ชนสันธชาดก ... พระราชาผู้ยังชนให้ตั้งมั่นด้วยดีในกุศลธรรม - ๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๘
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
สนทนาธรรมที่
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันเสาร์ ที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓
ชนสันธชาดก ว่าด้วยพระราชาผู้ยังชนให้ตั้งมั่นด้วยดีในกุศลธรรม
จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ 159-167
นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ 159-167
๕. ชนสันธชาดก
ว่าด้วยพระราชาผู้ยังชนให้ตั้งมั่นด้วยดีในกุศลธรรม
[๑๖๔๙] พระเจ้าชนสันธะ ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนนั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ บุคคลไม่กระทำเสียในกาลก่อนแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.
[๑๖๕๐] บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความพยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น ครั้นแก่ลงหาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้.
[๑๖๕๑] ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาศิลปะไว้ในกาลก่อน ผู้ไม่มีศิลปะ ย่อมเลี้ยงชีพลำบาก.
[๑๖๕๒] ผู้ใดเป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนโง่ ส่อเสียด กินสินบน ดุร้าย หยาบคาย ในกาลก่อน.
[๑๖๕๓] ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ เมตตาและเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน.
[๑๖๕๔] ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหน มีอยู่เป็นอันมากไม่ควรที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่นเลย.
[๑๖๕๕] คนตระหนี่ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่าเมื่อก่อน ข้าวและน้ำของเรามีอยู่มากมาย เราก็มิได้ให้ทานเลย.
[๑๖๕๖] ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราสามารถพอที่จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน.
[๑๖๕๗] ผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราได้ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน ผู้นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู
[๑๖๕๘] ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเรามิได้ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีศีล เป็นพหูสูตเลย
[๑๖๕๙] ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้ว ย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย
[๑๖๖๐] ผู้ใดย่อมปฏิบัติเหตุเหล่านี้โดยอุบายอันแยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่บุรุษควรทำ ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลังเลย.
จบ ชนสันธชาดกที่ ๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ชนสันธชาดก
เหตุที่ทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชาดกนี้
มีดังต่อไปนี้
พระเจ้าโกศล ทรงมัวเมาด้วยพระอิสริยยศ ไม่ปรารถนาจะตัดสินคดีความต่างๆ ทรงลืมแม้กระทั่งการบำรุงพระพุทธเจ้า วันหนึ่งพระองค์ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงเสด็จเข้าไปเฝ้า พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่า พึงเป็นผู้ไม่ประมาท โดยปกติของพระราชาต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในราชกิจ พึงละอคติ พึงประพฤติธรรม เมื่อพระราชาประพฤติธรรม ประชาชนก็จะประพฤติธรรมด้วย และได้ตรัสต่อไปว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสั่งสอนอยู่ พระองค์ทรงครองราชสมบัติโดยธรรมนั้น ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะเหตุว่าบัณฑิตในปางก่อนทั้งหลาย (โปราณกบัณฑิต) แม้ไม่มีอาจารย์ผู้สอน ก็ยังตั้งอยู่ในสุจริตธรรม แสดงธรรมแก่มหาชนตามความรู้ของตน พาคนเหล่านั้นไปสู่สวรรค์ได้ จึงได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาแสดง คือ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ พระนามว่า พระเจ้าชนสันธะ พระองค์ได้ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ทรงพระราชทานทรัพย์บริจาคทาน ทรงรักษาศีล ๕ ทรงประพฤติธรรมทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ (ทาน กล่าววาจาไพเราะ ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และความเป็นผู้มีตนเสมอ) และได้ตรัสสอนให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศลธรรมอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ และวันหนึ่งซึ่งเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงรับสั่งให้ประชุมชาวพระนคร เพื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จึงได้ตรัสถึงเหตุที่จะทำให้เดือดร้อนในภายหลัง รวม ๑๐ ประการ ตามที่ปรากฏในพระสูตร นั่นแล สำหรับเหตุที่จะทำให้เดือดร้อนในภายหลัง ๑๐ ประการ สรุป ได้ดังนี้
๐๑. ไม่พยายามหาทรัพย์ ในคราวที่มีกำลังพอที่จะหาได้
๐๒. ไม่ได้ศึกษาศิลปวิทยา
๐๓. เป็นคนโกง กินสินบน
๐๔. ฆ่าสัตว์ ปราศจากความอดทนและเมตตา
๐๕. คบชู้
๐๖. ตระหนี่
๐๗. ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา
๐๘. ไม่ทำตามคำพร่ำสอนของบิดา (บิดาในที่นี้หมายถึงอาจารย์)
๐๙. ไม่ได้เข้าไปหาสมณพราหมณ์
๑๐. ไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรม
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...