ปทปรมะ

 
Pinyapachaya
วันที่  19 เม.ย. 2553
หมายเลข  15918
อ่าน  10,581

ขอเรียนสอบถามค่ะ

กับคำว่า ปทปรมะ ดิฉันเข้าใจว่าคนยุคนี้ ส่วนใหญ่ มีปัญญาระดับปทปรมะใช่หรือเปล่าคะ แล้วที่มีสำนักต่างๆ อ้างว่าสามารถบรรลุธรรมได้ง่ายๆ หรือในชาตินี้ หรือในไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี เพราะเขาคิดว่าตนเองไม่ใช่ปทปรมะ คือพวกเขาเข้าใจว่าตนเองเป็นบุคคลประเภทเนยยะ อยากขอทราบว่าในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงไว้หรือเปล่าว่า ยุคหลังกึ่งพุทธกาลระดับปัญญาจะค่อยๆ ลดลง หรือเทียบเคียงได้ว่ายุคนี้หรือกาลสมัยนี้เป็นปรกติที่คนส่วนใหญ่จะมีปัญญาระดับปทปรมะ (แม้จะมีศรัทธาประพฤติในทาน ศีล ภาวนาและระลึกศึกษามาก ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินี้)

ขอรบกวนถามค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 19 เม.ย. 2553

อธิบายตามความหมาย ปทปรมะ คือ ผู้มีบทอย่างยิ่ง หมายความว่า ไม่สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ แม้ฟังพระธรรมมาก อบรมเพียรปฏิบัติมาก ก็ตายอย่างปุถุชนไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ตาม ในยุคครั้งพุทธกาลเป็นยุคกาลสมบัติ ผู้ที่สะสมบุญมามาก เมื่อได้ฟังพระธรรมไม่มาก เพียง ๑ คาถา หรือ ๑ สูตร ก็สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคล และยุคหลังต่อๆ มาผู้ที่บรรลุก็ค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ไม่มีผู้บรรลุ แม้ศึกษามากก็ตาม อนึ่งยุคหลังๆ ยิ่งไกลครั้งพุทธกาลมากเท่าไหร่ผู้ที่มีปัญญาก็ยิ่งน้อยลงเรี่อยๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 เม.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลผู้ที่ได้สะสมอบรมเจริญเหตุที่ดีมา นั่นก็คือ ได้สะสมการฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มา จึงมีโอกาสได้ฟังพระธรรม และ มีความเข้าใจไปตามลำดับ โดยกล่าวถึงบุคคล ๔ จำพวก คือ

๑. อุคฆฏิตัญญูบุคคล (บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยฟังเพียงการยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดงเท่านั้น)

๒. วิปัญจิตัญญูบุคคล (บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยต้องอาศัยการขยายความแห่งหัวข้อธรรมโดยละเอียด)

๓. เนยยบุคคล (บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยอาศัยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ทั้งโดยหัวข้อและโดยการขยายความให้ละเอียดจากกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการสอบถาม มีการไตร่ตรอง พิจารณาโดยแยบคาย)

๔. ปทปรมบุคคล (บุคคลผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้นได้ แม้ว่าจะได้ฟังมาก ศึกษามาก สอนผู้อื่นมาก เป็นต้น) ข้อที่ควรพิจารณา คือ บุคคลประเภทที่ ๔ คือ ปทปรมบุคคล นั้น พระธรรม ก็เกื้อกูลบุคคลประเภทนี้ได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บรรลุในชาตินั้นก็ตาม กล่าวคือ ทำให้บุคคลประเภทนี้สะสมอุปนิสัยที่ดีซึ่งจะเป็นปัจจัยแห่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในอนาคตข้างหน้าได้ โดยปทปรมบุคคล นี้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรม (จึงได้ชื่อว่า ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง) ผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย รวมถึงบุคคลผู้ที่มีความเห็นผิดที่ดิ่ง ย่อมไม่ชื่อว่าเป็น ปทปรมบุคคล เพราะไม่มีโอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

บุคคล ๔ จำพวก มีอุคฆฏิตัญญูบุคคล เป็นต้น [ปุคคลบัญญัติ]

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 19 เม.ย. 2553

พระโพธิสัตว์ไม่จัดว่าเป็น "ปทปรมบุคคล" ใช่มั้ยคะ เพราะความปรารถนาของท่านไม่ใช่เพียงเพื่อ "การรู้แจ้งอริสัจจธรรม" แต่เพื่อ "สัมมาสัมโพธิญาณ" อันเป็นเครื่องนำสรรพสัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 20 เม.ย. 2553

พระโพธิสัตว์มี ๒ อนิยตโพธิสัตว์ และ นิยตโพธิสัตว์ การตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าจะสำเร็จด้วยธรรม ๘ ประการ

เชิญคลิกอ่าน ...

