ธาตุมนสิการบรรพ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 214
ธาตุมนสิการบรรพ
[๒๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณากายอันตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกตินี้นี่แล โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าแม่โค แล้ว พึงแบ่งออกเป็นส่วน แล้วนั่งอยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง แม้ฉันใดดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ฉันนั้นนั่นแล ย่อมพิจารณากาย อันตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกตินี้นี่แล โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังนี้. ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมไปในกายบ้าง. ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกด้วย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้. จบข้อกำหนดว่าด้วยธาตุ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 304
อรรถกถา ธาตุมนสิการบรรพ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาโดยทางการใส่ใจถึงกายโดยเป็นของปฏิกูล อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยทางการใส่ใจถึงกายโดยความเป็นธาตุ จึงตรัสธาตุมนสิการบรรพว่า ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นต้น.ในธาตุมนสิการบรรพนั้น มีการพรรณนาอรรถพร้อมด้วยข้อเทียบเคียงอุปมาดังต่อไปนี้. คนฆ่าโคบางคน หรือลูกมือของเขา ที่เขาเลี้ยงดูด้วยอาหารและค่าจ้าง ฆ่าโคแล้วชำแหละแบ่งออกเป็นส่วนๆ แล้ว นั่ง ณ ที่ทางใหญ่ ๔แพร่ง คือที่ชุมทางย่านกลางทางใหญ่ ซึ่งไปได้ทั้ง ๔ ทิศ ฉันใด ภิกษุ (ผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐาน) ก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมพิจารณากาย ซึ่งชื่อว่าตั้งอยู่ตามที่ เพราะตั้งอยู่ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แห่งอิริยาบถทั้ง ๔ และซึ่งชื่อว่าดำรงอยู่ตามที่ เพราะตั้งอยู่ตามที่ อย่างนี้ว่า ในกายนี้มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