ความหมายของ กุศล และ อกุศล

 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่  4 ม.ค. 2554
หมายเลข  17686
อ่าน  13,153

กรุณาอธิบายความหมายของ กุศล และ อกุศล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด และสิ่งที่มีจริง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ทั้งกุศลและอกุศลก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กุศลเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นสภาพธรรมที่ตัดบาปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ทำลายอกุศลธรรม เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นกุศลนั้น อกุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่ให้ทาน ขณะที่งดเว้นจากทุจริต ขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น (แม้ไม่มีเงินทอง กุศลจิตก็สามารถที่จะเกิดได้) เป็นต้น

อกุศล มีความหมายที่ตรงกันข้ามกับกุศล อกุศลเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่มีโทษโดยส่วนเดียว ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น โดยปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากกว่ากุศล เช่น ขณะที่ติดข้อง ยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่โกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

กุศล เป็นธรรมฝ่ายดีที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน ส่วนอกุศล ไม่ดี ไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

กุศลธรรม

ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่

กุศลธรรม

อกุศลธรรม

โทษของอกุศล

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
aurasa
วันที่ 5 ม.ค. 2554

อนุโมทนาค่ะ คุณคำปั่น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 6 ม.ค. 2554
ขอขอบคุณและอนุโมทนา อ.คำปั่น และทุกท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 6 ม.ค. 2554

สำหรับความหมายของคำว่า "กุศล" ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ได้แสดงความหมายของกุศลศัพท์ มีข้อความว่า กุศลศัพท์ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และมีสุขเป็น วิบาก. คือลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะในขณะนั้น เมื่อไม่มีกิเลสก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งตนเองและกับบุคคลอื่น ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ถ้าไม่พิจารณาว่าขณะนั้นเป็นโรค โรคทางกายเห็นได้ เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ไม่มีใครต้องการเลย แต่โรคทางใจไม่เคยเห็น แต่ถ้าทราบว่าขณะใดที่กิเลสเกิด ขณะนั้นเป็นโรค เพราะฉะนั้น จิตนี้มีโรคหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคอิสสา โรคมัจฉริยะ ก็มีประเภทของโรคต่างๆ ซึ่งก็ปรากฏอาการได้ จากคำพูดหรือว่าการกระทำ แต่สำหรับกุศลธรรมนั้น ไม่มีโรค คือไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีโทษ

นอกจากนั้นสำหรับกุศลบางประเภทก็เป็นความฉลาด และกุศลทุกประเภทมีสุขเป็นวิบาก สภาวะที่ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่ายังปาปกธรรมอันบัณฑิตเกลียด ให้ไหว ให้ เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือให้พินาศ.

อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรมใด ย่อมผูกพันโดยอาการที่บัณฑิตเกลียด สภาวธรรมนั้น ชื่อว่า กุสะ ธรรมที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมถอนขึ้น คือย่อมตัดกุสะ กล่าวคืออกุศลเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ญาณ ชื่อว่า กุสะ เพราะทำอกุศลอันบัณฑิตเกลียด ให้สิ้นสุด หรือเบาบาง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า อันญาณชื่อกุสะนั้น พึงตัด คือพึงถือเอา พึงให้เป็นไปทั่วด้วยกุสญาณนั้น. นี่คือทุกๆ ขณะที่เป็นกุศล แม้ในขณะนี้ อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลสที่ถึงส่วนทั้งสอง คือที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัด คือย่อมทำลายอกุศลเหมือนหญ้าคา ฉะนั้น. ในบรรดาธรรมทั้งสามนั้น กุศลมีความไม่มีโทษและมีวิบากเป็นสุขเป็นลักษณะ อกุศลมีโทษและมีทุกข์เป็นวิบากเป็นลักษณะ อัพยากตะไม่มีวิบากเป็นลักษณะ.

นี่คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 7 ม.ค. 2554

กุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้น ก็เพราะอาศัยการฟังธรรม การเข้าใจธรรม ทำให้ปัญญาเกิด ปัญญาเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 13 ก.ย. 2554

กราบขอบพระคุณ และ อนุโมทนาจิตที่เป็นกุศลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 11 ต.ค. 2554
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 9 ก.ย. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 27 ก.ค. 2566

กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