ความจริงแห่งชีวิต [43] จิต - สั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อรรถของจิตประการที่ ๒ ข้อความในอัฏฐสาลินีมีว่า อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺต”ํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ส่วนมากทุกท่านก็ได้ยินคำว่ากุศลจิต และอกุศลจิตอยู่เสมอ แต่ยังไม่คุ้นกับมหากิริยาจิต และ “ชวนวิถี” จิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประเภทต่างๆ ประการใดก็ตาม เมื่อจำแนกโดยการเกิด คือโดยชาติแล้วมี ๔ ชาติ คือ เป็นกุศลจิต ๑ เป็นอกุศลจิต ๑ เป็นวิบากจิต ๑ เป็นกิริยาจิต ๑
(ภาษาบาลี คือ กุสลจิตฺตํ อกุสลจิตฺตํ วิปากจิตฺตํ กิริยาจิตฺตํ)
ส่วนใหญ่ทุกท่านคุ้นกับคำว่า กุศลจิต และอกุศลจิต แต่ยังไม่คุ้นกับ วิบากจิต และกิริยาจิต กุศลจิตเป็นจิตที่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก ในอนาคตข้างหน้า เมื่อกุศลจิตและกุศลเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเป็นเหตุดับไปแล้ว ธรรมที่เป็นกุศลก็สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกซึ่งเป็นกุศลวิบากจิตและกุศลวิบากเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกัน โดยเป็นผลของกุศลนั้นๆ ในอรรถกถามีข้อความว่า แม้วิบากเจตสิกเกิดร่วมกับจิต แต่เพราะจิตเป็นประธานจึงใช้คำว่าวิบากจิตเท่านั้น ซึ่งก็หมายรวมถึงวิบากเจตสิกที่เกิดร่วมกันด้วย และแม้คำว่าจิตตชรูป คือรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัยก็เช่นเดียวกัน จิตตชรูปเกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเป็นปัจจัย แต่ใช้คำว่า “จิตตชรูป” นั้นก็หมายรวมถึงเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้นๆ ก็เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดด้วย ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงวิบากจิต ก็หมายรวมถึงวิบากเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา