ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๓] กุสินารา-ลุมพินี
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในวันที่สี่และห้าของการเดินทางไปยังกุสินาราและลุมพินี ก่อนที่จะเดินทางออกจากเมืองปัฏนะ ใคร่ขอกล่าวถึงประวัติอันน่าสนใจของเมืองปัฏนะ สักเล็กน้อย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีมีข้อความที่กล่าวถึงเมืองปัฏนะไว้ว่า ปัฏนา (ชื่ออื่น: ปาตลีบุตร, ปาฏลีบุตร, ปัตนะ, มคธ) เป็นเมืองหลวง ของรัฐพิหาร รัฐหนึ่งในประเทศอินเดีย ปัฏนาเป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังมีผู้อาศัยอยู่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเมื่อ 2,500 ปีก่อน ในสมัยพุทธกาล เมืองแห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นมคธ ที่ตั้งโดยพระเจ้าอชาตศัตรู เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับการเตรียมทำสงครามกับแคว้นวัชชี หลังจากพุทธกาล เมืองนี้มีความสำคัญเพราะได้กลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธและมีพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียคือพระเจ้าอโศมหาราช แห่งราชวงศ์เมารยะ ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ทรงอุปถัมภ์การทำตติยสังคายนา ณ อโศการาม โดยให้เมืองปัฏนา (หรือปาตลีบุตร ตามที่เรียกกันในสมัยนั้น) เป็นศูนย์กลางในการส่งสมณทูตออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนอื่นๆ ทั่วโลกซึ่งรวมถึงสุวรรณภูมิ หรือดินแดนที่ตั้งประเทศไทยในปัจจุบันด้วย ปัจจุบัน เมืองแห่งนี้ยังคงเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐพิหาร (แคว้นมคธในสมัยโบราณ) มีพื้นที่เมืองประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากกว่า 1 ล้าน 8 แสนคน โดยประมาณ
ภาพถ่ายหน้าโรงแรมที่พัก Chanakya Towers เมืองปัฏนะ ยามเช้า
ณ สาลวโนทยาน เดิมเป็นอุทยานของมัลลกษัตริย์ มีสถูปและวิหารปรินิพพานประดิษฐานอยู่ เป็นที่หมายต้นสาละซึ่งเป็นที่ปรินิพพาน ภายในปรินิพพานวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทรูปปางดับขันธ์ปรินิพพาน
ในขณะที่พวกเราเดินทางไปถึง แต่ละท่านก็ได้ตรงเข้าไปภายในอาคาร ด้วยความสงบสำรวม ประหนึ่งได้เข้าเฝ้าแทบเบื้องหน้าพระสรีระอันสงบนิ่ง ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าฯ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ หลังจากที่ได้กราบสักการะด้วยความตื้นตัน ปีติยิ่งในใจ ก็ให้ได้หวนคิดพิจารณาในพระพุทธดำรัสกับท่านพระอานนท์ที่ว่า
"...ดูก่อนอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ แม้ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ ย่อมเป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต
ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้ หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ..."
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๐๖-๓๐๗
คุณเผดิมและสหายธรรม ได้ร่วมกันนำผ้าที่ท่านได้เตรียมไปจากกรุงเทพฯ ขึ้นห่มองค์พระพุทธรูปปางปรินิพพพาน ด้วยความนอบน้อมน่าชื่นใจ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
อีกพระพุทธดำรัสหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การระลึกถึง....
(๑๔๑) ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดา ล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา..."
