หวังที่จะเข้าใจธรรมะ ถูกหรือผิด ครับ
ขออนุญาตเรียนถามครับว่า
ความหวังที่จะเข้าใจธรรมะ จากการฟัง จากการศึกษา ถูกหรือผิดครับ หากถูก ถูกอย่างไร หากผิด ผิดอย่างไร และถ้าผิดควรพิจารณาอย่างไร ไม่ให้หวังผิดๆ ครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ควรเข้าใจคำว่าความหวังและคำว่าถูกหรือผิด
ความหวังเป็นไปได้ทั้งกุศลและอกุศล ความหวัง ความพอใจที่เป็นฉันทะในการศึกษา พระธรรมอันเนื่องมาจากปัญญาที่เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลส นั่นย่อมเป็นความ หวังที่เป็นฉันทะที่เกิดกับกุศลจิต อันมีปัญญาเป็นรากฐาน
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 534
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามีความไม่ตกต่ำ ทราบชัดถึงความไม่ตกต่ำ เป็นเวลานาน (พระโสดาบัน) อนึ่งความหวังเพื่อความเป็นพระสกทาคามีของข้า พระพุทธเจ้ายังคงมีอยู่.
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 550
ด้วยบทว่า อาสา จ ปน เม สนฺติฏฺติ นี้ ท่านแสดงว่า เราไม่หลับประมาทว่า เราเป็นโสดาบัน ยังกาลให้ล่วงแล้ว ก็เราได้เจริญวิปัสสนาเพื่อประโยชน์แก่พระสกทาคามี อยู่อย่างมีความหวังว่า เราจะบรรลุในวันนี้ๆ . ความหวังที่เป็นอกุศล คือความต้องการ พอใจที่เป็นโลภะที่ติดข้อง อยากจะเข้าใจอยากจะรู้ อยากจะดับกิเลส เพราะกิเลสคือโลภะสามารถติดข้องได้ทุกอย่างยกเว้นโลกุตตรธรรมครับ
ถูกคืออย่างไร ผิดคืออย่างไร
อกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ถูก กุศลเป็นสิ่งที่ถูก แต่เราจะต้องเข้าใจความจริงของชีวิตว่า อกุศล มีมากในชีวิตประจำวันเพราะยังเป็นปุถุชน เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดอกุศลบ้าง และเกิดกุศลสลับบ้าง เราไม่สามารถไปติดสินได้ว่าขณะไหนเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะ ไหนเป็นความหวังที่เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นเราไปตัดสิน แต่การอบรมปัญญารู้ ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้นย่อมจะบอกได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลครับ
การอบรมปัญญาที่ถูกคือเข้าใจความจริงที่เกิดแล้ว ไม่ใช่เป็นการบังคับที่จะไม่ให้ อกุศลเกิดเพราะเป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย เข้าใจความจริงขณะที่สภาพธรรม เกิดว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา หนทางที่ถูกคือฟังต่อไปว่าทุกอย่างเป็นธรรมแม้อกุศล ก็จะเบา ไม่มีเราไปจัดการ ก็จะไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นอกุศลซ้อนอกุศล สำคัญที่ความ เข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงเรื่องความหวังและความไม่หวัง ไว้ น่าพิจารณาครับ เพราะพระองค์ทรงแสดงว่าจะหวังหรือไม่หวังสำคัญที่เริ่มจากความ เห็นถูกจึงจะบรรลุธรรมได้ครับ ลองอ่านดูนะครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่.....ผู้มีความเห็นผิดย่อมไม่บรรลุ [ภูมิชสูตร]
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถูก คือ ถูก ผิด คือ ผิด สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชีวิตประจำวันก็มีทั้งอกุศลและกุศล และอกุศลก็เกิดมากด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ เป็นการยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายอกุศล มีทางเดียว เท่านั้น คือ ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ด้วยความเป็นผู้ใคร่ในธรรม
"ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรม เป็นผู้เสื่อม"
คำว่า ใคร่ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความติดข้องต้องการอย่างโลภะ แต่เป็นความพอใจ เป็นความปรารถนา เป็นความประสงค์ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าเป็นผู้มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาพระธรรม ว่า ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกจริงๆ เพราะเข้าใจว่าเต็มไปด้วยความไม่รู้ คือ อวิชชาที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่เริ่มฟัง ไม่มีฉันทะ ไม่มีความปราถนาที่จะฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง เลย ความเข้าใจถูก ก็จะเจริญขึ้นไม่ได้ นับวันมีแต่จะพอกพูนความไม่รู้ให้เพิ่มขึ้นต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงฟัง จึงศึกษา เพื่อละคลายความไม่รู้ อย่างนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นไปเพือความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการอื่นๆ แต่ถ้าตั้งจิตไว้ผิด ศึกษาเพื่ออย่างอื่น เพื่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ เพื่อเก่ง หรือ รู้ชื่อเยอะๆ เป็นต้น อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการศึกษาเพื่อทำร้ายตัวเองอย่างเดียว เพราะเพิ่มกิเลส เพิ่มความสำคัญตนให้มากขึ้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม, คุณจักรกฤษณ์ และทุกๆ ท่านครับ...
"...ความพอใจ ที่เป็นฉันทะในการศึกษาพระธรรม อันเนื่องมาจากปัญญา ที่เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลส นั่นย่อมเป็นความหวังที่เป็นฉันทะที่เกิดกับกุศลจิต อันมีปัญญาเป็นรากฐาน..."
