ไม่พอ เพื่อสงบกิเลส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๑๙พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า "ความสรรเสริญ เป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส"มีคำอธิบายว่า .- ความสรรเสริญนั้น เป็นส่วนน้อย ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก สกปรก ต่ำต้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส คือ ไม่พอเพื่อยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ให้สงบ ให้เข้าไปสงบ ดับ สละคืนระงับไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส. (ข้อความบางตอนจาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส) ---------------------------------------
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล สำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจตามความเป็นจริง เกื้อกูลให้เห็นว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เป็นกุศล เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน และการที่จะดำเนินหนทาง ไปสู่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ต้องเป็นผู้ที่ ละเอียดจริงๆ ถ้าเห็นกิเลสของตนเอง โดยละเอียด ก็พอที่จะรู้เพิ่มขึ้นว่า มีอะไรบ้างที่ ยังจะต้องขัดเกลา เพราะเหตุว่า อกุศลธรรม มีมากเหลือเกิน (ถ้าเป็นรูปร่าง คงไม่มีที่พอสำหรับเก็บ) ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง ย่อมไม่มีทางที่ละคลายให้เบาบางลงได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น ความติดข้อง (โลภะ) จะเห็นได้ว่า ความติดข้องในชีวิตประจำวัน มีมากมาย และไม่ได้ติดแค่เฉพาะในรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ เท่านั้น แม้ในคำสรรเสริญ หรือคำชมเชย ก็ยังติด บุคคลบางคน เพียงคำสรรเสริญ ก็เป็นที่พอใจ แต่บุคคลบางคน บอกว่า ไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญ แต่ลึกๆ แล้ว ที่ว่าไม่ต้องการคำสรรเสริญ แต่ต้องการ คำชมเชยเล็กๆ น้อยๆ บ้างหรือไม่? แม้แต่คำชมเชยในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ทรวดทรง ผิวพรรณ การแต่งกาย แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ นี้คือ ความล้ำลึกของ อกุศล ซึ่งเกิดมากในชีวิตประจำวัน
เรื่องของ อกุศล ไม่ควรคิดถึง เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ โดยที่ละเลย หรือขาดการพิจารณาแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างจะต้องเห็นตามความเป็นจริง และจะต้องเป็นผู้ที่คลายความหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของ อกุศล ลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถดับได้เป็น สมุจเฉท พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นผู้อนุเคราะห์ ให้พุทธบริษัทเห็นโทษของ อกุศล ตามความเป็นจริง แม้เพียงคำสรรเสริญ หรือคำชมเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความจริง ว่า “ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส” ซึ่งควรค่าแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทใน อกุศลธรรม และไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป กิเลสที่มีมากต้องอาศัยปัญญาเท่านั้นถึงจะดับได้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลมาก) และจะต้องเป็นปัญญาของตนเองเท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาของคนอื่น ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ความเป็นผู้ตรง จึงจะสามารถดับกิเลสได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 207
ปฐมนกุหนาสูตร ว่าด้วยแนวปฏิบัติพรหมจรรย์
จริงอยู่ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็น
พระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พรหมจรรย์นี้ ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน
ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติ ด้วย
คิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติ เพื่อการสำรวมและเพื่อการละ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์เครื่องกำจัดจัญไรอันเป็น
เหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อการสำรวมเพื่อการละ ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