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
เมื่อได้กราบพระพุทธองค์แล้ว ข้าพเจ้าก็ขอถือโอกาสนี้กราบบูชาคุณ ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ผู้เป็นยิ่งกว่ากัลญาณมิตรในปัจจุบันชาติ อันจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ที่ได้เพียรกล่าวธรรมอันลึกนั้น ให้เด็กเตรียมอนุบาลอย่างข้าพเจ้าได้ฟังซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ครั้งแล้ว ครั้งเล่า โดยไม่มีท่าทีเบื่อหน่ายเลย มิหนำซ้ำ จากการที่ได้ติดตามท่านไปอินเดียในครั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นว่า ท่านดู สดใส อาจหาญ ร่าเริงยิ่ง ทั้งในกาละที่ท่านสนทนาธรรม และในทุกๆ ย่างก้าวของท่าน ในดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ อันทุกท่านจะได้เห็น และ ซาบซึ้งยิ่งในตอนหน้า ในนครสาวัตถี
กราบแทบเท้าท่านอาจารย์ขอรับ
พระปัจฉิมวาจา
(๑๔๓) ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด. นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๒
สาวน้อยชาวอินเดีย หน้าสาลวโนทยาน ร้องเพลงเสียงใสกังวานไปทั่วบริเวณ...
...พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ...
สาธุ
มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระขององค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ศรัทธาอันน่าเลื่อมใสของชาวศรีลังกา ในทุกๆ ที่ ที่คณะของเราได้กระทำการเวียนเทียน (ประทักษิณ) ท่านจะมายืนเรียงแถว พร้อมๆ กับยื่นมือทั้งสองมาลูบคลำโคมประทีปในมือของพวกเรา และกล่าวคำว่า สาธุ สาธุ สาธุ เสียงดังไปทั่วบริเวณ ก่อให้เกิดปีติโสมนัสโดยทั่วกัน
สถานที่สุดท้ายในตอนนี้คือ ลุมพินี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล) เป็นสถานที่ที่พระนางสิริมหามายา ประสูติเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ ปีจอ ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช
เสาอโศกมีความสูง ๒๒ ฟุต มีข้อความจารึกเป็นหลักฐานว่า ณ ที่นี้ คือสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าอโศกเสด็จมาเพื่อนมัสการในปีที่ ๒๐ แห่งรัชกาลของพระองค์ ในพุทธศตวรรษที่ ๓
ภายในอาคารมีซากวิหารมหามายาเทวี ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
จุดที่ระบุตำแหน่ง สถานที่ประสูติ ที่ขุดค้นพบ
เมื่อได้กระทำการเวียนเทียนรอบวิหารมหามายาเทวีแล้ว พวกเราก็ได้มีโอกาสสนทนาธรรมร่วมกัน
การสนทนาธรรมนำโดย อาจารย์สงบ เชื้อทอง อาจารย์ประเชิญ แสงสุข อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ และ อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ ขอกราบอนุโมทนามา ณ ที่นี้ครับ
"...ในกาลบางครั้งบางคราว การที่พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑ การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑ การแสดงสัทธรรม ๑ ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก ชนผู้ใคร่ประโยชน์ จึงควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้จะเข้าใจสัทธรรมได้..."
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ หน้าที่ ๔๕๔
ขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญคลิกชมตอนอื่นๆ ได้ที่นี่...
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๑] พุทธคยา
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๒] ราชคฤห์-นาลันทา-เวสาลี-ปัฏนะ
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๔] สาวัตถี
ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่อินเดีย [๕] สารนาท-พาราณสี-สุวรรณภูมิ
ได้ยินได้ฟังก็มีจิตยินดีกับท่านที่ไปกราบสถานที่ที่มีที่เดียวในจักรวาล เพื่อระลึกใน พระพุทธคุณ พระธรรม พระสงฆ์
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอกราบอนุโมทนาผู้เขียน ภาพและพระธรรมที่ท่านนำมาแสดง พร้อมถ้อยคำบรรยายของท่าน กระผมซาบซึ้ง และน้อมนำให้เกิดกุศลจิตอย่างยิ่ง
ขอบพระคุณท่านมา ณ ที่นี้
ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ
ขอขอบคุณ คุณวันชัย ๒๕๐๔ ด้วยค่ะ ที่ได้กรุณานำภาพมาให้ดู และขออนุโมทนาบุญในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