คำถวายสังฆทาน ถูกหรือไม่
คำถวายสังฆทานที่กล่าวว่า อิมานิ มะยังภันเต ภัตตานิ ...
ขอเรียนถามวิทยากรดังนี้ครับ
๑. เคยอ่านหนังสือบางเล่มเกี่ยวกับคำถวายสังฆทาน บางเล่มก็ไม่ได้ขึ้นต้นด้วย อิมานิ แต่ขึ้นต้นด้วย มะยังภันเต จึงขอเรียนถามว่า อิมานิ แปลว่าอะไร และที่ถูกควรขึ้นต้นด้วยมีคำว่า "อิมานิ" หรือ ขึ้นต้นด้วย "มะยังภันเต"
๒. คำว่า "ภัตตานิ" แปลว่า ข้าวสุก ใช่หรือไม่ ถ้า "ภัตตานิ" แปลว่า ข้าวสุก การที่จะถวายอาหารพระภิกขุ เคยได้ยินว่า ตามพระวินัยไม่ให้ระบุชื่ออาหาร ๕ อย่าง เช่น ข้าวสุก ชื่อขนม เนื้อ ฯลฯ ดังนั้น คำถวายสังฆทานที่กล่าวว่า อิมานิ มะยังภันเต ภัตตานิ ... จะทำให้พระท่านอาบัติหรือไม่
๓. คำกล่าวถวายสังฆทานที่ถูกควรใช้คำว่า ภัตตานิ ถูกแล้วหรือควรใช้คำอื่นแทนคำว่า ภัตตานิ ครับ
อนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เราควรเข้าใจเรื่องสังฆทานกันใหม่ทั้งหมดครับ ว่าความจริงแล้วสังฆทานคืออะไร จำเป็นไหมที่จะต้องกล่าวคำถวายสังฆทาน เมื่อเราเข้าใจถูกต้องในเรื่องสังฆทานตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เราก็จะเข้าใจถูกว่าจะต้องกล่าวคำถวายสังฆทานหรือไม่ครับ
สังฆทาน คือ การมีเจตนามุ่งถวายแด่สงฆ์ คือมุ่งถวายแด่พระอริยบุคคล แม้พระที่มารับจะไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่มีเจตนานอบน้อมดั่งถวายแด่พระอริยบุคคล โดยไม่ได้มีการเจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่งจึงชื่อว่าเป็นสังฆทาน เพราะฉะนั้น สังฆทานไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อจะถวายอาหารหรือปัจจัย ๔ แด่พระแล้ว จะต้องมีการกล่าวคำถวายสังฆทาน จึงจะเป็นสังฆทาน แต่หากผู้ใดมีปัญญา มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมมีเจตนาที่จะถวายแด่สงฆ์ด้วยใจที่น้อมไปดั่งผู้รับเป็นพระอริยบุคคล ขณะนั้นยำเกรงในสงฆ์ ไม่ใช่ ให้กับภิกษุบุคคล แต่น้อมถวายแด่สังฆรัตนะ ขณะนั้นจึงเป็นสังฆทานครับ
สังฆทานที่ถูกจึงไม่ใช่กล่าวคำให้ถูก กล่าวคำขึ้นต้นให้ถูก แต่อยู่ที่จิตของบุคคลนั้น ว่ามุ่งตรงถวายแด่สงฆ์เหมือนถวายแด่พระอริยบุคคลหรือไม่ เมื่อจิตเป็นอย่างนั้น คือสามารถยำเกรงในสงฆ์ เหมือนถวายกับพระอริยบุคคลจริง แม้จะไม่กล่าวคำอะไรเลย แต่จิตเป็นอย่างนั้นแล้ว เมื่อถวายพร้อมด้วยจิตนั้น ย่อมเป็นสังฆทานครับ
จะเห็นได้ว่า สังฆทานไม่ได้อยู่ที่คำกล่าวใดๆ เลย แต่ขึ้นอยู่กับสภาพจิตและความเข้าใจของบุคคลนั้นครับ บุญจึงอยู่ที่จิต ไม่ใช่พิธีการ ไม่ได้อยู่ที่คำกล่าวแล้วจะเป็นสังฆทาน สังฆทานก็อยู่ที่จิตเช่นกันครับ
สังฆทาน จึงเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่พิธีการหรือคำกล่าวอะไรเลยครับ เพราะฉะนั้น ประเพณีที่สืบต่อกันมาก็ส่วนหนึ่ง ความเข้าใจถูกที่เป็นสัจจะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ควรยึดถือตามความจริงที่พระองค์ทรงแสดงครับ
การถวายสังฆทานตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เป็นดังนี้
[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 394
[๗๑๒] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ
๑. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (ภิกษุและภิกษุณี) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๑.
