ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิฯ ในวันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วันนี้ เมื่อสองพันห้าร้อยเก้าสิบแปดปีที่แล้ว ในวันเพ็ญอาสาฬหบูชา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธัมมจักรกัปปวตนสูตร แก่พระปัญจวัคคี ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย อันเป็นพระธรรมเทศนาครั้งแรก หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านพระอัญญาโกณทัญญะ พร้อมกับพรหมจำนวน ๑๘ โกฏิ (๑๘๐ ล้าน) บรรลุเป็นพระโสดาบัน ครั้งนั้นมีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ บังเกิดขึ้นแล้วในโลก
นอกจากนั้น ในวันอาสาฬหบูชานี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญๆ อื่นๆ เกิดขึ้นในวันนี้อีกด้วย
ท่านที่สนใจขอเชิญคลิกอ่านได้ที่นี่ครับ...
ย้อนรำลึกเหตุการณ์วันอาสาฬหบูชา
หากมิได้ศึกษาพระธรรม ใครเลยจะรู้ว่า การได้มีโอกาสอันเลิศซึ่งเป็น "ณ กาลครั้งหนึ่ง" อันบุคคล ที่มิได้สั่งสมเจริญเหตุที่ดีไว้ ฤาจักได้มาพบและได้ฟังพระธรรม ที่ควรค่าแก่การรู้ยิ่ง ในสถานที่ๆ แวดล้อมไปด้วยมิตร อันจักเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ทั้งปวงได้ในวันหนึ่ง
การได้มาฟังพระธรรม ณ สถานที่นี้ โดยท่านอาจารย์และคณะวิทยากร ผู้เป็นกัลญาณมิตรที่มีเมตตา นำพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ดีแล้วนั้น มาถ่ายทอดให้พวกเราได้เข้าใจขึ้น ย่อมเป็นความปีติยินดียิ่ง การได้พบเพื่อนสหายธรรม ผู้มีนำ้หนึ่งใจเดียวกัน ในการอันเป็นกุศลทั้งหลาย ย่อมทำให้ใจ เบิกบานด้วยกุศลธรรม ยากบรรยาย...
กุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นไปนี้เอง เมื่อสั่งสมจนมีกำลัง ย่อมเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้กุศลประการต่างๆ เกิดได้บ่อยขึ้นในชีวิตประจำวัน การได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นเหตุ เป็นอาหาร ให้สติและปัญญา เกิดขึ้นได้ตามกำลัง ด้วยความเป็นอนัตตา หาใช่ด้วยความ จดจ้อง ต้องการ ด้วยความเป็นอัตตาตัวตนไม่
กุศลธรรมทั้งหลายนั้นเป็นสุขโดยสภาวะอยู่แล้ว เมื่อกุศลเกิดบ่อยขึ้นในชีวิตประจำวันชีวิตของบุคคลย่อมเป็นสุขเอง โดยไม่ต้องไปไขว่คว้าหาความสุข อยากมีสุข แต่อย่างใด จะนั่ง นอน ยืนเดิน หรือไปที่ไหนๆ ก็ไปด้วยใจอันเป็นสุข (ไม่ลืมว่า แม้สุขก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมะ) หากจะกล่าวโดยถูกต้องตามที่ได้ยินได้ฟังมา ก็คือ การมีชีวิตอยู่อย่าง " ความเป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญสติ " นั่นเองครับ
สำหรับการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาสาฬหบูชาปีนี้
ช่วงเช้า ได้ยกพระสูตร นตุมหากสูตร มาสนทนาครับ
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ -หน้าที่ 71
นตุมหากวรรคที่ ๔
นตุมหากสูตรที่ ๑ (ว่าด้วยขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย)
[๗๑] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอ ทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ก็อะไรไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข.......เวทนา...สัญญา....สังขาร...วิญญาณไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสีย
วิญญาณนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข.
[๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชนพึงนําไป พึงเผา หรือกระทําตามปัจจัย ซึ่งหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในเชตวันวิหารนี้ ก็เธอทั้งหลายพึงคิดอย่างนี้หรือว่า ชนย่อมนําไป ย่อมเผา หรือย่อมกระทําตามปัจจัยซึ่งเราทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.....
