วิบากของมโนกรรม มีลักษณะอย่างไร ?
ขอเรียนถามค่ะ
ข้อความบางตอนจาก หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป
กัมมวัฏฏ์ คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ
กัมมวัฏฏ์ เป็นปัจจัยให้เกิด วิปากวัฏฏ์ และ เมื่อ วิบากจิต เกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และ ทางกาย วิบากจิต ของ มโนกรรม มีลักษณะอย่างไร กรุณายกตัวอย่าง ในชีวิตประจำวัน ด้วยค่ะ
เข้าใจมาตลอดว่า ทางมโนทวาร เป็น กุศลและอกุศล เท่านั้น ก่อกรรมทางใจ หมายถึงขณะที่คิด นั้น เป็นกุศลหรืออกุศล แต่เมื่อมีกำลังย่อมผลักดันให้มีการกระทำทางกายหรือวาจา เช่นนั้นหรือเปล่าคะที่เรียกว่า ก่อกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมทางใจ
ขอบพระคุณค่ะ
ผมคิดว่าความคิดเห็นของคุณ วิริยะ น่าจะอยู่ในประเด็นของกิเลสนะครับ (ต้องขออภัยหากเข้าใจผิด) ซึ่งกิเลสอย่างละเอียดนอนเนื่องอยู่ในจิต กิเลสอย่างกลางเกิดร่วมกับอกุศลจิตที่ยังไม่ล่วงออกมาทางกายและวาจา และกิเลสอย่างหยาบเกิดร่วมกับอกุศลจิตที่ทำให้เกิดการกระทำทางกายและวาจา (ผมเข้าใจว่ากิเลสอย่างกลางและอย่างหยาบ จะเกิดกับกายกรรม หรือวจีกรรม หรือมโนกรรม ก็ได้)
สำหรับท่านผู้ตั้งคำถาม วิบากจิต ของ มโนกรรม มีลักษณะอย่างไร?
ผมคิดว่า ถ้าเข้าใจลักษณะของมโนกรรม จะเข้าใจได้ว่าวิบากจิตของมโนกรรมนั้น สามารถทำกิจหน้าที่ได้ในลักษณะเดียวกันกับวิบากจิตของกายกรรมและวจีกรรม ครับ ดังนั้น ขอให้ลองพิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้ ครับ
ขโมยอาหารเพื่อประทังความหิว กับขโมยของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพราะอยากได้สิ่งนั้นมาก ต่างกันหรือไม่? อย่างไหนเป็นกายกรรม อย่างไหนเป็นมโนกรรม (ทางกายทวาร) อย่างไหนมีโทษกว่า
ฆ่าเพราะเป็นหน้าที่ (เพชรฆาต หรือ ทหาร) กับฆ่าเพราะความอาฆาตแค้น ต่างกันหรือไม่ อย่างไหนเป็นกายกรรม อย่างไหนเป็นมโนกรรม อย่างไหนมีโทษกว่า
พูดผิดจากความเป็นจริงเพื่อให้มีชีวิตรอด กับพูดผิดจากความเป็นจริงเพราะ ความเห็นผิด ต่างกันหรือไม่ อย่างไหนเป็นวจีกรรม อย่างไหนเป็นมโนกรรม (ทางวจีทวาร) อย่างไหนมีโทษกว่า
เรียน คุณ K
ด้วยความนับถือขอขอบพระคุณ ที่กรุณา ที่ท่านตั้งประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณา นั้นข้าพเจ้ามีความเข้าใจดังที่จะกล่าว แต่ ไม่ทราบว่าผิดหรือเปล่า ไม่ทราบว่า คุณ K กรุณาแสดงความเห็นด้วยได้ไหมคะ
ขโมยอาหารเพื่อประทังความหิว กับขโมยของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพราะอยากได้สิ่งนั้นมาก ต่างกันหรือไม่ อย่างไหนเป็นกายกรรม อย่างไหนเป็น มโนกรรม (ทางกายทวาร) อย่างไหนมีโทษกว่า
การขโมย ไม่ว่าขโมย เพื่ออะไร ย่อมเป็น อกุศลกรรมบถ เริ่มต้นจาก อกุศลจิตทางใจที่สั่งสมมา มีกำลังมากพอที่จะขโมยและ การขาดความละอายต่อบาป ขาดโยนิโสมนสิการ เป็นต้น.จึงล่วงออกมาเป็นกรรมทางกาย เป็น การขโมยถ้าการขโมยนั้นสำเร็จ และมีผู้เสียประโยชน์ไม่ว่าจะอย่างไร ต้องเป็น การล่วงศีลอทินนาฯส่วนประเด็นที่ว่า โทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่า กระทำกับผู้มีคุณมาก หรือ น้อยและ ขณะกระทำนั้น ประกอบด้วยอกุศลจิตอย่างมาก หรือ น้อยเช่น ใช้ความพยายามในการกระทำการขโมย อย่างมากหรือเปล่า เป็นต้น
มโนกรรม ต้องไม่ปะปนกับ กายกรรม ค่ะ ฆ่าเพราะเป็นหน้าที่ (เพชรฆาต หรือ ทหาร) กับฆ่าเพราะความอาฆาตแค้น ต่างกันหรือไม่ อย่างไหนเป็นกายกรรม อย่างไหนเป็นมโนกรรม อย่างไหนมีโทษกว่า
