ความจริงแห่งชีวิต [145] การศึกษา ปรมัตถธรรม ต้องคิด พิจารณาเหตุผล ด้วยตนเอง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จำแนกจิตโดยนัยของ โสภณะ และอโสภณะ
โสภณธรรม เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะกุศลธรรมเท่านั้น สภาพธรรมที่ดีงามแต่ไม่ใช่กุศลธรรม คือ กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม และโสภณกิริยา ซึ่งเป็นจิตและเจตสิกเฉพาะพระอรหันต์ผู้ดับกุศลและอกุศลเป็นสมุจเฉทแล้ว
อโสภณธรรม เป็นสภาพธรรมที่ตรงข้ามกับโสภณธรรม คือไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะอกุศลเจตสิกเท่านั้น จิตและเจตสิกใดที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตและเจตสิกนั้นเป็นอโสภณะ ฉะนั้น โดยนัยของสัมปยุตตธรรมที่จำแนกให้จิตต่างกันเป็นจิตประเภทที่ดีงามเป็นโสภณะ และเป็นจิตประเภทที่ไม่ดีงามเป็นอโสภณะนั้น ก็จำแนกโดยเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ นั่นเอง เจตสิกที่ดีงาม ได้แก่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก เป็นต้น ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกที่ทำให้จิตดีงาม ฉะนั้น การจำแนกจิตโดยประเภทที่เป็นโสภณะและอโสภณะ ก็สืบต่อจากการจำแนกจิตโดยเหตุนั่นเอง จิตใดที่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นโสภณเหตุ จิตนั้นเป็นโสภณจิต จิตใดไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นโสภณเหตุ จิตนั้นเป็นอโสภณจิต
การศึกษาปรมัตถธรรมนั้นต้องคิด ต้องพิจารณาเหตุผลด้วยตนเอง เมื่อเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องชัดเจนก็จะไม่สับสนคลาดเคลื่อนแม้ในเรื่องโสภณธรรม และอโสภณธรรม
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์