และ
"ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรม เป็นผู้เสื่อม" คำว่า ใคร่ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความติดข้องต้องการอย่างโลภะ แต่เป็นความพอใจ เป็นความปรารถนา เป็นความประสงค์ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม..
ขออนุโมทนาครับ
ปุถุชนยังเป็นผู้มีความหวัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตนี้ไม่หวังอะไรทำไมไม่หวังรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราวที่ชวนเพลิดเพลินทำไมถึงเปลี่ยนจากสิ่งเหล่านั้นมาหวังได้ฟังธรรม หวังได้ศึกษาธรรมใช้คำว่า "หวัง" เช่นกัน แต่สภาพของจิตกลับแตกต่างกันหวังอย่างแรกเป็นอกุศลเท่านั้น ส่วนหวังอย่างหลังไม่แน่แต่หวังแล้วก็ฟังธรรม กับ หวังแล้วไม่ฟังธรรมหวังเหมือนกัน แต่กระทำเหตุต่างกัน ผลก็ย่อมต่างกันตามเหตุฟังธรรมถูกต้องเข้าใจแล้วก็หวัง กับ ฟังธรรมถูกต้องเข้าใจแต่ไม่หวังเป็นไปตามการสะสม ตามอัธยาศัย แต่ไม่เข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนจะไปทำอะไรธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดมาจากเหตุและปัจจัยครับ
ขอร่วมสนทนาด้วยคนค่ะ
ท่านอาจารย์เคยสอนไว้ว่า....... "ดีที่สุด คือ ไม่หวัง"
เข้าใจว่า...ความหวังที่เป็นโลภะนั้น นำมาซึ่งความผิดหวัง ซึ่งเป็นการสะสมอกุศลเมื่อไม่ควรสะสมอกุศล จึงไม่ควรหวัง...? แต่ความหวัง ก็เป็น "ธรรม" คือ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย. (ท่านอาจารย์สอน)
ถ้าสะสมมาที่จะเห็นประโยชน์จากการศึกษาพระธรรมก็ควรทราบว่า ศึกษาเพื่อรู้ แล้ว ละความไม่รู้ ความรู้-สภาพธรรมตามความเป้นจริง เป็นปัจจัยให้เกิด การสะสมกุศลทุกประการโดยเฉพาะ คือ การอบรมเจริญปัญญา เพื่อ สะสม-ปัญญาต่อไปเรื่อยๆ อกุศลธรรม ทางกาย วาจา ใจ จะค่อยๆ ละคลายได้ "ด้วยความเข้าใจพระธรรม"ซึ่ง "สำคัญที่ปัญญา"ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่รู้ "ความต่าง" ว่า จิตขณะไหนเป็น "โลภะ" จิตขณะไหนเป็น "กุศลวิริยะ"จึงเป็นเรื่องปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน...สำหรับ "ผู้ตรงต่อสภาพธรรม" (ท่านอาจารย์สอน)
ถ้ารู้ว่า เป็น กุศล....ก็เป็นปัจจัยให้เจริญกุศลถ้ารู้ว่า เป็น อกุศล....ก็เป็นปัจจัยให้เห็นโทษของอกุศลเมื่อเห็นโทษของอกุศล...ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิริยะ แทน โลภะ. "เหตุ" ต้องสมควรแก่ "ผล"...?
ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น และคุณชัยยุทธมากครับ
ทำให้เข้าใจในเรื่องของความหวังที่จะเข้าใจธรรมะมากขึ้น บางครั้งฟังธรรม ศึกษาธรรม ก็ไม่ได้หวังอะไร เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง บางครั้งใคร่ฟังธรรม บางครั้งเฉยๆ แต่อยากทำอย่างอื่น (แต่ไม่เคยเกลียดธรรมนะครับ) บางครั้งหวังจะเข้าใจในธรรมะที่เป็นคำแต่ละคำ เป็นภาษาไทย ภาษาบาลี คำใหม่และ คำเก่าที่ได้ยินมาซ้ำๆ แล้ว ที่พระพุทธองค์ทรงตรัส และมีอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติม โดย จุดประสงค์หลักคือเข้าใจ ไม่มีความประสงค์อื่นแต่ก็รู้สึกหนักใจ (ไม่เบาๆ ดังที่อาจารย์ผ เดิมกล่าวข้างต้น) เพราะ แต่ละคำ แต่ละคำ มีความลึกซึ้งมากๆ ที่ว่าจะเข้าใจได้จริงๆ นั้น ยังไม่มีเลยครับการตั้งความหวังข้างต้นเช่นนี้ จะถูกหรือไม่อย่างไรครับ
เรียนความเห็นที่ 7
ต้องกลับมาที่ความเข้าใจที่ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เข้าใจก็เป็นธรรม ไม่เข้าใจก็เป็นธรรม หนักใจก็เป็นธรรม ต้องการเข้าใจก็เป็นธรรมทั้งหมด ศึกษาตามกำลังปัญญาของตนเอง สำคัญที่สุดคือเริ่มมีความเข้าใจขั้นการฟังว่า เป็นธรรมและเป็นธรรมดา ไม่ว่าสภาพ ธรรมใดเกิด ไม่มีการจัดการ ไม่มีการปล่อย ไม่ต้องทำอะไร ธรรมทำหน้าที่สะสมความ เข้าใจว่าเป็นธรรมเท่านั้น เบาด้วยความเข้าใจว่าเป็นธรรมครับ ขณะนี้ก็ดับไปหมด แล้ว ก็แค่คิดเท่านั้น กำลังลืมว่าเป็นธรรมครับในสิ่งที่คิดและในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งหมด ไม่ว่าหวังหรือไม่หวังครับ ถูกหรือไม่ถูกสำคัญที่ความเข้าใจว่าเป็นธรรม