ธรรมสโมธาน 8 ประการ [วิภังค์]

นิยตโพธิสัตว์เป็นบุคคลที่ มีคุณสมบัติ. มีอุปนิสสัยปัจจัยแห่งพระอรหันต์รุ่งเรืองอยู่ ในขันธสันดาน (ถ้าเกิดเปลี่ยนใจก็จะเป็นพระอรหันต์ทันที) จึงไม่เป็น ปทปรมบุคคล

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 20 เม.ย. 2553

ขอร่วมสนทนาด้วยในความเห็นที่ 3 ครับ

ปทปรมบุคคล คือ บุคคลที่สะสมปัญญา ความเข้าใจมาแต่ไม่สามารถจะบรรลุในชาติ นั้นได้ แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมมามากแค่ไหนก็ตามก็ไม่บรรลุ แต่ สามารถบรรลุได้ในอนาคตนี่คือปทปรมบุคคล พระโพธิสัตว์ ปรารถนาเพื่อช่วยสรรพสัตว์ ด้วยการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ คือบรรลุอริยสัจจธรรมโดยชอบด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้น ก็ไม่พ้นไปจากการบรรลุอริยสัจจธรรมคือรู้ความจริงในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น สาวกหรือพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า

สำหรับประเภทของบุคคล ๔ ประเภท ในกรณีของพระโพธิสัตว์แล้ว ข้อความใน จริยาปิฎก แสดงถึงเรื่องนี้ไว้ว่า พระโพธิสัตว์ที่เที่ยงที่จะตรัสรู้ คือ นิยตโพธิสัตว์ ดังเช่น ในพระชาติของสุเมธดาบส มีคุณธรรมประการหนึ่ง คือ ในชาตินั้นหากปรารถนาจะบรรลุ เป็นพระสาวกก็สามารถบรรลุได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งพระโพธิสัตว์แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ ยิ่งด้วยปัญญา ยิ่งด้วยศรัทธา ยิ่งด้วยวิริยะ และยังแบ่ง ๓ ประเภท เมื่อจะได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า คือ พระโพธิสัตว์ที่เป็น อุคฆฏิตัญญู วิปัญจิตัญญู และเนยยะโพธิสัตว์ ดังข้อความจากพระไตรปิฎก

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ประเภทของพระโพธิสัตว์ [จริยาปิฎก]

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 20 เม.ย. 2553

ขอบคุณค่ะ

เห็นด้วยค่ะ ว่าโดยการบรรลุแล้ว อาการไม่ต่างกัน แต่ที่ต่างกันคือ "อัธยาศัย" ใช่มั้ยค่ะ ไม่มีผู้ใดที่จะมีความกรุณาและกล้าเสียสละได้เท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 20 เม.ย. 2553

วันนี้ได้มีโอกาสเจอกับคุณเล่น (คุณจรรยา) ได้สนทนากันถึงหัวข้อนี้ มีประโยคหนึ่งที่คุณเล่นแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ทุกๆ คนจะมีปัญญาที่สะสมเจริญมากขึ้นก็ต้องเริ่มจากการเป็น "ปทปรมบุคคล" ก่อน ข้าพเจ้าฟังแล้วเห็นด้วยว่ามีเหตุผลดี เพราะได้สะสมอุปนิสัยความเข้าใจถูกเห็นถูกในพระธรรมซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ในอนาคตกาลเมื่อมีปัญญามากพอที่จะฟังโดยอุเทสโดยไต่ถาม หรือโดยเมื่อท่านจำแนกเนื้อความแห่งภาษิตโดยย่อ ให้พิศดาร หรือโดยเวลาที่ท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง ก็สามารถบรรลุอริยสัจจธรรมได้ สำหรับพระโพธิสัตว์ท่านได้สะสมปัญญามามาก เพื่อที่จะตรัสรู้เองโดย

ชอบเพื่อความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นด้วยกับน้องไตรสรณคมน์ค่ะว่า พระโพธิสัตว์ไม่จัดว่าเป็น "ปทปรมบุคคล"

กราบเรียนท่านอาจารย์วิทยากรช่วยกรุณาอธิบายด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 20 เม.ย. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนาคุณ paderm ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Pinyapachaya
วันที่ 21 เม.ย. 2553

ขอบพระคุณอาจารย์ประเชิญและอาจารย์คำปั่นมากค่ะ ไม่เคยได้ทราบมาก่อนเลยว่า ปทปรมบุคคล ก็ยากเหมือนกัน กว่าจะได้ชื่อว่าปทปรมบุคคล ไม่ง่ายเลย

อย่างที่อาจารย์คำปั่นกล่าวว่า "โดยปทปรมบุคคล นี้จะต้องเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรม (จึงได้ชื่อว่าผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง) ผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย รวมถึงบุคคลผู้ที่มีความเห็นผิดที่ดิ่ง ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นปทปรมบุคคล เพราะไม่มีโอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย"

สาธุ

ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านที่ศึกษาพระธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 21 เม.ย. 2553