๒. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๒.
๓. ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๓.
๔. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๔.
๕. เผดียง (ขอ) สงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๕.
๖. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๖.
๗. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๗.
จะเห็นได้ว่าการถวายสังฆทานจึงไม่ใช่เรื่องของการทำตามแบบพิธี แต่เป็นเรื่องของสภาพจิตและความเข้าใจของบุคคลที่ถวาย หากมีความเข้าใจถูกสามารถน้อมระลึกถึงสงฆ์ได้ดั่งเหมือนพระอริยบุคคลแล้ว จิตขณะนั้นเป็นสังฆทานแล้ว ไม่ต้องกล่าวคำอะไรเลย เมื่อถวายสิ่งของไป กรรมนั้นสำเร็จเป็นสังฆทาน อันเกิดจากความสำเร็จของจิตที่มุ่งตรงถวายแด่สงฆ์ครับ
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของปัญญา ความเข้าใจ หากไม่มีความเข้าใจถูกแล้ว ก็ไม่สามารถเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกับพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไปได้เลยครับ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วยปัญญา ความเข้าใจของแต่ละคน มิใช่ประเพณีที่ทำตามสืบต่อกันมา
ขออนุโมทนาครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ในพระไตรปิฎกไม่มีแสดงไว้?? ไม่มีการกล่าวคำถวายสังฆทาน?? ในพระวินัยแสดงไว้ ถ้านิมนต์พระภิกษุ ๔ รูปแล้วระบุชื่ออาหารก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจว่า สังฆทาน คือ อะไร?
มาจากคำสองคำรวมกันคือ สังฆะ (หมายถึงหมู่ คือ หมู่ของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก และยังหมายถึงหมู่ของภิกษุที่ได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้องตามพระวินัยด้วย) + ทาน (เจตนาเป็นเครื่องสละหรือบริจาค และยังหมายถึง ไทยธรรม คือวัตถุที่จะพึงถวายด้วย)
ดังนั้น สังฆทานจึงเป็นการถวายไทยธรรมมุ่งตรงต่อสงฆ์ (มุ่งตรงต่อพระอริยสงฆ์) โดยไม่มีการเจาะจง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงอาหารอย่างเดียวเท่านั้น ยังหมายรวมถึงปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิตประการอื่นๆ ด้วย เช่น จีวร ยารักษาโรค เป็นต้น ถ้าเป็นความต้องการที่จะได้ผลมากจากการถวายสังฆทาน นั่นไม่ใช่สังฆทาน แต่เป็นความติดข้องต้องการที่อยากจะได้ผลของสังฆทาน แทนที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นการให้ทานมุ่งตรงต่อพระอริยสงฆ์ แสดงถึงจิตใจที่ประกอบด้วยความนอบน้อมเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ประการสำคัญที่ควรจะพิจารณา คือ ทาน การให้วัตถุสิ่งของ ไม่ได้มุ่งหมายจำกัดเฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้น