ขออนุโมทนาครับ
หวังที่จะเข้าใจธรรมะ ถูกหรือผิด
หวัง แล้วไม่ฟังธรรมไม่ศึกษาพระธรรมความเข้าใจคงไม่เกิด (ผิด) ฟังธรรมหรือศึกษาพระธรรมโดยไม่หวังก็มีโอกาสที่จะเข้าใจพระธรรมได้ (ถูก) หวังที่จะเข้าใจพระธรรมเร็วๆ เข้าใจไม่เร็ว ผิดหวัง เบื่อท้อถอย เซ็ง ไม่เป็นประโยชน์ (ผิด)
ทุกอย่างเป็นธรรมะ บังคับบัญชาไม่ได้เกิดตามเหตุปัจจัย หวังเป็นธรรมะ แม้ไม่อยากหวังก็หวัง เข้าใจว่าเป็นธรรมะเมื่อไหร่ก็ไม่หว้ง
อนุโมทนาคะ
ถ้าเป็นฉันทะในการศึกษาธรรมะให้เข้าใจก็เป็นกุศล ถ้าเป็นเพียงความหวังที่ต้องการ เข้าใจธรรมแต่ไม่สร้างเหตุ ก็เป็นโลภะ ถ้าสติเกิดก็จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลค่ะ
ความหวัง ก็เป็นเพียงคำ แต่ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล ก็ต้องเป็นผู้ละเอียด รอบคอบ เป็นผู้ตรงว่า ขณะนั้นเป็นความหวังที่ต้องการ หรือเป็น ความหวัง ที่เป็นฉันทะ ที่จะฟังพระธรรมให้เข้าใจ โดยที่ไม่มีความอยากที่เป็นอกุศลที่ อยากเข้าใจพระธรรม แม้หวังหรือไม่หวัง ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วพิจารณาตามด้วย ความเข้าใจขณะนั้นก็เป็นกุศล ความหวังที่จะเข้าใจธรรมจากการฟัง จากการศึกษาถ้า ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นเครื่องกั้น จะเป็นกุศลไม่ได้เลย
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...
หวังให้ผู้ฟังมีความเข้าใจถูกต้อง
บุคคลผู้ไม่มีความหวัง เป็นไฉน?
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ...
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 18176 ความคิดเห็นที่ 7 โดย จักรกฤษณ์
ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น และคุณชัยยุทธมากครับ
ทำให้เข้าใจในเรื่องของความหวังที่จะเข้าใจธรรมะมากขึ้น บางครั้งฟังธรรม ศึกษาธรรม ก็ไม่ได้หวังอะไร เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง บางครั้งใคร่ฟังธรรม บางครั้งเฉยๆ แต่อยากทำอย่างอื่น (แต่ไม่เคยเกลียดธรรมนะครับ) บางครั้งหวังจะเข้าใจในธรรมะที่เป็นคำแต่ละคำ เป็นภาษาไทย ภาษาบาลี คำใหม่และ คำเก่าที่ได้ยินมาซ้ำๆ แล้ว ที่พระพุทธองค์ทรงตรัส และมีอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติม โดย จุดประสงค์หลักคือเข้าใจ ไม่มีความประสงค์อื่นแต่ก็รู้สึกหนักใจ (ไม่เบาๆ ดังที่อาจารย์ผเดิมกล่าวข้างต้น) เพราะ แต่ละคำ แต่ละคำ มีความลึกซึ้งมากๆ ที่ว่าจะเข้าใจได้จริงๆ นั้น ยังไม่มีเลยครับการตั้งความหวังข้างต้นเช่นนี้ จะถูกหรือไม่อย่างไรครับ
ขอร่วมสนทนา
ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ยังมีความสงสัย เป็นธรรมดา
ความเดือดร้อนใจประการต่างๆ อันเกิดจากความสงสัย ก็ย่อมมีได้ เป็นธรรมดาเป็นธรรมดา ของ ปุถุชน (ข้าพเจ้าก็เป็นปุถุชนค่ะ)
เคยได้ฟังจากการบรรยาย ว่า "ผู้ที่มั่นคงในพระรัตนตรัยจริงๆ คือ พระโสดาบัน"เพราะว่า พระโสดาบัน ดับ ความสงสัย (วิจิกิจฉา) เป็นต้น ได้เป็นสมุจเฉท. แม้การศึกษาทางโลก เพื่อจุดประสงค์ในการดำรงชีวิต ก็ยังต้องมี "ผู้สอน"แล้วแต่จะเรียก ว่า พระพุทธเจ้า พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ที่ปรึกษา วิทยากร ลูกพี่ ฯลฯซึ่งเป็นความจริงที่ว่า การศึกษาต่างๆ เมื่อศึกษาจริงๆ ย่อมต้องมีความสงสัย-ไม่เข้าใจ ก่อนที่จะเข้าใจ เป็นธรรมดา.
ตัวอย่าง เช่น เด็กที่หัดพูด หัดเขียน ก็ต้องมีผู้ที่สอนให้พูด ให้เขียนเพราะไม่เคยพูด เคยเขียน ก็ต้องสงสัยเป็นธรรมดาว่า เขียนอย่างไร พูดอย่างไรผู้สอน อาจจะสอนด้วยการ พูดให้ฟังบ้าง ให้พูดตามบ้าง จับมือให้เขียนบ้าง ฯลฯ
การศึกษาทางโลกนั้น ผู้สอน สามารถทำให้ดูได้แต่ การศึกษาทางธรรม ไม่อาจทำเช่นนั้นได้.!
