อิริยาบถบรรพ [อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร]
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 298
อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร
อิริยาบถบรรพ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาโดยทางแห่ง ลมอัสสาสะปัสสาสะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยทางแห่งอิริยาบถ จึงตรัสว่า ปุน จปรํ อีกอย่างหนึ่งดังนี้เป็นต้น. ในอิริยาบถนั้น พึงทราบความ ว่า แม้สัตว์ดิรัจฉาน เช่น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น เมื่อเดินไปก็รู้ว่า ตัวเดิน ก็จริงอยู่ แต่ในอิริยาบถนั้น มิได้ตรัสหมายเอาความรู้เช่นนั้น เพราะ ความรู้เช่นนั้น ละความเห็นว่าสัตว์ไม่ได้ เพิกถอนความเข้าใจว่าสัตว์ไม่ได้ ไม่เป็นกัมมัฏฐาน หรือ สติปัฏฐานภาวนาเลย ส่วนการรู้ของภิกษุ (ผู้เจริญ กายานุปัสสนา) นี้ ย่อมละความเห็นว่าสัตว์ เพิกถอนความเข้าใจว่าสัตว์ได้ เป็นทั้งกัมมัฏฐาน และเป็นสติปัฏฐานภาวนา และคำที่ตรัสหมายถึง ความรู้ชัด อย่างนี้ว่า ใครเดิน การเดินของใคร เดินได้เพราะอะไร แม้ในอิริยาบถอื่น มีการยืนเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน ต่อ ...
[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 299
จะวินิจฉัย ในปัญหาเหล่านั้น คำว่า ใครเดิน ความว่า ไม่ใช่สัตว์ หรือบุคคลไรๆ เดิน คำว่า การเดินของใคร ความว่า ไม่ใช่การเดินของสัตว์ หรือบุคคลไรๆ เดิน คำว่า เดินได้ เพราะอะไร ความว่า เดินได้เพราะการแผ่ไปของวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ คือจิตเกิดขึ้นว่าเราจะเดิน จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ก็ทำให้เกิดวิญญัติ ความเคลื่อนไหว การนำสกลกายให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เรียกว่า เดิน
แม้ในอิริยาบถอื่น มียืน เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน
ก็ในอิริยาบถยืนเป็นต้นนั้น จิตเกิดขึ้นว่า เราจะยืน จิตนั้นทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ทำให้เกิดวิญญัติความเคลื่อนไหว การทรงสกลกายตั้งขึ้นแต่พื้นเท้าเป็นที่สุด ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เรียกว่า ยืน จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนั่ง จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ก็ทำให้เกิดวิญญัติความเคลื่อนไหว ความคู้กายเบื้องล่างลง ทรงกายเบื้องบนตั้งขึ้น ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เรียกว่านั่ง จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนอน จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุๆ ทำให้เกิดวิญญัติความเคลื่อนไหว การเหยียดกายทั้งสิ้นเป็นทางยาว ด้วยความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต เรียกว่า นอน
เมื่อภิกษุนั้นรู้ชัดอยู่อย่างนี้ ย่อมมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เขากล่าวกันว่า สัตว์เดิน สัตว์ยืน แต่โดยอรรถแล้ว สัตว์ไรๆ ที่เดิน ที่ยืนไม่มี ประดุจคำที่กล่าวกันว่า เกวียนเดินเกวียนหยุด แต่ธรรมดาว่า เกวียนไรๆ ที่เดินได้ หยุดได้เอง หามีไม่ ต่อเมื่อนายสารถีผู้ฉลาด เทียมโค ๔ ตัว แล้วขับไป เกวียนจึงเดิน จึงหยุด เพราะฉะนั้น คำนั้น จึงเป็นเพียงบัญญัติสมมติเรียกกันฉันใด กายเปรียบเหมือนเกวียน เพราะอรรถว่า ไม่รู้ ลมที่เกิดจากจิต เปรียบเหมือนโค จิตเปรียบเหมือน สารถี เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน เราจะยืน วาโยธาตุที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้น อิริยาบถมีเดินเป็นต้น ย่อมเป็นไปเพราะความไหวตัว แห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต ต่อแต่นั้น สัตว์ก็เดิน สัตว์ก็ยืน เราเดิน เรายืน เพราะเหตุนั้น คำนั้น จึงเป็นเพียงบัญญัติสมมติเรียกกัน ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยฉะนั้น พระโบราณาจารย์ จึงกล่าวว่า
เรือแล่นไปได้ด้วยกำลังลม ลูกธนู แล่นไปด้วยกำลังสายธนูฉันใด กายนี้อัน ลมนำไป จึงเดินไปได้ฉันนั้น แม้ยนต์ คือกายนี้ อันปัจจัยประกอบแล้ว เดิน ยืน และนั่ง ได้ด้วยอำนาจสายชัก คือจิต เหมือนเครื่องยนต์ หมุนไปได้ด้วยอำนาจ สายชักฉะนั้นนั่นแหละ ในโลกนี้สัตว์ใด เว้นเหตุปัจจัยเสียแล้ว ยังยืนได้ เดินได้ ด้วยอานุภาพของตนเอง สัตว์นั้น ชื่อไร เล่า จะมีดังนี้.เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า ภิกษุนี้ กำหนดอิริยาบถมีเดินเป็นต้น ซึ่งเป็นไปได้ด้วยอำนาจเหตุปัจจัย เท่านั้นอย่างนี้ เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืนเมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่าเรานอน ดังนี้