เพราะเหตุว่า ผู้ที่ควรแก่การรับทานมีมาก ไม่ใช่น้อยเลยทั้งผู้ที่ประสบภัย ประสบความเดือดร้อน เป็นต้น เป็นโอกาสที่กุศลจิตที่เป็นไปในทานจะเกิดขึ้น สละวัตถุสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ถ้าหากว่าในชาติหนึ่งๆ ทานกุศลไม่เกิด ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นเลย แล้วจะดำเนินไปถึงซึ่งการดับกิเลสซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง ได้อย่างไร สำหรับคำถวายสังฆทาน ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะสังฆทานไม่ได้อยู่ที่คำถวายแต่อยู่ที่สภาพจิตเป็นสำคัญ (แต่ที่ถามว่า อิมานิ แปลว่าอะไร? อิมานิ แปลว่า เหล่านี้ถ้าอยู่ข้างหน้า ภตฺตานิ ก็ขยาย ภตฺตานิ (ภัตรทั้งหลาย) แปลว่า ภัตร ทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งคำว่าภัตร หมายถึงข้าวสวย, ข้าวสุก) จากข้อความที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก และในพระสูตรต่างๆ นั้น เวลาที่มีการนิมนต์พระภิกษุเพื่อฉันอาหาร จะไม่มีการออกชื่ออาหาร จะไม่นิมนต์ว่า นิมนต์รับภัตร เพราะภัตร ก็คือ ข้าวสวย เป็นหนึ่งในชื่อของอาหาร แต่กล่าวนิมนต์ในภาพรวมว่า นิมนต์รับภิกษา (ซึ่งเป็นคำที่หมายถึงสิ่งที่จะพึงกลืนกินทุกชนิด) หรือจะกล่าวเป็นคำภาษาไทย คือ นิมนต์เพื่อฉัน นั่นเอง ดังข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎก ที่ว่า
[เล่มที่ 40] พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๐ - หน้าที่ 109
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนา (ของท่านพระสารีบุตร) นั้นแล้ว คิดว่า "ท่านผู้เจริญ พระธรรมเทศนาน่าอัศจรรย์นัก. พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตร กล่าวเหตุแห่งความสุข, การที่เรากระทำกรรมอันยังสมบัติทั้งสอง (ให้ทานด้วยตนเอง และ ชักชวนให้ผู้อื่นให้ทาน ผลคือ ทำให้เป็นผู้เจริญด้วยวัตถุและบริวาร) เหล่านี้ให้สำเร็จ ย่อมสมควร" ดังนี้แล้ว จึงนิมนต์พระเถระว่า "ท่านขอรับ พรุ่งนี้ ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายรับภิกษาของผมเถิด." ฯลฯ
[พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 109]
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาต่อธรรมทานทั้งผู้ถามและท่านอาจารย์ผู้ให้คำอธิบายเป็นธรรมทาน แม้ผม ปัญญาน้อย เพราะคำศัพท์มีมาก แต่จะน้อมใจรับคำอรรถาธิบายทั้งหมด เพื่อทำปัญญาให้แจ้ง เพื่อความถูกต้องในทานทั้งปวงครับ สาธุ
เรียน ท่านอาจารย์ผเดิม, ท่านอาจารย์คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
ผมเข้าใจว่า key-word ของการกล่าวถวายสังฆทาน มีองค์ประกอบดังนี้
