เป็นอกุศล แต่ว่า กาย วาจา ใจ ของเราไม่ต้องการทำอย่างนั้น บาปกรรมจึงไม่ได้เกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ama
วันที่ 15 มิ.ย. 2552
ขออนุโมทนา และ ขอขอบคุณทุกๆ คำตอบ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ส.ค. 2567

พระพุทธศาสนาสอนในเรื่องของกรรม คือเหตุซึ่งจะทำให้เกิดผล คือ วิบาก เพราะฉะนั้นคนอื่นทำให้เราไม่ได้ เราเองเป็นผู้ที่ทำกรรม ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเราเองเป็นผู้ที่รับผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่มีกรรมของเขา สิ่งนั้นก็จะเกิดกับเขาไม่ได้ ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าทำกรรมดี คนอื่นจะเปลี่ยนกรรมดีของเราให้เป็นอย่างอื่นได้ไหมคะ ไม่ได้ ใช่ไหมคะ เพราะกรรมนั้นทำแล้ว เสร็จแล้ว เป็นสิ่งที่ดีด้วย ถ้าใครที่ทำอกุศลกรรม คนอื่นจะไปเปลี่ยนอกุศลกรรมนั้นให้เป็นกรรมดีได้ไหมคะ เปลี่ยนเถอะคนนี้เขาทำดีมามากนัก ถึงแม้ว่าเขาทำชั่วครั้งเดียว เอาเถอะให้เขาไปเป็นกุศลกรรม เราอภัยให้ได้ แต่สิ่งนั้นเสร็จแล้ว จบแล้ว เป็นผลที่ได้ทำแล้ว เป็นกรรมแล้ว

ที่มา ...

พุทธศาสนาสอนในเรื่องของกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ส.ค. 2567

บาป คือ อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่งาม และ ให้โทษ

บุญ คือ กุศลธรรม เป็นสภาพที่ดีงามเป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษกับใครเลย

ฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต บาปบุญก็ไม่มี ภูเขา ก้อนหิน กรวดทราย ต้นไม้ ไม่มีบุญไม่มีบาปเพราะไม่มีจิต คิดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ฆ่าสัตว์ไม่ได้ ลักทรัพย์ไม่ได้

บุญ บาปจึงเป็นสภาพของจิต ขณะใดจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่ดีจึงเป็นบุญ ขณะใดจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดีจึงเป็นบาป ไม่มีใครจะสามารถเห็นจิตหรือดูจิตได้ด้วยตา แต่ว่าสามารถระลึกรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะทุกคนมีจิต และทุกคนก็เพียงแต่รู้ว่ามีจิต เมื่อไม่ศึกษาโดยละเอียดก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าจิตอยู่ที่ไหน

ขณะเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะได้กลิ่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่รู้เย็นบ้าง รู้ร้อนบ้าง รู้แข็งบ้าง ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะคิดนึกเป็นจิตชนิดหนึ่ง และควรพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกว่าจิตเห็นเป็นบาปหรือเปล่า จิตเห็นเพียงเห็น ไม่ใช่อกุศลจิตและไม่ใช่กุศลจิต จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ไม่ใช่กุศลจิตและไม่ใช่อกุศลจิต แต่ขณะที่เห็นแล้วชอบ ขณะชอบเป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิต ซึ่งจะใช้คำว่าบาปก็ได้ เพราะเป็นจิตที่มีกิเลสไม่ผ่องใส มีสภาพของโลภเจตสิกซึ่งทำให้ติดข้อง พอใจ ยินดี ปรารถนา ต้องการสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน เป็นต้น ขณะนั้นจึงเป็นอกุศล ขณะใดเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้วไม่ชอบ ขณะนั้นก็เป็นโทสะ เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองไม่พอใจ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

ฉะนั้น เมื่อจิตมีจริง บาปบุญก็มีจริง และจิตก็มีทั้งอกุศลจิตและกุศลจิต ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นบาป จึงมีจริง ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็เป็นบุญ จึงมีจริง

ที่มา ...

กฏแห่งกรรม และบาป

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