ความจริงแห่งชีวิต [49] ภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ ภูมิ ที่มีทั้ง รูปขันธ์ และ นามขันธ์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อปฏิสนธิในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ ในภูมิที่มีทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ กรรมเป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูป คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นต้น เกิดดับสืบต่อดำรงสภาพที่ไม่ใช่บุคคลที่ตาบอด หูหนวก เป็นต้น แต่ถ้าขณะใดกรรมไม่เป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด บุคคลนั้นก็ตาบอดไม่เห็นอะไรเลย ฉะนั้น จิตเห็น และจิตอื่นๆ ทุกขณะจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยที่ทำ ให้เกิดจิตนั้นๆ ขณะที่วิถีจิตยังไม่เกิดขึ้นนั้น ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ
เมื่อรูปใดเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูปใด และขณะแห่งภวังค์ใด วิถีจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ แต่เพื่อกำหนดให้รู้ว่ารูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป ณ ภวังคจิตขณะใด จึงบัญญัติภวังคจิตที่รูปเกิดขึ้นกระทบนั้นว่า “อดีตภวังค์” คือเป็นภวังค์ที่เหมือนกับภวังค์ก่อนๆ แม้ว่ารูปจะเกิดดับเร็วมาก แต่จิตก็เกิดดับเร็วกว่ารูป สภาวรูปรูปหนึ่งเกิดดับเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ฉะนั้น อดีตภวังค์ คือ ขณะที่รูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่ารูปที่กระทบปสาทรูปนั้นจะดับเมื่อไร เพราะรูปหนึ่งมีอายุเพียงจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เท่านั้น เมื่ออดีตภวังค์ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไปไหว เป็น “ภวังคจลนะ” ซึ่งยังเป็นภวังคจิตอยู่ เพราะวิถีจิตจะเกิดขึ้นคั่นกระแสของภวังค์ทันทีไม่ได้ เมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคจิตที่เกิดต่อเป็น “ภวังคุปัจเฉทะ” คือ เป็นภวังคจิตที่ตัดกระแสของภวังค์ เพราะเป็นภวังคจิตดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจได้
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา