ความจริงแห่งชีวิต [133] ความต่างของจิตโดยประเภท อสังขาริก และ สสังขาริก

 
พุทธรักษา
วันที่  6 ก.ย. 2552
หมายเลข  13467
อ่าน  1,007

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การจำแนกความต่างกันของจิตโดยประเภทอสังขาริก และสสังขาริกนั้นแสดงให้เห็นว่า แม้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยา​จิต ซึ่งเกิดร่วมกับเจตนา​เจตสิกนั้นก็ยังต่างกันออกไปโดยประเภทที่เป็นอสังขาริกบ้าง และเป็นสสังขาริกบ้าง ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความอธิบายว่า ชื่อ​ว่า ส​สังขาร เพราะ​เป็น​ไป​กับ​ด้วย​สังขาร (เครื่องชักจูง) สังขาร​ใน​ที่​นี้​หมายความ​ถึงชักจูง​ด้วย​ตนเอง หรือ​ผู้​อื่น​ชักจูง หรือ​สั่ง​ให้​กระทำ นี่เป็นสภาพจิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ว่า​จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม บางครั้งก็เกิดขึ้นเองโดยอาศัยการสะสมมา​ในอดีต เป็นปัจจัยแรงกล้าที่ทำให้กุศล หรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดมีกำลังเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องอาศัยการชักจูงใดๆ เลย สภาพ​จิต​ที่​เกิด​โดย​ไม่​อาศัย​การ​ชักจูง​นั้นเป็นอ​สังขาริ​ก คือ ไม่อาศัยการชักจูง แต่ว่า​บางครั้งบางขณะไม่ว่า​จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตามที่เกิดขึ้นนั้น มีกำลังอ่อน เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยการชักจูงของตนเอง หรือการชักจูงของบุคคลอื่นก็ได้ อกุศล และกุศลที่มีกำลังอ่อนที่อาศัยการชักจูงนั้นเป็นสสังขาริกจิต

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า​แม้จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ยังต่างกัน บางขณะเป็นกุศล หรืออกุศลที่มีกำลังแรง เกิดขึ้นโดยมีการสะสมของตนเองเป็นปัจจัย และบางครั้งบางขณะก็เป็นกุศล หรืออกุศลที่มีกำลังอ่อน ต้องอาศัยการชักจูงของตนเอง หรือการชักจูงของบุคคลอื่นจึงเกิดขึ้นได้

บางครั้งอกุศลจิตมีกำลังเกิดขึ้นทันทีตามการสะสมที่พอใจ หรือไม่พอใจอารมณ์ขณะนั้น แต่บางครั้งไม่เป็นอย่างนั้น เช่น ไม่ค่อยอยากไปดูหนัง หรือละคร แต่เมื่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูงชวนก็ไป จิตในขณะนั้นอยากจะไป หรือเปล่า ไปดูก็ได้ไม่ดูก็ดี แต่เมื่อมีใครชวนก็ไป ถ้า​ลำพังคนเดียวก็ไม่ไป หรือบางครั้งก็นึกว่า​หนังเรื่องนี้ก็คงจะสนุกน่า​ดู ก็อยากจะไปเหมือนกัน แต่ไม่ไปเพราะว่า​ยังไม่มีกำลังกล้า​ถึงกับจะไปทันที ชีวิตประจำวันจริงๆ นั้นรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังกล้า​ หรือขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่ว่า​จะเป็นฝ่ายอกุศลที่เป็นโลภะ โทสะ หรือฝ่ายกุศลก็ตาม บางคนเมื่อทราบข่าวว่า​มีการทอดกฐินก็อยากจะไปทันที และชักชวนคนอื่นไปด้วย แต่บางคนนั้นถึงแม้ว่า​จะถูกชักชวนแล้ว แต่ถ้า​คนนี้ไม่ไปคนนั้นไม่ไปก็ไม่ไปด้วย ฉะนั้น สภาพของกุศลจิต และอกุศลจิตก็มีกำลังต่างกัน ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น แม้ว่า​จะมีเจตสิกประกอบเท่า​กันก็ตาม


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่าน หรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ก.ย. 2552

เพราะฉะนั้น แม้ว่า "สภาพของจิต" จะเป็น กุศลธรรม หรืออกุศลธรรม ก็ยังมี "ความต่าง" (โดยกำลัง) จิตบางขณะ ก็เป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม ที่มีกำลังแรง ซึ่งเกิดขึ้นโดยการสั่งสมของจิตของบุคคลนั้นเองเป็นปัจจัย

จิตบางขณะ ก็เป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม ที่มีกำลังอ่อน ซึ่งต้องอาศัยการชักจูงของตนเอง หรือการชักจูงของบุคคลอื่นเป็นปัจจัย จึงสามารถเกิดขึ้นได้

บางครั้ง อกุศลจิตมีกำลัง เกิดขึ้นทันทีตามการสั่งสม เช่น จิตของแต่ละบุคคลมีการสั่งสมมาที่จะพอใจ หรือไม่พอใจ ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏขณะนั้นๆ แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น เช่น ไม่ค่อยอยากไปดูหนัง หรือดูละคร แต่เมื่อญาติมิตรชวนไปดู จิตในขณะนั้นอยากไป หรือเปล่า ไปดูก็ได้ ไม่ดูก็ดี แต่เมื่อมีใครชวนไป ก็ไป ถ้าลำพังคนเดียวก็ไม่ไป หรือบางครั้งก็นึกว่า หนัง หรือละครเรื่องนี้ก็คงจะสนุกน่าดู ก็อยากจะไปเหมือนกัน แต่ไม่ไปทันที เพราะว่าจิตไม่มีกำลังแรงกล้าถึงกับจะไปทันที เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าพิจารณาก็จะทราบว่า ขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังแรงกล้า ขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอกุศลธรรม เช่น โลภะ โทสะฯ หรือฝ่าย กุศลธรรม เช่น อโลภะ อโทสะฯ เช่น บางคนเมื่อทราบข่าวว่า จะมีการทอดกฐินก็อยากจะไปทันที และยังชักชวนผู้อื่นไปด้วย แต่บางคนนั้น ถึงแม้ว่าจะถูกชักชวนแล้ว แต่ถ้าคนนี้ไม่ไป หรือคนนั้นไม่ไป ก็ไม่ไป

ฉะนั้น แสดงว่าสภาพของจิต คือ กุศลจิต และอกุศลจิต แต่ละขณะนั้นมีกำลังต่างกันตามเหตุตามปัจจัยซึ่ง "ปรุงแต่ง" ให้เกิดขึ้นเป็นไปเช่นนั้น แม้ว่าจิตขณะนั้นๆ จะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเท่ากันก็ตาม

พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง "สภาพจิต" ซึ่งเป็นอสังขาริกจิต และสสังขาริกจิต เพื่อให้เข้าใจถึง "ความละเอียดของจิต" ว่าแม้เป็นจิตที่มีจำนวนเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเท่ากัน แต่ "สภาพของจิต" ก็ต่างกันโดยเป็นอสังขาริกจิต และสสังขาริกจิต ตาม "กำลังของเจตสิก" ที่เกิดร่วมด้วย

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jarunee.A
วันที่ 3 มิ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