การฆ่า ก็คือ การฆ่า ถ้าครบองค์ ไม่ว่าเป็นหน้าที่หรือ อาฆาตส่วนตัวก็ล่วงอกุศลกรรมบถ ล่วงศีล ปาณาติบาต แล้วค่ะ กระบวนการก็โดยนัยเดียวกับข้อแรกแต่ ความต่างกันของโทษ มีหลายระดับ เช่นฆ่าผู้มีคุณมาก หรือน้อย เป็นต้น แต่ ข้อที่ควรคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ ประการหนึ่งมีแสดงไว้อย่างชัดเจนในกระทู้นี้ค่ะ
คาถา ว่าด้วยเรื่องก้อนเหล็กแดง. (มิลินทปัญหา)
สำหรับประเด็นที่สองนี้ เข้าใจว่า มโนกรรม ในกรณีนี้ คือ จิตคิดจะฆ่า แต่ การฆ่า ไม่สำเร็จเป็นกรรม อันได้แก่ ปาณาติบาต เพียงเพราะจิตคิดจะฆ่า แน่นอนค่ะ
ดังนั้น มโนกรรม ต้องไม่ปะปนกับ กายกรรม ค่ะ
พูดผิดจากความเป็นจริงเพื่อให้มีชีวิตรอด กับพูดผิดจากความเป็นจริงเพราะความเห็นผิด ต่างกันหรือไม่ อย่างไหนเป็นวจีกรรม อย่างไหนเป็นมโนกรรม (ทางวจีทวาร) อย่างไหนมีโทษกว่า
ทั้งสองกรณีที่ว่า เป็นวจีทุจริตกรรมค่ะ เป็นการลวงศีลมุสาฯกระบวนการ เริ่มจากมโมกรรมก่อน โดยนัยเดียวกับสองประเด็นแรกค่ะ แต่ความต่างของโทษก็โดยนัยเดียวกัน ที่สอนไว้ในคาถา ว่าด้วยก้อนเหล็กแดง ดังนั้น มโนกรรม ต้องไม่ปะปนกับ วจีกรรม ค่ะ.
ขอแสดงความเห็นส่วนตัว เพื่อสอบทาน ว่าเข้าใจถูกหรือเปล่านะคะ...
อกุศล-มโน-วิบากจิตในชีวิตประจำวันยกตัวอย่าง ในกรณี ของ มโนกรรม คือ ความพยาบาท มีผลของกรรม คือ
- เมื่อความพยาบาทเกิดขึ้น ผลก็คือ ร่างกายไม่สดชื่น ใบหน้าหมองคล้ำ เป็นต้นเป็นวิบากอย่างเบาถ้ามีกำลังมาก ผลของพยาบาทที่เกิดขึ้น อันเป็น วิบากอย่างหนักได้แก่ ทุกข์กาย อันสืบเนื่องจากความพยาบาท เช่น เกิดโรคภัยต่างๆ กับตนเองหรือ การกระอักเลือดจนเสียชีวิต เพราะพยาบาทนั้นๆ เป็นต้น
นี้เป็นความเข้าใจส่วนตัวไม่ทราบว่า เข้าใจผิดหรือเปล่าคะ ถ้าผิดก็ขออภัย และหากจะกรุณาแนะนำให้เข้าใจด้วย ว่า ที่ถูก คืออย่างไรจักขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
ขออนุญาตสมมติว่า ท่านผู้ตั้งกระทู้ถามดังนี้
เมื่อ วิบากจิต เกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และ ทางกาย วิบากจิต ทางมโนทวาร มีลักษณะอย่างไร กรุณายกตัวอย่าง ในชีวิตประจำวัน ด้วยค่ะ
และขออ้างอิงข้อความในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ดังต่อไปนี้
เป็นกรณีตัวอย่างในชีวิตประจำวันครับ
(หน้า 329 ฉบับที่ท่านผู้ตั้งกระทู้ ใช้มอบธรรมบรรณาการ ให้พวกเราเสมอๆ )
ก. สติปัฏฐานระลึกรู้ปรมัตถธรรม แต่ไม่ระลึกรู้บัญญัติ ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าสภาพที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะพ้นจากมโนทวารไม่ได้เลยใช่ไหม คือพอตามอง สภาพที่เห็นเกิดขึ้น มี ภวังคจิตเกิดคั่น แล้วจึงต่อมโนทวาร
สุ. วิถีจิตทางมโนทวารจะต้องรู้รูปเดียวกันกับที่วิถีจิตทางปัญจทวารรู้ ถ้าชวนจิตทางปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต ชวนจิตทางมโนทวารวาระแรกก็เป็นโลภมูลจิตประเภทเดียวกัน จักขุทวารวิถีจิตกับมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อกันเร็วเหลือเกิน อุปมาเหมือนนกที่บินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะกิ่งไม้เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดินฉันใด เมื่ออารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารแล้วก็ปรากฏต่อทางมโนทวารทันที หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้วหลายขณะอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้ไม่รู้ว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเมื่อกระทบจักขุปสาทแล้วก็ปรากฏ
ขออนุโมทนาครับ
