ความจริงแห่งชีวิต [47] ชื่อว่า จิต เพราะ สั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

 
พุทธรักษา
วันที่  15 ก.ค. 2552
หมายเลข  12904
อ่าน  1,118

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงอรรถของจิตประการที่ ๒ ว่าอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ ​​ว่า จิตฺตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำ​ว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

คำ​ว่า “สันดาน” ในภาษาไทยมาจากคำ​ภาษาบาลีว่า “สนตาน” หรือ “สนตติ” ซึ่งหมายถึง​ การเกิดดับสืบต่อกัน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นวิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต จึงไม่สั่งสมสันดาน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นผลของอดีตกรรม เมื่อกรรมใดสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือ ประกอบพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ​ก็ทำให้วิบากจิตประเภทต่างๆ ​เกิดขึ้นทำ​กิจต่างๆ ​เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น วิบากจิตไม่สั่งสมสันดาน เพราะวิบากจิตแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่สะสมมาแล้วนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อ​วิบาก​จิต​เกิด​ขึ้น​และ​ดับ​ไปแล้ว​ ก็​ไม่​เป็น​เหตุ​ให้​วิบาก​ใดๆ เกิด​ขึ้น​เลย

เพื่อที่จะเข้าใจอรรถของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถีนั้น ก็จะต้องเข้าใจวิถีจิตก่อนว่า วิถีจิตคือจิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร และจะต้องเข้าใจ ชวน​วิถีซึ่ง​เป็น​ขณะ​ที่​จิต​สั่งสม​สันดาน​ของ​ตน ​ซึ่ง​เป็น​โลกิ​ยกุศ​ลบ้าง อกุศลบ้าง และ​สำหรับ​พระ​อรหันต์​ก็​เป็น​มหา​กิริยา​จิต เพราะถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจ ต่างๆ ​กันตามการสั่งสมสันดานของตน

ฉะนั้น จึงต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตก่อนว่า วิถีจิต คือจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จิต​ใด​ก็ตาม​ที่​ไม่ใช่​ปฏิสนธิ​จิต ภวังคจิต​และ​จุติ​จิต​แล้ว เป็น​วิถี​จิต​ทั้งหมด ในชาติหนึ่งปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว คือขณะที่ทำ​ปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพียงขณะเดียวเท่านั้น ที่เป็นปฏิสนธิจิต ขณะที่จิตทำ​ปฏิสนธิกิจนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ปฏิสนธิเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ปฏิสนธิจิตที่เกิดในภูมิมนุษย์เป็นกุศลวิบากจิต เป็นผลของกุศลกรรม

เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกันเกิดขึ้น ทำ​ภวังคกิจ สืบต่อดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะจุติ


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต


ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 15 ก.ค. 2552

จากข้อความนี้ ... เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นไม่ได้ให้ผลเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกันเกิดขึ้น ทำภวังคกิจ สืบต่อดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะจุติ

ขอเรียนถามว่า วิบากจิตประเภทเดียวกัน ในที่นี้ หมายถึง วิบากจิตประเภทไหนคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 16 ก.ค. 2552

คำว่า วิบากจิตประเภทเดียวกัน หมายถึง มหาวิบากดวงใดดวงหนึ่งที่ทำกิจปฏิสนธินั่นแหละ (การเกิดเป็นมนุษย์) จะทำกิจภวังค์ ดำรงภพ คือ ความเป็นบุคคลนั้นสืบต่อไปจนกว่าจะจุติ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 16 ก.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 21 เม.ย. 2567

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