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่ตน หรือ นับเนื่องในตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
รูป ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
เวทนา ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละเวทนานั้นเสีย เวทนานั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
สัญญา ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสัญญานั้นเสีย สัญญานั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
สังขาร ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสังขารนั้นเสีย สังขารนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
วิญญาณ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
จบ นตุมหากสูตรที่ ๑
อนึ่ง ข้าพเจ้าขออนุญาตินำข้อความบางตอนที่มีการสนทนาในวันนั้น มาให้ทุกท่านได้พิจารณาดังนี้...
ท่านผู้ฟัง (คุณอรวรรณ) "กราบท่านอาจารย์ และ ท่านวิทยากรทุกท่านนะคะ....
ท่านอาจารย์คะ พระสูตรที่นำมาศึกษาในวันนี้ก็เป็นเรื่องของ ขันธ์ ๕ ก็คือ ไม่ใช่ของเธอไม่ใช่ของใคร แล้วก็...จงละ....ไม่ติดข้องในขันธ์ ๕...ทีนี้ ท่านอาจารย์ก็กล่าวเสมอว่า จะเริ่มละ...เลยไม่ได้ ต้องเริ่มต้นให้เห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมะ คือ ขันธ์ ก่อนว่า ขันธ์นี่ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนอย่างไร ต้องเริ่มความเห็นถูกตรงนี้....
ก็เลยจะขอความกรุณาท่านอาจารย์ พูดถึงรายละเอียดของคำว่า จะต้องมีความเห็นถูก ในสภาพธรรมะ หรือว่าในขันธ์ ก่อนค่ะ.."
ท่านอาจารย์ "...ค่ะ ละความไม่รู้ ถ้าได้ยินคำว่าธรรมะนะคะแต่ก่อนนี้เข้าใจว่าอย่างไร ?แต่พอได้ยินคำว่า ธรรมะ หมายความถึงสิ่งซึ่งมีจริงๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงแน่นอน เพราะฉะนั้น "เข้าใจ" ได้นะคะว่า "ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง" จะเรียกอะไรก็ได้ใช่ไหมคะ แต่สิ่งที่มีจริงคือ สิ่งนั้น "กำลังปรากฏ" รู้ว่ามีจริงๆ "เมื่อปรากฏ"
.....ก่อนอื่นเลยค่ะ ไม่ต้องไปหาธรรมะที่ไหน แต่สิ่งใดก็ตามที่มีจริงในขณะไหน สิ่งนั้น เกิดปรากฏ "ลักษณะ" นั้นๆ ให้รู้ว่า " สิ่งนั้นแต่ละสิ่ง " เป็นธรรมะ แต่ละอย่าง ไม่ได้ "ซ้ำ" กันเลยนะคะ
"แต่ละหนึ่ง" เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป
นี่คือ "ความละเอียด" ของธรรมะ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าเป็นธรรมะ...
แต่ยังรู้ด้วยว่า ธรรมะนั้น...ต้องเกิด...เป็นหนึ่ง...แล้วก็ดับ แต่ละหนึ่ง...แต่ละหนึ่ง...ไม่ซ้ำกันเลย
.....นี่คือ สิ่งที่เกิดแล้ว ดับไป จะเป็นของใคร? หรือว่า จะเป็นของใครได้อย่างไร?
แม้ว่า จะไม่ใช้คำว่า " ขันธ์ " แต่ใช้คำว่า " ธรรมะ " คือ สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงนั้นนะคะ เกิด...แล้วดับไป....จะเป็นของใคร?....
.....เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะคือรู้ว่า กำลังพูดถึง สิ่งที่มีจริงๆ โดยนัยต่างๆ แต่ไม่ว่า โดยนัยที่ใช้คำว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท มากมายในพระไตรปิฎกนะคะ ก็คือ กล่าวถึง "ธรรมะ" นั่นเองที่ มีจริงๆ
.....เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่พูดถึง "ขันธ์" ก่อน แต่พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ แล้วสิ่งที่มีจริง..เกิด....ดับ..นะคะ ทุกอย่างที่มีจริง...เกิด...ดับ ก็ตรงกับความหมายของคำว่า "ขันธ์" คือ เป็น ธาตุ หรือ ธรรมะ ซึ่ง "ว่างเปล่า" จากการเป็น "สิ่งหนึ่งสิ่งใด" ที่เที่ยง หรือ (ว่าง) จากการเป็น สัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ .....