นิยตโพธิสัตว์ หมายถึงพระโพธิสัตว์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอนในอนาคต บางครั้งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเช่นเกิดเป็นพญานาคในภูริทัตชาดกในชาติที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่จัดเป็นปทปรมบุคคล เพราะไม่เป็นบุคคล ดังนั้น การเข้าใจว่านิยตโพธิสัตว์ไม่เป็น ปทปรมบุคคล หมายถึง เฉพาะชาติที่เป็นบุคคลเท่านั้น

อ้างข้อความ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบุคคลกถา (ถ้อยคำระบุบุคคล) ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ

๑. เพื่อทรงแสดงถึงหิริและโอตตัปปะ

๒. เพื่อทรงแสดงถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน

๓. เพื่อทรงแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว

๔. เพื่อทรงแสดงถึงอันนตริยกรรม

๕. เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม

๖. เพื่อทรงแสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

๗. เพื่อทรงแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ

๘. เพื่อไม่ทรงละทิ้งสมมติของโลก

เชิญคลิกอ่าน ....

เหตุตรัสบุคคลกถา ๘ ประการ [อรรถกถาอนังคณสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 21 เม.ย. 2553

เป็นประเด็นที่น่าสนใจค่ะ ขอร่วมสนทนาต่อนะคะ จาก ความคิดเห็นที่ 10

ข้อความที่ท่านยกมานั้น เข้าใจว่าเป็นการอธิบายถึงเรื่อง "บุคคลกถา" กล่าวคือ การเทศนาของพระพุทธองค์ไม่ได้มีแต่ปรมัตถสัจจะ แต่มีสมมติสัจจะด้วย ซึ่งก็คือบัญญัติเป็นชื่อและเรื่องราวต่างๆ นั่นเอง เป็นบุคคล กาล เวลา สถานที่ ฯลฯ

"... ในชาติที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่จัดเป็นปทปรมบุคคล เพราะไม่เป็นบุคคลดังนั้นการเข้าใจว่านิยตโพธิสัตว์ไม่เป็น ปทปรมบุคคล หมายถึงเฉพาะชาติที่เป็นบุคคลเท่านั้น ..."

คำว่า บุคคล มาจากภาษาบาลี "ปุคคล" แปลว่า สัตว์ อัตตะ (ตน) คน บุคคล ดังนั้น คำนี้ จึงไม่น่าจะหมายความเฉพาะเจาะจงถึง "คน" เท่านั้น เพราะพรหมก็เป็น บุคคล เทวดา มนุษย์ และสัตว์ จึงน่าจะใช้กับความหมายนี้ได้ด้วย "ปทปรมบุคคล" เป็นบัญญัติ แต่เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้วหมายถึงอะไร

ขอเชิญทุกท่านร่วมสนทนาค่ะ (-_-"

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 21 เม.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2553

ขอร่วมสนทนาในความเห็นที่ 10 และ 11

พระพุทธองค์ทรงจำแนกบุคคล ทั้ง ๔ ประเภททั้งอุคฆฏิตัญญูบุคคล วิปัญจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคลและปทปรมบุคคล โดยปรมัตถธรรมแล้วก็คือจิต เจตสิก รูป

ประเด็นเรื่องพระโพธิสัตว์เป็นปทปรมบุคคลหรือไม่อีกครั้งครับ อธิบายอีกครั้งว่า ปทปรมบุคคลคือบุคคลที่สะสมปัญญา ความเข้าใจมาแต่ไม่สามารถจะบรรลุในชาตินั้นได้ แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมมามากแค่ไหนก็ตามก็ไม่บรรลุ แต่ สามารถบรรลุได้ในอนาคตนี่คือปทปรมบุคคล ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหมหรือบุคคลใดก็ตามหากไม่สามารถบรรลุในชาตินั้นก็เป็นปทปรมบุคคล แต่จะสามารถบรรลุในอนาคตได้ครับ แต่เฉพาะชาตินั้นจะไม่บรรลุ ปทรปรมบุคคลจึงเป็นบุคคลที่สะสมความเข้าใจมาสามารถบรรลุได้ในอนาคต ในกรณีของพระโพธิสัตว์ ข้อความในจริยาปิฎกแสดงในชาติที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ซึ่งในชาตินั้นพระโพธิสัตว์มีคุณธรรม คือสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในชาตินั้นหากปรารถนา ซึ่งได้แบ่งพระโพธิสัตว์เป็น ๓ ประเภท คือ อุคฆฏิตัญญูบุคคล วิปัญจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล ที่แบ่งเป็น ๓ ประเภทเฉพาะชาติที่ได้รับการพยากรณ์ เพราะว่าพระโพธิสัตว์มีคุณสมบัติสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในชาตินั้นหากปรารถนา แต่ที่ไม่เป็นปทปรมะในชาตินั้นเพราะว่า ปทปรมะนั้นจะฟังธรรมมากแค่ไหนก็ตามก็ไม่สามารถบรรลุได้ในชาตินั้น แต่ข้อความในจริยาปิฎกแสดงถึงพระโพธิสัตว์เฉพาะชาติ ที่ได้รับคำพยากรณ์ในชาตินั้น และมีคุณสมบัติบรรลุได้ ผู้ที่สามารถบรรลุได้ มี ๓ จำพวก เว้น ปทปรมะ และเมื่อพระโพธิสัตว์ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ชาตินั้นแม้จะมีโอกาสได้ฟังธรรมก็ไม่สามารถบรรลุได้ แต่ก็สะสมเป็นวาสนาให้บรรลุในชาติต่อไป ชาตินั้นจึงไม่ใช่ ๓ จำพวกแรก เพราะ ๓ จำพวกแรกหมายถึงผู้ที่ฟังธรรมแล้วสามารถบรรลุในชาตินั้นได้ แต่สัตว์เดรัจฉานไม่มีทางบรรลุในชาตินั้นครับ จึงเป็นปทปรมบุคคล