๑. การกล่าวถวายสังฆทานให้ถูกต้องมีใจความในทำนองว่า "ท่านขอรับ พรุ่งนี้ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายรับภิกษาของผมเถิด" ทั้งนี้ อย่าใช้คำในทำนองว่า “ภัตตานิ” ซึ่งปัจจุบันมีปรากฏในคำกล่าวถวายสังฆทานที่แพร่หลายอยู่ในวัดทั่วไป
๒. ก่อนกาล ในกาล หลังกาล การถวายทักขิณาทานให้ถึงสงฆ์ประกอบด้วย
๒.๑ ผู้ถวายทานต้องเป็นผู้ที่มีปกติอ่อนน้อมยำเกรงในสงฆ์
๒.๒ ถวายทานไม่เจาะจง โดยตั้งจิตให้เป็นการถวายแด่พระอริยสงฆ์ ทั้งนี้แม้ได้สามเณรผู้อุปสมบทแล้ว ภิกษุหนุ่มหรือเถระ ผู้พาลหรือบัณฑิตรูปใดรูปหนึ่ง ที่สงฆ์จัดให้มารับทานจากเราแล้ว เราก็ไม่สงสัยในบุคคลนั้นๆ โดยให้มีความมั่นคงอยู่ในการถวายทานนั้นด้วยความยำเกรงว่าเราจะถวายทานนี้แด่สงฆ์
๒.๓ มีกุศลจิตยินดีในทานนั้น และหวังในกุศลผลบุญอันพึงมีพึงได้ เช่น อธิษฐานจิตว่า นิพพานปัจจโยโหตุ แม้หากข้าพเจ้ายังต้องเวียนว่ายฯ อยู่ก็ ขอทานนี้จงเป็นพละปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้พบพระพุทธศาสนาทุกภพทุกชาติ ซึ่งต่างจากการหวังผลไปในทางโลภ
๓. ปัจจัยที่จะถวายต้องได้มาด้วยดี ด้วยชอบ ด้วยสุจริตและบริสุทธิ์
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับต่อจากความเห็นที่ 14
ผมขอความรู้เพิ่มเติมจากท่านผู้รู้ทุกท่านด้วยครับว่า
๑. กรณีเมื่อเป็นการถวายสังฆทานที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว สงฆ์ผู้รับสังฆทานนั้น ที่ถูกต้องทำการอุปโหลกสังฆทานหรือไม่ครับ
๒. กรณีตักบาตรพระตามปกติ หากเราอ่อนน้อมยำเกรงในสงฆ์ และไม่เจาะจง โดยตั้งจิตให้เป็นการถวายแด่พระอริยสงฆ์ไว้ครบถ้วนแล้ว การตักบาตรนี้สามารถเป็นสังฆทานหรือไม่ อย่างไรครับ
๓. วันนี้เป็นวันพระ และเมื่อเช้างานยุ่งมากครับ แต่ผมรีบทานข้าวก่อนยามวิกาล ต่อมาประมาณ ๑๓.๓๐ น. ผมได้อาราธนาอุโบสถศีล ผมทำเช่นนี้ได้หรือไม่ อย่างไรครับ
ขออนุโมทานในกุศลจิตของทุกท่านครับ
จากความเห็นที่ 15 ข้อ ๑ เกี่ยวกับคำว่า "อุปโหลก"
คำนี้ (อุปโหลก) มาจากคำเดิมว่า อปโลกน (อะ ปะ โล กะ นะ คนไทยลิ้นไทย แปลงเสียงเป็น อุปโหลก) แปลว่า การบอกกล่าว การประกาศให้ทราบ การแจ้งเพื่อให้รับทราบ ท่านจัดเป็น "สังฆกรรม" ชนิดหนึ่ง
ในการถวายของกินของใช้ให้เป็นของสงฆ์ ที่เรานิยมเรียกกันว่า "สังฆทาน" นั้น สงฆ์ท่านจะตกลงกันว่าจะแจก จะแบ่งของนั้นกันอย่างไร หรือจะเอาของนั้นไปทำอะไร อย่างไร วิธีการที่สงฆ์ท่านตกลงกันนั่นแหละ เรียกว่า อปโลกน์ เรียกเต็มๆ ว่า อปโลกนกรรม (อปโลกน + กรรม)
อปโลกน์จึงเป็นขั้นตอนที่ของกินของใช้นั้น "เป็นของสงฆ์" คือ "เป็นสังฆทาน" ไปเรียบร้อยแล้ว มิใช่เป็นขั้นตอนหนึ่ง หรือเป็นพิธีกรรมชนิดหนึ่งที่ทำเพื่อให้ของนั้น กลายสภาพเป็นสังฆทานขึ้นมา ดังที่คนส่วนมากมักเข้าใจผิดๆ คือเข้าใจไปว่า ถ้าไม่ "อุปโหลก" ของนั้นก็จะไม่เป็นสังฆทาน
ขออนุโมทนาต่อทุกท่านที่เข้าใจเรื่องสังฆทานถูกต้องครับ
เรียน ความเห็นที่ 17
ขอเรียนชี้แจงว่าตามความเห็นที่ 15
ข้อ ๑. ของผมมีที่มาจากประสพการณ์ร่วมถวายสังฆทาน โดยเฉพาะกรณีมีการนิมนต์พระคุณเจ้าตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปให้มารับสังฆทาน ปรากฏว่าบางวัดพระคุณเจ้าก็ทำการอุปโลกน์สังฆทานขอมติสงฆ์ เพื่อแจกจ่ายทานนั้นขึ้นไปสู่พระเถระเหนือตน และพระที่ลดหลั่นลงมาจากตนจนไปถึงฆาราวาส แต่บางวัดก็ไม่ได้ทำ ผมเกรงว่ากรณีไม่มีการอุปโลกน์สังฆทาน แล้วชาวบ้านนำของสงฆ์มารับประทานจะเป็นบาป ที่ถูกต้องแล้วอย่างไรครับ (ได้ยินมาว่าผู้ใดรับประทานของสงฆ์หรือใช้ของสงฆ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้นั้น ต้องไปเกิดเป็นเปรตชั่วกัปชั่วกัลป์ครับ)
อนึ่ง ขอขอบพระคุณที่ท่านกรุณาบอกที่มาของคำว่า "อุปโหลก" ซึ่งที่ถูก แล้วต้องเขียนว่า "อุปโลกน์"
ขออนุโมทนาครับ
การเกิดเป็นเปรตด้วยผลของอกุศลกรรม ถ้าเป็นคนดูแลวัด ช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของวัด ฯลฯ พระภิกษุนั้นก็สามารถให้ได้ เช่น อาหาร ท่านสละแล้ว ท่านทิ้งแล้ว ก็สามารถเอาไปรับประทานได้ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นของสงฆ์ส่วนรวมยังไม่ได้แบ่งพระภิกษุ แล้วเอาไปรับประทาน มีโทษมาก ทำให้เกิดเป็นเปรตค่ะ
ต่อความเห็นที่ 19
เมื่อของสงฆ์ส่วนรวมที่ยังไม่ได่แบ่งภิกษุนี้มีโทษมากแล้ว ดังนั้น หากผมถือปฏิบัติว่าวัดใดทำการรับสังฆทานจากทายก-ทายิกาแล้ว แต่สงฆ์มิได้ทำการอุปโลกน์ สังฆทานนั้นๆ ผมจะรีบกลับบ้าน โดยไม่เข้าไปแตะต้องทานใดๆ นั้นอีกเลย เพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดของสงฆ์อันมีโทษมากเกิดแก่ผม ส่วนวัดใดที่สงฆ์ทำการอุปโลกน์สังฆทานแล้ว ผมอาจเข้าไปร่วมประเคนของแด่สงฆ์ และอยู่รับทานอาหารที่สงฆ์ได้ทำการแจกจ่ายแล้วร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆ พร้อมพูดคุยกับผู้ที่คุ้นเคยไปด้วย นอกจากนี้ เนื่องด้วยธรรมะเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ชั่วชีวิตเราอาจมีการล่วงละเมิดของสงฆ์โดยที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น หากมีโอกาสผมก็จะทำการชำระหนี้สงฆ์อยู่เป็นประจำ การถือปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ
ขออนุโมทานในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
เรียน ความคิดเห็นที่ 18 ด้วยความเคารพ
๑. การอปโลกน์ เป็นสังฆกรรม คือพิธีการอย่างหนึ่งของสงฆ์ ใช้ในการประกาศ หรือแจ้งเรื่องราวบางอย่างหรือข้อตกลงบางอย่างให้สงฆ์ด้วยกันทราบ เป็นต้น การ อปโลกน์ ไม่ใช่พิธีการทำของที่ถวายแก่สงฆ์ให้สำเร็จเป็นสังฆทาน (การสำเร็จเป็น สังฆทาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการอปโลกน์) และไม่ใช่พิธีการที่จะทำให้ชาวบ้านรับประทานอาหารที่ถวายเป็นของสงฆ์แล้วได้โดยไม่มีโทษ ดังที่บางท่านเข้าใจ
