ปริสาสูตร .. บริษัท ๓ จำพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 พ.ค. 2553
หมายเลข  16359
อ่าน  3,133

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

... สนทนาธรรมที่ ...

••• มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

•••

วันเสาร์ ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ คือ ...

ปริสาสูตร

ว่าด้วยบริษัท ๓ จำพวก

จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่มที่ ๓๔ หน้าที่ ๔๘๑ - ๒๘๖

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่มที่ ๓๔ หน้าที่ ๔๘๑ - ๒๘๖

๔. ปริสาสูตร

(ว่าด้วยบริษัท ๓ จำพวก)

[๕๓๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ นี้ บริษัท ๓ คือ อะไร? คือ (อคฺควตีปริสา) บริษัทที่มีแต่คนดี, (วคฺคา ปริสา) บริษัทที่เป็นพรรค (คือแตกกัน) , (สมคฺคา ปริสา) บริษัทที่สามัคคีกัน.

บริษัทที่มีแต่คนดี เป็นอย่างไร? ในบริษัทใด ภิกษุผู้ใหญ่ๆ ไม่เป็นผู้สะสมบริขาร ไม่ย่อหย่อน (ในการบำเพ็ญสิกขา) ทอดธุระในทางต่ำทราม มุ่งไปในทางปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง ปัจฉิมาชนตา (ประชุมชนผู้เกิดมาภายหลัง) ได้เยี่ยงอย่างภิกษุผู้ใหญ่เหล่านั้น ก็พากันเป็นผู้ไม่สะสมบริขาร ไม่ย่อหย่อน (ในการบำเพ็ญสิกขา) ... ฯลฯ ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง บริษัทนี้เรียกว่าบริษัทที่มีแต่คนดี

บริษัทที่เป็นพรรค เป็นอย่างไร? ในบริษัทใด ภิกษุทั้งหลายเกิดแก่งแย่งทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่เป็นพรรค

บริษัทที่สามัคคีกัน เป็นอย่างไร? ในบริษัทใด ภิกษุทั้งหลาย พร้อมเพรียงกันชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ (คือสายตาของคนที่รักใคร่กัน) บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่สามัคคีกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ... ฯลฯ .. มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมได้บุญมาก ในสมัยนั้นภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าอยู่อย่างพรหม คือ อยู่ด้วยมุทิตา (พรหมวิหาร) อันเป็นเครื่องพ้นแห่งใจ (จากริษยา) ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ยินดี กายของผู้มีใจปีติย่อมระงับ ผู้มีกายระงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมเป็นสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหนาตกบนภูเขา น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ยังซอกเขาและลำรางทางน้ำให้เต็ม ซอกเขาและลำรางทางน้ำเต็มแล้ว ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้ว ย่อมยังบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้วย่อมยังคลองให้เต็ม คลองเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำให้เต็ม แม่น้ำเต็มแล้ว ย่อมยังทะเล

ให้เต็มฉันใด ก็ดี ในสมัยใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ... ฯลฯ ... มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมได้บุญมาก ... ฯลฯ ... จิตของผู้มีสุขย่อมเป็นสมาธิ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล บริษัท ๓.

จบปริสาสูตรที่ ๔.

อรรถกถาปริสาสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในปริสาสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า พาหุลฺลิกา น โหนฺติ ความว่า ไม่เป็นผู้มักมากด้วยปัจจัย. บทว่าน สาถลิกา คือ ไม่เป็นผู้ทำสิกขา ๓ ให้ย่อหย่อน. บทว่า โอกฺกมเน นิกฺขิตตฺธุราความว่า นิวรณ์ ๕ เรียกว่า โอกกมนะ เพราะหมายความว่า ทำให้ตกต่ำ (ภิกษุผู้เถระ) เป็นผู้ทอดทิ้งธุระในนิวรณ์ซึ่งทำให้ตกต่ำเหล่านั้น. บทว่า ปวิเวเก ปุพฺพงฺคมาความว่า เป็นหัวหน้าในวิเวก ๓ อย่าง กล่าวคือ กายวิเวก จิตตวิเวก และ อุปธิ-วิเวก. บทว่า วิริย อารภนฺติ ได้แก่ เริ่มความเพียรทั้ง ๒ อย่าง. บทว่า อปฺปตฺตสฺสได้แก่ ไม่บรรลุคุณวิเศษ กล่าวคือ ฌาน วิปัสสนา มรรค และผล. แม้ในสองบทที่เหลือก็มีนัย นี้แล. บทว่า ปจฺฉิมา ชนตา ได้แก่ ประชุมชนภายหลังมีสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกเป็นต้น. บทว่า ทิฏฺานุคตึ อาปชฺชติ ความว่า ทำตามที่อุปัชฌาย์และอาจารย์ได้ทำมาแล้ว. ประชุมชนภายหลังนี้ชื่อว่า ถึงการดำเนินไปตามสิ่งที่ประชุมชนนั้นได้เห็นมาแล้ว ในอุปัชฌาย์อาจารย์. บทว่า อย วุจฺจติ ภิกฺขเว อคฺควตี ปริสา ความว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่มีแต่คนดี. บทว่า ภณฺฑนชาตา แปลว่า เกิดการบาดหมางกัน. บทว่า กลหชาตาแปลว่า เกิดการทะเลาะกัน ก็ส่วนเบื้องต้นของการทะเลาะกันชื่อว่า การบาดหมางในสูตรนี้. การล่วงเกินกันด้วยอำนาจ (ถึงขนาด) จับมือกันเป็นต้น ชื่อว่า การทะเลาะกัน. บทว่า วิวาทาปนฺนา ได้แก่ ถึงการ ทุ่มเถียงกัน. บทว่า มุขสตฺตีหิ ความว่าวาจาที่หยาบคายเรียกว่า หอก คือปาก เพราะหมายความว่าทิ่มแทงคุณ (ภิกษุทั้งหลายทิ่มแทงกันและกัน) ด้วยหอกคือปากเหล่านั้น. บทว่า วิตฺทนฺตา วิหรนฺติ คือเที่ยวทิ่มแทงกัน. บทว่า สมคฺคา แปลว่า พร้อมเพรียงกัน. บทว่า สมฺโมทมานา ได้แก่ มีความบันเทิงเป็นไปพร้อม. บทว่า ขีโรทกีภูตา ได้แก่ (เข้ากันได้) เป็นเหมือนน้ำกับน้ำนม. บทว่า ปิยจกฺขูหิ ได้แก่ ด้วยจักษุอันเจือด้วยเมตตาที่สงบเย็น. บทว่า ปีติ ชายติ ได้แก่ ปีติ ๕ ชนิด เกิดขึ้น. บทว่า กาโยปสฺสมฺภติ ความว่าทั้งนามกาย ทั้งรูปกาย เป็นอันปราศจากความกระวนกระวาย. บทว่า ปสฺสทฺธกาโยได้แก่ มีกายไม่กระสับกระส่าย. บทว่า สุข เวทิยติ ได้แก่ เสวยสุขทั้งทางกายและทางใจ. บทว่า สมาธิยติ ความว่า ก็จิต (ของภิกษุผู้มีความสุข) ย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์. บทว่า ถุลฺลผุสิตเก ได้แก่ ฝนเม็ดใหญ่. ในบทว่า ปพฺพตกนฺทรปทรสาขา นี้พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ ที่ชื่อว่า กันทระ ได้แก่ ส่วน (หนึ่ง) ของภูเขาที่ถูกน้ำซึ่งได้นามว่า ก เซาะแล้ว คือ ทำลายแล้ว ที่ชาวโลกเรียกว่า นิตัมพะ (ไหล่เขา) บ้างนทีนิกุญชะ (โตรกแม่น้ำ) บ้าง. ที่ชื่อว่า ปทระ ได้แก่ ภูมิประเทศที่แตกระแหงในเมื่อฝนตกเป็นเวลาครึ่งเดือน. ที่ชื่อว่า สาขา ได้แก่ ลำรางเล็กทางสำหรับน้ำไหลไปสู่หนอง. ที่ชื่อว่า กุสุพฺภา ได้แก่ หนอง. ที่ชื่อว่า มหาโสพฺภา ได้แก่ บึง. ที่ชื่อว่ากุนฺนที ได้แก่ แม่น้ำน้อย. ที่ชื่อว่า มหานที ได้แก่ แม่น้ำใหญ่ มีแม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น.