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 453

บุคคลใด ฟังมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี สอนมากก็ดี ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ปทปรมะ


[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่124

ในบุคคล ๔ เหล่านั้น พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมสำเร็จประโยชน์ แก่บุคคล ๓ จำพวก (แรก) ในอัตภาพนี้ทีเดียว สำหรับพวกปทปรมะ ย่อมเป็น วาสนา [อบรมบ่มบารมี] เพื่อสำเร็จประโยชน์ในอนาคตกาลข้างหน้า.

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
เมตตา
วันที่ 22 เม.ย. 2553

ขอร่วมสนทนาด้วยค่ะ

"ปทปรมบุคคล" เป็นบัญญัติ แต่เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้วหมายถึงอะไรคะ

"ปทปรมบุคคล" กล่าวโดยสภาพธรรมก็เป็นจิต เจตสิก และรูปที่เกิดดับสืบต่อมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ได้สะสมการฟังพระธรรมมา แม้จะสะสมปัญญา ความเข้าใจ แต่ก็ไม่สามารถที่บรรลุอริยสัจจธรรมในภพชาตินั้นได้ ซึ่งกล่าวโดยบัญญัติ จะเป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็คือปทปรมบุคคล

แต่มีข้อไม่เข้าใจเรียนถามว่าสัตว์ดิรัจฉาน จัดเป็นปทปรมบุคคล มีกล่าวไว้ในพระสูตรใดคะ จะได้อ่านรายละเอียดเพิ่มค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 22 เม.ย. 2553

เห็นด้วยค่ะพี่เมตตา

ปทปรมปุคคล เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ ก็คือจากจิต เจตสิก รูป หรือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง ใน สังสารวัฏฏ์อันยาวนาน หาที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ สัตว์ที่ยังไม่ได้บรรลุ ย่อมเวียนเกิดเวียนตาย ไปในทุกภพทุกภูมิ บางคราวเกิดเป็นเทพ บางคราวเกิดเป็นมนุษย์ บางคราวก็เกิดในอบาย แต่อุปนิสัยที่สั่งสมมาไม่ได้หายไปไหน ทั้งฝ่ายที่เป็นกุศล และอกุศล ความเข้าใจธรรมที่ได้สะสมมาก็เช่นเดียวกันค่ะ ไม่สูญหาย ขอยกตัวอย่าง ม้ากัณฐกะ เมื่อจุติจากกำเนิดเดรัจฉานก็ไปเกิดเป็นเทพ แล้วลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังธรรมจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ซึ่งแสดงว่าท่านต้องได้สะสมความเข้าใจธรรมมาก่อนหน้านี้แล้วหลายชาตินับไม่ถ้วนค่ะ และชาติใดที่ไม่สามารถบรรลุ ชาตินั้นก็เป็น "ปทปรม"

อย่างไรก็ดี ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับว่า เราจะให้คำจำกัดความของคำว่า "ปุคคล" ยังไงโดย สมมติบัญญัติของชาวโลก แต่ถ้ากล่าวโดยปรมัตถ์แล้ว ปุคคล ก็คือกองของขันธ์ ๕ นั่นเองค่ะ (เพราะโดยปรมัตถ์แล้ว บุคคลจริงๆ ไม่มีค่ะ)

ขออนุโมทนาทุกท่านที่เข้าร่วมสนทนา เพื่อความแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 22 เม.ย. 2553

ครับ อย่างที่เราเข้าใจตรงกันก็คือมีแต่สภาพธรรม ไม่ว่า มนุษย์ เทวดา พรหม สัตว์ เดรัจฉานก็คือ จิต เจตสิก รูป สำหรับปทปรมะนั้นคือเป็นผู้ที่สะสมความเข้าใจมาแต่ไม่ สามารถบรรลุในชาตินั้นเพราะปัญญายังไม่พอ เป็นปทปรมบุคคลครับ

