ความจริงแห่งชีวิต [156] สมิทธิสูตร - โลก หรือ การบัญญัติ ว่า โลก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมิทธิสูตรที่ ๔ ข้อ ๗๕ ท่านพระสมิทธิทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลก โลก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรจึงเป็นโลกหรือบัญญัติว่าโลก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร สมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งกับจักขุวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ฯลฯ
การที่จะรู้จักโลกได้นั้นก็เพราะมีตา จึงเห็นสีสันวัณณะของโลก มีหูจึงได้ยินเสียงโลก มีจมูกจึงได้กลิ่นโลก มีลิ้นจึงได้รู้รสโลก มีกายจึงรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวของโลก ถ้าไม่มีทางเหล่านี้เลย โลกจะปรากฏได้ไหม เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ไม่คิดนึก โลกไหนจะปรากฏ โลกใดๆ ย่อมไม่ปรากฏ ฉะนั้น ที่ยึดถือว่าเป็นโลกกำลังปรากฏก็เพราะเห็น เห็นอะไร เห็นโลก สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นโลก ได้ยินเสียงอะไร เสียงเป็นโลกอีกเหมือนกัน ถ้าไม่มีเสียงเลย ไม่มีได้ยินเลยโลกเสียงก็ไม่มี ฉะนั้น โลกซึ่งประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ปรากฏได้เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงไม่ต้องแสวงหาโลกที่อื่น ไม่ว่าจะอยู่ ณ โลกไหน โลกนั้นๆ จะปรากฏได้ก็เพราะตาเป็นปัจจัยให้เห็น หูเป็นปัจจัยให้ได้ยิน จมูกเป็นปัจจัยให้ได้กลิ่น ลิ้นเป็นปัจจัยให้ลิ้มรส กายเป็นปัจจัยให้รู้โผฏฐัพพะ และใจคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเอง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร สมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งกับจักขุวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจ ธัมมายตนะ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งกับมโนวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า
"ดูกร สมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักขุวิญญาณไม่มี ณ ที่ใดโลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจ ธัมมายตนะ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น
ขอเรียนถามว่าข้อความที่ขีดเส้นใต้ หมายถึงอะไรคะ.?
ขอขอบพระคุณอย่างสูง.
คำว่า ธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักขุวิญญาณ ในอรรถกถา ท่านอธิบายว่าหมายถึง เจตสิกที่ประกอบในจักขุวิญญาณ และ ธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ หมายถึง เจตสิกที่เกิดร่วมกับมโนวิญญาณ ครับ
คำว่า "รู้แจ้ง" ในที่นี้ อาจจะรวมปัญญาเจตสิก หรือไม่ก็ได้ ใช่ไหมคะ.?