เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก ในเรื่องความต่างของการตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ธรรม เปรียบเหมือนกับดอกบัว ๔ เหล่าครับ บุคคล ๓ ประเภทแรก เมื่อฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้ว ปัญญาสามารถตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น ต่างกันที่ความเร็ว - ช้าของระยะเวลาที่อบรมก่อนที่จะถึงการตรัสรู้ ซึ่งเป็นไปเหตุปัจจัยและการสะสม ส่วนบุคคลประเภทที่ ๔ ไม่สามารถตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น แม้ว่าจะฟัง จะศึกษามากเท่าไรก็ตามแต่ความเข้าใจธรรมของบุคคลนั้น ย่อมสั่งสมเป็นอุปนิสัยที่จะเอื้อต่อการตรัสรู้ธรรมในภายภาคหน้า เมื่อปัญญาสมบูรณ์พร้อม และได้พบได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อๆ ไปครับ
ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ >>
• ดอกบัว ๔ เหล่า [อรรถกถามหาปทานสูตร]
• ปทปรมะ
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า
[๕๑๑] ดูกรราชกุมาร ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มีมีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มีเปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำบางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด
ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้นได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มีมีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี. ดูกรราชกุมาร ครั้งนั้นอาตมภาพได้กล่าวรับท้าวสหัมบดีพรหมด้วยคาถาว่า ดูกรพรหม เราเปิดประตูอมตนิพพานแล้ว เพื่อสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีโสต จงปล่อยศรัทธามาเถิด เราสำคัญว่าจะลำบาก จึงไม่ กล่าวธรรมอันคล่องแคล่ว ประณีต ในมนุษย์ทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาส เพื่อจะแสดงธรรมแล้ว จึงอภิวาทอาตมภาพ ทำประทักษิณแล้ว หายไปในที่นั้นเอง.