สำหรับในส่วน ของพระไตรปิฎกไม่ได้มีการแสดงเฉพาะเจาะจงลงไปว่าปทปรมะเป็นบุคคลประเภทใด เป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่นเดียวกับ อุคฆฏิตัญญูบุคคล และ บุคคลอื่นๆ พระไตรปิฎกก็ไม่แสดงเจาะจงลงไปว่าเป็นมนุษย์ เทวดาหรือสัตว์เดรัจฉาน แต่ข้อความแสดงชัดอยู่แล้วว่า บุคคลใดที่ไม่สามารถบรรลุในชาตินั้นได้ แม้จะได้ฟังมาก ศึกษามากก็ไม่บรรลุ เป็นปทปรมบุคคล เพราะฉะนั้นปทปรมะจึงไม่ได้หมายความ ว่าบุคคลใดหรือสัตว์ภพภูมิใดที่ไม่บรรลุในชาตินั้นจะเป็นปทปรมบุคคลทั้งหมดครับ แต่ ปทปรมบุคคล คือ หมู่สัตว์ที่สะสมความเข้าใจมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถบรรลุในชาตินั้น เป็นปทปรมบุคคล ผู้ที่เห็นผิดดิ่ง แก้ไขความคิดเห็นไม่ได้ ไม่มีทางบรรลุได้เลยเป็นตอ ของวัฏฏะคือต้องเฝ้าอยู่ในวัฏฏะ จะเป็นปทปรมะไม่ได้ แม้เขาจะไม่บรรลุในชาตินั้น เพราะไม่ได้สะสมความเข้าใจมาอันจะเป็นปัจจัยให้บรรลุในอนาคตได้ สัตว์เดรัจฉานก็ เช่นกัน ไม่ใช่ว่าสัตว์เดรัจฉานทุกตัวจะเป็นปทปรมบุคคล แต่ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉานที่เคยสะสมความเข้าใจมาในอดีต จึงจะเป็นปทปรมบุคคล ดังเช่น คุณไตรสรณคมณ์ ยกตัวอย่าง ม้ากัณฐกะ เป็นต้น โดยนัยเดียวกัน พระโพธิสัตว์ที่ได้รับคำพยากรณ์แล้ว เที่ยงที่จะตรัสรู้ หลังจากชาตินั้นก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ แต่ความเข้าใจของท่านก็ ไม่ได้หายไปในพระธรรมและพร้อมที่จะตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ในชาติที่พระองค์เป็นสัตว์เดรัจฉานจึงเป็นปทปรมบุคคลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
paderm
วันที่ 22 เม.ย. 2553

สำหรับพระพุทธองค์เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกก็เห็นนาคราชซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นอบายภูมิ อยู่ในข่ายพระญาณว่าจะดำรงอยู่ในไตรสรณคมณ์ พระองค์เห็นประโยชน์ตรงนี้ ก็ทรงแสดงธรรมให้นาคราชดำรงอยู่ในสรณคมณ์ เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลเขาอันเป็นอุปนิสัยให้บรรลุต่อไปในอนาคต นาคราชตัวนั้น ก็เป็นปทปรมบุคคล คือ ไม่สามารถบรรลุได้ แม้จะได้ฟังพระธรรมจากพระองค์ครับ

ในอีกกรณีหนึ่ง พระโพธิสัตว์หลังจากได้รับ คำพยากรณ์แล้ว ชาติต่อๆ มาก็ไปเกิดเป็นนาคราช พระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งก็ได้ พยากรณ์นาคราชนั้นว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต คือตรัสรู้ในอนาคต นาคราชพระโพธิสัตว์นั้นจึงเป็นปทปรมบุคคล เพราะไม่สามารถบรรลุในชาตินั้นได้ เพราะเป็นสัตว์อบาย แต่จะบรรลุในอนาคต ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานและได้รับคำพยากรณ์ [ชาดก]

พระพุทธเจ้าทรงฝึกแม้สัตว์เดรัจฉานที่มีอุปนิสัย [จูฬนิทเทส]

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 22 เม.ย. 2553

ขอขอบคุณ ท่านผเดิมค่ะ

จากข้อความในพระสูตรที่ยกมา แสดงว่าแม้สัตว์เดรัจฉาน พระพุทธองค์ก็ทรงทำให้ ตั้งอยู่ในศีลและสรณคมน์ได้

ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้ร่วมสนทนาธรรมในประเด็นนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
เมตตา
วันที่ 22 เม.ย. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนาน้องสาวไตรสรณคมน์ และน้องผเดิมค่ะ อ่านความคิดเห็นทั้งสองท่านแล้ว เข้าใจขึ้นมากค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
วิริยะ
วันที่ 23 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
สามารถ
วันที่ 23 เม.ย. 2553

มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไรครับ และปทปรมะต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
paderm
วันที่ 23 เม.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ 21

มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เพราะปฏิสนธิจิตต่างกัน มนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุที่ดี ปฏิสนธิของสัตว์เดรัจฉาน ไม่ประกอบด้วยเหตุ มนุษย์บางคนสามารถบรรลุธรรมได้ สัตว์เดรัจฉานไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะปฏิสนธิเป็นเครื่องกั้น คือปฏิสนธิจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ คือมีปัญญาเกิดร่วมด้วยนั่นเอง มนุษย์เป็นสุคติภูมิเพราะผลของกุศลกรรมจึงเกิดเป็นมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานเป็นทุคติภูมิเพราะเป็นผลของอกุศลกรรมที่ให้ผลครับ มนุษย์เป็นภพภูมิที่ประเสริฐคือเป็นภพภูมิที่สามารถเจริญกุศลได้ทุกๆ ประการและบรรลุธรรมได้ ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน มากไปด้วยความไม่รู้ กุศลจึงเกิดยากและไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น

ปทปรมะต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไรครับ

- ปทปรมะ คือผู้ที่ไม่สามารถบรรลุในชาตินั้นได้ แม้ฟังมาก ศึกษามากก็ไม่บรรลุในชาตินั้น เป็นปทปรมะ แต่สัตว์นั้นจะต้องสะสมความเข้าใจมาแล้วจึงเป็นปทปรมะ ไม่ว่าในภพภูมิใด มนุษย์ก็เป็นปทปรมะหรือไม่เป็นก็ได้ สัตว์เดรัจฉานบางตัวเป็นปทปรมะก็ได้ ไม่เป็นก็ได้เพราะปทปรมะต้องเป็นผู้ที่สะสมปัญญาความเข้าใจมา อันจะเป็นวาสนาบารมีให้บรรลุในอนาคตได้ สัตว์เดรัจฉานที่สะสมปัญญามาเป็นปทปรมะ สัตว์เดรัจฉานที่ไม่ได้สะสมปัญญามาเลยหรือมีความเห็นผิด เป็นต้น ไม่จัดเป็นปทปรมะครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 24 เม.ย. 2553

ขอขอพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
สามารถ
วันที่ 28 เม.ย. 2553

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
คุณ
วันที่ 2 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
สามารถ
วันที่ 3 พ.ค. 2553

ปทปรมะต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไรครับ

สรุปคือ การจะเรียกสัตว์หรือบุคคลว่าเป็นปทปรมะนั้น เมื่อกล่าวถึงว่าสัตว์หรือบุคคลนั้นมีปัญญาที่สั่งสมมาที่จะสามารถบรรลุธรรมได้ในระดับไหนๆ ใช่ไหมครับ ถ้าเป็นปัญญาระดับปทปรมะก็หมายความว่าไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น

แต่สัตว์เดรัจฉานแม้จะเคยสั่งสมปัญญามาที่จะบรรลุธรรมได้แล้วก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ใช่ไหมครับ ด้วยการปิดกั้นของภพชาติคือปฏิสนธิจิตที่นำมากำเนิด จนกว่าจะมีโอกาสในสุคติภูมิใช่ไหมครับ ดังนั้น มนุษย์ที่ไม่มีการสั่งสมปัญญามาก็จะยังไม่นับว่าเป็นปทปรมะใช่หรือไม่ครับ

ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีการสั่งสมปัญญามาเลยในสังสารวัฏฏ์ หรือท่านหมายรวมถึงว่า แม้จะเป็นผู้ที่มีปัญญาแต่มีปัญญาน้อย (น้อยอย่างมาก) ก็ตาม ก็เรียกว่าเป็น ปทปรมบุคคล หากเป็นดังนี้ ปัญญาน้อยถึงเพียงไหนครับที่จะเริ่มเรียกว่า ปทปรมบุคคล มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไรครับ

ความแตกต่างของมนุษย์และสัตว์นั้นต่างกันตรงปฏิสนธิจิตและความสามารถที่มนุษย์สามารถเจริญปัญญาได้ใช่ไหมครับ

ดังนี้ ทำไมพระโพธิสัตว์ที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานถึงมีปัญญาพิจารณาธรรมได้ครับ หรือปัญญาในการรักษาศีลหรือให้ทานก็ตาม และเหตุใดสัตว์ในสมัยพุทธกาลถึงพูดได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2553

จากความเห็นที่ 26

ปทปรมะ ต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไรครับ สรุปคือ การจะเรียกสัตว์หรือบุคคลว่าเป็นปทปรมะนั้น เมื่อกล่าวถึงว่าสัตว์หรือบุคคลนั้นมีปัญญาที่สั่งสมมาที่จะสามารถบรรลุธรรมได้ในระดับไหนๆ ใช่ไหมครับ ถ้าเป็นปัญญาระดับปทปรมะก็หมายความว่าไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น

- ถูกต้องครับ

แต่สัตว์เดรัจฉานแม้จะเคยสั่งสมปัญญามาที่จะบรรลุธรรมได้แล้วก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ใช่ไหมครับ ด้วยการปิดกั้นของภพชาติคือปฏิสนธิจิตที่นำมากำเนิด จนกว่าจะมีโอกาสในสุคติภูมิใช่ไหมครับ?

- ถูกต้องครับ ...

