ปฐมตถาคตสูตร ... วันเสาร์ ๒๔ ก.ค. ๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ก.ค. 2553
หมายเลข  16757
อ่าน  4,926

Oo๐ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ๐oO

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๔ ก.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

ปฐมตถาคตสูตร

ทรงแสดงพระธรรมจักร

จาก ... [เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๐

... นำการสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2553

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๐

ธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒

๑. ปฐมตถาคตสูตร

ทรงแสดงพระธรรมจักร

[๑๖๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดสองอย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ ส่วนสุดสองอย่างนั้นเป็นไฉน คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขใน กามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ข้อปฏิบัติอัน เป็นสายกลาง ไม่เข้าไป ใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านั้น อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น ... ... ... เป็นไฉน คือ อริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ นี้แหละ. ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ ข้อปฏิบัติ อันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

[๑๖๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็น ที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้สิ่งนี้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทาน- ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหา ตัณหาให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักใน อารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภววัตหา ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แลคือ ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แล คืออริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.

[๑๖๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นเรากำหนดรู้แล้ว .

[๑๖๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เรา ไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้นควรละ ฯลฯ ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้นเราละแล้ว.

[๑๖๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นควรกระทำให้แจ้ง ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นเรากระทำให้ แจ้งแล้ว.

[๑๖๖๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินี- ปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟัง มาก่อนว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นเราเจริญแล้ว.

[๑๖๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริย-สัจ เหล่านี้ของเรา บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[๑๖๗๑] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตา เห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรแล้ว พวกภุมมเทวดาได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศแล้วณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสีอัน สมณะพราหมณ์ เทวดา มารพรหมหรือใครๆ ในโลกประกาศไม่ได้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ... พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุ-มหาราชแล้ว ... พวกเทพชั้นยามาได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ...

พวกเทพชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นยามาแล้ว ... พวกเทพชั้นนิมมานร- ดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดุสิตแล้ว ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีได้ฟัง เสียงของพวกเทพชั้นนิมมานรดีแล้ว ... พวกเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้ฟัง เสียงของพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤทายวัน กรุงพาราณสี อันสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ โนโลกประกาศไม่ได้.

[๑๖๗๒] โดยขณะนั้น โดยครู่นั้น เสียงได้ระบือขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ก็หมื่นโลกธาตุนี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ทั้งแสงสว่างอันยิ่งหาประมาณมิได้ได้ปรากฎแล้วในโลกล่วงเทวานุภาพของพวกเทพดาทั้งหลาย.

[๑๖๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญ-ญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบตถาคตสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2553

อรรถกถาธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒

อรรถกถาปฐมตถาคตสูตร

คำว่า กรุงพาราณสี ได้แก่ พระนครที่มีชื่ออย่างนี้. คำว่า อิสิปตน-มิคทายวัน ได้แก่ ในป่าที่ได้ชื่ออย่างนี้ ด้วยอำนาจการเหาะลงแห่งฤๅษีทั้งหลาย. ในอารามกล่าวคือป่าที่ชื่อว่ามิคทายะ เพราะให้อภัยแก่เนื้อทั้งหลายด้วยอำนาจการให้อภัย. อธิบายว่า ก็ฤๅษีทั้งหลายที่เป็นสัพพัญญูเกิดขึ้นแล้วๆ ย่อมเหาะลง คือ นั่งในป่านั้น เพื่อให้ธรรมจักรเป็นไป. แม้ฤๅษีผู้เป็นพระปัจเจก-พุทธเจ้าทั้งหลาย ล่วงไป ๗ วันออกจากสมาบัติ ทำกิจมีการล้างหน้าเป็นต้นที่สระอโนดาต มาทางอากาศจากเงื้อมเขาชื่อว่านันทมูลกะ แล้วเหาะลงด้วยอำนาจการหยั่งลงทีป่านั้น ย่อมประชุมกันทำอุโบสถ และอนุอุโบสถ มุ่งไปภูเขาคันธมาทน์บ้าง และเหาะมาจากเขาคันธมาทน์นั้นบ้าง ด้วยคำตามที่กล่าวมาแล้วนี้แล ป่านั้นท่านจึงเรียกว่า อิสิปตนะ ด้วยการเหาะลงและการเหาะขึ้นแห่งฤาษีทั้งหลาย.

คำว่า อามนฺเตสิ ความว่า บำเพ็ญบารมี ตั้งแต่ทำอภินิหารที่ใกล้พระบาทของพระทีปังกรพุทธเจ้า และเสด็จออกผนวชในพระชาติสุดท้ายโดย ลำดับ ประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ที่ป่านั้น ทรงทำลายมารและกำลังมาร ปฐมยามทรงระลึกถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณได้ มัชฌิมยาม ทรงชำระทิพยจักษุ ให้บริสุทธิ์ มัชฉิมยามสุดท้าย ทรงยังหมุนโลกธาตุให้กึกก้องหวั่นไหวอยู่ ทรง บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้วทรงให้ล่วงไปเจ็ดสัปดาห์ที่ควงไม้โพธิ์ มีการแสดงธรรมที่ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงตรวจดูโลกด้วยทิพยจักษุแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสี ด้วยการสงเคราะห์สัตวโลก ทรงให้พระปัญจวัคคีย์ยินยอมแล้ว ทรงประสงค์จะประกาศธรรมจักร จึงตรัสเรียกมาแล้ว.

คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ส่วนลามกสองเหล่านั้น ก็พร้อมกับการตรัสถึงบทนี้ เสียง กึกก้องแห่งการตรัส เบื้องล่างต่อเวจี เบื้องบนจดถึงภวัคคพรหม แผ่ไปทั่ว หมื่นโลกธาตุตั้งอยู่. สมัยนั้นเอง พรหมนับได้ ๑๘ โกฏิ มาประชุมกันแล้ว. ดวงอาทิตย์ตกลงทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงประกอบด้วยหมู่ดาว นักษัตรแห่งเดือนอาสาฬหะลอยขึ้นไปอยู่ทางทิศตะวันออก. สมัยนั้น พระผู้มี พระภาคเจ้า เมื่อทรงเริ่มธรรมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อันบรรพชิต ความว่า ผู้ตัดสังโยชน์ แห่งคฤหัสถ์แล้วเข้าถึงการบวช.

คำว่า ไม่ควรเสพ คือไม่พึงใช้สอย. คำว่า การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย ความว่า การตามประกอบกามสุขในวัตถุกามกิเลสกาม. คำว่า เป็นของเลว ได้แก่ลามก. คำว่า เป็นของชาวบ้าน. คือเป็นของมีอยู่แห่งชาวบ้านทั้งหลาย. คำว่า เป็นของปุถุชน ได้แก่ ที่คนอันธพาลประพฤติเนืองๆ แล้ว. คำว่า ไม่ประเสริฐ ได้แก่ ไม่บริสุทธิ์ คือไม่ใช่ของสูงสุด อีกอย่างหนึ่ง มิใช่ของพระอริยะทั้งหลาย. คำว่า ไม่ประกอบด้วยประ-โยชน์ คือประกอบด้วยประโยชน์หามิได้ อธิบายว่า ไม่อาศัย เหตุที่นำประโยชน์เกื้อกูลแสะความสุขมาให้.

คำว่า การประกอบความลำบากแก่ตน คือการตามประกอบความลำบากให้ตน อธิบายว่า ทำทุกข์แก่ตน. คำว่า เป็นทุกข์ ได้แก่ นำทุกข์มาให้ด้วยการฆ่าตน มีการนอนหงายบนหนามเป็นต้น . พระองค์ทรง ทำจักษุคือ ปัญญาเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระทำจักษุ. บทที่ ๒ เป็นไวพจน์บทนั้นนั่นเอง คำว่าเพื่อความสงบ คือเพื่อประโยชน์แก่การสงบกิเลส. คำว่า เพื่อความรู้ยิ่ง คือเพื่อประโยชน์แก่การรู้ยิ่งซึ่งสัจจะทั้ง ๔. คำว่า เพื่อความตรัสรู้ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้สัจจะ ๔ เหล่านั้นนั่นเอง. คำว่า เพื่อนิพพาน ได้แก่เพื่อประโยชน์แก่การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน. ในบทนี้ คำใดที่เหลือเป็นของพึงกล่าวไว้ คำนั้น ท่านกล่าวไว้ในบทนั้นๆ ในหนหลัง แม้สัจจกถาท่านก็ให้พิสดารแล้วในปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรค โดยประการทั้งปวงนั้นแล.

