ความจริงแห่งชีวิต [171] ต้องเป็น สัมมาสมาธิ ที่เกิดร่วมกับ มรรคมีองค์ ๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้น นอกจากจะพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และพอใจบัญญัติในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังพอใจในมิจฉาสมาธิได้ เช่น ผู้ที่พอใจในการบริหารร่างกาย รู้ว่าถ้าฝึกแบบโยคะโดยให้จิตตั้งมั่น จดจ้องที่ลมหายใจ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะนั้นเป็นการทำสมาธิประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กุศลจิตก็จะต้องเป็นโลภมูลจิต ซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ผู้นั้นไม่ได้เห็นผิดว่านี้เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนั้นเป็นแต่เพียงความพอใจที่จะทำสมาธิ และรู้ว่าในขณะนั้นมีความต้องการสมาธิเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพร่างกาย ไม่ใช่เห็นผิดโดยยึดถือว่าต้องทำอย่างนี้เสียก่อน แล้วภายหลังจึงมาพิจารณานามธรรมและรูปธรรม จะได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ไม่เข้าใจลักษณะของสัมมาสติ ไม่รู้ว่าสัมมาสติเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ว่าให้ไปทำมิจฉาสมาธิก่อน แล้วจะได้มาเกื้อกูลให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่การที่สติจะเป็นสัมมาสติเป็นมัคค์ ๑ ในมัคค์มีองค์ ๘ ได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สติจะต้องระลึกโดยถูกต้องและละเอียดขึ้น เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เช่น ทางตาที่กำลังเห็น ก็จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นบัญญัติ และขณะใดเป็นปรมัตถ์ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เช่นเดียวกัน
ฉะนั้น ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์หรือดูกีฬาอะไรก็ตามแต่ จะอ่านหนังสือ จะดูภาพเขียน ก็จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นบัญญัติ และขณะใดเป็นปรมัตถ์ เพราะมิฉะนั้นแล้ว อาจจะคิดว่าเรื่องในโทรทัศน์เป็นบัญญัติ แต่ขณะที่ไม่ใช่เรื่องในโทรทัศน์นั้นไม่ใช่บัญญัติ แต่ความจริงแล้วทั้งเรื่องในโทรทัศน์และไม่ใช่ในโทรทัศน์ก็เป็นบัญญัติทั้งนั้น แม้แต่ชื่อของทุกท่านก็เป็นนามบัญญัติ เป็นคำที่ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงจิต เจตสิก รูปใดที่เกิดรวมกัน ที่สมมติขึ้นเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้
มิจฉาสมาธิที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ต่างกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเข้าใจว่ามิจฉาสมาธินั้นเป็นทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม มิจฉาสมาธิมีทั่วไปในทุกประเทศ เพราะการทำสมาธิขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศลญาณสัมปยุตต์ คือไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าใครเข้าใจว่ามิจฉาสมาธิเป็นหนทางที่จะทำให้สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เร็วขึ้นก็เข้าใจผิด เพราะสัมมาสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง ก็เมื่อเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเสียก่อน แต่ไม่ใช่โดยอาศัยการทำมิจฉาสมาธิเสียก่อน
ถ. ในลักขณาทิจตุกกะบอกว่าสมาธิเป็นเหตุใกล้ของวิปัสสนา
สุ. หมายถึงสมาธิอะไร
ถ. ก็คงจะเป็นสัมมาสมาธิ จึงจะเป็นเหตุใกล้
สุ. ต้องเป็นสัมมาสมาธิที่เกิดร่วมกับสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ และสัมมาวายามะ
บัญญัติอารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิตในชีวิตประจำวัน ในขณะที่จิตไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่าวันหนึ่งๆ จะมีบัญญัติเป็นอารมณ์มากไหม ทางตาที่กำลังเห็นก็มีเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหูที่ได้ยินก็มีเรื่องของเสียงที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่นก็มีเรื่องของกลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรสก็มีเรื่องของรส ทางกายที่กระทบสัมผัสก็มีเรื่องของโผฏฐัพพารมณ์ ในวันหนึ่งๆ จิตที่เกิดขึ้นทางใจนั้นรู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ และคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ของอารมณ์เหล่านั้น จะมีอารมณ์อื่นอีกไหม ในวันหนึ่งๆ นอกจากปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ ในวันหนึ่งๆ ทั้งชาตินี้ ชาติก่อน ชาติหน้า ทุกภูมิ ทุกโลกจะมีอารมณ์อื่นนอกจากปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าอารมณ์มี ๖ เท่านั้น และในอารมณ์ ๖ นี้ นอกจากปรมัตถธรรมแล้วก็เป็นบัญญัติ ฉะนั้น จึงไม่มีอารมณ์อื่นอีก
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือเปล่า
ชีวิตประจำวันของทุกสัตว์บุคคลนั้น เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็มีปรมัตถอารมณ์เดียวกับทางจักขุทวารวิถีจิตที่เพิ่งดับไปวาระ ๑ และเมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อก็นึกถึงรูปร่างสันฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับธาตุดิน นํ้า ไฟ ลม เอาสีออกจากธาตุดิน นํ้า ไฟ ลม ได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะที่ใดก็ตามที่มีมหาภูตรูป ๔ ที่นั้นต้องมีรูปสี (วัณณะ) กลิ่น รส โอชา รวมอยู่ด้วย แยกกันไม่ได้เลย เมื่อเอาสีออกไปจากมหาภูตรูปไม่ได้ สีจึงปรากฏให้เห็นทางตา และสัญญาจำหมายเป็นรูปร่างสัณฐานให้รู้บัญญัติว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่มีสีเลย เอาสีออกจากมหาภูตรูปหมด จะเห็นเป็นคน สัตว์ วัตถุ สิ่งของต่างๆ ได้ไหม แม้จิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาไม่ได้เลย เพราะไม่มีสิ่งที่กระทบจักขุปสาท
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์