๒. อาหารที่พระท่านฉันแล้ว คือตั้งวางไว้ในวงหรือบนโต๊ะที่ท่านนั่งฉัน เมื่อพระ ท่านฉันเสร็จ ไม่ว่าอาหารจานนั้น ถ้วยนั้นท่านจะได้ตักฉันหรือไม่ได้ตักเลยก็ตาม ตามพระวินัยถือว่า "เป็นเดน" ไปแล้ว ถือว่าเป็นของที่ท่านจะต้องทิ้ง เก็บไว้ไม่ได้ จึงอยู่ในสภาพที่ญาติโยมชาวบ้านสามารถรับประทานได้ทันที ไม่ขึ้นอยู่กับการอปโลกน์ หรือไม่ได้อปโลกน์ใดๆ ทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ส่วนไหนที่ท่านแสดงเจตนาจะเก็บไว้ฉัน มื้อเพลวันนั้นอีก ก็ยังเป็นสิทธิ์ของท่าน เพราะท่านมีสิทธิ์ฉันได้จนถึงเที่ยงวัน
๓. หลักพระวินัยอีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับอาหาร คือ อาหารที่บิณฑบาตได้มา หากตนเอง (คือตัวพระภิกษุรูปนั้น) ยังไม่ได้ฉัน ฆราวาสมาเอาไปกินก่อน ถือว่ามีโทษ ท่านอนุญาตให้เฉพาะบิดามารดาของพระภิกษุรูปนั้นเท่านั้น ที่สามารถกินของนั้นได้ก่อน (พระบิณฑบาตมาเลี้ยงพ่อแม่ ไม่ผิดวินัยครับ มีพุทธานุญาตไว้)
ขออนุโมทนาที่ช่วยกันศึกษาเรียนรู้ครับ
เรียน ความคิดเห็นที่ 22 ด้วยความเคารพ
กระผมเข้าใจว่า คำว่า "ชำระหนี้สงฆ์" เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นในภายหลังเพื่อใช้เรียกการบริจาคทรัพย์ด้วยเจตนาเฉพาะอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อตนเข้าไปทำกิจ ใดๆ ในวัดแล้วใช้บริการสาธารณะที่วัดนั้นๆ จัดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ญาติโยม เช่น น้ำ ไฟ (อาบน้ำในวัด ใช้ไฟแสงสว่าง เปิดพัดลม ฯลฯ) เป็นต้น ก็เกิดความรู้สึกว่า น้ำ ไฟ เป็นต้นนั้นเป็นของสงฆ์ และตนได้เข้าไปใช้ของสงฆ์ซึ่งตนไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ (เพราะเราไม่ใช่พระภิกษุสามเณร) แม้จะเป็นความเมตตาของสงฆ์ในวัดนั้นที่อนุญาตให้ใช้ได้ แต่เมื่อสิ่งนั้นเป็นของสงฆ์ ก็ย่อมไม่พ้นที่จะได้ชื่อว่า "ใช้ของสงฆ์" เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ก็อาจจะไม่สบายใจ เหมือนกับว่า เป็นหนี้สงฆ์อยู่ จึงเกิดกุศลจิตที่จะบริจาคทรัพย์เป็นทำนองว่าจะปลดเปลื้องหนี้อันนั้น และจึงได้เรียกอาการที่บริจาคทรัพย์ด้วยเจตนาเช่นนั้นว่า "ชำระหนี้สงฆ์" การชำระหนี้สงฆ์ตามเจตนาดังกล่าวนั้น ความจริงแล้วก็เป็นการทำบุญ ประเภททานมัย (บุญที่เกิดจากการให้ การบริจาค) นั่นเอง เมื่อเป็นบุญอยู่ในตัว แล้วเช่นนี้ และทำด้วยเจตนาที่เป็นกุศล จึงย่อมสำเร็จผลสมตามเจตนา แม้ไม่ต้องคิดว่าชำระหนี้สงฆ์ได้หรือไม่ได้ ผู้ทำก็คงได้บุญอยู่นั่นเอง ทำไปเถิดครับ มีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษเลย กระผมขออนุโมทนาด้วยอย่างยิ่ง (ตัวกระผมเอง ก็ทำบุญด้วยเจตนาเช่นนี้อยู่บ่อยๆ )
