ความจริงแห่งชีวิต [55] การเกิดขึ้น เป็นไป ของวิถีจิต ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

 
พุทธรักษา
วันที่  18 ก.ค. 2552
หมายเลข  12928
อ่าน  1,178

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทาง​ปัญจ​ทวาร​มี​วิถี​จิต ๗ วิถี​ตาม​ลำดับ

เมื่อวิถีจิตที่ ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ​ทำ​อาวัชชนกิจ แล้วดับไป ​เป็นปัจจัยให้วิถีจิตที่ ๒ เกิดขึ้น คือ

ถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็น ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางหู โสตวิญญาณเกิดขึ้นทำ​สวนกิจ คือ กิจได้ยิน ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางจมูก ฆานวิญญาณเกิดขึ้นทำฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางลิ้น ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นทำ​สายนกิจ คือ กิจลิ้มรส ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางกาย กายวิญญาณเกิดขึ้นทำ​ผุสสนกิจ คือ กิจรู้อารมณ์ที่กระทบกาย ๑ ขณะแล้วดับไป

เมื่อ​ปัญจ​ทวา​รา​วัช​ชน​จิต​ดับ​ไป จิต​อื่น​นอกจาก​จิต ๑๐ ดวง​นี้​จะ​เกิด​ต่อ​ไม่​ได้​เลย (ปัญจวิญญาณทาง ๕ ทวารๆ ละ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง)

ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถี​จิต​ที่ ๑ จักขุวิญญาณ ​หรือ ​โสตวิญญาณ หรือ ฆานวิญญาณ หรือ ชิวหาวิญญาณ หรือ กายวิญญาณเป็นวิถี​จิต​ที่ ๒ เมื่อจิตหนึ่งจิตใดในทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้ดับไปแล้ว วิถี​จิต​ที่ ๓ เป็นสัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นทำสัมปฏิจฉันนกิจ คือรับอารมณ์นั้นต่อจากปัญจวิญญาณ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว วิถี​จิต​ที่ ๔ เป็นสันตีรณจิต เกิดขึ้นทำ​สันตีรณกิจ คือ พิจารณาอารมณ์นั้น ๑ ขณะแล้วดับไป วิถี​จิต​ที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต (ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดขึ้นทำ​โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร) เกิดขึ้นเป็นชวนปฏิปาทกะทำ​กิจกำหนด คือ กระทำ​ทางให้โลกิยกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือมหากิริยาจิตเกิดต่อ

เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว วิถี​จิต​ที่ ๖ คือ โลกิยกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือมหากิริยาจิตประเภทใดประเภทหนึ่งเกิดขึ้นทำชวน​กิจ ๗ ขณะ จึง​สั่งสม​สันดาน ตามข้อความที่ว่า ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

การเกิดขึ้นเป็นไปของวิถีจิตตามลำดับแต่ละขณะที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเป็นจิตนิยาม เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ก.ค. 2552

ขอเรียนถามว่าวิถีจิตที่ ๗ คือ ขณะไหน และ ทำกิจอะไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 19 ก.ค. 2552

วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี ทำกิจตทาลัมพนกิจ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 19 ก.ค. 2552

ขออนุญาตเรียนถามเกี่ยวกับ ชวนจิตของวิถีจิตทางปัญจทวาร ครับ ว่า หากเป็นกุศล มีลักษณะอย่างไร หากเป็นอกุศล จะมีลักษณะอย่างไร จะแตกต่างจากชวนจิตของวิถีจิตทางมโนทวารหรือไม่ครับ บัญญัติจะเกิดขึ้นกับชวนจิตของวิถีจิตทางปัญจทวารได้หรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 21 ก.ค. 2552

ชวนจิตของวิถีจิตทางปัญจทวาร กับชวนะทางมโนทวาร ก็เหมือนกัน คือทำกิจแล่นไปในอารมณ์ ถ้าเป็นอกุศลจิตก็เป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นกุศลจิตก็ผ่องใส และวิถีจิตทางปัญจทวารจะรู้บัญญัติไม่ได้เพราะทางปัญจทวารวิถีรับรู้อารมณ์ที่มากระทบโดยตรง บัญญัติต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวารเท่านั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 ก.ค. 2552

จาก ความเห็นที่ 4

ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็เป็นโลภะ โทสะ หรือ โมหะ อย่างใด อย่างหนึ่ง

ถ้าเป็นกุศลจิต ก็ผ่องใส

วิถีจิตทางปัญจทวาร จะ รู้บัญญัติไม่ได้ เพราะทางปัญจทวารวิถีรับรู้อารมณ์ที่มากระทบโดยตรง

ขออนุโมทนาค่ะ


เข้าใจว่า เพราะทาง ปัญจทวารวิถี รับรู้อารมณ์ที่มากระทบ โดยตรง คือ ทางตา คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น หรือ ทางหู คือ เสียง เท่านั้น หรือ ทางจมูก คือ กลิ่น เท่านั้น หรือ ทางลิ้น คือ รส เท่านั้น หรือ ทางกาย คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว เท่านั้น (ทางใด ทางหนึ่ง ทีละขณะๆ ไม่ปนกัน) ดังนั้น เมื่อมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และ ไม่ใช่บัญญัติ

บัญญัติ ซึ่งไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง จึง มีเมื่อ "คิด" .. "บัญญัติ" จึงเป็นอารมณ์ของ "จิตคิดนึก" และ "จิตคิดนึก" ต้องเกิด ทางมโนทวารวิถี เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 21 ก.ค. 2552

ขอบพระคุณอาจารย์ประเชิญ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Komsan
วันที่ 23 ก.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 27 เม.ย. 2567

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