ความจริงแห่งชีวิต [40] จิต เป็น สภาพธรรมที่คิด
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า “คิด” อธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์
ทุกท่านคิดเสมอ ถ้าสังเกตพิจารณาความคิด ก็จะเห็นได้ว่าช่างคิดเสียจริง และคิดไปต่างๆ นานา ไม่มีทางยุติความคิดได้เลย จนกระทั่งบางท่านไม่อยากจะคิด อยากจะสงบๆ คือ หยุดไม่คิด เพราะเห็นว่าเมื่อคิดแล้วก็เดือดร้อนใจ เป็นห่วง วิตกกังวล กระสับกระส่าย ด้วยโลภะบ้าง หรือด้วยโทสะบ้าง และเข้าใจว่าถ้าไม่คิดเสียได้ก็จะดี แต่ให้ทราบว่าจิตนั่นเองเป็นสภาพธรรมที่คิด รูปธรรมคิดไม่ได้ เมื่อพิจารณาเรื่องที่จิตคิด ก็จะรู้ได้ว่าเพราะเหตุใดจิตจึงคิดเรื่องอย่างนั้นๆ ซึ่งบางครั้งไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลย ตามปกติจิตย่อมเกิดขึ้นคิดไปในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างอยู่เรื่อยๆ จนเห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจัง แต่ที่เห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจังทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงเพราะจิตเกิดขึ้นคิดเรื่องนั้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้นเท่านั้น เรื่องนั้นก็จะไม่มี
ข้อความในอัฏฐสาลินีว่า ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์
สภาพ “รู้” มีลักษณะต่างกันตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เจตสิกแต่ละประเภทเกิดขึ้นพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกเกิดร่วมกับจิต พร้อมกับจิต แต่ผัสสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ โดยกระทบอารมณ์ ซึ่งถ้าผัสสเจตสิกไม่รู้อารมณ์ก็ย่อมไม่กระทบอารมณ์ ฉะนั้น ผัสสเจตสิกจึงรู้อารมณ์เพียงโดยกระทบอารมณ์ แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์ ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้ธรรมเห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้นมีคำอธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ จึงไม่ใช่การรู้อย่างผัสสะที่กระทบอารมณ์ ไม่ใช่การรู้อย่างสัญญาที่จำหมายลักษณะของอารมณ์ ไม่ใช่การรู้อย่างปัญญา แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ต่างกันไหม สภาพธรรมเป็นสัจจธรรมเป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ ขณะนี้เห็นสิ่งเดียว มีสีเดียวหมด หรือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีต่างๆ อย่างละเอียดจนทำให้รู้ความต่างกันได้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นเพชรแท้ หรือเพชรเทียม เป็นต้น จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง คือ รู้แจ้งแม้ลักษณะที่ละเอียดต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ อุปมาเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านก็ย่อมปรากฏเงาในกระจกฉันใด ขณะนี้จักขุปสาทเป็นรูปซึ่งมีลักษณะประดุจใสพิเศษ สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตปสาทสามารถกระทบเฉพาะเสียง ฆานปสาทสามารถกระทบเฉพาะกลิ่น ชิวหาปสาทสามารถกระทบเฉพาะรส กายปสาทสามารถกระทบเฉพาะรูปที่กระทบกาย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างใดๆ ก็ตาม จะเป็นสีเพชรแท้ เพชรเทียม หยก หิน หรือแม้สีแววตาที่ริษยา ก็ปรากฏให้จิตเห็นได้ทั้งสิ้น ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏกับจิตที่รู้แจ้ง ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างไร จิตก็รู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏนั้นๆ คือ เห็นสีสันต่างๆ ทั้งหมดของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏจึงทำ ให้รู้ความหมาย รู้รูปร่างสัณฐานและคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
... ขออนุโมทนา ...
ขอขอบพระคุณ ท่าน ผู้เอื้อเฟื้อรูปภาพ ค่ะ.