ทั้งหมดนี้กระผมตอบโดยอิงอาศัยความเข้าใจจากการที่ได้ศึกษามา แต่ไม่ได้อ้างอิงคัมภีร์ เพราะเชื่อแน่ว่าชาวบ้านธรรมะที่ช่ำชองในการค้นคัมภีร์ มีอยู่หลายท่าน ท่านคงจะช่วยค้นหลักฐานที่ถูกต้อง (ถ้าประเด็นนี้มีอยู่ในคัมภีร์) มาชี้แนะเป็นวิทยาทานตามคำขวัญของชาวเราที่ว่า "เราดูแลกันและกัน" (เป็นข้อความของท่าน วินิจ กระผมอุปโลกน์เอาเองให้เป็นคำขวัญของชาวบ้านธรรมะครับ)
คำว่า อปโลกน์ นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒
กำหนดให้เขียนได้ทั้งสองแบบ คือ อปโลกน์ (ไม่มีสระอุที่ อ อ่าง) ก็ได้ อุปโลกน์ (มีสระอุที่ อ อ่าง) ก็ได้ แต่คำเดิมในภาษาบาลีเป็น อปโลกน กระผมชินกับการเขียนตามคำเดิมเท่านั้นเอง มิได้แปลว่าเขียนเป็น อุปโลกน์ ผิดหรอกครับ ใช้ได้ทั้งสองคำ
อนึ่ง ขออนุญาตแทรกความเห็นนอกประเด็นไว้ตรงนี้สักหน่อย คือ กระผมมีความคิดที่อยากจะให้มีมุมกระทู้อะไรสักมุมหนึ่ง ที่ชี้แนะกันและกันเรื่องการใช้ ภาษาไทยในการเขียนแสดงความคิดเห็นทางกระดานสนทนานี้ อย่างเช่น ในความคิดเห็นที่ 18 คำว่า ประสพการณ์ ที่ถูกจะต้องสะกดว่า ประสบการณ์ (สบ บ ใบไม้ ไม่ใช่ สพ พ พาน) และกระผมเห็นในกระทู้แห่งหนึ่ง เขียนว่า อายุไข ในความหมายที่ควรจะเขียนว่า อายุขัย (แปลว่า การสิ้นอายุ, อัตรากำหนดอายุของคนในแต่ละยุคสมัยว่าร่างกายสามารถจะดำรงอยูได้กี่ปี) หรือข้อความในความคิดเห็นที่ 18, 20 และ 22 ในกระทู้นี้เอง ทุกคำที่จะต้องมีสระอือ เช่น เมื่อ เพื่อ เรื่อง จะพิมพ์เป็น เม่อ เพ่อ เร่อง ถ้าไม่เป็นเพราะแป้นพิมพ์มีปัญหาตรงสระอือ ก็แปลว่าเกิดจากความพลั้งเผลอ ดังนี้เป็นต้น ถ้ามีมุมกระทู้ดังที่กระผมคิด (อาจจะตั้งชื่อว่า "ภาษาไทยในภาษาธรรม" อะไรทำนองนี้) เราก็จะช่วยดูแลกันและกัน ในเรื่องการใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี ชาวอื่นที่ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมะมาอ่านเข้า เขาก็จะได้ไม่นึกยิ้มๆ อยู่ในใจว่า "พวกสนใจแต่ธรรมะก็เป็นอย่างนี้แหละ" แต่ทั้งนี้ก็จะต้องคงหลักการที่ว่า ที่นี่เป็นเวทีสนทนาธรรม ไม่ใช่เวทีภาษาไทย ถ้าความคิดเห็นของกระผมนอกเรื่อง ผิดวัตถุประสงค์ ก็กราบขออภัยครับ
จุดมุ่งหมายของทาน ก็เป็นไปเพื่อการสละ ทานใดที่ผู้ให้ยังหวังผล (มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ) ในทาน ยังไม่ถือว่าเป็นบารมี เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ก็นับเป็น กุศลธรรมดาๆ เพียงพอต่อมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ ถ้าเราให้ทานโดยเจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่งๆ แสดงว่าเรายังหวังผลในการให้ แต่ถ้าให้โดยไม่หวังผล คือให้แล้ว สละแล้ว ของนั้นไม่่ใช่ของเรา และไม่สนใจว่าใครจะรับ รับแล้วเอาไปทำอะไรเป็นเรื่องของท่าน จึงนับเป็นสังฆทาน เพราะถ้าเรายังหวังผลของทาน แสดงว่ายังไม่มีปัญญาเห็นภัยในวัฎฏะ คือยังอยากอยู่เสวยสุขในวัฏฏะไม่ว่าจะเป็นมนุษย์สมบัติหรือสวรรค์สมบัติ ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่ที่คำกล่าว ความเห็นผมไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่าครับ
