ความจริงแห่งชีวิต [70] อารมณ์ของตทาลัมพนจิต เป็น อติมหันตารมณ์

 
พุทธรักษา
วันที่  4 ส.ค. 2552
หมายเลข  13081
อ่าน  1,237

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ส่วนวาระใดที่ชวนจิตเกิดดับ ๗ ครั้ง ​แล้วอารมณ์ยังไม่ดับ จึงเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับนั้นอีก ๒ ขณะ การรู้อารมณ์ของวิถีจิตวาระนั้นจึงเป็น "ต​ทา​รัมมณ​วาระ หรือต​ทา​ลัม​พน​วาระ" เพราะวิถีจิตสิ้นสุดลงที่ตทาลัมพนจิต อารมณ์ของตทาลัมพนวาระเป็นอติมหันตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ชัดเจนมาก เพราะแม้ชวนวิถีจิต ๗ ขณะดับไปแล้ว​ อารมณ์ก็ยังไม่ดับ จึงเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดได้

การรู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถีมีเพียง ๒ วาระเท่านั้น คือ ชวนวาระ และตทาลัมพนวาระ

อารมณ์ของชวนวาระทางมโนทวาร เป็น อ​วิภู​ตา​รมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนน้อยกว่าตทาลัมพนวาระ

อารมณ์ของตทาลัมพนวาระทางมโนทวาร เป็น วิภู​ตา​รมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่ชัดกว่าชวนวาระ


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต


ขออนุโมทนาขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ และ คุณแม่.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 ส.ค. 2552

มีข้อความที่ยังไม่เข้าใจ จึงขออนุญาตนำข้อความมาอ้างอิง เพื่อเรียนถาม ดังนี้ข้อความจาก ตอนที่ ๗๐ กล่าวไว้ว่า

การรู้อารมณ์ทาง "มโนทวารวิถี" มีเพียง ๒ "วาระ" เท่านั้น คือ "ชวนวาระ" และ "ตทาลัมพนวาระ" ต่างจากข้อความจาก ตอนที่ ๖๕ ที่กล่าวไว้ว่า ในชีวิตประจำวันนั้นขณะที่กำลังคิดนึก ถึงเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้น "จิต" ไม่รู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย และเมื่อ "ภวังคจลนะ" เกิดขึ้น แล้วดับไป "ภวังคุปัจเฉทะ" ก็เกิดต่อ แล้วก็ดับไป ต่อจากนั้น "มโนทวาราวัชชนจิต" ซึ่งเป็น "มโนทวารวิถีจิต" ขณะที่ ๑ ก็เกิดขึ้น และเมื่อ "มโนทวาราวัชชนจิต" ดับไปแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ "กุศลจิต" หรือ "อกุศลจิต" ซึ่งเป็น "ชวนวิถีจิต" ก็เกิดขึ้น กระทำ "ชวนกิจ" คือ เกิด-ดับ-สืบต่อ (สั่งสมสันดาน) ซ้ำกัน ๗ ขณะ โดยเป็นจิตประเภทเดียวกันทั้ง ๗ ขณะ คือ เป็น "กุศลชวนวิถีจิต" หรือ "อกุศลชวนวิถีจิต" อย่างใดอย่างหนึ่ง

เมื่อ "กุศลชวนวิถีจิต" หรือ "อกุศลชวนวิถีจิต" อย่างใดอย่างหนึ่งดับไปแล้ว ถ้าเป็น "อารมณ์ทางใจ" ที่ปรากฏชัดเจน "ตทาลัมพนวิถีจิต" ก็ต้องเกิดต่ออีก ๒ ขณะ ฉะนั้น
"วิถีจิต" ที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางมโนทวารจึงมีเพียง ๓ วิถี เท่านั้น คือ

วิถีที่ ๑ เป็น "อาวัชชนวิถี" ๑ ขณะ

วิถีที่ ๒ เป็น "ชวนวิถี" ๗ ขณะ

วิถีที่ ๓ เป็น "ตทาลัมพนวิถี" ๒ ขณะ

ฉะนั้น ลำดับ การเกิดขึ้น ของ "วิถีจิตทางมโนทวาร" (เป็นวิถีจิต ๓ วิถี) ดังนี้

"ภวังคจลนะ" ๑ ขณะ ไม่ใช่วิถีจิต

"ภวังคุปัจเฉทะ" ๑ ขณะ ไม่ใช่วิถีจิต

"มโนทวาราวัชชนจิต" ๑ ขณะ เป็นอาวัชชนวิถีจิต

ขณะจิตที่ ๔-๑๐ คือ "ชวนวิถีจิต" ๗ ขณะ (กุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต) เป็นชวนวิถีจิต