นี้ประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่าใดๆ ย่อมปฏิบัติ
พรหมจรรย์นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตามคำสั่งสอน
ของพระศาสดา จัก กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้. อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ความสรรเสริญ-เป็นอกุศลอย่างเดียวหรือไม่..เพราะในพระไตรปิฏกกล่าวว่าพระ
พุทธองค์ตรัสสรรเสริญ-และสรรเสริญอย่างไรเป็นคุณ-อย่างไรเป็นโทษ
ผู้ที่มีกิเลสมาก พระธรรมเตือนให้รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก เพื่อไม่ให้ประมาทในการเจริญกุศลแม้เพียงน้อย ขณะใดที่มัวเมาในสรรเสริญ หรือ เดือดร้อนไปกับนินทา ขณะนั้น เป็นไปกับกิเลส ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพียงแต่เสียงดัง กระทบให้ได้ยิน เกิดแล้วดับแล้ว แต่ก็ติดมาก หลงมาก เป็นทุกข์เดือดร้อนมากเพราะความไม่รู้ หนทางเดียวคืออบรมปัญญาให้เข้าใจถูกว่าทั้งหมดเป็นธรรม และเป็นอนัตตาครับ
เรียนความเห็นที่ 3 จากคำถามที่ว่า
ความสรรเสริญ-เป็นอกุศลอย่างเดียวหรือไม่..เพราะในพระไตรปิฏกกล่าวว่าพระพุทธองค์ ตรัสสรรเสริญ และสรรเสริญอย่างไรเป็นคุณ-อย่างไรเป็นโทษ
คำชม คำสรรเสริญ เกิดจากจิตที่ดีงามหรือ เป็นอกุศลก็ได้ครับ เพียงแต่ว่าผู้ที่ได้รับคำสรรเสริญ หรือคำชม เป็นเพียงวิบากทางหู คือโสตวิญญาณ วิบากจิต ไม่สามารถทำให้ละกิเลสได้ เพราะเป็นผลของกรรม เป็นชาติวิบากครับ แต่สภาพธรรมที่ละกิเลสได้คือปัญญา และธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่วิบากครับ เพราะฉะนั้น ดังพระไตรปิฎกที่กล่าวว่าคำสรรเสริญ คำชม....ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก สกปรก ต่ำต้อย ไม่พอ เพื่อสงบกิเลส เพราะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎทางหู เป็นผลของกรรมที่ได้ยินเท่านั้น ไม่ทำให้สามารถดับกิเลสได้ เพราะเป็นวิบาก แต่ธรรมที่ดับกิเลสได้ คือปัญญาครับ เพราะฉะนั้น คำสรรเสริญ เป็นวิบากของผู้ได้ยิน ไม่เป็นกุศลหรืออกุศล แต่คำสรรเสริญหรือคำชมที่ผู้นั้นพูด ย่อมเกิดจากจิตที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ครับ
พระไตรปิฏกกล่าวว่าพระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญและสรรเสริญอย่างไรเป็นคุณ-อย่างไรเป็นโทษ?การสรรเสริญย่อมเกิดจากสิ่งเป็นความจริงหรือการสรรเสริญย่อมเกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นจริง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยอคติ
เพราะรักหรือไม่รักอย่างใดเลย พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญด้วยจิตที่ดีงาม ทรง
พิจารณาประโยชน์คือกุศลธรรมที่จะเจริญขึ้น จึงตรัสสรรเสริญภิกษุบางรูปที่ปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบจริงๆ เพื่อความปราโมทย์ของภิกษุรูปนั้น เพื่อภิกษุรูปนั้นเจริญในคุณธรรม
เหล่านั้นต่อไป เพื่อภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟังจึงประพฤติปฏิบัติตามในตัวอย่างที่ดี แต่
พระพุทธองค์จะไม่ชม ไม่สรรเสริญเพื่อประจบ เพื่อให้เป็นที่รักด้วยอกุศลจิตเลย เพราะ
ฉะนั้นผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญในสิ่งที่ดีที่ถูกต้องที่บุคคลอื่นประพฤติด้วยจิตที่ดีงามเพื่อ
ประโยชน์คือให้บุคคลประพฤติสิ่งที่ดีต่อไป และสรรเสริญให้ผู้อื่นรู้เพื่อจะให้บุคคลอื่น
ประพฤติในสิ่งที่ดีต่อไปครับ
การสรรเสริญที่เป็นคุณ คือผู้ที่สรรเสริญนั้น สรรเสริญ ชมด้วยความจริงใจ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ชื่นชมในความดีงาม ไม่ใช่เพื่อต้องการเป็นที่รัก หรือประจบ แต่ด้วยจิตที่ดีงามคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ได้ยิน ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง คือเมื่อสรรเสริญหรือชมแล้วจะเป็นที่รัก เพราะการสรรเสริญนั้น เป็นสิ่งที่มีโทษกับตนเองและผู้อื่นด้วยเพราะทำให้ผู้อื่น สำคัญผิดในสิ่งที่ไม่จริงก็ได้ และแม้จะกล่าวคำสรรเสริญ ในสิ่งที่จริงแต่เพื่อเป็นที่รัก ไม่ใช่ด้วยจิตดีงาม โทษ ก็เกิดกับบุคคลที่สรรเสริญเองครับ คำสรรเสริญจึงมีทั้งคุณและโทษ เป็นคุณเพราะเป็นกุศล ยกย่องในกุศลธรรม เป็นโทษเพราะจิตเป็นอกุศล สะสมความไม่ตรงด้วยอกุศลธรรม นี่คือคุณและโทษของผู้พูดคำสรรเสริญ แต่ถ้าเป็นผู้รับฟัง ก็มีคุณเมื่อเห็นประโยชน์ในสิ่งที่ทำว่าดี จึงทำดีต่อไป แต่เป็นโทษ เมื่อเพิ่มกิเลสมีมานะ เป็นต้นครับ เพราะคำสรรเสริญจริงๆ แล้วก็เป็นเพียง วิบากทางหู ของผู้ที่ได้ยินเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ละกิเลสได้เลย
