ความจริงแห่งชีวิต [165] อธิบายบัญญัติโดยนัยต่างๆ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บัญญัติ
ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเลย ปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นเป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูป แต่ละลักษณะแต่ละอาการ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ว่าเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ คือ การถืออาการของรูปและนามซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงอยู่ในโลกของสมมติสัจจะ เพราะยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการโดยสัณฐานว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริง แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว วและรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏจนปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นที่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จึงรู้แจ้งชัดว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย เป็นแต่ปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ความลึกและเหนียวแน่นของอวิชชาที่ทำให้ยึดถือในสมมติสัจจะว่าเป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ นั้น เริ่มตั้งแต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นก็มีนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อมาเรื่อยๆ เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้วย่อมเห็นสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินเสียงที่ปรากฏ ได้กลิ่นที่ปรากฏ ลิ้มรสที่ปรากฏ รู้เย็นร้อนที่กระทบสัมผัสกาย แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง จึงยึดถือในอาการของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันตลอดเวลา ที่ปรากฏเสมือนไม่เกิดดับว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็มีฆนบัญญัติ คือ การยึดถืออาการของสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน โดยยังไม่รู้ว่าสมมติเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่รู้ความและยังพูดไม่ได้ และสัตว์ดิรัจฉาน ย่อมรู้ฆนบัญญัติเหมือนกันจนกว่าจะเจริญเติบโตขึ้น เข้าใจความหมายของเสียง จึงรู้สมมติสัจจะ คือการสมมติบัญญัติเรียกสภาพธรรมต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ฉะนั้น เมื่อเป็นเด็กเคยเห็นอาการของสภาพธรรมที่ปรากฏเสมือนไม่เกิดดับอย่างไร เมื่อเติบโตขึ้นแล้วก็ยังคงเห็นเป็นอย่างนั้นเป็นสิ่งนั้น เช่น เห็นเป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ตามความเป็นจริงนั้น สภาพที่แข็งไม่ว่าจะเป็นถ้วยหรือจาน หรือช้อน หรือส้อม ก็เป็นเพียงธาตุแข็ง เป็นปฐวีธาตุ แต่ในวันหนึ่งๆ นั้น เห็นอะไร กระทบสัมผัสอะไร ในขณะที่กระทบสัมผัสไม่เคยคิดว่าเพียงกระทบสัมผัสสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นสภาพที่แข็ง แต่มีความรู้สึกว่าสัมผัสช้อน หรือส้อม หรือจาน หรือถ้วย ตามที่เคยยึดถือในอาการที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ทั้งๆ ที่เมื่อสัมผัสช้อนก็แข็ง ส้อมก็แข็ง ถ้วยก็แข็ง จานก็แข็ง เพราะลักษณะที่แท้จริงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่แข็ง แต่โดยการจำรูปร่างต่างๆ จึงทำให้รู้ว่าถ้วยไม่ใช่จาน ช้อนไม่ใช่ส้อม ฉะนั้น แม้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงนั้นเป็นรูปธรรมที่มีลักษณะแข็ง แต่ก็ยังจำสมมติสภาพนั้นว่า จานสำหรับใส่ข้าว ถ้วยสำหรับใส่แกง ช้อนสำหรับตักอาหาร จำสมมติสภาพที่เป็นธาตุแข็งต่างๆ เช่น เหล็ก วัสดุ ที่นำมาประกอบกันเป็นวิทยุ เป็นโทรทัศน์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ โดยไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้น ปรากฏแต่ละลักษณะแล้วก็ดับไป
นี่คือการจำสมมติบัญญัติสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการประดิษฐ์ใหม่ๆ ทุกๆ วัน ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐานอาการที่ปรากฏรวมกันเป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ เป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ
นอกจากรู้ฆนบัญญัติทางตาแล้ว ยังรู้สัททบัญญัติ คือรู้ความหมายของเสียงด้วย นี่เป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่จะต้องรู้ชัดว่า สภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรม สภาพธรรมใดเป็นสมมติ สมมติหมายความถึงสิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เมื่อรู้อาการรูปร่างสัณฐานต่างๆ ที่ปรากฏเป็นถ้วย ชาม ช้อน วิทยุ รถยนต์ โทรทัศน์ ฯลฯ แล้ว มนุษย์ยังสามารถเปล่งเสียงเป็นคำบัญญัติสมมติ เรียกสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งใด ซึ่งกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไม่มีความสามารถที่จะทำอย่างมนุษย์ได้โดยละเอียด เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริงและเสียงชื่อว่า "นาม" เพราะว่าถ้าไม่มีเสียง นาม (คือชื่อ) หรือคำทั้งหลายก็มีไม่ได้ แม้ว่ามีตาจึงเห็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าไม่มีเสียงก็จะไม่มีชื่อ ไม่มีคำที่ใช้เรียกสิ่งที่มองเห็นเลย ฉะนั้น การรู้ความหมายของเสียงจึงเป็นสัททบัญญัติ ทำให้มีคำพูด มีชื่อ เป็นเรื่องราวต่างๆ
ทุกคนติดในชื่อที่สมมติบัญญัติต่างๆ ฉะนั้น จึงควรรู้ลักษณะของเสียงซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คำว่า "เสียง" ไม่มีในภาษาบาลี สภาพธรรมที่เป็นเสียงนั้นภาษาบาลีบัญญัติเรียกว่า "สัททรูป" เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง เสียงไม่ใช่สภาพรู้ เสียงเป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู
ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๘ มีข้อความอธิบายเรื่องปรมัตถธรรมและสมมติบัญญัติซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่ลึกซึ้งและควรจะได้เข้าใจให้ถูกต้อง แม้ในเรื่องชื่อต่างๆ ซึ่งจะมีได้ก็เพราะมีเสียง
ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกามีว่า สัททรูป (เสียง) ที่ชื่อว่า "นาม" (ในที่นี้หมายถึงชื่อ ไม่ใช่หมายถึงนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้) เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย นามนั้นมี ๒ อย่างด้วยอำนาจแห่งนาม (คือชื่อ) ที่คล้อยตามอรรถ ๑ และนาม (คือชื่อ) ตามนิยม ๑
วันหนึ่งๆ พูดเรื่องอะไร พูดทำไม พูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจเรื่องเข้าใจสิ่งที่หมายถึง ฉะนั้น สัททรูปชื่อว่านาม เพราะอรรถว่าน้อมไปในอรรถ คือเรื่องราวทั้งหลาย
การที่จะให้ใครเข้าใจความหมายและเรื่องราวต่างๆ นั้น ก็ย่อมแล้วแต่ใครนิยมใช้คำอะไร ภาษาอะไร เพื่อให้เข้าใจความมุ่งหมายนั้นๆ เรื่องราวนั้นๆ หรือชื่อนั้นๆ
นอกจากนั้นข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ยังกล่าวถึงนาม (คือชื่อ) อีกหลายนัย คือ ชื่อมี ๔ อย่างด้วยสามารถแห่ง สามัญญนาม คือ ชื่อทั่วไป เช่น ฟ้า ฝน ลม ข้าว เป็นต้น คุณนาม คือ ชื่อตามคุณความดี เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชื่อนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าไม่ได้ประกอบด้วยคุณธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กิริยานาม คือ ชื่อของการกระทำต่างๆ และ ยถิจฉนาม คือ ชื่อตามใจชอบ
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์