ความจริงแห่งชีวิต [167] จิตเห็น รู้ บัญญัติ ไม่ได้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อารมณ์ ๖
๑. รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น เมื่อรูปารมณ์ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปหลายขณะ แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นทางมโนทวารรับรู้รูปารมณ์ที่ดับไปทางจักขุทวารต่อ ฉะนั้น รูปารมณ์จึงรู้ได้ ๒ ทวาร คือ ทางจักขุทวาร และทางมโนทวาร โดยมีภวังคจิตเกิดคั่น
๒. สัททารมณ์ คือ เสียง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางหู เป็นอารมณ์ของโสตทวารวิถีจิตที่อาศัยโสตปสาทเกิดขึ้น แล้วเป็นอารมณ์ของมโนทวารวิถีจิตหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น แต่ละวาระของการรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งๆ จะต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น ระหว่างวิถีจิตทางปัญจทวารและวิถีจิตทางมโนทวาร ขณะที่ได้ยินเสียงและกำลังรู้คำนั้น ขณะที่กำลังรู้คำเป็นมโนทวารวิถีจิตที่กำลังคิดถึงคำ ไม่ใช่โสตทวารวิถีจิตที่กำลังรู้เสียงที่ยังไม่ดับ
๓. คันธารมณ์ คือ กลิ่น เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูก เป็นอารมณ์ของฆานทวารวิถีจิตที่อาศัยฆานปสาทเกิดขึ้น แล้วต่อจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็รู้กลิ่นนั้นต่อ หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว
๔. รสารมณ์ คือ รส เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏที่ลิ้น เป็นอารมณ์ของชิวหาทวารวิถีจิตที่อาศัยชิวหาปสาทเกิดขึ้น และเมื่อชิวหาทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น แล้ววิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้รสารมณ์นั้นต่อทางมโนทวาร
๕. โผฏฐัพพารมณ์ คือ สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ปรากฏทางกาย เป็นอารมณ์ของกายทวารวิถีจิตที่อาศัยกายปสาทเกิดขึ้น แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพารมณ์นั้นต่อทางมโนทวาร หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว
อารมณ์ทั้ง ๕ นี้เรียกว่า ปัญจารัมมณะ หรือปัญจารมณ์ อารมณ์ทั้ง ๕ นี้ปรากฏได้ ๖ ทวาร คือ เมื่อจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวารแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์สืบต่อทางมโนทวาร เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ก็นัยเดียวกัน ฉะนั้น อารมณ์ทั้ง ๕ นี้จึงเป็นอารมณ์ของจิตได้ ๖ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่อีกอารมณ์ ๑ คือ ธมฺมารมฺมณ หรือธัมมารมณ์นั้นรู้ได้เฉพาะทางมโนทวาร คือ ทางใจเท่านั้น
๖. ธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น มี ๖ อย่าง คือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ นิพพาน บัญญัติ
ธัมมารมณ์ ๕ คือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ นิพพาน เป็นปรมัตถธรรม ธัมมารมณ์ ๑ คือ บัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีคำอธิบายว่าที่ชื่อว่าบัญญัติ "ปญฺญตฺติ" เพราะให้รู้ได้ด้วยประการนั้นๆ
จักขุทวารวิถีจิตทุกดวง คือ จักขุทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต รู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ จักขุทวารวิถีจิตจึงไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์
โสตทวารวิถีจิต คือ โสตทวาราวัชชนจิต โสตวิญญาณสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต รู้เสียงที่ยังไม่ดับ โสตทวารวิถีจิตจึงไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์
ฆานทวารวิถีจิต ชิวหาทวารวิถีจิต กายทวารวิถีจิต ก็โดยนัยเดียวกัน
เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวาร (ทวารหนึ่งทวารใด) ดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดสืบต่อ มโนทวารวิถีจิตวาระแรก มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๕ อารมณ์ที่เพิ่งดับไปทางปัญจทวารนั่นเองเป็นอารมณ์ มโนทวารวิถีจิตวาระแรกที่เกิดต่อจากปัญจทวารวิถีจิตนั้น ยังไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์