ขณะจิคที่ ๑๑-๑๒ คือ "ตทาลัมพนจิต" ๒ ขณะ เป็น ตทาลัมพนวิถีจิต

เข้าใจว่าข้อความนี้ ควรจะถูกต้อง คือ "วิถีจิต" ที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางมโนทวารจึงมีเพียง ๓ วิถี เท่านั้น คือ

วิถีที่ ๑ เป็น "อาวัชชนวิถีจิต" ๑ ขณะ

วิถีที่ ๒ เป็น "ชวนวิถีจิต" ๗ ขณะ

วิถีที่ ๓ เป็น "ตทาลัมพนวิถีจิต" ๒ ขณะ

เพราะข้อความที่อธิบาย คำว่า "วาระ" ว่า "วาระ" คือ "วิถีจิต" ซึ่งเกิด-ดับ-สืบต่อ โดยรู้อารมณ์เดียวกัน และทางทวารเดียวกัน

ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือผิดประการใดกรุณาอธิบายด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 4 ส.ค. 2552

"วาระ" คือ "วิถีจิต" ซึ่งเกิด-ดับ-สืบต่อ โดยรู้อารมณ์เดียวกัน และทางทวารเดียวกัน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 ส.ค. 2552

การรู้อารมณ์ ทาง "มโนทวารวิถี" มี เพียง ๒ "วาระ" เท่านั้น คือ "ชวนวาระ" และ "ตทาลัมพนวาระ" หมายความว่า ข้อความข้างต้นนี้ ไม่ถูกต้อง และที่ถูกต้อง การรู้อารมณ์ทาง "มโนทวารวิถี" ต้องเป็น ๓ วาระ ใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 4 ส.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
suwit02
วันที่ 4 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sam
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ความคิดเห็นที่ 3 ครับ

เมื่อพิจารณาข้อความจาก ...

[67] โมฆวาระ โวฏฐัพพนวาระ ชวนวาระ ตทาลัมพนวาระ

การรู้อารมณ์ ทางปัญจทวาร แต่ละทวาร และแต่ละ "วาระ" นั้นมี "วิถีจิต" เกิดขึ้น มาก-น้อย ต่างกัน เป็น ๔ วาระ คือ โมฆวาระ โวฏฐัพพนวาระ ชวนวาระ ตทาลัมพนวาระ โดยนัยนี้ ผมเข้าใจว่าการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร มีเพียง ๒ วาระ คือ ชวนวาระ และตทาลัมพนวาระ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ถ้าไม่เป็นการรบกวนจนเกินไปขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติมต่ออีกสักนิดได้ไหมคะ ว่า
ในเมื่อ อารมณ์ (ต่อจากทางปัญจทวาร) กระทบมโนทวารโดย "ภวังคุปัจเฉทจิต" กระทำกิจเป็นทวารแล้วโดย "จิตตนิยาม" ต่อจากนั้น ต้องเป็นไปตามลำดับ ดังนี้ คือ "วิถีจิต" ที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางมโนทวารจึงมีเพียง ๓ วิถี เท่านั้น คือ จิต

วิถีที่ ๑ เป็น "อาวัชชนวิถีจิต" ๑ ขณะจิต

วิถีที่ ๒ เป็น "ชวนวิถีจิต" ๗ ขณะจิต

วิถีที่ ๓ เป็น "ตทาลัมพนวิถีจิต" ๒ ขณะ

เพราะเหตุใด คุณ K จึงเข้าใจว่า ...

โดยนัยนี้ ผมเข้าใจว่า การรู้อารมณ์ทางมโนทวาร มีเพียง ๒ วาระ คือ ชวนวาระ และตทาลัมพนวาระ ครับ

แล้ว "อาวัชชนวิถีทางมโนทวาร" ซึ่งก็ต้องรู้อารมณ์ ก่อนที่จะเป็น "ชวนวิถีทางมโนทวาร" และ "ตทาลัมพนวิถีทางมโนทวาร" นั้นไม่เป็น "วาระ" ได้อย่างไร เพราะเหตุใดละคะ.? ทั้งๆ ที่ รู้อารมณ์เดียวกัน ทางทวารเดียวกัน ขอความกรุณาขยายความด้วยนะคะ เพราะ "ยังไม่เข้าใจ" และ ไม่อยากให้ผ่านไป โดย "ไม่เข้าใจ" ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 5 ส.ค. 2552

