อินทรีย์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอเรียนว่า คำตอบต่อไปนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นที่เกิดจากการได้สอบถามจากคณะวิทยากรเพื่อความเข้าใจร่วมกัน จากการค่อยๆ พิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่ง ก่อนอื่นต้องแปลคำว่า อินทรีย์ ก่อนว่าหมายถึงอะไร อินทรีย์ หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในกิจหน้าที่ของตนๆ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว มีทั้งหมด ๒๒ อินทรีย์ คือ เป็นรูป ๗ รูป เป็นนาม ๑๔ (คือ สองเท่าของรูป) และ อีก ๑ เป็นทั้งรูปทั้งนาม คือ ชีวิตินทรีย์ (ชีวิตินทริยรูป, ชีวิตินทริยเจติก) รวมเป็น ๒๒ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาจากประเด็นคำถาม ขออนุญาตแจกแจง อินทรีย์ ๒๒ดังนี้ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์
ชีวิตินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์ มนินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติมัคคจิต)
อัญญินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติผลจิต ถึง อรหัตตมัคคจิต)
อัญญาตาวินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับอรหัตตผลจิต) จากคำถามที่ว่า อินทรีย์ ๕ เป็นอนารัมมณารัมมณธรรม คืออะไรบ้าง?
ควรที่จะได้พิจารณาว่า คือ สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์อะไรเลย (อนารัมมณะ) ได้แก่รูปทั้งหมด และ พระนิพพาน แต่สภาพธรรมที่มีอารมณ์หรือรู้อารมณ์นั้น ได้แก่ จิต และเจตสิก เพราะฉะนั้น อินทรีย์ ๕ ที่รู้อารมณ์แต่อารมณ์ที่อินทรีย์ ๕ รู้นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่รู้อารมณ์ จึงได้แก่นามธรรม ๕ ประเภท คือ สัทธินทรีย์ (ศรัทธา) วิริยินทรีย์ (วิริยะ) สตินทรีย์ (สติ) สมาธินทรีย์ (สมาธิ) และปัญญินทรีย์ (ปัญญา) ในขณะที่มัคคจิตเกิดขึ้น ซึ่งรู้พระนิพพาน (นิพพาน เป็นอนารัมมณะ คือ ไม่รู้อารมณ์) ครับ (ขอให้พิจารณาอีกทีนะครับ)
อินทรีย์ ๑๐ เป็นอัพยากตะ ได้แก่อะไรบ้าง?
อัพยากตะ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ซึ่งได้แก่ รูป จิตชาติ-วิบาก จิตชาติกิริยา (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และ พระนิิพพาน ธรรมเหล่านี้เป็นอัพยากตธรรม
ดังนั้น อินทรีย์ ๑๐ เป็นอัพยากตะล้วนๆ (เป็นอัพยากตะได้อย่างเดียว เป็นอย่างอื่นไม่ได้) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ สุขินทรีย์ (เกิดร่วมกับสุขกายวิญญาณ เท่านั้น) ทุกขินทรีย์ (เกิดร่วมกับทุกขกายวิญญาณ เท่านั้น) และ อัญญาตาวินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับอรหัตตผลจิตซึ่งเป็นวิบากจิต) รวมเป็น ๑๐ พอดี เป็นเรื่่องที่ยากมาก คงตอบได้แค่นี้ ครับ ... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอเรียนถามคุณ gboy ว่าได้ทราบข้อความซึ่งเป็นคำถามข้างต้นมาจากไหนครับ ถ้าพอจะบอกได้ ก็จะช่วยให้ทราบที่มา ซึ่งอาจจะช่วยให้คำตอบของคำถามนี้กระจ่างชัดขึ้นครับ
ข้อร่วมสนทนานะครับ ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า
อนารัมมณะ สารัมมณะและอนารัมมณารัมมณธรรม
สารัมมณะ หมายถึง สภาพธรรมที่มีอารมณ์ รู้อารมณ์เช่น จิต เจตสิก
อนารัมมณะ คือ สภาพธรรมที่ไม่มีอารมณ์ ไม่รู้อารมณ์เช่น รูปและนิพพาน
อนารัมมณารัมมณธรรม คือสภาพธรรมใดที่มีอารมณ์แต่มีอารมณ์ที่ไม่รู้อารมณ์ เช่น มรรค
สัจจะ หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ตัวอริยมรรคเป็นจิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีอารมณ์แต่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ดังนั้นมรรคสัจจะหรือ
อริยมรรคมีองค์ 8 จึงเป็นอนารัมมณารัมมณธรรม คือ สภาพธรรมใดที่มีอารมณ์ รู้อารมณ์แต่มีอารมณ์ที่ไม่รู้อารมณ์
จากข้อความที่คุณกล่าวว่า...อินทรีย์ 5 เป็นอนารัมมณารัมมณธรรม ซึ่งมาจากพระ-
ไตรปิฎกที่ว่า
[เล่มที่ 78] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 1011มัคคสัจ เป็นอนารัมมณารัมมณธรรม….. อินทรีย์ ๕ เป็นอนารัมมณารัมมณธรรม.