.....เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาถึง "สิ่งที่มีจริง" ใน " ขณะนี้ " นะคะ...
...เป็นธรรมะ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ว่า...
...เกิดขึ้น...แล้ว...ดับไป...แต่ละหนึ่ง...เป็น "ขันธ์"
.....แต่ทำไมกล่าวถึงขันธ์ ๕ ตามการยึดถือ.....
...เพราะเหตุว่า....ตั้งแต่เกิด..จนตาย...นี่น่ะ ทุกคนก็ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส...."ติดข้อง" ในอะไร? .....ใน "สิ่งที่ปรากฎ" นะคะ.....
.....เพราะฉะนั้น "พื้นฐานความเข้าใจ" นี่น่ะค่ะ สำคัญมาก......
...เมื่อ "เข้าใจ" แล้ว จะทรงใช้พยัญชนะว่าอะไร ก็ความหมายตรงนะคะ...
...ถ้าใช้คำว่า ขันธ์ ก็หมายความถึงสิ่งที่เป็นธรรมะที่เกิดดับ "แต่หลากหลาย" เพราะว่า "บางธรรมะ" ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยและ"บางธรรมะ" ก็เป็นธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วต้องรู้
ด้วยเหตุนี้นะคะ เมื่อธรรมะที่ไม่รู้อะไร มีจริงๆ เป็นรูปธรรม ใช้คำว่า "รูปขันธ์" ก็เหมือนกัน
...หรือว่า ธาตุที่เกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ เช่น เห็น คิดนึก สุข ทุกข์ ต่างๆ ก็มีจริงๆ นะคะ
เวลาที่ทุกข์เกิด จะเปลี่ยนทุกข์ ให้เป็นอย่างอื่น ก็ไม่ได้ ทุกข์ ก็ไม่ใช่ของใคร
ทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา.....
...เพราะฉะนั้น...ทุกข์นั้น ก็คือ "ขันธ์" เพราะ เกิด-ดับ
...ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้.....จะเข้าใจความหมาย ธรรมะ ที่แสดงโดยนัยของ "ขันธ์" และที่ทรงแสดงจำนวนไว้ ๕ ก็ตามการยึดถือ (อุปาทานขันธ์ ๕) ... เพราะว่า เมื่อเกิดมาในโลกที่มีสีสันวรรณะ สวยๆ งามๆ ต่างๆ น่าดูบ้าง ไม่น่าดูบ้าง แล้วแต่นะคะว่า "สิ่งนั้น" จะปรากฏเมื่อไหร่ จึงจะ "เห็น" อะไร ก็เป็นสิ่งที่ "พอใจ" ที่จะเห็น "พอใจ" ที่จะได้ยิน "พอใจ"ที่จะได้กลิ่น "พอใจ" ที่จะลิ้มรส "พอใจ" ที่จะกระทบสัมผัสกาย
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่มีนี่น่ะค่ะ ก็เป็น "ที่ตั้งของการยึดถือ" จึงจำแนกธรรมะที่ เกิด-ดับ นะคะ เป็น "ขันธ์ ๕" ตามการ "ยึดถือ"
กราบท่านอาจารย์
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
รูป ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณสำหรับภาพและการบรรยาย
ให้ระลึกตาม
(สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไป)
กราบอนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ
ไม่คิดว่าจะได้เห็น"รูป" ที่งดงามพร้อมคำบรรยายที่ประเสริฐ รอตั้งแต่เมื่อวานแล้วครับ
คงละได้ยาก เห็น แล้ว ก็คิดตลอด เห็นกี่ครั้ง คิดกี่ครั้ง ก็ไม่เบื่อ ไม่หน่าย
ขออนุโมทนาและขอ ชื่นชม ในความยอดเยี่ยม ในความวิจิตร ทั้งภาพ และ ธรรม สมควรได้รับคำชมเชยยี่งนัก ครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา ของพี่วันชัย มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ขอกราบท่านอาจารย์ด้วยความสำนึกถึงพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ
บรรยากาศแห่งการเจริญกุศล......เสี้ยวหนึ่งในสังสารวัฏฏ์
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอกราบคารวะแด่สัตรีผู้มีความงามเพรียบพร้อม ผู้ซึ่งข้าพเจ้ารักและเคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ
ขอบคุณสำหรับภาพและการบรรยาย
และการสนทนาธรรมในวันนั้น
ขออนุโมทนาค่ะ