วาระโดยนัยนี้ หมายถึง จำนวนวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ในวาระหนึ่งครับ ซึ่งทางปัญจทวารนั้น มีโมฆวาระซึ่งเป็นวาระที่วิถีจิตไม่เกิดเลย

โวฎฐัพพนวาระ เป็นวาระที่วิถีจิตเกิดตามลำดับจนถึงโวฎฐัพพนจิต แล้วจิตต่อจากนั้น (ชวนวิถี และ ตทาลัมพนวิถี) ไม่มีปัจจัยให้เกิดต่อไป

ชวนวาระ วิถีจิตเกิดถึงชวนวิถี โดยตทาลัมพนะไม่มีปัจจัยให้เกิดต่อไป ตทาลัมพนวาระ วิถีจิตเกิดครบทั้ง ๗ วิถี (รายละเอียดสามารถอ่านทบทวนได้ตั้งแต่ตอนที่ ๖๗ เป็นต้นไปครับ)

สำหรับการรู้อารมณ์ทางมโนทวารนั้น ท่านอาจารย์แสดงไว้ ๒ วาระ (ไม่มีโมฆวาระ และโวฎฐัพพนวาระ) ชวนวาระ สำหรับการรู้อารมณ์ที่ชัดเจนน้อย (อวิภูตารมณ์) ซึ่ง ตทาลัมพนจิต ไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้นทำกิจตทาลัมพนวาระสำหรับการรู้อารมณ์ที่ชัดเจน (วิภูตารมณ์)

การแสดงวาระโดยนัยนี้ ทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของวิถีจิตครับว่า แม้จะมีวิถีจิต หลายวิถี คือ ทางปัญจทวารมี ๗ วิถี และทางมโนทวารมี ๓ วิถี แต่ในการรู้อารมณ์แต่ละครั้ง ก็ไม่ได้มีวิถีจิตเกิดขึ้นครบทุกวิถีเสมอไป โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของอารมณ์ และปัจจัยอื่นๆ ด้วยครับ

(ที่คุณพุทธรักษาเข้าใจนั้น คือการรู้อารณ์ทางมโนทวารมี ๓ วิถีครับ ซึ่งมี ๒ วาระ)

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Sam
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ขอสรุปต่ออีกนิดหนึ่งครับ เรื่องวิถีจิตทางปัญจทวารและมโนทวาร โดยนัยต่างๆ

- โดยขณะจิต ปัญจทวารมี ๑๗ ขณะจิต มโนทวารมี ๑๐ ขณะจิต

- โดยวิถี ปัญจทวารมี ๗ วิถี มโนทวารมี ๓ วิถี

- โดยวาระ ปัญจทวารมี ๔ วาระ มโนทวารมี ๒ วาระ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนา ในกุศลวิริยะ ของคุณ K..

มีความจริงอย่างหนึ่ง ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ค่ะคือ "ปัญญาที่น้อยนิด" ย่อม "รู้ เท่าที่ รู้ได้" เท่านั้น แต่ความจริงอีกประการหนึ่ง ... ที่ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกัน คือ เมื่อไม่หยุดที่จะศึกษา "ความจริงที่ควรรู้ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ "

สิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ย่อมเข้าใจได้สักวันหนึ่ง เมื่อ "เหตุ" สมควรแก่ "ผล" เพราะท่านอาจารย์สอนว่า "ธรรมทั้งหลาย" เป็น "อนัตตา" เพราะบังคับบัญชาไม่ได้ (ก็จริง) แต่ ไม่เป็น "อิสระ" เพราะต้องเป็นไป ตามเหตุ-ปัจจัย นั่นเอง

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในความเมตตา-กรุณา ถ้ามีข้อสงสัยใดๆ จะขอเรียนถามใน "โอกาสต่อไป" นะคะ

ด้วยความนับถือปริศนา ตันทอง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Sam
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ยินดีสนทนาเสมอครับ

(ตามแต่ปัจจัยทั้งหลายจะเอื้ออำนวย)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ส.ค. 2552
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 13081 ความคิดเห็นที่ 9 โดย K ขอสรุปต่ออีกนิดหนึ่งครับ เรื่องวิถีจิตทางปัญจทวารและมโนทวาร โดยนัยต่างๆ

โดยขณะจิต ปัญจทวารมี ๑๗ ขณะจิต มโนทวารมี ๑๐ ขณะจิต โดยวิถี ปัญจทวารมี ๗ วิถี มโนทวารมี ๓ วิถี

โดยวาระ ปัญจทวารมี ๔ วาระ มโนทวารมี ๒ วาระ หมายความว่า ท่านแสดงโดยนัยต่างๆ จุดประสงค์ที่แยกโดยนัยต่างๆ เพื่อให้เข้าใจอะไรคะ.?

