ความจริงแห่งชีวิต [169] บัญญัติ นิมิต อนุพยัญชนะ

 
พุทธรักษา
วันที่  27 ก.ย. 2552
หมายเลข  13727
อ่าน  1,179

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ใน​อัฏฐ​สาลินี นิก​เข​ปกัณฑ์ อธิ​บายนิท​เท​สอิ​นท​รีย์อ​คุต​ต​ทวารตา​ทุ​กะ ข้อ ๑๓๕๒ อธิบาย​ใน​นิทเทส​แห่ง​ความ​เป็น​ผู้​ไม่​คุ้มครอง​ทวาร​ใน​อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มี​ข้อความ​ว่า

คำว่า เป็น​ผู้​ถือ​นิมิต คือ ย่อม​ถือ​นิมิต​ว่า หญิง ชาย

ใช้​คำว่า นิมิต (รูป​ร่าง สัณฐาน) ใน​ขณะ​ที่​ถือว่า​เป็น​หญิง​ชาย แสดง​ว่า​ไม่​ใช่​ปรมั​ตถ​ธรรม ขณะ​ใด​ที่​รู้​ว่า​เห็น​หญิง​เห็น​ชาย ขณะ​นั้น​ถือ​นิมิต ​หรือ​บัญญัติ​ของ​สิ่ง​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตา ไม่ใช่​รู้แต่​ปรมั​ตถ​ธรรม​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตา​เท่านั้น แต่​มี​บัญญัติ​ของ​สิ่ง​ที่​ปรากฏ​เป็น​นิมิต คือ ย่อม​ถือนิมิต​ว่า​หญิง​ชาย หรือ​นิมิต​อัน​เป็น​วัตถุ​แห่ง​กิเลส มี​สุภ​นิมิต เป็นต้น ด้วย​อำนาจ​ฉันท​ราคะ ถ้าชอบ​บัญญัติ คือ เข็มขัด ก็​หมายความ​ว่า​เข็มขัด​นั้น​มี​สุภ​นิมิต จึง​เกิด​ความ​ชอบ​ด้วย​อำนาจฉันทราคะ ถ้า​เข็มขัด​ไม่​สวย ​ไม่ใช่​สุภ​นิมิต​ก็​ไม่​ชอบ ฉะนั้น สี​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตา​จึง​มี​บัญญัติ​ต่างๆ คือ สุภ​นิมิต ​และ​อสุภ​นิมิต

ข้อความ​ต่อ​ไป​มี​ว่า คำว่า เป็น​ผู้​ถือ​อนุ​พยัญชนะ คือถือ​อาการ​อัน​ต่าง​ด้วย​มือ เท้า การ​ยิ้ม การ​หัวเราะ การ​เจรจา การ​มอง​ไป และ​การ​เหลียว​ซ้าย​แล​ขวา เป็นต้น (อนุ​พยัญชนะ​เป็น​ส่วนละเอียด​ปลีก​ย่อย) ซึ่ง​ได้​โวหาร​ว่า "อนุ​พยัญชนะ" เพราะ​เป็น​เครื่อง​ปรากฏ​ของ​กิเลส คือกระทำ​กิเลส​ให้​ปรากฏ

ที่​ได้​โวหาร​ว่า "อนุ​พยัญชนะ" เพราะ​เป็น​เครื่อง​ปรากฏ​ของ​กิเลส คือกระทำ​กิเลส​ให้​ปรากฏ ฉะนั้น จึง​เข้าใจ​อนุ​พยัญชนะ​ได้​ไม่​ยาก