มโนทวารวิถีจิตแต่ละวาระมีวิถีจิต ๒ หรือ ๓ วิถีจิต คือ มโนทวาราวัชชนวิถีจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ ตทาลัมพนวิถีจิต ๒ ขณะ (บางวาระก็ไม่มีตทาลัมพนวิถีจิต) เมื่อมโนทวารวิถีจิตวาระที่ ๑ ดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดคั่นหลายขณะ แล้วมโนทวารวิถีจิตวาระต่อไป ก็เกิดต่อมีบัญญัติ คือ รูปร่างสัณฐานของอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๕ อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ โดยเมื่อมโนทวารวิถีจิตแต่ละวาระดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดคั่น แล้วมโนทวารวิถีจิตวาระต่อๆ ไปก็เกิดขึ้น มีอรรถ คือ ความหมาย หรือคำต่างๆ เป็นอารมณ์ทีละวาระโดยมีภวังคจิตเกิดคั่น ขณะที่รู้ว่าเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้นจิตรู้บัญญัติ ไม่ใช่รู้ปรมัตถอารมณ์ ปรมัตถอารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้น แต่ขณะที่มโนทวารวิถีจิตรู้ว่าเป็นสัตว์ บุคคล วัตถุ สิ่งต่างๆ ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์จึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร
ฉะนั้น พระธรรมที่ว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ ก็เพราะปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แม้จะไม่ใช้คำบัญญัติใดๆ เรียกปรมัตถธรรมเลย สภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้นก็มีลักษณะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ส่วนบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรมเพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง และที่ชื่อว่า ปญฺญตฺติ เพราะให้รู้ได้โดยประการนั้นๆ
เมื่อเห็นรูปภาพภูเขา ทะเล ต้นไม้ ก็รู้ว่าเป็นรูปภาพหรือรูปเขียน ไม่ใช่ภูเขา ทะเล ต้นไม้จริงๆ และเวลาที่เห็นภูเขา ทะเล ต้นไม้จริงๆ อะไรเป็นบัญญัติ
เมื่อเห็นรูปภาพองุ่น เงาะ มังคุด และเห็นผลองุ่น เงาะ มังคุดจริงๆ อะไรเป็นบัญญัติ
ธรรมย่อมเป็นจริงตามธรรม ชื่อเป็นบัญญัติ เพราะเป็นคำที่แสดงให้รู้ลักษณะหรืออรรถของสภาพธรรมได้ แต่แม้ว่ายังไม่เรียกหรือยังไม่มีชื่ออะไรเลย ก็มีฆนบัญญัติแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาไหนเลย แต่ก็มีบัญญัติในสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นก็จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไรนั้น ขณะนั้นรู้บัญญัติ เพราะบัญญัติคือให้รู้ได้โดยประการนั้นๆ แม้โดยยังไม่ต้องเรียกชื่อ เพียงเห็นรูปเขียนของผลไม้กับผลไม้จริงๆ อะไรเป็นบัญญัติ หรือเป็นบัญญัติทั้งสองอย่าง
บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ ผลไม้จริงๆ กับรูปเขียนผลไม้มีอะไรต่างกัน ในขณะที่เห็นทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือวัตถุหนึ่งวัตถุใดทั้งสิ้น ทั้งในขณะที่เห็นรูปภาพองุ่น และในขณะที่เห็นผลองุ่น บางท่านอาจจะเข้าใจว่าเฉพาะรูปภาพเป็นบัญญัติ และผลองุ่นไม่ใช่บัญญัติ แต่ความจริงทั้งรูปภาพและผลองุ่นที่ปรากฏทางตานั้น เป็นบัญญัติอารมณ์ของมโนทวารวิถีจิตที่เกิดสืบต่อแล้ว เพราะจักขุทวารวิถีจิตจะรู้แต่เพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏเท่านั้น ส่วนมโนทวารวิถีจิตรู้บัญญัติ คืออรรถที่เป็นองุ่น เพราะให้รู้ได้โดยประการรนั้นๆ ว่าองุ่น ไม่ว่าจะเป็นผลองุ่นหรือรูปภาพองุ่นก็ตาม ที่รู้ว่าเป็นองุ่นนั้น เป็นบัญญัติอารมณ์ไม่ใช่ปรมัตถอารมณ์
ในขณะที่กำลังเห็นเป็นคนนั้นคนนี้ ก็ควรที่จะรู้ความจริงว่าเหมือนกับภาพเขียนที่เป็นบัญญัติแล้ว ยากที่จะไถ่ถอนบัญญัติออกได้ว่า ขณะที่รู้บัญญัติว่าเห็นเก้าอี้นั้น ปรมัตถอารมณ์ที่ปรากฏทางตา และปรมัตถอารมณ์ที่ปรากฏทางกาย เมื่อกระทบสัมผัสนั้น ไม่ใช่บัญญัติ
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์