ดังนั้น จึงเป็นธรรมดา ที่ปุถุชนอย่างเราๆ ย่อมสงสัย ไม่เข้าใจแถมด้วยความเดือดร้อนใจ อันเนื่องมาจากการศึกษาพระธรรมนั้นเองและ พระธรรม ก็เป็นเรื่องยาก ลึกซึ้ง เกินกว่าจะเข้าใจกันได้ง่ายๆ แล้ว จะไม่สงสัยได้อย่างไร.
แต่เมื่อสงสัย ไม่เข้าใจ ก็ควรถามเพื่อคลายความสงสัย (คลายวิจิกิจจฉา) เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรเสียเวลาไปกับความเดือดร้อนใจ. การสอบถามพระธรรมเป็นการสนทนาธรรม เป็นบุญชนิดหนึ่ง (ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) เป็นส่วนหนึ่งในการอบรมเจริญปัญญา.แต่ควรถามเรื่องที่ทรงแสดง ไม่ควรถามเรื่องที่ไม่ทรงแสดง (อจินไตย ๔)
เมื่อถามแล้ว ไม่ว่าจะถามใคร จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพิจารณาคำตอบจากผู้นั้นด้วยว่า มีเหตุ มีผล หรือไม่ ไม่ควรปักใจเชื่อทันที เพราะการเข้าใจผิด เป็นอันตรายอย่างยิ่ง. ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็ควรสอบถาม "ตามกาลเทศะ" จะได้คำตอบหรือไม่ ก็แล้วแต่ "เหตุปัจจัย"จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ "เหตุ-ปัจจัย"
หากได้สะสมบุญมาแล้ว ย่อมมั่นคงในหนทางนี้ แม้ยังไม่ประจักษ์แจ้งหากยังไม่ประจักษ์แจ้งเป็นพระโสดาบัน ก็ย่อมสงสัย ไม่เข้าใจ เดือดร้อนใจ"เป็นเรื่องธรรมดา"
หนทางนี้ยาก....ขาดศรัทธาไม่ได้เลย.!แต่ถ้าเลือกจะเดินในหนทางนี้...ก็ต้องอดทนถึงจุดหมายเมื่อไรเมื่อนั้นแหละ....ที่จะ "เข้าใจจริงๆ ".
คุณจักกฤษณ์ สะสมมาดี...ขออนุโมทนาค่ะ.
ปล.จากคาถานี้ ที่พี่เมตตา อันเชิญมาให้อ่าน...สะดุดใจจริงๆ
"นิราศบุคคล" เพราะความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ใน "ทิฏฐธรรม" ในกาลไหนๆ โดยแท้ ดังนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีความหวัง."
("ผู้ไม่มีความหวัง" ในที่นี้...น่าจะหมายตรงถึง "พระอรหันต์" เลยทีเดียว"พระอรหันต์"....ผู้ซึ่งดับแล้ว ทั้งกุศลธรม และ อกุศลธรรม-อันเป็นเหตุ)
"ไม่ควรเสียเวลาไปกับความเดือดร้อนใจ" และ "หนทางนี้ยาก....ขาดศรัทธาไม่ได้เลย"
เป็นถ้อยคำที่เตือนสติได้มากๆ เลยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณพุทธรักษามากครับ
แม้พระโสดาบัน.....ท่านก็ยังหวังที่จะบรรลุคุณธรรมขั้นที่สูงต่อไปค่ะ เพราะอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ทำให้ท่าน ยังละความหวังไม่ได้ (แม้ว่าจะไม่มีความเห็นผิดแล้ว) แต่ท่านยังมี "โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์" อยู่นะคะ
ขอร่วมสนทนาอันเนื่องจาก คห.13
"วิจิกิจฉา" แปลกลางๆ ก็แปลว่า "ความสงสัย" ยังไม่ ถึง "อรหันต์" ก็คงยังไม่สิ้นสงสัยอย่างสิ้นเชิง การละ "วิจิกิจฉา" ของพระโสดาบันน่าจะ เป็น "วิจิกิจฉา" ในระดับของพระโสดาบัน คงไม่ใช่ละ "วิจิกิจฉา" ในระดับพระอรหันต์,เข้า ใจอย่างนี้ถูกหรือผิด? (หรือ "วิจิกิจฉา" ของพระโสดาบันมี "ความหมายเฉพาะ" ใช้เฉพาะ กับผู้ต้องการเป็นพระโสดาบัน) "สิ้นสงสัย = วิชชา = พระอรหันต์" ไม่ใช่หรือ? "วิจิกิจฉา" เป็นนิวรณ์5 (ตัวปิดกั้นการบรรลุธรรม) ตัวสุดท้าย พ้น "วิจิกิจฉา" ก็คือพ้น "อวิชชา" ก็เข้าสู่ "พระนิพพาน" ใช่หรือไม่?
จากคห.13 ตอนท้าย
"พระอรหันต์" จะมีคำว่า "ปฏินิสสัคคะ" (การสลัดคืน) และมีคำว่า "สัจ จานุโลมญาณ" (ก็แปลตามตัว "สัจจะ + อนุโลม + ญาณ" ก็คือปัญญาที่จะรู้ว่าควรอนุโลม ตามสัจจะของโลกแล้วแต่กรณีแล้วแต่กาละเทศะโดยเล็งถึง "ประโยชน์ท่าน" เป็นหลัก เพราะ "ประโยชน์ตน" ไม่มีเพราะ "จบกิจ "แล้ว) ดังนั้นจึงยังน่าจะคงบำเพ็ญ "กุศลธรรม" เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส,แต่ท่านคงไม่ติดยึดใน "กุศลธรรม" นั้นว่าเป็น ของท่านเพราะท่านหมดสิ้น "อัตตา" แล้ว (การอนุโลม เช่น การยิ้ม หรือแม้เช่น" การบริ ภาษ "ภิกษุบางจำพวก เช่น "ถุดถุลลัง วสละธัมมัง" (สะกดผิดขออภัย) ของพระพุทธเจ้า เป็นต้น) ใช่หรือไม่?
