ความจริงแห่งชีวิต [30] ที่ (จิต) ชื่อว่า มโน เพราะ รู้ อารมณ์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ที่ (จิต) ชื่อว่า “มโน” เพราะรู้อารมณ์
คำว่า อารมฺมณ (อารมณ์) หรือ อาลมฺพน หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้น สิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้นชื่อว่า “อารมณ์”
เสียงมีจริงไหม เมื่อสิ่งที่แข็งกระทบกันก็เป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าในขณะนั้นจิตไม่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น เสียงนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ขณะใดจิตไม่รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์
ที่ (จิต) ชื่อว่า “หทัย” เพราะความหมายว่าเป็นสภาวะอยู่ภายใน
จิตเป็นภายใน เพราะเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่ปรากฏ อารมณ์เป็นภายนอก เพราะเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้
ฉะนั้น การศึกษาเรื่องจิตจึงเป็นการพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทั้งภายในและภายนอก จึงจะรู้ลักษณะของจิตได้ จิตมีจริง แต่จิตอยู่ไหน จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน ในขณะที่เห็นจิตไม่ได้อยู่ข้างนอก สีสันวัณณะกำลังปรากฏภายนอก จิตเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน คือเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
การอบรมเจริญปัญญานั้น ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือขณะใดที่เห็นแล้วระลึกได้ไม่หลงลืมที่จะพิจารณา ศึกษา สังเกต ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า สภาพเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ว่าสภาพที่กำลังได้ยินเสียงเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นภายใน จึงยากที่จะพิจารณาให้รู้ได้ และสภาพที่ได้ยินเสียงนั้น ก็เกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏแล้วดับไปทันที จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปรวดเร็วมาก เมื่อเข้าใจถูกว่าจิตกำลังเห็น จิตกำลังได้ยิน จิตกำลังคิดนึก เป็นต้น สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ในขณะนั้นๆ ได้
ฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจนประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ เป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามลำดับ
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
... ขออนุโมทนา ...
ขอขอบพระคุณ ท่าน ผู้เอื้อเฟื้อรูปภาพ ค่ะ