จากคำถามที่ว่า ดังนั้นมนุษย์ที่ไม่มีการสั่งสมปัญญามาก็จะยังไม่นับว่าเป็นปทปรมะใช่หรือไม่ครับ ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีการสั่งสมปัญญามาเลยในสังสารวัฏฏ์ หรือท่านหมายรวมถึงว่า แม้จะเป็นผู้ที่มีปัญญาแต่มีปัญญาน้อย (น้อยอย่างมาก) ก็ตาม ก็เรียกว่าเป็น ปทปรมบุคคล หากเป็นดังนี้ ปัญญาน้อยถึงเพียงไหนครับที่จะเริ่มเรียกว่า ปทปรมบุคคล

- ผู้ที่ไม่สะสมปัญญาหรือความเห็นถูก ไม่เป็นปทรปรมะ สำหรับปทปรมบุคคลคือ ผู้มีบทอย่างยิ่ง คือสามารถตรัสรู้ในอนาคตได้ ในสัตว์โลกที่มีจำนวนเป็นอนันต์คือนับไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนสะสมปัญญามาทั้งหมด ผู้ที่เห็นผิดก็มี ผู้ที่ไม่สนใจก็มี ผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญามาเลยก็มี ผู้ที่อบรมปัญญามาน้อยก็มี ผู้ที่อบรมปัญญามามากก็มี ดังนั้น ปทปรมบุคคลคือผู้ที่เริ่มมีความเห็นถูก นั่นก็เท่ากับเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ก้าวสุดท้ายคือการดับกิเลส บรรลุได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 26 ต่อ

มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไรครับ

ความแตกต่างของมนุษย์และสัตว์นั้น ต่างกันตรงปฏิสนธิจิตและความสามารถที่มนุษย์สามารถเจริญปัญญาได้ใช่ไหมครับ?

- ถูกต้องครับ ...

ดังนี้ทำไมพระโพธิสัตว์ที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานถึงมีปัญญาพิจารณาธรรมได้ครับ หรือปัญญาในการรักษาศีลหรือให้ทานก็ตาม

- ปัญญามีหลายระดับครับ ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาระดับสมถภาวนา ปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนา ปัญญาระดับมรรคและปัญญาระดับผลจิต เป็นต้น สัตว์เดรัจฉาน สามารถพิจารณาด้วยความเห็นถูกได้ โดยเป็นเรื่องราวนึกคิด แต่ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จะเห็นได้ว่าปัญญาต่างระดับกัน แต่มนุษย์สามารถเกิดปัญญาระดับสูงได้ครับ

และเหตุใดสัตว์ในสมัยพุทธกาลถึงพูดได้ครับ?

- ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยและการสะสมมา สัตว์บางตัวพูดได้เพราะสามารถเข้าใจ ภาษามนุษย์และรู้เสียงที่จะใช้พูดในภาษามนุษย์ เป็นไปตามการสะสมมา แต่สัตว์บางตัวก็พูดไม่ได้เพราะไม่ได้สะสมมาที่จะพูดได้ หรือรู้ความหมายของภาษามนุษย์ครับ เรามองแบบข้ามภพข้ามชาติ แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงการเกิดดับสืบต่อของจิตทีละขณะเท่านั้น สัตว์เดรัจฉานเกิดเป็นมนุษย์มาก่อนก็มี ดังนั้น จึงแล้วแต่ว่าสัตว์ตัวใด จะระลึกได้และมีความเข้าใจในภาษามนุษย์ครับ แม้แต่มนุษย์ ความเข้าใจภาษาต่างประเทศก็ต่างกัน แม้จะเรียนมาด้วยกันครับ ตามการสะสมมาจริงๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
สามารถ
วันที่ 4 พ.ค. 2553

ขอขอบคุณคุณ paderm อย่างยิ่งที่สุดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
สามารถ
วันที่ 4 พ.ค. 2553

ดังนี้ แปลว่า สัตว์สามารถเข้าใจเรื่องราวสิ่งอย่างได้ไม่ต่างจากมนุษย์เลยใช่ไหมครับ หรือเรียกอีกอย่างว่า จิตที่เป็นจิตอันครองรูปของสัตว์เดรัจฉานนั้นสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ไม่ต่างจากจิตที่เป็นจิตที่ครองใจ รูปที่เรียกว่ามนุษย์ใช่ไหมครับ

