สงสัยในเรื่องปฏิปทา ๔

 
thorn
วันที่  8 ม.ค. 2553
หมายเลข  15063
อ่าน  1,387

พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓

[๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดามรรค ๔ ประการนี้ มรรค ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้ามรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

อีกประการหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้น จิตนั้น ย่อมตั้งมั่น สงบ ณ ภายใน เป็นจิตเกิดดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัต ในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ ประการนี้ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดามรรค ๔ ประการนี้ ฯ

จบปฏิปทาวรรคที่ ๒

ที่ ท่านพระอานนท์ กล่าวนี้ ตรงกับ พระพุทธองค์ หรือไม่ และในประการที่ ๔ ใจของภิกษุ ปราศจากอุทัจจะในธรรม เป็นการเจริญวิปัสสนา หรือ เปล่า

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 8 ม.ค. 2553

ธรรมที่พระอริยสาวกทั้งหลายแสดง ย่อมตรงกับพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ส่วนประการที่ ๔ ในพระสูตรนี้ ภิกษุเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่

เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องต้นอย่างไร? [ปฏิสัมภิทามรรค ]

เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กันเป็นอย่างไร [อรรถกถายุคนัทธสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 8 ม.ค. 2553

ขออนุญาตเรียนถามว่า

สติปัฏฐาน ๔ อยู่ในปฏิปทาข้อใดครับ หรือเป็นการเจริญวิปัสสนาล้วนๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prachern.s
วันที่ 9 ม.ค. 2553

สติปัฏฐาน ๔ มีทั้งสมถะและวิปัสสนา ครับ ดังนั้น แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางท่านวิปัสสนาล้วนๆ ก็มี บางท่านมีทั้งสมถและวิปัสสนาก็มีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 9 ม.ค. 2553

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ประเชิญครับ

ที่อาจารย์ประเชิญกรุณาอธิบายมาข้างต้นนั้น หมายถึงว่า สติปัฏฐาน ๔ ในบางกรณี ใกล้เคียงกันมาก ระหว่าง สมถะ และวิปัสสนา เช่น ในหมวดกายานุปัสสนา เป็นต้น ที่มีหลายบรรพที่เหมือนกับอนุสติ ดังนั้น ปฎิปทา จึงสามารถเปลี่ยนไปมาได้ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่ครับ แล้วสำหรับในหมวดอื่นของสติปัฏฐาน คือ เวทนา จิต และธรรม นั้น มีหมวดและบรรพใดที่ใกล้เคียงสมถะหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 9 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prachern.s
วันที่ 11 ม.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ ๔

ในอรรถกถาท่านอธิบายว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๑ บรรพ คือ อานาปานะ ๑ ทวัตตึงสาการ ๑ นวสีวถิกา ๙ เป็นทั้งสมถและวิปัสสนา ทำให้ถึงอัปปนา ส่วนที่เหลือ ไม่ถึงอัปปนา ส่วนปฎิปทาทั้ง ๔ ย่อมเป็นไปตามปัจจัยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