อินทรีย์ 5 เป็นอนารัมมณารัมมณธรรม หมายถึง อินทรีย์ 5ในที่นี้คือ ศรัทธา วิริยะ สติ
สมาธิ ปัญญา ซึ่งขณะมรรคสัจเกิดก็มีอินทรีย์ 5 ขณะที่อริยมรรคมีองค์ 8 ก็เป็นอินทรีย์ 5ด้วย มรรคสัจจะ เป็นอนารัมมณารัมมณธรรม อินทรีย์ 5 จึงเป็นอนารัมมณา-รัมมณธรรมด้วย เพราะอินทรีย์ 5 มีนิพพานเป็นอารมณ์ อินทรีย์ 5 เป็นสภาพธรรมที่มีอารมณ์ รู้อารมณ์ แต่มีสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ไม่มีอารมณ์เป็นอารมณ์คือนิพพานแต่ถ้าเป็นรูปจะไม่ใช่อนารัมมณารัมมณธรรม เพราะไม่ได้มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่เป็นเพียงอนารัมมณธรรมเท่านั้นคือสภาพธรรมที่ไม่มีอารมณ์ ไม่รู้อารมณ์
เชิญอ่านข้อความพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 202 ธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นไปพร้อมกับอารมณ์ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า สารัมมณะ เพราะไม่ยึดอารมณ์ก็เป็นไปไม่ได้ อารมณ์ของธรรมเหล่านั้นไม่มี เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า อนารัมมณะ.
[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 557
รูปและนิพพานจัดเป็นอนารัมมณะ.
จากคำถามที่ว่า.....อินทรีย์ 10 เป็นอัพยากต คืออะไรบ้างครับ
ตามที่อาจารย์คำปั่นตอบข้างต้นนะครับ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ สุขินทรีย์ (เกิดร่วมกับสุขกายวิญญาณ
เท่านั้น) ทุกขินทรีย์ (เกิดร่วมกับทุกขกายวิญญาณ เท่านั้น) และ อัญญาตาวินทรีย์
(ปัญญาที่เกิดร่วมกับอรหัตตผลจิตซึ่งเป็นวิบากจิต) รวมเป็น ๑๐
ที่สำคัญที่สุดรู้แล้ว รู้ในสิ่งที่เหลือวิสัย ไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมความจริงที่มีในขณะนี้ แล้วสิ่งที่ควรใส่ใจคืออะไร? ขออนุโมทนา
วันเสาร์ที่ผ่านมามีสหายธรรมจากลพบุรี..มาร่วมสนทนาธรรมตอนบ่าย.. ผู้ถามถล่มตัวว่าเป็นคำถามพื้นๆ (ทราบว่าเป็นผู้ศึกษาตั้งแต่ท่านอาจารย์บรรยายที่วัดบวรฯ) มีคำถามที่น่าสนใจหลายคำถามและหลายคำถามเป็นประโยชน์มาก.. เช่นถามเรื่องอินทรีย์สังวร..ว่าหมายถึงอะไร..วิทยากรอธิบายคำว่าอินทรีในที่นี้หมายถึง ตา หู จมูก สิ้น กาย และใจในขณะที่สังวร....จิตเป็นกุศลมีสติเกิดร่วมด้วย...... เชิญคลิกอ่าน....... อินทรีย์สังวร
........................................................................................................................ คำว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย..อินทรีย์ทั้งหลายหมายถึงอินทรีย์ใดบ้างใน 22 อินทรีย์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเ้จ้าพระองค์นั้น เรียน ความคิดเห็นที่ ๗ ครับ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่JANYAPINPARD ด้วย ที่ได้นำข้อความมาประกอบเพื่อความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น เพราะชีวิตประจำ เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ จึงมีการรู้อารมณ์ต่างๆ ทางทวารต่างๆ มีิจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล บ้าง เป็นอกุศลบ้างตามการสะสม หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น และโดยภาวะของความเป็นปุถุชนแล้วอกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศล เมื่อเป็นเช่นนี้ ขณะที่ไม่สำรวม หรือ ไม่สังวร จึงมีมาก เพราะอกุศลเกิดมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ จากคำถามที่ว่า คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย..อินทรีย์ทั้งหลายหมายถึงอินทรีย์ใดบ้างใน ๒๒ อินทรีย์? คำตอบก็มีอยู่แล้วตามข้อความที่ได้อ้างถึง คือ จักขุนทรีย์ (ตา) โสตินทรีย์ (หู) ฆานินทรีย์ (จมูก) ชิวหินทรีย์ (ลิ้น) กายินทรีย์ (กาย) และ มนินทรีย์ (จิต : ซึ่งโดยนัยที่เป็นมโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทจิต) ขอให้พิจารณาอีกทีนะครับ เพราะประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเิติมได้ที่นี่ ครับ อินทรียสังวร ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอเรียนถามอ.คำปั่นค่ะว่า อินทรีย์ ๕ ที่รู้อารมณ์แต่อารมณ์ที่อินทรีย์ ๕ รู้นั้นเป็น
