ความจริงแห่งชีวิต [101] ทุกบุคคล เสมอกัน โดยสภาพที่เป็น ปรมัตถธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทั้งวัตถุภายนอกและทั้งรูปกายที่ปรากฏให้เห็นว่าสูง ต่ำ ดำ ขาว ต่างๆ นั้น ก็ปรากฏชั่วขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ถ้าไม่มีตาหรือไม่เห็น ก็จะไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน สูง ตํ่า ดำ ขาวซึ่งยึดถือว่าเป็นร่างกายของเราเลย
ฉะนั้น รูปร่างกายของตนเองและวัตถุภายนอกทั้งหมด ตามความจริงนั่นไม่ใช่ของใครเลย เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น แล้วดับไปอย่างรวดเร็วเท่านั้นเอง
เสียงที่ปรากฏเมื่อกระทบหูก็เช่นเดียวกัน เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบหูแล้วก็ดับไปหมด ไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้
ชั่วขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง ได้ยินครั้งหนึ่ง ได้กลิ่นครั้งหนึ่ง ลิ้มรสครั้งหนึ่ง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสครั้งหนึ่ง หรือคิดนึกต่างๆ นั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสติปัฏฐาน ให้ปัญญาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ เลย
ลองพิจารณาดูทรัพย์สมบัติที่เข้าใจว่ามีมากนั้น ถ้าไม่เห็นทรัพย์สมบัตินั้นเลย ก็เพียงแต่คิดเท่านั้นว่ามีทรัพย์สมบัติต่างๆ มาก แต่เมื่อไม่เห็น ไม่ได้กระทบสัมผัสทรัพย์สมบัตินั้นๆ เลย จะมีประโยชน์อะไรจากทรัพย์สมบัตินั้นๆ ไหม เมื่อรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ แล้ว ก็รู้ว่าทุกคนเสมอกัน คือ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นขณะใดก็เห็นสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณและสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จึงไม่ใช่สมบัติของใครทั้งสิ้น ฉะนั้น จึงไม่ควรยึดถือสิ่งใดว่าเป็นเรา หรือของเรา ทุกคนเท่ากันโดยสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมเหมือนกัน แต่กิเลสที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือของเรานั้นย่อมมากน้อยต่างกัน
ท่านที่เคยยินดีในทรัพย์สมบัติมากน้อยของท่านนั้น เริ่มรู้สึกหรือยังว่าท่านไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ เลย เพราะจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจักขุวิญญาณไม่เกิดขึ้นทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน เมื่อทรัพย์สมบัติเป็นเพียงสิ่งที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นชั่วขณะ แล้วจะยึดถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติของท่านได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏนั้นไม่สามารถจะเข้ามาสู่ตัวของท่านได้เลย เพียงสามารถปรากฏเมื่อกระทบจักขุทวารหรือจักขุปสาทเท่านั้น
เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน มีเพียงชั่วขณะที่กระทบสัมผัสเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเราหรือว่าเป็นของเรา
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์