ปปาตสูตร ...วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๔
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
ในวันเสาร์ที่ ๑๖ เม.ย. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. คือ
ปปาตสูตร ว่าด้วยเหว คือ ความเกิด เป็นต้น
จาก ...
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ ๓๑ - หน้าที่ 465
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)
นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ ๓๑ - หน้าที่ 465
๒. ปปาตสูตร ว่าด้วยเหว คือ ความเกิด เป็นต้น
[๑๗๒๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาเถิด เราจักเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดนเพื่อพักกลางวัน ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดน ภิกษุรูปหนึ่งได้เห็นเหวใหญ่บนยอดเขากั้นเขตแดน ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหวนี้ใหญ่ เหวนี้ใหญ่แท้ๆ เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้ มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่าเหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้ มีอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้ เป็นไฉน.
[๑๗๒๙] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... เพื่อความแก่ ... เพื่อความตาย ... เพื่อความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ ยินดีแล้ว ย่อมปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง เรากล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่พ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
[๑๗๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... และความคับแค้นใจ ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... และความคับแค้นใจ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ย่อมพ้นจากทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
จบ ปปาตสูตรที่ ๒
อรรถกถาปปาตสูตร
พึงทราบอธิบายในปาปตสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้.
คำว่า ยอดเขากั้นเขตแดน ความว่า เขากั้นเขตแดน เช่นกับภูเขาใหญ่ลูกหนึ่ง.
จบอรรถกถา ปปาตสูตรที่ ๒.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ปปาตสูตร * ว่าด้วยเหว คือ ความเกิด เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เหวที่ใหญ่และน่ากลัวกว่าเหวใหญ่บนยอดเขากั้นเขตแดน ได้แก่ เหว คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย เหว คือ ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ซึ่งผู้ที่ไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ (ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ หนทางที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์) ย่อมจะตกลงไปสู่เหวที่ใหญ่และน่ากลัวนี้ ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ ส่วนผู้ที่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง ก็จะไม่ตกลงไปสู่เหวดังกล่าวนี้ เป็นผู้พ้นจากทุกข์ จึงควรที่จะอบรมเจริญความเพียรเพื่อรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง.
* หมายเหตุ ปปาตะ ซึ่งเป็นชื่อของพระสูตร หมายถึง เหว ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
การตรัสรู้และไม่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ [ปฐมวัชชีสูตร]
ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ข้อความ ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่
ช่วยเตือนสติกระผมอย่างดีครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