ที่ว่า​ชอบ​เข็มขัด​นั้น เพราะ​นิมิต​และ​อนุ​พยัญชนะ​ด้วย ถ้า​เข็มขัด​เหมือน​กัน​หมด ​ไม่​ทำให้​วิจิตรต่างๆ กัน อนุ​พยัญชนะ​ก็​ไม่​ต่าง​กัน แต่​เข็มขัด​ก็​มี​มากมาย​หลาย​แบบ ต่าง​กัน​ด้วย​อนุพยัญชนะ ฉะนั้น อนุพยัญชนะ​จึง​เป็น​เครื่อง​ปรากฏ​ของ​กิเลส คือ ทำให้​กิเลส​ประเภท​ต่างๆ เกิด​ขึ้น

ถ. ถ้า​ไม่​ให้​ติด​ใน​บัญญัติ ก็​เกรง​ว่า ก็​เลย​ไม่​ทราบ​ว่า​นี่​คือ​ปากกา

สุ. นั่น​ผิด เพราะ​ไม่ใช่​รู้​สภาพ​ธรรม​ตาม​ความ​เป็น​จริง​ว่า​สิ่ง​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตาปรากฏ​แล้ว​ดับ​ไป แล้ว​มโน​ทวาร​วิถี​จิต​ก็​เกิด​ขึ้น​รู้​บัญญัติ​ต่อ ปัญญา​ต้อง​รู้​สภาพ​ธรรม​ตาม​ความ​เป็น​จริง​ว่า​รู​ปารมณ์​ที่​ปรากฏ​ทาง​จักขุ​ทวาร​เป็น​อย่างไร ต่าง​กับ​ขณะ​ที่​จิต​รู้​บัญญัติ​อย่างไร จึง​สามารถ​ที่​จะะละ​คลาย​การ​ยึดถือ​รู​ปา​รมณ์​ที่​กำลัง​ปรากฏ​ว่า​เป็น​สัตว์ บุคคล เป็น​วัตถุ​ที่​ตั้ง​ของ​ความ​พอใจ และ​รู้​ว่า​ใน​ขณะ​ที่​เห็น​เป็น​หญิง เป็น​ชาย เป็น​สัตว์ เป็น​บุคคล​ต่างๆ นั้น เป็นการ​รู้​นิมิต​หรือบัญญัติ​ทาง​มโน​ทวาร ผู้​อบรม​เจริญ​สติปัฏ​ฐาน​และ​ยัง​ไม่​ประจักษ์​การ​เกิด​ดับ​ของ​นามธรรมและ​รูป​ธรรม​นั้น เมื่อ​ยัง​ไม่รู้​ลักษณะ​ของ​สภาพ​ธรรม​ที่​ปรากฏ​ตาม​ปกติ​ตาม​ความ​เป็น​จริง​ว่าปรมั​ตถ​ธรรม​ไม่ใช่​บัญญัติ ก็​จะ​ต้อง​อบรม​เจริญ​ปัญญา​ไป​เรื่อยๆ ใน​ขณะ​ที่​สภาพ​ธรรม​กำลังปรากฏ​ทาง​ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ. อาจารย์​บอก​ว่า บัญญัติ​เป็น​ธัม​มา​รมณ์​ชนิด​หนึ่ง​ใช่​ไหม

สุ. บัญญัติ​เป็น​ธัม​มา​รมณ์ เพราะ​ว่า​เป็น​อารมณ์​ที่​รู้​ได้​ทาง​ใจ​ทาง​เดียวเท่านั้น

ถ. แล้ว​ธัม​มา​รมณ์​นี้​ถ้า​จะ​เป็น​ปรมั​ตถ​อารมณ์

สุ. ธัม​มา​รมณ์​มี ๖ ประเภท เป็น​ปรมั​ตถ​ธรรม ๕ ไม่​ใช่​ปรมั​ตถธรรม ๑ ฉะนั้น จะ​รู้​ได้​ว่า​ขณะ​ใดมี​บัญญัติ​เป็น​อารมณ์​ก็​คือขณะ​ใด​ที่​ไม่​มี​ปรมั​ตถ​ธรรม​เป็น​อารมณ์ ขณะ​นั้น​มี​บัญญัติ​เป็น​อารมณ์


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