คำสรรเสริญ และติเตียนของบัณฑิตเป็นประมาณ เชื่อถือได้ เพราะเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังและเป็นจิตที่ดีในการพูด ส่วนการสรรเสริญและคำติเตียนของคนพาล ย่อมไม่เป็นประมาณ เพราะเกิดจากจิตที่ไม่ดีงาม และไม่เป็นประโยชน์กับผู้ได้ฟังครับ ผู้ที่ติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ หรือสรรเสริญคนที่ควรติเตียน จึงประสบบาปเป็นอันมากครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ -หน้าที่ 466
สองบทว่า ยญฺเจ วิญฺญู ความว่า การนินทา หรือสรรเสริญของพวกชนพาล ไม่เป็นประมาณ แต่บัณฑิตทั้งหลาย ใคร่ครวญแล้ว ....ย่อมควรเพื่อนินทาบุคคลนั้น ผู้เป็นดุจดังแท่งทองชมพูนุท อันเว้นจากโทษแห่งทองคำอันควรเพื่อจะบุและขัด.
พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 467
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ
ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ให้ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้ง
ได้ประสบบาปเป็นอันมาก ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ไม่พิจารณาไตร่ตรองพูด สรรเสริญคุณของผู้ที่ควรติเตียน ๑. ไม่พิจารณาไตร่ตรองพูด ติโทษของคนที่ควสรรเสริญ ๑.
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่...แสดงธรรมไม่หวัง ลาภ สักการะ [อรรถกถารัตนสูตร]
ไม่ขวนขวายเพื่อลาภสักการะ [โรคสูตร] การสรรเสริญที่ทำให้ไปสวรรค์และนรก [วรรณนาสูตร]ลาภ สักการะย่อมทำลายคนชั่ว [เทวทัตตสูตร] คนติดลาภสักการะเหมือนคนถูกขวานฟ้า [อสนิสูตร] ลาภ สักการ ชื่อเสียง เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรม [สุทธกสูตร]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำสรรเสริญ ไม่ทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลสได้ แต่การดำเนินตามทางที่ พระผู้มีพระภาคและพระอริยสาวกทั้งหลายดำเนินมาแล้ว กล่าวคือการอบรมเจริญปัญญา เจริญสติปัฏฐาน เจริญอริยมรรค จึงจะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสดับทุกข์ได้ในที่สุด แต่ไม่ใช่ว่า ห้ามการสรรเสริญ บุคคลผู้ควรแก่ การสรรเสริญเราก็สรรเสริญ ชื่นชมในความดี ประการต่างๆ แต่ก็ต้องด้วยกุศลจิตจริงๆ ในชีวิตประจำวัน การที่จะได้รับการสรรเสริญ หรือ นินทา ก็เป็นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว ผู้ที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีปัญญา เมื่อได้รับการสรรเสริญ ก็จะหลงระเริง เพลิดเพลิน มัวเมา หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าได้รับการนินทา ก็จะหวั่นไหวไปด้วยความไม่พอใจ ด้วยความโกรธ อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญา มีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมจะไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา จึงเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรื่องของอกุศล ไม่ควรคิดถึงเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ
โดยที่ละเลยหรือขาดการพิจารณาแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
---------------------------------------
คำสรรเสริญและติเตียนของบัณฑิตเป็นประมาณ เชื่อถือได้
เพราะเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังและเป็นจิตที่ดีในการพูด
ส่วนการสรรเสริญและคำติเตียนของคนพาลย่อมไม่เป็นประมาณ
เพราะเกิดจากจิตที่ไม่ดีงามและไม่เป็นประโยชน์กับผู้ได้ฟังครับ
ผู้ที่ติเตียนคนที่ควรสรรเสริญหรือสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
จึงประสบบาปเป็นอันมากครับ
------------------------------------------------
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
"...บอกว่าไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญ
แต่ลึกๆ แล้ว ที่ว่าไม่ต้องการคำสรรเสริญ แต่ต้องการคำชมเชยเล็กๆ น้อยๆ
บ้างหรือไม่? ..."
.............
อ่านแล้ว เสียววาบเข้าไปในใจครับ เตือนใจได้ดีมากครับ
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