ความจริงแห่งชีวิต [107] กิริยาจิต ไม่เป็นเหตุ ให้เกิด ผล (วิบากจิต)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า ก็แลพระผู้มีพระภาค เมื่อทรงจำแนกธรรมเป็นแผนกๆ แล้ว ทรงยกบัญญัติขึ้นตรัส ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยาก น้ำหรือน้ำมันหลายชนิดที่ใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน เมื่อมองดู ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจรู้ได้ว่าต่างกัน เพราะสี กลิ่น และรสต่างกัน แม้จะเป็นได้ถึงอย่างนั้น การเช่นนั้นท่านก็พูดว่าทำได้ยาก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งรู้อารมณ์เดียวกัน เช่น รูปารมณ์เดียวกันเหล่านี้ออกเป็นแผนกๆ แล้วยกบัญญัติขึ้นตรัส ชื่อว่า ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก
นามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดยิ่งกว่ารูปที่ละเอียด แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจำแนกลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดไว้โดยลักษณะที่ปรากฏ โดยกิจ (รส) โดยอาการที่ปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และโดยเหตุใกล้ (ปทัฏฐาน) ให้เกิดนามธรรมประเภทนั้นๆ
จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวว่า จิตเป็นภูมิ คือ เป็นที่เกิดของสัมปยุตตธรรม เช่น ความรู้สึกเป็นสุข ถ้าไม่มีจิต ความรู้สึกเป็นสุขก็จะมีไม่ได้ เพราะไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิดของความรู้สึกเป็นสุข แต่ขณะใดที่สุขเวทนาเกิด ขณะนั้นจิตเป็นภูมิ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อยู่อาศัยของสุขเวทนาที่เกิดกับจิตนั้น ฉะนั้น จิตจึงเป็นภูมิเป็นที่อยู่อาศัยของสัมปยุตตธรรม คือ สุขเวทนา และเจตสิกอื่นๆ
จิตจำแนกออกโดยชาติ มี ๔ ชาติ คือ อกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ไม่ว่าจะกล่าวถึงจิตอะไร จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าจิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร คือ เป็นอกุศล หรือกุศล หรือวิบาก หรือกิริยาสำหรับวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น เมื่อกรรมมี ๒ ประเภท คือ กุศลกรรม ๑ อกุศลกรรม ๑ วิบากจิตจึงมี ๒ ประเภท คือ กุศลวิบากจิต ๑ และอกุศลวิบากจิต ๑
เมื่อกล่าวถึงจิตซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมนั้นต้องใช้คำว่าอกุศลวิบากจิต อย่ากล่าวอย่างสั้นๆ ว่าอกุศล เพราะอกุศลวิบากจิตเป็นผลของอกุศลกรรม และกุศลวิบากจิตเป็นผลของกุศลกรรม กุศลวิบากจิตไม่ใช่กุศลจิต อกุศลวิบากจิตไม่ใช่อกุศลจิต และจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิตนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่นซึ่งไม่ใช่กัมมปัจจัย กิริยาจิตไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดวิบากใดๆ เลย กิริยาจิตส่วนมากเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ พระอรหันต์ดับอกุศลกรรมและกุศลกรรมหมดสิ้น จึงยังคงมีแต่วิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม และกิริยาจิตเท่านั้น
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์