ศาสนาพุทธกับดนตรี การแสดง
ขอเรียนว่า การที่บุคคลใดจะประกอบอาชีพหรือการงานประเภทใด ย่อมขึ้นอยู่ที่อัธยาศัยและการสะสม แม้การดำรงเพศก็มี ๒ อย่างคือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต ก็เป็นไปตามอัธยาศัย ผู้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมมีมรรยาทและความประพฤติการดำรงชีวิตต่างจากคฤหัสถ์โดยสิ้นเชิง ราวฟัากับดิน คือ เว้นจากกิจที่ชาวบ้านเขากระทำกัน ดังนั้น เรื่องของการละเล่น ดนตรี มหรสพต่างๆ เป็นกิจที่ชาวบ้านผู้ครองเรือน เขาทำกัน ไม่เป็นการเบียดเบียนใคร ไม่ผิดศีลของคฤหัสถ์ จึงไม่ใช่สิ่งต้องห้ามสำหรับคฤหัสถ์ ส่วนผู้ที่เป็นบรรพชิตทั้งหลายย่อมเว้นจากการละเล่น ถ้าไม่เว้นย่อมมีโทษ ผิดพระวินัย ส่วนคฤหัสถ์ผู้แสดงการละเล่น ถ้าเข้าใจผิดว่าการแสดงทำให้คนอื่นหัวเราะมีความสุข ตนเองจะได้บุญ เพราะการเล่นนั้น ความเห็นนั้น เป็นความเห็นผิด มีโทษ อนึ่งถ้าพิจารณาโดยนัยอกุศลกรรมบถ ๑๐ การละเล่นบางประเภทอาจจะเข้าข่ายทุจริตทางวาจา คือ สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อ ก็ได้ ซึ่งเป็นอกุศลกรรมซึ่งมีโทษ ทำให้เกิดในอบายได้ครับ ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่
ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และการสั่งสมมาแตกต่างกัน เช่น อาชีพนักร้อง ก็สามารถร้องเพลงแล้วรายได้ก็ไปช่วยเหลือเด็กกำพร้า คนพิการ ให้เขามีความสุขกายสุขใจ เพราะปกติของปุถุชน ถ้าไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ก็เป็นอกุศลจิตค่ะ
เพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลงที่ฟังแล้วได้ความรู้สึกรื่นร่มและข้อคิดเตือนใจ เช่น แสงเทียน เนื้อเพลงบางตอนเช่น "โอ้ชีวิตหนอ ล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้น ฯ" หรือ "ต่างคนเกิดแล้วตายไป ชดใช้เวรกรรมจากจร" และ อื่นๆ
ฟังแล้วน่าจะเป็นสิ่งเตือนใจได้ดี
เรียนความเห็นที่ 4 ใช่ครับ จริงอย่างที่ท่านกล่าวครับ
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 319
แม้ถ้าเป็นวาจานับเนื่องในภาษามิลักขะก็ดี เป็นวาจานับเนื่องในเพลงขับของเด็กหญิงผู้นำหม้อนำก็ดี วาจาเห็นปานนั้น ชื่อว่า เป็นวาจาสุภาษิต เพราะนำมาซึ่งความสุขทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาประมาณ ๖๐ รูป กำลังเดินทางได้ยินเพลงขับของเด็กหญิงชาวสีหล ผู้รักษาไร่ข้าวกล้าข้างทาง กำลังขับเพลงขับที่เกี่ยวด้วยชาติชราและมรณะด้วยภาษาชาวสีหล ก็บรรลุพระอรหัต ก็พึงทราบว่า เป็นวาจาสุภาษิต วาจาชื่อว่า ไม่มีโทษ ทั้งวิญญูชนผู้มุ่งประโยชน์ อาศัยแต่ใจความ ไม่ใช่อาศัย แต่พยัญชนะ ไม่พึงติเตียน เพราะเป็นวาจาสุภาษิต
ขอบพระคุณ คุณpaderm ที่ให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องเพลงขับของเด็กหญิงชาวสิหล เรื่องเล่าอย่างนี้น่าจะถูกกับจริตของคนหลายคน ดิฉันเองมักเกิดความปลื้มปีติกับเรื่องเหล่านี้ นับตั้งแต่พุทธประวัติ เรื่องปรินิพพานของพระสารีบุตร แม้นิทานอิงหลักธรรมเรื่อง กองทัพธรรม ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานภาพ แต่ทั้งหลายที่กล่าวมา ถ้าไม่เคยสะสมความเข้าใจมาเลยก็คงไม่เกิดความรู้สึกซาบซึ้งใดๆ ดังนั้น การฟังธรรมสำคัญนัก จริง จริง