ขออนุโมทนาสำหรับความเห็นที่ 23 ครับ
ผมพิมพ์ตัวอักษรตกหล่นไว้จริงๆ ด้วยครับ และก็ถูกต้องครับการใช้ภาษาไทยไม่ว่าที่ใดควรต้องใช้ให้ถูกต้องจริงๆ ครับ เห็นด้วยกับ ความเห็นที่ 23 ครับ สำหรับคำว่า ประสบการณ์ ต้องใช้ตัว " บ " สะกดครับ ส่วนคำว่า ประสพเคราะห์กรรม ต้องใช้ตัว " พ " สะกดครับ ผมเผลอไปจริงๆ ครับ (ฉลาดน้อยก็แบบนี้แหละครับ) ส่วนคำว่า "อุปโลกน์" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพิมพ์ครั้งที่ สามสิบไม่ปรากฏคำนี้อยู่ มีแต่คำว่า "อปโลกน์ " ปรากฏอยู่หน้าที่ 991 ครับ
สำหรับความเห็นที่ 24
ผมขอเรียนดังนี้ครับ แม้คำถามของผมฟังดูแล้ว อาจไม่ใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์สำหรับการสละละวางสักเท่าใด แต่ที่ผมกังวลจริงๆ คือ เมื่อไม่รู้ธรรมแล้ว ผู้ใดเผลอไปใช้ของสงฆ์ซึ่งมีโทษมาก และยิ่งหากไม่มีหนทางแก้ไขด้วยแล้ว ผู้นั้นก็คงไม่ได้ทั้งมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติดอกครับ ที่จะได้เกรงว่าจะเป็นทุคติภูมิ เป็นที่ไปครับ ด้วยความเคารพท่านอย่างยิ่งครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านครับ
เรียน ความคิดเห็นที่ 25 ด้วยความเคารพ
พจนานุกรมที่กระผมอ้างอิง คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด (พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖) คำว่า อปโลกน์ ที่เป็นคำตั้ง (คือคำที่พิมพ์ตัวหนา เรียงไว้ข้างหน้า) ปรากฏในหน้า ๑๓๓๐ คำว่า อุปโลกน์ ที่เป็นคำตั้งปรากฏในหน้า ๑๓๓๐ และหน้า ๑๓๘๗ (ความหมายอาจกว้างแคบต่างกันอยู่บ้าง แต่สรุปว่าเขียนได้ทั้งสองแบบ) เข้าใจว่าพจนานุกรมฉบับที่คุณ oj.simon อ้างถึง คงจะเป็นฉบับเก่า ปรกติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะอ้างฉบับด้วยเลข พ.ศ. เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ และ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๒ ปัจจุบันนี้ทางราชการให้ใช้อ้างอิง จากฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๒ ครับ ส่วน ๒ ฉบับแรกนั้นยกเลิกการใช้อ้างอิง กราบขออภัยญาติธรรมที่ต้องการจะสนทนาเนื้อหาทางธรรม ถ้าจะกรุณาระลึกว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้น สาตฺถํ พร้อมทั้งอรรถะ (ความหมาย) สพฺยญฺชนํ พร้อมทั้งพยัญชนะ (ถ้อยคำ) ก็คงจะอภัยได้ เพราะก็ยังไม่นอกกรอบขอบเขตของหลักที่ท่านกำหนดไว้
ขออนุโมทนาครับ