อริยวังสสูตร ... เสาร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ม.ค. 2554
หมายเลข  17797
อ่าน  2,921

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๕ ก.พ. ๒๕๕๔
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

อริยวังสสูตร

(ว่าด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการ)

...จาก...

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ ๓๕ -หน้าที่๘๕ - ๘๗



...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ ๓๕ -หน้าที่๘๕ - ๘๗

๘. อริยวังสสูตร

(ว่าด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้ ปรากฏว่าเป็นธรรมอันเลิศ ยั่งยืน เป็นแบบแผนมาแต่เก่าก่อน ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว ไม่เคยถูกทอดทิ้งเลย (ในอดีตกาล) ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ (ในปัจจุบันกาล) จักไม่ถูกทอดทิ้ง (ในอนาคตกาล) สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้าน แล้ว อริยวงศ์ ๔ ประการ คืออะไรบ้าง คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวร ตามมีตามได้ และเป็นผู้สรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะจีวรเป็นเหตุ ไม่ได้จีวรก็ไม่ทุรนทุราย ได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจสยบพัวพัน เห็นส่วนที่เป็นโทษ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภค (จีวรนั้น) อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใด เป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุ เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และเป็นผู้สรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่ทุรนทุรายได้บิณฑบาตแล้ว ก็ไม่ติดใจสยบพัวพัน เห็นส่วนที่เป็นโทษ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภค (บิณฑบาตนั้น) อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใด เป็นผู้ฉลาดไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุ เป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และเป็นผู้สรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่ทุรนทุรายได้เสนาสนะแล้วก็ไม่ติดใจสยบพัวพัน เห็นส่วนที่เป็นโทษ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภค (เสนาสนะนั้น) อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใด เป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้านสัมปชัญญะ มีสติมั่นในความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีภาวนา (การบำเพ็ญกุศล) เป็นที่ยินดียินดีแล้วในภาวนา เป็นผู้มีปหานะ (การละอกุศล) เป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในปหานะ อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่นเพราะความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดีเพราะความยินดีในภาวนา เพราะความเป็นผู้มีปหานะเป็นที่ยินดี เพราะความยินดีในปหานะนั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในความยินดีในภาวนาและปหานะนั้น ภิกษุนี้ เราเรียกว่าผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล อริยวงศ์ ๔ ประการ ที่ปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศยั่งยืน เป็นแบบแผนมาแต่เก่าก่อน ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว ไม่เคยถูกทอดทิ้งเลย (ในอดีตกาล) ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ (ในปัจจุบันกาล) จักไม่ถูกทอดทิ้ง (ในอนาคตกาล) สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้านแล้ว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุ ผู้ประกอบพร้อมด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการนี้ แม้หากอยู่ในทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ เธอย่อมย่ำยีความไม่ยินดีเสียได้ ความไม่ยินดีหาย่ำยีเธอได้ไม่ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่า ภิกษุผู้มีปัญญา ย่อมเป็นผู้ข่มได้ทั้งความไม่ยินดี ทั้งความยินดี

พระคาถา

ความไม่ยินดี หาย่ำยีภิกษุผู้มีปัญญา ได้ไม่ ความไม่ยินดี หาครอบงำภิกษุผู้มี ปัญญาได้ไม่ แต่ภิกษุผู้มีปัญญาย่ำยีความ ไม่ยินดีได้ เพราะภิกษุผู้มีปัญญาเป็นผู้ข่ม ความไม่ยินดีได้ ใคร จะมาขัดขวางภิกษุผู้ละกรรม ทั้งปวง ผู้ถ่ายถอน (กิเลส) แล้วไว้ (มิให้บรรลุวิมุตติ) ได้ ใครจะควรติภิกษุ (ผู้บริสุทธิ์) ดุจแท่งทองชมพูนุทนั้นเล่า แม้เหล่าเทวดา ก็ย่อมชม ถึงพรหม ก็สรรเสริญ

จบอริยวังสสูตรที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 29 ม.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

๘. อริยวังสสูตร

(ว่าด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอริยวงศ์ ๔ ประการ ซึ่งเป็นธรรมอันเลิศ ยั่งยืน เป็นแบบแผนมาแต่เก่าก่อน ไม่ถูกทอดทิ้ง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ ในอนาคต และผู้รู้ทั้งหลาย คัดค้านไม่ได้ แก่พระภิกษุ ๔๐,๐๐๐ รูป คำว่า อริยวงศ์ แปลว่า วงศ์ของพระอริยะ สำหรับ พระอริยะ นั้น หมายถึง ผู้ประเสริฐ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระอริยสาวก)

อริยวงศ์ ๔ ประการ ได้แก่

๑. สันโดษในจีวรเครื่องนุ่งห่ม

๒. สันโดษในอาหารบิณฑบาต

๓. สันโดษในเสนาสนะที่อยู่อาศัย

๔. ความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี (ยินดีในภาวนา) และ ความเป็นผู้มีการละกุศล เป็นที่มายินดี (ยินดีในการละกุศล)

บุคคลผู้ที่ประกอบด้วยธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ชื่อว่า เป็นผู้สถิตมั่นในอริยวงศ์ ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ภิกษุทั้ง ๔๐,๐๐๐ รูป ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

อย่างไรจึงถือว่าสันโดษ?

สันโดษ?

น้อมไปในภาวนา

กว่าจะเป็น...ภาวนาธิฏฐานชีวิตัง

การดำเนินชีวิต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 30 ม.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 ม.ค. 2554
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prakaimuk.k
วันที่ 31 ม.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
intira2501
วันที่ 31 ม.ค. 2554
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 3 ก.พ. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มกร
วันที่ 4 ก.พ. 2554

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
คุณ
วันที่ 5 ก.พ. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pamali
วันที่ 5 ก.พ. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