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Sam
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ก่อนอื่น ต้องขออภัยอย่างสูงครับ และขอแก้ไขว่า วิถีจิตทางปัญจทวารมี ๑๔ ขณะจิตครับ (ไม่นับรวม อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทจิต รวม ๓ ขณะ) ในความคิดเห็นที่ 9 นั้น ผมสรุปโดยความเข้าใจจากการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมาย ที่จะแสดงกรอบแนวคิดในหลายมุมมองที่เราควรทราบเกี่ยวกับวิถีจิต เนื่องจากในบางครั้ง หากไม่เข้าใจว่า ท่านผู้แสดงธรรมกำลังกล่าวในมุมมองหรือโดยนัยใด ก็อาจทำให้เกิดความสับสน ไม่เข้าใจ และเห็นว่าพระธรรมที่แสดงนั้นไม่สอดคล้องกันครับ จุดประสงค์ที่สรุปเช่นนั้น ก็เพื่อให้เห็นความแตกต่างของการพิจารณาวิถีจิต โดยนัยของ "วิถี" กับ "วาระ" ครับ เพราะถ้ากล่าวโดยวิถี จะเป็นการแสดงประเภทของจิต ที่เกิดขึ้นทำกิจต่างๆ กัน ว่ามีกี่ประเภท ทำกิจอะไรบ้าง เช่น โวฏฐัพพนวิถีเป็นจิตที่ทำกิจตัดสินอารมณ์ และชวนวิถี เป็นจิตที่ทำกิจแล่นไปในอารมณ์ ซึ่งสรุปได้ว่าทางปัญจทวารวิถีจิตมี ๗ วิถีและทางมโนทวารมี ๓ วิถี

แต่ถ้ากล่าวโดยวาระนั้น เป็นการแสดงความแตกต่างกันของการรู้อารมณ์ครั้งหนึ่งๆ หรือวาระหนึ่งๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีจิตครบทุก "วิถี" ในทุกครั้งครับ เช่น โวฏฐัพพนวาระ คือจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามลำดับจนถึงโวฏฐัพพนวิถี แล้วอารมณ์นั้นก็ดับไป เป็นปัจจัยให้วิถีจิตต่อจากนั้นในวาระนั้นเกิดขึ้นทำกิจไม่ได้ (ในกรณีนี้ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์เพียง ๕ วิถีจากทั้งหมด ๗ วิถี ครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ให้เห็นความแตกต่างของการพิจารณาวิถีจิต โดยนัยของ "วิถี" กับ "วาระ" เพราะถ้ากล่าวโดยวิถี จะเป็นการแสดงประเภทของจิตที่เกิดขึ้น ทำกิจต่างๆ กัน

แต่ถ้ากล่าวโดยวาระนั้น เป็นการแสดงความแตกต่างกันของการรู้อารมณ์ครั้งหนึ่งๆ หรือวาระหนึ่งๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีจิตครบทุก "วิถี" ในทุกครั้งครับ

เข้าใจขึ้นค่ะ

ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
suwit02
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนา ท่านผู้ถามและผู้ตอบ ครับ

ขออนุญาตเรียนถามว่า การที่ไม่กล่าวถึง โมฆวาระทางมโนทวารนั้น เพราะเป็นจิตตนิยามว่า หากเกิด อาวัชชนวิถีทางมโนทวารแล้ว อย่างน้อยชวนวิถีก็จะต้องเกิดตามมา ใช่หรือไม่

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sam
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นจากความเข้าใจที่ได้รับจากการศีกษาหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปนะครับ หากท่านผู้รู้ท่านใด เคยศึกษาในประเด็นนี้โดยตรงจากพระอภิธรรมปิฎก ขอให้ช่วยอนุเคราะห์การสนทนานี้ด้วยครับ

เมื่อท่านแสดงว่า วิถีจิตทางมโนทวารมีเพียง ๒ วาระ คือชวนวาระ และตทาลัมพนวาระ ย่อมแสดงว่าไม่มีวาระอื่น คือไม่มีโมฆวาระ ฯลฯ ดังนั้น เมื่ออาวัชชนวิถี ทางมโนทวารเกิดแล้ว อย่างน้อยจะต้องมีชวนวิถีเกิดตามมาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
suwit02
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
pornpaon
วันที่ 7 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Jarunee.A
วันที่ 5 พ.ค. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