ต้องขอเรียนให้ทราบ จากใจริงเลยนะคะ ว่าการซักถามนี้ ไม่ได้มีเจตนาอื่น นอกจากความเข้าใจ ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจเพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ใหม่ ความเข้าใจยังน้อย จึงต้องเรียนถาม เพื่อความเข้าใจเท่าที่สามารถเข้าใจได้ แต่การสื่อสาร ด้วยวิธีนี้ หากเขียนไม่ดี ใช้ภาษาไม่เหมาะ เพราะขาดความรอบคอบ ในสิ่งที่ควรและไม่ควรอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน หรือ ความรำคาญใจซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ก็ต้องขออภัยด้วยนะคะ หากใช้คำเขียนที่ไม่เหมาะ บางครั้ง ก็อธิบายความรู้สึกสงสัย เป็นคำเขียนไม่ได้.หรือ บางครั้ง เป็นการตั้งคำถาม ที่ต้องการคำตอบมากจนเกินไป
เรียน คุณพุทธรักษา ครับ
ก่อนอื่นต้องขออภัยคุณพุทธรักษา และสหายธรรมทุกท่าน ที่ผมตั้งคำถามที่เป็นการ ถามนำมากเกินไป ผมอยากให้คุณพุทธรักษาลองพิจารณาตัวอย่างที่ตั้งไว้อีกครั้ง และสังเกตว่าการ ล่วงอทินนาทาน การล่วงปาณาติบาต และการล่วงมุสาวาจาตามตัวอย่างนั้น มีความต่างกันอย่างไร แบบใดที่ไม่เจือด้วย อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ และแบบใดที่เจือด้วยเจตนาที่เป็นไปในมโนทุจริตกรรม อันนำไปสู่การกระทำทุจริตทางกายและ ทางวาจา ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าเป็นมโนกรรม ครับ
ธรรมะที่เกิดขึ้นทำกิจในชีวิตประจำวันนั้น ละเอียดและรวดเร็วมาก ยากที่เราจะอธิบายทุกเหตุการณ์ด้วยปริยัติได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจขั้นปริยัตินั้น เราควรค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละประเด็น ทีละนัย เพราะหากนำทุกประเด็น ทุกนัยมาพิจารณาในคราวเดียว จะทำให้เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน อธิบายและเข้าใจตามได้ยากมากเลยครับ
ดังเช่นในกรณีนี้นั้น การทำความเข้าใจเรื่อง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น ประเด็นที่ใช้พิจารณาคือเจตนา โดยกรรม (ทางกายทวารหรือวจีทวาร) ใดที่ไม่ได้มีเจตนาตั้งตั้งต้นเป็นอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ กรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือวจีกรรมครับ แต่หากกรรมใดแม้กระทำทางกายทวารหรือวจีทวาร แต่มีเจตนาตั้งต้น ด้วยมโนทุจริตกรรม ๓ กรรมนั้นท่านแสดงไว้ว่าเป็นมโนกรรม (ซึ่งเป็นทุจริตกรรมที่มีโทษมาก โดยเฉพาะกรรมที่ล่วงออกมาทางกายและวาจาด้วยมิจฉาทิฏฐิ ครับ)
ขออนุญาตยกอีกหนึ่งตัวอย่างนะครับ หากคุณธรรม ชนิด ขนาด ของสัตว์ที่ถูกฆ่าเท่ากันแล้ว การฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ กับการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ ต่างกันหรือไม่ครับ
หากคุณธรรม ชนิด ขนาด ของสัตว์ที่ถูกฆ่า เท่ากันแล้ว การฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ กับการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ ต่างกันหรือไม่ครับ
การฆ่าที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์ใด.มีโทษมากกว่า การฆ่าที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ค่ะ เพราะว่า อย่างน้อย ผู้ฆ่า ที่เชื่อว่าบาปมีผลแม้ต้องฆ่า ก็เชื่อว่า บาปมีผล มีโอกาสที่จะเลิกการฆ่าได้ เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม ซึ่งต่างกับ ผู้ฆ่าที่ไม่เชื่อว่าบาปมีผลนอกจากจะไม่หยุดฆ่าแล้ว ยังอาจจะฆ่ามากขึ้นๆ ยากที่จะกลับใจได้ค่ะ
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาค่ะ.