ขอร่วมวงสนทนาด้วยครับ
เท่าที่อ่านข้อความทั้งหมดนั้นทุกท่านก็กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว แต่ความคิดความเห็นของ ผมนั้นแตกประเด็นออกไปอีกว่า ท่านใช้คำว่าหวังนั้นก็คงไม่ผิดอะไรกับคำว่าอยากนั่น แหละ แต่ผมคิดว่าคงจะพูดเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่าอยาก และถึงแม้ท่านจะพูดยังไงก็ได้แต่ ก็หลีกเลี่ยงที่เจตนาไม่ได้ คำว่าหวังหรืออยากนั้นก็ยังเป็นโลภะอยู่ เช่นอยากทำบุญ อยากเป็นคนดี อยากเห็นคนอื่นได้ดี อยากให้คนอื่นมีความสุข อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติธรรม อย่างเราบ้าง อยากเจริญสมาธิ อยากได้ฌาน อยากได้อภิญญาอย่างนี้เป็นต้น
คำว่า อยากคำนี้เป็นโลภะแน่นอนคือโลภะเป็นตัวเหตุเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำความดี เป็น ความดีที่ยังเกี่ยวข้องกับโลกียะจิต อาจหมายถึงทำกุศลแต่มีอกุศลติดตามไปด้วยเป็น การทำกุศลด้วยอำนาจของโลภะเหตุหรืออีกอย่างคือทำบุญที่เป็นญาณวิปปยุตคือขาด ปัญญา ก็เป็นบุญเหมือนกันแต่เป็นบุญทีไม่ประกอบด้วยปัญญาหรือการทำบุญที่ไม่ ประกอบด้วยเหตุ ๓ บุญชนิดนี้เป็นบุญที่ยังข้องอยู่ในวัฏฏะอยู่ ฉะนั้นจะทำยังล่ะว่าการ ทำบุญทุกครั้งนั้นจะให้ประกอบด้วยปัญญาต่างหาก คือเราก็ต้องสร้างเหตุให้ปัญญาเกิด ขึ้นพร้อมกับการทำกุศลทุกครั้ง
บางท่านยังเคยพูดให้น่าคิดว่า อารมณ์ของความอยากนั้นเป็นอารมณ์ที่ดีคือเอาวิบากที่ ดีมาเป็นอารมณ์ ให้มีการสร้างเหตุเกิดขึ้นและการสร้างเหตุนั้นก็ต้องสร้างเหตุดีเพื่อที่จะ ได้รับวิบากดีให้ผลนั้นตรงกับเหตุ เช่นอยากพบพระนิพพานก็ต้องสร้างเหตุให้เข้าถึง พระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นผล (การสร้างเหตุมิได้หมายความว่าทำให้พระนิพพานเกิดขึ้นเพราะนิพพานนั้นมีอยู่แล้ว) ครับ!
ถ้าการแตกประเด็นนี้ผิดถูกยังไงช่วยอธิบายเพิ่มเติมจักขอบพระคุณอย่างยิ่ง
เรียน ความคิดเห็นที่ 16
กิเลสมีหลายประเภทครับ ซึ่งก็ต้องละไปตามลำดับของปัญญา ความสงสัยที่เป็น วิจิกิจฉาดับได้เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วครับ ส่วนความไม่รู้ที่เป็นอวิชชา ไม่ใช่ความ สงสัย รวมทั้งโลภะ พะรอรหันต์เท่านั้นที่จะดับได้ครับ ดังนั้นวิจิกิจฉา ความสงสัย สงสัยในพระรัตนตรัย สงสัยในขันธ์ ความสงสัยทั้งหมดดับได้เมื่อเป็นพระโสดาบัน แล้วครับ ดังนั้นถึงจะพ้นจากวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยเมื่อเป็นพระโสดาบันแต่ ก็ยังมี อวิชชาความไม่รู้อยู่ครับ ดังนั้น ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่จำเป็นจะต้องไม่มีความไม่รู้ ความไม่รู้ กับวิจิกิจฉาจึงเป็นอกุศลคนละประเภทครับ
ขออนุโมทนา
เรียน ความคิดเห็นที่ 18
โดยปกติเราก็เข้าใจโดยทั่วไปว่าความพอใจ ความใคร่ เป็นสภาพธรรมที่เป็นโลภะ เป็นบาป เป็นอกุศลเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่หากในความเป็นจริง ความพอใจ ความใคร่ ด้วยจิตที่ไม่เป็นอกุศลก็ได้ครับ เพียงแต่เป็นสภพาธรรมอีกอย่งหนึ่งใน ทางธรรมเรียกว่า ฉันทะเจตสิกครับ คือ ความพอใจ ความใคร่ ที่ไม่ใช่ความอยาก ที่เ่ป็นโลภะครับ
