ความจริงแห่งชีวิต [121] ทรงแสดง เวทนาเจตสิก เป็น เวทนาขันธ์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียดทำให้เข้าใจสภาพของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตได้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็จะพอใจ หลงติดในโสมนัสเวทนา ในสุขเวทนา หรือในอุเบกขาเวทนา โดยไม่รู้ว่าเวทนาขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกิริยา
ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ สนิมิตตวรรคที่ ๓ ข้อ ๓๒๘ มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีเวทนาจึงเกิดขึ้น ไม่มีเวทนาไม่เกิดขึ้น เพราะละเวทนานั้น ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นจึงไม่มีด้วยประการ ดังนี้ฯ
(ข้ออื่นๆ กล่าวถึงสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ และจิตซึ่งเป็นวิญญาณขันธ์)
แสดงว่าเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นความรู้สึกนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น เมื่อไม่รู้ความจริงของเวทนาเจตสิก ก็ไม่สามารถละความรู้สึกว่าเป็นเราได้
การรู้สภาพของเวทนาเจตสิกจะเกื้อกูลให้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของเวทนาได้ มิฉะนั้นก็จะไม่ระลึกได้เลยว่าในวันหนึ่งๆ นั้นมีเวทนา เช่นเดียวกับในวันหนึ่งๆ ก็มีแต่สภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมนั้นๆ แต่ลองคิดดูว่าถ้าเห็นแล้วไม่มีความรู้สึกอะไรเลยก็ไม่เดือดร้อน ถ้าได้ยินแล้วไม่รู้สึกอะไรเลยก็ไม่เดือดร้อนอีกเหมือนกัน เมื่อได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฎฐัพพะ แล้วไม่รู้สึกอะไรเลยก็ไม่เดือดร้อน ก็ย่อมไม่มีบาปอกุศลกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้น จึงติด และยึดมั่นในความรู้สึก และอยากได้สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีใจเป็นสุข ทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ โดยไม่รู้ตัว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่มีใครสามารถยับยั้งไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดขึ้น ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะใด ก็จะต้องมีเวทนาเจตสิกที่รู้สึกในอารมณ์ขณะนั้น ขณะนี้เวทนาเจตสิกย่อมจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ อุเบกขาเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา การศึกษาธรรมไม่ใช่เพียงเพื่อให้รู้จำนวน หรือรู้ชื่อ แต่เพื่อให้รู้ลักษณะของความรู้สึกซึ่งกำลังมี ซึ่งถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมีในขณะนี้ แม้ความรู้สึกนั้นมีจริงเกิดขึ้นแต่ก็ดับไปแล้ว เมื่อไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของความรู้สึก ก็ย่อมจะยึดถือความรู้สึกว่าเป็นเราซึ่งเป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ
ฉะนั้น ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ย่อมไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะทุกคนยึดมั่นในความรู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ทุกคนต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข ไม่มีใครต้องการความรู้สึกเป็นทุกข์ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีทางใดที่จะให้เกิดสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ก็ย่อมจะพยายามขวนขวายให้เกิดความรู้สึกนั้น โดยไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นการติด เป็นความพอใจยึดมั่นในความรู้สึก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เมื่อความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนยึดถือ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ เพราะเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยึดมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล อย่างสำคัญชนิดหนึ่ง การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏนั้น จะต้องอาศัยการศึกษา การฟังเรื่องของสภาพธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้น และพิจารณาพิสูจน์สภาพธรรมที่มีจริงนั้นในชีวิตประจำวันด้วย
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่าน หรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ และ คุณแม่ และ สรรพสัตว์