ความจริงแห่งชีวิต [026] นิพพานปรมัตถ์ นามธรรม รูปธรรม และ ขันธ์ ๕

 
พุทธรักษา
วันที่  18 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12696
อ่าน  1,397

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นามธรรม (รู้อารมณ์)

- จิตปรมัตถ์ ๘๙ หรือ ๑๒๑ เป็นสังขารธรรม, สังขตธรรม

- เจตสิกปรมัตถ์ ๕๒ เป็นสังขารธรรม, สังขตธรรม

รูปธรรม

- รูปปรมัตถ์ ๒๘ สังขตธรรม เป็นสังขารธรรม, สังขตธรรม

นามธรรม (ไม่รู้อารมณ์)

- นิพพานปรมัตถ์ เป็นวิสังขารธรรม, อสังขตธรรม

ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

ปรมัตถธรรม ๔ โดยขันธ์ คือ

จิ เป็นวิญญาณขันธ์

เจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

รูป เป็นรูปขันธ์

นิพพาน ไม่ใช่ขันธ์ นิพพานเป็นขันธวิมุตติ คือ พ้นจากขันธ์

คำ​ว่า ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่จำแนกเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ไกล ใกล้ ฉะนั้น ขันธ์ จึงได้แก่ สังขตธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดดับ จึงเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นต้น ส่วนอสังขตธรรม คือ นิพพานนั้น เป็นธรรมที่ไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จะกล่าวว่าเป็นธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้ ว่าเป็นธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ ว่าเป็นธรรมจักเกิดขึ้นก็ไม่ได้ จะกล่าวว่าเป็นอดีตก็ไม่ได้ ว่าเป็นอนาคตก็ไม่ได้ ว่าเป็นปัจจุบันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิสังขารธรรม คือ นิพพาน จึงไม่ใช่ขันธ์ เป็นขันธวิมุตติ คือ พ้นจากขันธ์

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ ๕ เป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า รูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าขันธ์ ๕

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน… อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่า วิญญาณูปาทานขันธ์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕

ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕

จิตปรมัตถ์ ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท ทุกประเภท เป็นวิญญาณขันธ์

เจตสิกปรมัตถ์ ๕๒ ประเภท เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

รูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภท ทุกประเภทเป็นรูปขันธ์

ขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรม ๓

รูปขันธ์ ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘

เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเจตสิกปรมัตถ์

สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเจตสิกปรมัตถ์

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง เป็นเจตสิกปรมัตถ์

วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

... ขออนุโมทนา ...

ขอขอบพระคุณ ท่าน ผู้เอื้อเฟื้อรูปภาพ ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 19 มิ.ย. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 21 มิ.ย. 2552

ขันธ์ ๕ เปรียบเหมือนผู้ฆ่า เช่น รูปฆ่ารูปและนาม นามฆ่านามและรูป ฯลฯ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ajarnkruo
วันที่ 21 มิ.ย. 2552

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 12696 ความคิดเห็นที่ 2 โดย wannee.s

ขันธ์ ๕ เปรียบเหมือนผู้ฆ่า เช่น รูปฆ่ารูปและนาม นามฆ่านามและรูป ฯลฯ ค่ะ


ขอความกรุณาช่วยแสดงธรรมขยายความข้างต้นด้วยครับ ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 21 มิ.ย. 2552

๑. มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ รูปใดรูปหนึ่งดับไป รูปที่เหลือก็ดับไปด้วย นี่คือรูปฆ่ารูปค่ะ

๒. อรูป (นาม) ฆ่านาม ขณะที่เวทนาขันธ์ดับ นามธรรมอื่นๆ ก็ดับไปด้วยค่ะ

๓. นามฆ่ารูป รูปที่เกิดจากกรรมจะดับพร้อมจุติจิต เมื่อจุติดับไป รูปก็ดับไปด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 มิ.ย. 2552

ละเอียดมากเลยค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sam
วันที่ 22 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jarunee.A
วันที่ 14 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