แต่ต่างตรงที่ว่า จิตที่เกิดในภพมนุษย์นั้น เป็นผลของกุศลกรรม เป็นกุศลวิปาก สามารถเจริญปัญญาทั้งสมถะหรือวิปัสสนาได้ (ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจุติจิตนั้นจะประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา) แต่จิตแห่งภพเดรัจฉานนั้น แม้จะสามารถเข้าใจเรื่องราว ที่ประกอบความดีได้แต่ก็ไม่สามารถเจริญปัญญาทั้งสมถะหรือวิปัสสนาได้ ใช่ไหมครับ? สามารถเป็นสัตว์ที่มีความเห็นถูกได้ใช่ไหมครับ ดังนี้ มนุษย์ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีความเห็นถูก ไม่มีศรัทธา เป็นคนพาลในชาตินี้ก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ข้อนี้ใช่หรือไม่ครับ หรืออาจด้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานด้วยซ้ำหากเทียบกับสัตว์ที่สามารถนึกคิด พิจารณาในทางกุศลได้ ข้อนี้ใช่หรือไม่ครับ และหากเป็นดังนี้การเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ประเสริฐเสมอไป เรียกอย่างนี้ได้หรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 30

จากคำถามที่ว่า

ดังนี้ แปลว่า สัตว์สามารถเข้าใจเรื่องราวสิ่งอย่างได้ไม่ต่างจากมนุษย์เลยใช่ไหมครับ หรือเรียกอีกอย่างว่า จิตที่เป็นจิตอันครองรูปของสัตว์เดรัจฉานนั้น สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ไม่ต่างจากจิตที่เป็นจิตที่ครองใจ รูปที่เรียกว่ามนุษย์ใช่ไหมครับ แต่ต่างตรงที่ว่าจิตที่เกิดในภพมนุษย์นั้นเป็นผลของกุศลกรรมเป็นกุศลวิบากสามารถเจริญปัญญาทั้งสมถะหรือวิปัสสนาได้ (ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจุติจิตนั้นจะประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา)

- สัตว์กับมนุษย์ก็มีจิต เจตสิก เช่นเดียวกัน จิตบางประเภทของมนุษย์และสัตว์ก็ทำหน้าที่เดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เช่น จิตเห็นของสัตว์กับมนุษย์ก็เหมือนกันครับ ส่วน ในเรื่องการเข้าใจเรื่องราวในความเห็นถูก สัตว์ก็มีได้ แต่ไม่เท่ากับมนุษย์ (บางคน) เพราะปฏิสนธิจิตที่ต่างกันนั่นเอง มนุษย์ที่ปฏิสนธิจิตประกอวด้วยปัญญาสามารถเจริญ สมถและวิปัสสนาได้ แต่สัตว์ไม่สามารถเจริญปัญญาขั้นนี้ได้ครับ

จากคำถามที่ว่า

ดังนี้ มนุษย์ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีความเห็นถูก ไม่มีศรัทธาเป็นคนพาลในชาตินี้ก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ข้อนี้ใช่หรือไม่ครับหรืออาจด้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานด้วยซ้ำ หากเทียบกับสัตว์ที่สามารถนึกคิดพิจารณาในทางกุศลได้ ข้อนี้ใช่หรือไม่ครับและหากเป็นดังนี้ การเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ประเสริฐเสมอไป เรียกอย่างนี้ได้หรือไม่ครับ

- เราต้องแยกพิจารณาครับ สำหรับตัวเหตุที่สะสมมากับตัวผลของกรรม

การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกรรมที่ดีคือกุศลกรรม ส่วนการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นผลของกรรมที่ไม่ดีคืออกุศลกรรม เพราะฉะนั้นหากเราพูดในนัยผลของกรรมแล้ว มนุษย์ย่อมสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน แต่เมื่อกล่าวโดยการสะสมมา ไม่ว่าภพภูมิใด สัตว์โลกสามารถ เกิดได้เกือบหมด แต่การสะสมมาไม่ได้หายไป เกิดเป็นมนุษย์มีความเห็นผิดสะสมมามากก็ได้ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแต่สะสมความเห็นถูกมามากได้ มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น หากกล่าวในเรื่องการสะสมมาแล้ว มนุษย์บางคนอาจสะสมมาไม่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานก็ได้ หรือมนุษย์บางคนสะสมมาดีกว่าสัตว์เดรัจฉานก็ได้

ดังนั้น เราจะต้องแยกพิจารณา ในเรื่องวิบากที่เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดมาในภพภูมิใด กับเรื่องการสะสมมาของแต่ละบุคคลครับ มนุษย์จึงเป็นภพภูมิที่ประเสริฐ เมื่อพูดถึงนัยที่มีการสะสมมาแล้ว สามารถบรรลุได้เพราะเกิดเป็นมนุษย์ด้วยปฏิสนธิที่ประกอบด้วยปัญญาครับ แต่สัตว์เดรัจฉานแม้สะสมปัญญามาเช่นกัน แต่ไม่สามารถบรรลุได้เพราะปฏิสนธิเป็นเครื่องกั้น นั่นเองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
สามารถ
วันที่ 5 พ.ค. 2553

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
Witt
วันที่ 11 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
chatchai.k
วันที่ 21 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
muda muda
วันที่ 19 ต.ค. 2565

เข้าใจเรื่อง พระโพธิสัตว์ กราบอนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
อย่าหยิ่งผยอง
วันที่ 15 พ.ค. 2567

ขออนุโมทนาสาธุกับท่านอาจารย์ และทุกๆ ท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