คำว่า มีวนรอบ ๓ คือวน ๓ รอบ ด้วยอำนาจวนรอบ ๓ กล่าว คือสัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ. ก็ในวนรอบ ๓ นี้ ญาณตามความเป็นจริงในสัจจะ ๔ อย่างนี้ คือ นี้ทุกขอริยสัจจะ นี้ทุกขสมุทัย ชื่อว่า สัจญาณญาณที่เป็นเครื่องรู้กิจที่ควรทำอย่างนี้ว่า ควรกำหนดรู้ ควรละ ในสัจจะเหล่านั้นเที่ยว ชื่อว่า กิจญาณ. ญาณเป็นเครื่องรู้ภาวะแห่งกิจนั้น ที่ทำแล้วอย่างนี้ว่า กำหนดรู้แล้ว ละได้แล้ว ดังนี้ ชื่อว่า กตญาณ. คำว่า มีอาการ ๑๒ความว่ามีอาการ ๑๒ ด้วยอำนาจอาการสัจจะละ ๓ นั้น คำว่า ญาณทัสสนะคือ การเห็น กล่าวคือญาณที่เกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจวนรอบ ๓ อย่าง อาการ ๑๒อย่างเหล่านี้. คำว่า ดวงตาเห็นธรรม ได้แก่ มรรค ๓ และผล ๓ ในที่อื่น ชื่อว่า เป็นธรรมจักษุ. ในบทนี้ ได้แก่ ปฐมมรรคทีเดียว. คำว่า ธรรมจักร ได้แก่ญาณ เป็นเครื่องแทงตลอด และญาณเป็นเครื่องแสดง. ก็เมื่อพระผู้มีพระ-ภาคเจ้าประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ ปฏิเวธญาณ มีอาการ ๑๒ เกิดขึ้นแล้วในสัจจะ ๔ ก็ดี ประทับนั่งแม้ในป่าอิสิปตนะ เทศนาญาณ ที่เป็นไปแล้ว เพื่อแสดงสัจจะมีอาการ ๑๒ ก็ดี ชื่อว่าธรรมจักร. ก็ญาณแม้ทั้งสองนั้น ชื่อว่า ญาณที่ที่เป็นไปแล้วในพระอุระของพระทศพลนั่นเที่ยว ธรรมจักรนั้น พระผู้มีพระ-ภาคเจ้า เมื่อทรงประกาศด้วยเทศนา ชื่อว่า ทรงให้เป็นไปแล้ว. ก็ธรรมจักรนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เป็นไป จนกระทั่งถึงพระอัญญาโกณฑัญญเถระดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล กับพรหม ๑๘ โกฏิ และเมื่อให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว จึงชื่อว่าให้เป็นไปแล้ว. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว ท่านหมายเอาคำนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ภุมมเทวดาทั้งหลายประกาศให้ได้ยินเสียง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภุมฺมา ได้แก่ เทวดาผู้ดำรงอยู่บนพื้นดิน.คำว่า ประกาศให้ได้ยินเสียง ความว่า เทวดาทั้งหลายให้สาธุการพร้อมกันทีเดียว กล่าวคำเป็นต้นว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคเจ้า . . .ดังนี้ ประกาศให้ได้ยินแล้ว. คำว่า แสงสว่าง ได้แก่ แสงสว่างคือ พระสัพพัญ-ญุตญาณ. จริงอยู่ แสงสว่าง คือพระสัพพัญญุตญาณนั้น ไพโรจน์ล่วงเทวานุ-ภาพของพวกเทพ. คำว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ความว่า เสียงกึกก้องอย่างโอฬารแห่งพระอุทานนี้ แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุแล้วตั้งอยู่.

จบอรรถกถาปฐมตถาคตสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปฐมตถาคตสูตร (ว่าด้วยทรงแสดงพระธรรมจักร) ข้อความโดยสรุป

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ว่าด้วยส่วนสุด ๒ ประการ ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค (การประกอบตนให้หมกมุ่นพัวพันอยู่ในความสุขในกาม) และ อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบตนให้ได้รับความลำบาก) และทรงแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ซึ่งเป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ต่อจากนั้น ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค, ทรงแสดงว่า ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ มีวนรอบ ๓ มีอาการ๑๒ คือ รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์, ทุกข์ ควรรู้, ทุกข์ ได้รู้แล้ว รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ สมุทัย, สมุทัย ควรละ, สมุทัย ละได้แล้ว รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ นิโรธ, นิโรธ ควรกระทำให้แจ้ง,นิโรธ ได้กระทำให้แจ้งแล้ว รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ มรรค, มรรค ควรเจริญ, มรรค ได้เจริญแล้ว เมื่อญาณทัสสนะในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ยังไม่บริสุทธิ์อยู่ตราบใด พระองค์ก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่าได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แต่เมื่อญาณทัสสนะในอริยสัจจ์ ๔ บริสุทธิ์ดีแล้ว พระองค์จึงได้ปฏิญาณตนว่าได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง ท่านโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ. ขอเชิญคลิกอ่านเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

รอบ 3 อาการ 12

ย้อนรำลึกเหตุการณ์วันอาสาฬหบูชา

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ทศพล32
วันที่ 22 ก.ค. 2553

ขอกราบอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สามารถ
วันที่ 23 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

ความรู้อย่างนี้ไม่ได้มีแก่เราในทุกชาติ เราไม่ได้สดับพระธรรมในทุกชาติการเกิดของเราในชาตินี้เพียงประจวบเหมาะพอดีเข้ากับบ่วงเชือกบวงเดียวที่ลอยเคว้งอยู่กลางสมุทรเท่านั้น ชาติต่อไปจะได้ประสบกับอะไรเราก็ไม่รู้ได้แต่ที่รู้ได้คือสิ่งที่เราจะประสบนั้นเป็นสิ่งที่เราเคยได้สร้างไว้มาแล้วทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 24 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tusaneenui
วันที่ 3 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

สงบ และสุข-เย็น เมื่อได้ฟังการสนทนาธรรม

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