ดังนั้นจะเป็นโลภะหรือเป็นกุศล ไมไ่ด้อยู่ที่คำว่าอยาก แต่อยู่ที่สภาพจิตว่า ขณะเป็นกุศล หรือ อกุศลครับ ความอยาก ความพอใจ ความใคร่ในกาฟังพระธรรม เพราะเห็นประโยชน์ด้วยปัญญา เป้นฉันทะที่เกิดกับกุศลธรรม ไม่ใช่โลภะครับ
เมื่อเห็นคำตอบของท่านอาจารย์ทำให้ผมต้องทำการบ้านต้องค้นหาตำรามาอ่านเพื่อหา คำว่า "ฉันทะ" ฉันทะนั้นเป็นอธิบดี ฉันทะเป็นอิทธิบาท ถ้าฉันทเจตสิกถ้าเป็นอธิบดีนั้นเป็นได้ทั้ง กุศล อกุศล และ อพยากต คือฉันทเจตสิกที่ ในสาธิปติชวนจิต ๕๒ ถ้าฉันทเจตสิกเป็นอิทธิบาท นั้นเป็นกุศลได้ฝ่ายเดียว คือ ฉันทเจตสิกที่ใน กุศลโลกียะ ชวนจิต ๒๑
ขอขอบคุณครับท่านอาจารย์เป็นคำตอบที่ต้องทำการบ้านค้นหาคำตอบ
คือผมเข้าใจว่า คำว่า "สงสัย" ของภาษาไทยกับ "วิจิกิจฉา" เป็นภาษาบาลีที่เรามาแปล เป็นไทยว่า "ความลังเลสงสัย" บางทีก็แปลว่า "ความสงสัย" ดื้อๆ เลย ดังนั้นมันจึงมาทับ ซ้อนกับคำว่า "สงสัย" ในภาษาไทย ซึ่ง "สงสัย" ในภาษาไทยมันคือสงสัยไปทั่ว สงสัย อะไรก็ได้ ด้านวิชาการก็ได้ ธรรมะก็ได้ สัพเพเหระก็ได้ สรุปคือได้ทุกเรื่องไม่จำกัด
ส่วน คุณ คห.13 ก็บอก "แต่เมื่อสงสัย ไม่เข้าใจ ก็ควรถามเพื่อคลายความสงสัย (คลายวิจิกิจฉา) " คือมีคำว่า "วิจิกิจฉา" มากำกับ "ความสงสัยธรรมดา" แต่ที่รู้คือ "วิจิกิจฉา" ใช้กับ "สังโยชน์3" ของพระโสดาบัน,และก็มีอีกอันหนึ่งคือ "นิวรณ์5" คือไม่รู้ว่าแยกใช้งาน หรือใช้แบบแพ็กเกจ แต่อยากเรียนถามว่า ตกลง "วิจิกิจฉา" ใน "นิวรณ์5" ตัวที่5 (ตัวสุด ท้าย) นี่ใช้แต่กับ "โสดาปัตติมัคคบุคคล" เท่านั้นใช่หรือไม่?พอบรรลุ "โสดาบัน" แล้ว ไม่ ต้องพูดถึง "นิวรณ์5" ข้อที่5อีกต่อไปชั่วชีวิตใช่หรือไม่?
ขอขอบคุณอย่างสูงสำหรับทุกท่านที่ให้คำตอบ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ...
ผมเข้าใจว่าสังคมไทยมองการบรรลุธรรมขั้นต้น "โสดาบัน" เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากราวกับ บรรลุ "อรหันต์" ดังนั้น ถ้าใครจะบอกว่าตนเองเป็นโสดาบันสำหรับฆราวาสก็คงเป็นเรื่อง เขินกันน่าดูสำหรับยุคนี้ แต่ก็มีหลัก "อภิณหปัจจเวกขณ์" ข้อ 10 บอกว่า "ควรพิจารณา เนืองๆ ว่าคุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน ในเวลาที่เพื่อนสห ธรรมิกถามในกาลภายหลัง" (แม้เราจะไม่ใช่บรรพชิตก็ตามก็คงนำมาประยุกต์ใช้ได้) เจตนาก็คงประสงค์ให้ทวนถามตนเองว่า "เรามั่นใจในการบรรลุธรรมแม้ขั้นต้นของเรา ไหม?"
เพราะการบรรลุธรรมย่อมเป็นเครื่องการันตีว่า "ธรรมะนี้ ศาสนานี้ ธรรมวินัยนี้ พรหมจรรย์นี้มีผลจริง,เป็นประโยชน์ต่อมหาชนจริง" (พหุชนหิตายะ,พหุชนสุขายะ) และ มีอีกข้อที่จำได้คือ" ตราบใดที่มีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ขออนุโมทนาต่อคุณงามความดีของท่านอาจารย์สุจินต์ อ.เผดิม อ.คำปั่น คุณวรรณี คุณอรรณพ คุณประเชิญ ท่านนิภัทร์ คุณธนากร คุณอดิศักดิ์ คุณพุทธรักษา และทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่านขอให้มีความสุข ความเจริญ ร่างกาย แข็งแรง ร่ำรวย และเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป...