จบอรรถกถาปริสาสูตรที่ ๔.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 มิ.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปริสาสูตร ว่าด้วยบริษัท ๓ จำพวก

คำว่า บริษัท ในพระสูตรนี้ มาจากภาษาบาลีว่า ปริสา ซึ่งตรงกับชื่อของพระสูตร หมายถึง กลุ่มชน หมู่ชน ฝูงชน หมู่เหล่า ในพระไตรปิฎก แสดงบริษัทไว้หลายประเภท กล่าวคือ ขัตติยบริษัท (บริษัทของกษัตริย์) พราหมณบริษัท (บริษัทของพราหมณ์) คหปติบริษัท (บริษัทของคฤหบดี) สมณบริษัท (บริษัทของสมณะ) จาตุมหาราชิกบริษัท (บริษัทของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา) ดาวดึงส์บริษัท (บริษัทของเทวดาชั้นดาวดึงส์) มารบริษัท (บริษัทของมาร) พรหมบริษัท (บริษัทของพรหม) นอกจากนั้น ยังแสดงถึงบริษัทอีกหลายนัย เช่น บริษัทดื้อด้าน บริษัทไม่ดื้อด้าน บริษัทตื้น บริษัทลึก บริษัทไม่มีอัครบุคคล บริษัทมีอัครบุคคล เป็นต้น แต่ถ้ามุ่งถึงเฉพาะพุทธบริษัท แล้ว มี ๔ บริษัท คือ ภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัทและอุบาสิกาบริษัท

ในพระสูตร นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงบริษัท ไว้ ๓ จำพวก คือ

๑.บริษัทที่มีแต่คนดี หมายถึง บริษัทที่ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชนรุ่นหลังชนรุ่งหลังก็ได้ถือเอาแบบอย่างที่ดี นั้น ทั้งในเรื่องของความไม่เป็นผู้มักมาก ความไม่ย่อหย่อนในสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ความเป็นผู้ละทิ้งนิวรณ์ ความเป็นผู้ยินดีในความสงัด และความเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
๒.บริษัทที่แตกแยกกัน หมายถึง บริษัทที่เกิดความทะเลาะวิวาท เกิดความขัดแย้งกันกล่าววาจาอันหยาบคายต่อกันและกัน
๓.บริษัทที่สามัคคีกัน หมายถึง บริษัทที่พร้อมเพรียงกัน ไม่ทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกัน มีเมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดีต่อกัน และเป็นผู้อยู่ด้วยมุทิตา-ธรรม คือ ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี มีความสุข ซึ่งตรงกันข้ามกับความริษยา

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ที่นี่ครับ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนอย่างไรเวลาเกิดเหตุ อสามัคคี ขึ้นบ้างครับ
พระพุทธองค์ทรงสอนอย่างไรในการอยู่ร่วมกัน?
บริษัท ๒ จำพวก คือ ตื้น และ ลึก [อรรถกถาสูตรที่ ๑]
ว่าด้วยบริษัทที่ดื้อด้าน และ ไม่ดื้อด้าน
บริษัทที่ไม่มีอัครบุคคล และมีอัครบุคล [ปริสวรรคที่ 5 สูตรที่ ๓]

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wirat.k
วันที่ 2 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผิน
วันที่ 2 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanakase
วันที่ 3 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 3 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
powerwin
วันที่ 4 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Buppha
วันที่ 4 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 5 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