สัทธาสูตร .. ศรัทธา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 มิ.ย. 2553
หมายเลข  16407
อ่าน  4,055

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

... สนทนาธรรมที่ ...

••• มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

วันเสาร์ ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓

สัทธาสูตร (ว่าด้วยศรัทธา)

จาก [เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๗ -๑๙๙

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๗ -๑๙๙

๖. สัทธาสูตร

(ว่าด้วยศรัทธา)

[๑๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวัน ทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

[๑๑๓] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนสองของคน หากว่า ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาไม่ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น บริวารยศ และ เกียรติยศ ย่อมมีแก่บุคคล นั้น อนึ่ง บุคคลนั้นละทิ้งสรีระแล้วก็ไป สู่สวรรค์ บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงทิ้งมานะเสีย พึงล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย กิเลสเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง ย่อมไม่เกาะเกี่ยวบุคคลนั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องในนามรูป ผู้ไม่มี มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล

[๑๑๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกชนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมตาม ประกอบความประมาท ส่วนนักปราชญ์ ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนบุคคล รักษาทรัพย์อันประเสริฐ บุคคลอย่าตาม ประกอบความประมาท และอย่าตาม ประกอบความสนิทสนม ด้วยอำนาจความ ยินดีในกาม เพราะว่าบุคคลไม่ประมาท แล้วเพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุบรมสุข

อรรถกถาสัทธาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัทธาสูตรที่ ๖ ต่อไป :-

บทว่า สทฺธา ทุติยา ปุริสสฺส โหติ แปลว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนสองของคน คือได้แก่ เมื่อคนไปสู่เทวโลก และพระนิพพาน ศรัทธาย่อมเป็นเพื่อนสอง คือ ย่อมยังกิจของสหายให้สำเร็จ

บทว่า โน เจ อสทฺธิยํ อวติฏฺติ แก้เป็น ยทิ อสทฺธิย น ติฏฺติ แปลว่า หากว่า ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาไม่ตั้งอยู่

บทว่า ยโส แปลว่า ยศ ได้แก่บริวาร

บทว่า กิตฺติ แปลว่า เกียรติยศ ได้แก่ การกล่าวยกย่องสรรเสริญ

บทว่า ตตฺวสฺส โหติ แปลว่า ย่อมมีแก่เขาผู้นั้น คือว่า ต่อจากนั้น ย่อมมีแก่เขา

บทว่า นานุปตนฺติ สงฺคา แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง ย่อมไม่เกาะเกี่ยว คือ ได้แก่กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ๕ อย่าง มีราคะเป็นเครื่องเกี่ยวข้องเป็นต้น ย่อมไม่เข้าถึง

บทว่า ปมาทมนุยุญฺชนฺติ แปลว่า ย่อมตามประกอบความประมาท อธิบายว่าชนเหล่าใดย่อมกระทำ คือ ย่อมให้ความประมาทเกิดขึ้น ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมตามประกอบซึ่งความประมาทนั้น

บทว่า ธน เสฏฺว รกฺขติ แปลว่า เหมือนบุคคลรักษาทรัพย์อันประเสริฐ คือ ได้แก่เหมือนบุคคลรักษาทรัพย์อันอุดม มีแก้วมุกดาและแก้วมณีอันมีสาระเป็นต้น

บทว่า ฌายนฺโต แปลว่า เพ่งพินิจอยู่ อธิบายว่า เพ่งอยู่ด้วยลักขณูปนิชฌาน และอารัมมณูปนิชฌาน ใน ๒ อย่างนั้น วิปัสสนา มรรค และผล ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน จริงอยู่ วิปัสสนา ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะอรรถว่า เข้าไปเพ่งซึ่งลักษณะทั้งสาม มรรค ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะอรรถว่าย่อมให้สำเร็จซึ่งปหานกิจที่มาถึงแล้วโดยวิปัสสนา ผล ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะอรรถว่า ย่อมเข้าไปเพ่งซึ่งนิโรธสัจจะ อันเป็นตถลักษณะ (ลักษณะที่แท้จริง) แต่สมาบัติ ๘ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นอารัมมณูปนิชฌาน เพราะการเข้าไปเพ่งอารมณ์แห่งกสิณ อรหัตสุข ชื่อว่า บรมสุข อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาแล้วดังนี้แล

จบอรรถกถาสัทธาสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 7 มิ.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

สัทธาสูตร (ว่าด้วยศรัทธา)

พวกเทวดาสตุลลปกายิกา (เทวดาที่กล่าวสรรเสริญสัปบุรุษ) ลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระวิหารเชตวัน เมื่อถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เทวดาองค์หนึ่ง ได้ยืนกล่าวคาถาในสำนักของพระองค์ สรุปได้ว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนของคน (คือเป็นเพื่อนของผู้ที่ไปสู่สรรค์และนิพพาน) ผู้มีศรัทธาย่อมได้บริวารยศและเกียรติยศ เมื่อตายไปย่อมไปสู่สรรค์ พึงละความโกรธ มานะ (ความสำคัญตน) และ สังโยชน์ (อกุศลที่ผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ในวัฏฏะ) เสีย ผู้ไม่เกี่ยวข้องในนามรูป และไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ย่อมไม่มีกิเลสเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมิจฉาทิฏฐิ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระคาถา ที่แสดงถึงความต่างกันระหว่างคนพาล กับ ผู้มีปัญญา ว่า คนพาลตั้งอยู่ในความประมาท ส่วนผู้มีปัญญา เป็นผู้ไม่ประมาท พร้อมทั้งทรงเตือนว่า อย่าประกอบซึ่งความประมาท และอย่าประกอบความสนิทสนมด้วยอำนาจแห่งความยินดีในกาม เพราะเหตุว่า ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ย่อมบรรลุถึงสุขอย่างยิ่ง คือ อรหัตตสุข (สุขอันเกิดจากความเป็นผู้ไกลจากกิเลส)

* หมายเหตุ ท่านผู้รู้ กรุณาช่วยเพิ่มเติม และ แก้ไขให้ด้วยนะครับ *

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

สัทธาเจตสิก -- โสภณสาธารณเจตสิก

ลักษณะของผู้มีศรัทธา [ฐานสูตร]

สัทธานิสังสสูตร [ว่าด้วยอานิสงส์ของศรัทธา ๕ ประการ]

ธรรมเตือนใจ ... .มีมืออันล้างแล้ว

มนุษย์เป็นผู้ประมาทอยู่ [เรื่องนางปติปูชิกา]

... ฯลฯ ...

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanakase
วันที่ 8 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jans
วันที่ 8 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 9 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
raynu.p
วันที่ 9 มิ.ย. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 10 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paew_int
วันที่ 11 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