ความไม่รู้ กับวิจิกิจฉาจึงเป็นอกุศลคนละประเภท
ขอน้อมจิตอนุโมทนาบุญด้วยเศียรเกล้าครับ
เรียนความเห็นที่ 22 และ 23 ครับ
ความสงสัยในนิวรณ์ 5 และที่พระโสดาบันท่านดับไปแล้ว เป็นความสงสัยในเรื่อง ของสภาพธรรม สงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ แต่ไม่ใช่ ความสงสัยทั่วไป ที่เป็นเรื่องราวทางโลกครับ ดังนั้นพระโสดาบันเมื่อท่านละวิจิกิจฉา แล้ว เพราะท่านประจักษ์พระนิพพาน ประจักษ์หนทางดับกิเลส ท่านจึงไม่ความสงสัย ว่ามีแต่เพียงสภาพธรรม ไม่สงสัยว่ามีพระพุทธเจ้าหรือเปล่า มีพระธรรม มีพระสงฆ์หรือ เปล่าครับ แต่ความสงสัยภาษาไทยที่สงสัยทางโลก ไม่ใช่วิจิกิจฉาในทางธรรมที่เป็น นิวรณ์และที่พระโสดาบันละแล้วครับ
ส่วนที่คุณวินิจมีกุศลจิต กล่าวด้วยถ้อยคำที่เป็นกุศล ก็ขออนุโมทนาบุญด้วยเช่นกัน ครับและขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาและเป็นสหายธรรมร่วมกันในพระธรรมวินัยนี้ครับ
ขออนุโมทนาคุณวินิจครับ
จากประสบการณ์ของผม คำถามเรื่องถูกหรือผิด ไม่ว่าในประเด็นใดก็ตาม แม้นมีบุคคลมาตอบที่ดี และอาจพอใจกับคำตอบ แต่ก็จะเกิดคำถามแบบนี้ในประเด็นอื่นๆ อีกต่อไป และเมื่อได้คำตอบอีกก็ต้องอาศัยตรรกะส่วนตน ความเชื่อความศรัทธาในคำตอบนั้นตัดสินว่าพอใจในตำตอบนั้นหรือไ่ม่
แต่หากใช้เครืื่่องมือคือสติ และความรู้ว่าใจเราตอนนี้เป็นกุศลหรืออกุศลด้วยสัตย์ซื่อ เมื่อชำนาญแล้วเราจะรู้ได้เองว่าสิ่งใดๆ ก็ตามนั้นถูกหรือผิด ถ้าเป็นกุศลก็ถูก อกุศลก็ผิด จากประสบการณ์ของผม สำหรับผมเองยากที่จะบอกว่าถูกหรือผิดเพราะ จิตใจเป็นของรวดเร็ว และจิตใจนี้ล่ะมีทั้งกุศลและอกุศลที่สั่งสมเป็นนิสัยมาแล้วนับอนันต์ โดยมากจิตจะเป็นกุศลสลับกับอกุศลโดยละเอียดสุขุมมาก อาจต่างที่ขณะที่จิตคิดปรุงแต่งเรื่องหลักทางกุศล ดวงจิตจะมีปริมาณด้ายกุศลมากกว่าอกุศล อีกประการหนึ่งถ้าผมจำมาไม่ผิดท่านผุ้รู้ช่วยแก้ด้วยนะครับ ผมไม่ยืนยันความถูกต้อง กุศลก็เป็นปัจจัยของอกุศลได้ และอกุศลก็เป็นปัจจัยของกุศลได้ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คิด พูด หรือทำเรื่องบุญอยู่แท้ มีจิตบาปเกิดแทรกได้ แม้เป็นบาปชั้นละเอียดก็ตาม
ดังนั้น เพื่อความถูกต้องแก่ใจเราเองว่าถูกหรือผิด เราควรหมั่นเจริญสติพิจารณานามธรรมที่เกิดขึ้นกับเราโดยขยันจริงจัง ที่สำคัญ ต้องตรง ต้องซื่อ ต่อส่ิงที่ปรากฏด้วยครับ ต้องยอมรับความจริงให้ได้หากเห็นกุศล หรืออกุศลเกิดขึ้น
ท่านจักกฤษณ์ สะสมมาดี และมีความยินดีในการเผยแพร่พระธรรมที่ถูก แก้พระธรรมที่คนอื่นเข้าใจพระธรรมผิด
เห็นด้วยและขออนุโมทนาบุญด้วยเศียรเกล้าจริงๆ ครับ
ที่จริงในมุมมองของกระผม (ความเห็นส่วนตัวนะครับ) ถ้าถึงขึ้นเป็นพระโสดาบันแล้ว แทบจะหมด ความสงสัย ในสิ่งต่างต่างๆ ที่ปรากฎรอบตัว เพราะกว่าที่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งรวมกำลังบารมีเพื่อประการกิเลสหรือสังโยชน์ และประจักษ์พระนิพพานนั้น นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่ใช่เรือกยากจนจะไม่มีใครผ่านได้ ทั้งนี้แล้วแต่การสั่งสมปัญญาของแต่ละคนนะครับ (แม้พระพุทธเจ้าเองการอบรมบารมียังต่างกัน) แต่การประจักษ์ยังไม่แจ้งเหมือนพระอรหันต์เท่านั้นเอง แน่นอนล่ะ ความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สงสัย แน่ๆ อย่าว่าแต่โสดาเลยครับ แม้กระทั่งคนที่เพิ่งเริ่ม ศึกษาพระพุทธศาสนาเองก็ตาม แต่เริ่มต้น ก็ต้องมี ศรัทธา หรือความเชื่อ ก่อนจึงศึกษา แต่ปุถุชนทุกคน ศรัทธานั้น ยังไม่มั่นคงพอ ก็เลยประมาณว่า เดี่ยวเรียน เดี๋ยวเลิก สลับกันไป หรือบางคนก็เลิกไปเลย ก็มี เมื่อศรัทธาไม่มั่นคง พอ ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น ศรัทธินทรีย์ วิริยะ หรือ วิริยินทรีย์ และไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่มีทางเกิด ถ้าศรัทธาไม่เกิด