อารมณ์ที่ไม่รู้อารมณ์ จึงได้แก่นามธรรม ๕ ประเภท คือ สัทธินทรีย์ (ศรัทธา) วิริยินทรีย์ (วิริยะ) สตินทรีย์ (สติ) สมาธินทรีย์ (สมาธิ) และปัญญินทรีย์ (ปัญญา) ในขณะที่
มัคคจิตเกิดขึ้น ซึ่งรู้พระนิพพาน (นิพพาน เป็นอนารัมมณะ คือ ไม่รู้อารมณ์)
อินทรีย์ ๕ ที่เป็นอนารัมมณารัมมณธรรม หมายถึงเจตสิก ๕ ประเภทดังกล่าวซึ่ง
เป็นอินทรีย์ ขณะที่มัคคจิตเกิดขึ้นซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ก็มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับมัคคจิต ส่วนอินทรียสังวรณ์นั้นเป็นเรื่องของปัญญาที่สำรวม (สังวร) ไปใน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ให้ตกไปในทางอกุศล ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อ
ความเข้าใจด้วยค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เรียน ความคิดเห็นที่ ๑๐ ครับ ที่พี่เมตตาได้แสดงความคิดเห็น ทั้ง ๒ ประเด็นนั้น ก็ถูกต้องแล้วครับ -ในขณะที่มัคคจิตเกิดขึ้น ทั้งจิต ทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย (ซึ่งก็รวมเจตสิก ๕ ประเภทที่เป็นอินทรีย์ คือ สัทธาเจตสิก วิริยเจตสิก สติเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก และปัญญาเจตสิก ด้วย) ก็รู้อารมณ์เดียวกัน คือ รู้พระนิพพาน (ซึ่งพระนิพพาน นั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็น อนารัมมณะ คือ ไม่รู้อารมณ์ แต่เป็นอารมณ์ของจิต ได้) ครับ -ประเด็นเรื่องอินทรีย์สังวร การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อินทรีย์สังวร หมายถึง สติที่เกิดขึ้นปิดกั้นไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า อินทรีย์สังวร หมายถึง สำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็คือสำรวม ด้วยสติที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่การจงใจ ที่จะไปยืนสำรวม ไปเดินสำรวม แต่ไม่ระลึกรู้ตรงลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎตามปกติตามความเป็นจริง ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่เมตตาและทุกๆ ท่านครับ...
ไม่มีเราที่จะไปสำรวม... แต่เป็นหน้าที่ของปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วสติระลึกรู้ตรง
ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปั่น ด้วยค่ะ...
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ผมขอเรียนถามอาจารย์เพิ่มเติม อินทรีย์ 3 เป็นวิปากธรรม ได้แก่ ทุกขินทรีย์ สุขินทรีย์อัญญาตาวินทรีย์ อินทรีย์ 2 เป็นวิปากธัมมธรรม ได้แก่ วิริยินทรีย์ อนัญญาตัญญัส-สามีตินทรีย์ ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เรียนความคิดเห็นที่ ๑๓ ครับ กระผม ยังเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมใหม่ ความเข้าใจยังน้อยมาก และประการที่สำคัญ ธรรมเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก และ จะต้องพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ จากประเด็นคำถาม ต้องเข้าใจความหมายของคำ ๒ คำก่อนว่า หมายถึงอะไร -วิปากธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นวิบาก ซึ่งต้องหมายถึงเฉพาะนามธรรมเท่านั้น -วิปากธัมมธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก ซึ่งก็จะต้องเป็นกุศล กับอกุศล เท่านั้น ดังนั้น อินทรีย์ ๓ เป็นวิปากธรรม ได้แก่ ทุกขินทรีย์ สุขินทรีย์ อัญญาตาวินทรีย์ ถูกต้องครับ เพราะทุกขินทรีย์ ได้แก่ ทุกขเวทนาที่เกิดร่วมกับทุกขกายวิญญาณ อกุศลวิบาก, สุขินทรีย์ ได้แก่ สุขเวทนาที่เกิดร่วมกับสุขกายวิญญาณ กุศลวิบาก,อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอรหัตตผลจิต ซึ่งเป็นวิบาก (โลกุตตรวิบาก) ส่วน อินทรีย์ ๒ เป็นวิปากธัมมธรรม คือ เป็นธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก นั้น คำตอบน่าจะเป็น โทมนัสสินทรีย์ กับ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ครับ เพราะโทมนัสสินทรีย์ เป็นอกุศลเท่านั้น ซึ่งได้แก่ โทมนัสเวทนา ที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต,อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติมัคคจิต ซึ่งเป็นกุศล (โลกุตตรกุศล) ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...