ความสงสัย นอกจากในพระรัตนตรัย แล้ว แม้กระทั่งในแนวทางที่ตนเองดำเนินอยู่ ก็ไม่สงสัย (มรรค) ว่าจะต้องปฏิบัติ อย่างไร ต้องทำไรก่อนจึง จะปฏิบัติ ต้องสวดมนต์ ก่อนทำสมาธิ ต้องให้ ทานไหม ต้องรักษาศีล หรือต้องเริ่มต้นฟังให้เข้าใจก่อน จึงถือเป็นการปฏิบัติ จะเห็นได้ ว่าจะนึกถึง ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ระเบียบ ประเพณี หรือที่เรียก ว่า สีลพตปรามาสตลอดเวลา เพราะแท้จริง ในมุมมองของ พระอริยะ ทุกขณะจิต คืออารมณ์ของวิปัสสนา เพียงแต่ สติท่าน จะระลึกได้หรือไม่ เท่านั้นเอง แตกต่างจากปุถุชน สติหรือ สัมมาสติ อาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ อย่าว่าแต่ เป็นวันเลย บางคนอาจจะหลาย วัน เดือน ปี ทั้งนี้ตามการสั่งสม เพราะสัมมาสติ โดยแท้จริงนั้น ก็เป็น อนัตตา สติจะไม่เกิดโดยความจงใจ (ด้วยอำนาจของโลภะ) ถ้าจงใจ นั่นคือ เจตนา นั่นจะกลายเป็น อกุศลจิต ซึ่ง ตัวสติ (หรือสัมมาสติ) เองเป็น มหากุศลจิตญาณสัมปยุต หรือวิปยุต จะเป็น อสังขาริก หรือ สสังขาริก ก็แล้วแต่ เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น (กี่ประเภทนั้นขอเชิญอาจารย์ padermช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็น วิทยาทานด้วยครับ) และที่สำคัญ จิตเกิดดับ ที่ละขณะ และกุศลจิต กับ อกุศลจิตจะไม่เกิดร่วมกัน และกุศลทุกอย่างล้วนประกอบดว้ยสติซึ่งเป็น เจตสิก แต่ยังไม่ใช่ สัมมาสติที่เกิด ในอริยมรรค หรือสติสัมโพชฌงค์ ที่เป็นไปเพื่อการบรรลุธรรม แต่สติธรรมดาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สัมมาสติเกิด เพราะเป็นกุศลจิตเหมือนกัน การสั่งสมกุศลย่อมเป็นเหตุให้มหากุศลเกิด เช่น การระลึก ในทาน (จาคานุสติ) ระลึกถึงพระพุทธเจ้า (พุทธานุสติ) ระลึกในศีล (ศีลานุสติ) ระลึกในความดีของเทวดา (เทวดานุสติ) อกุศลก็เช่นกัน แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังเป็นผลของอกุศลที่มีกำลังมากเกิดขึ้น คล้ายกับสำนวนไทยที่ว่า "ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาเจอกัน" ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะนี้อย่างที่ทุกท่านเองก็ทราบ (ก็ไม่รู้ไปเพ่งโทษคนอื่นหรือเปล่านะครับ)
ก็คงเป็นเหมือนที่ อาจารย์ paderm พูด วิจิกิจฉาในนิวรณ์ คือตัวนี้ แต่ถ้า เป็นพระอริยะแล้ว จะมีความสงสัยอีกประเภทนึงที่ ไม่นับเป็น วิจิกิจฉา คือ การพิจารณาใคร่ ครวญในธรรม หรือ สภาพธรรมะต่างๆ ที่เรียกว่า อุทธัจจะ กุกุจจะ ซึ่งระดับพระอนาคามียังละไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่เมื่อ บรรดาความสงสัยต่างๆ นั้น ต้นเหตุก็เกิดจาก การคิด โดยปราศจากสติ ความคิดห้ามไม่ได้ (เพราะโดยตัวมันเองก็เป็นสังขารที่เกิดจากการปรุงแต่ง) แต่ถ้าความคิดเกิดแล้ว มีสติรู้เท่าทันซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เรื่องราวสมมติต่างก็จะไม่ตามมามากมาย ที่อาจารย์ชอบ มักพูดเสมอว่า เห็น ไม่ใช่ คน สัตว์ สิ่งของ หรือ คิดในเรื่องกาม (กามวิตก) คิดพยาบาท (พยาบาทวิตก) เมื่อทันมีสติรู้เท่าทันความคิด ก็ไม่ ล่วงมาทางกาย และวาจา รวมถึงอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ทางปัญจทวาร เราไม่สามารถห้ามได้ แต่แต่ถ้าสติรู้ทัน ความปรุงแต่ง (โลภะ โทสะ โมหะ) ในชวนะวิถี ก็จะดับไปกลายเป็นมหากุศลจิตเกิดแทน ตามกำลังของการสั่งสม ตามลำดับขั้น ของพระอริยะ
ที่กล่าวมาทั้งหมด ผมเห็นด้วยกับคุณวินิจ นะครับถ้าสงสัย เรื่องใดก็ถามเพื่อที่จะละคลายความสงสัย ในเรื่องๆ ต่างๆ เหล่านั้น แต่จุดประสงค์ที่เรียนให้ทราบ ก็เพราะต้องการให้ทราบถึงที่มา แม้ความสงสัย ที่มาก็เนื่องมาจาก ความคิด
เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวนะครับ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกท่าน นะครับและยินดีที่ได้มีโอกาส พูดคุยกับเพื่อนสหธรรมิก เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ถ้ามุมมองผมผิด พวกท่านจะได้ช่วยแก้ไขให้ ถูกต้อง อนุโมทนากับทุกท่านครับ