กถาวัตถุ 10 กับ วิสุทธิ 7
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 387
…………………..
ข้อนั้นพึงทราบโดยนัยนี้. จริงอยู่
ในวิสุทธิทั้งหลาย
สีลวิสุทธิอย่างเดียวก็มาเป็นกถาวัตถุ ๔ คือ
อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา อสังสัคคกถา สีลกถา.
จิตตวิสุทธิอย่างเดียวก็มาเป็นกถาวัตถุ ๓ คือ
ปวิเวกกถา วิริยารัมภกถา สมาธิกถา.
อันดับแรกข้อที่ท่านย่อไว้ในวิสุทธิทั้งหลาย
ท่านก็ให้พิสดารแล้วในกถาวัตถุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
ส่วนบรรดากถาวัตถุทั้งหลาย ปัญญากถาอย่างเดียวมาเป็นวิสุทธิ ๕ คือ
ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ
. ข้อที่ท่านย่อไว้ในกถาวัตถุ ท่านให้พิสดารแล้วในวิสุทธิทั้งหลายด้วยประการฉะนี้
. เพราะฉะนั้น พระสารีบุตรเถระ เมื่อถามวิสุทธิ ๗
ไม่ถามอย่างอื่น ถามเฉพาะกถาวัตถุ ๑๐ เท่านั้น. ฝ่ายพระปุณณเถระ เมื่อจะ
วิสัชชนาวิสุทธิ ๗ ก็ไม่วิสัชชนาอย่างอื่น วิสัชชนาเฉพาะกถาวัตถุ ๑๐ เท่านั้น.
แม้ท่านทั้ง ๒ นั้น รู้แล้วเป็นผู้ฉลาดในลัทธิ พึงทราบว่า ถามและวิสัชชนา
ปัญหาในวิสัย เท่านั้น.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
กถาวัตถุ 10 คือ คำพูด ถ้อยคำที่มีประโยชน์อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละคลายกิเลส เพื่อให้ถึงการบรรลุพระนิพพาน คำพูดเหล่านี้เป็นกถาวัตถุครับ
กถาวัตถุมี 10 ประการดังนี้
1.อัปปิจฉกถา กถา คำพูด ถ้อยคำเพื่อให้ไม่มีความปรารถนา (โลภะ) หรือถ้อยคำอันเป็นไปเพื่อความมักน้อย
2.สันตุฏฐิกถา กถา คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปในความสันโดษ
3.ปวิเวกกถา กถา คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปความสงัด
4.อสังสัคคกถา กถา คำ พูด ถ้อยคำที่ไม่เป็นไปในการคลุกคลี
5.วิริยารัมภกถา กถา คำ พูด ถ้อยคำที่เป็นไปในการปรารภความเพียร
6.สีลกถา คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปในเรื่องศีล
7.สมาธิกถา คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปในเรื่องสมาธิ (สัมมาสมาธิ)
8.ปัญญากถา คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปในเรื่องปัญญา
9.วิมุตติกถา คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปในเรื่องของการหลุดพ้น
10.วิมุตติญาณทัสสนกถา คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปในเรื่องปัญญาที่พิจารณาการหลุดพ้นแล้ว พิจารณากิเลสที่ดับแล้ว เป็นต้น
คำพูดใดที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อถึงการดับกิเลส คำพูดนั้นเป็นกถาวัตถุ เพราะฉะนั้นกถาวัตถุจึงเป็นถ้อยคำที่เมื่อพูดแล้วย่อมยังให้ผู้ที่พูดและได้ฟัง ย่อมขัดเกลากิเลสในใจของผู้พูดและผู้ฟัง และย่อมทำให้ปัญญาเจริญขึ้นและละความไม่รู้ เมื่อละกิเลสเป็นลำดับก็ย่อมถึงความสิ้นกิเลสจนหมดสิ้น เพราะฉะนั้นกถาวัตถุจึงเป็นถ้อยคำ คำพูดที่ทำให้ถึงการดับกิเลสได้ครับ เป็นไปเพื่อละสละกิเลสจริงๆ ดังเช่น พระภิกษุทั้งหลายสนทนากันในเรื่องเดรัจฉานกถาอันเป็นเรื่องราวที่ไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่าเธอเป็นภิกษุผู้บวชในธรรมวินัยนี้ เรื่องเหล่านี้เธอไม่ควรพูด เพราะไม่เป็นไปเพื่อสละ ขัดเกลากิเลสเลย แต่เมื่อเธอจะพูด เธอควรพูดเรื่องราวเห็นปานนี้คือเรื่อง มักน้อย สันโดษ เรื่องความสงัด ไม่คลุกคลี..เรื่องปัญญา เป็นต้น เพราะเมื่อพูดแล้วย่อมทำให้สละกิเลสประการต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ.... กถาวัตถุ ๑๐ ประการ [ปฐมวัตถุกถาสูตร]
วิสุทธิ 7
วิสุทธิคือความบริสุทธิ์ วิเศษอย่างยิ่ง บริสุทธิ์เพราะอะไร เพราะไม่มีกิเลสจึงชื่อว่าบริสุทธิ์ เป็นวิสุทธิครับ
ขณะนี้ทุกคนมีกิเลส เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์เพราะจิตไม่บริสุทธิ์ แต่การจะถึงความบริสุทธิ์จากกิเลสได้ก็ต้องมีหนทางที่ทำให้ถึงความบริสุทธิ์จากกิเลส พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางอีกนัยหนึ่งก็คือ วิสุทธิ 7 คือหนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ วิเศษยิ่ง ด้วยวิสุทธิ 7 ประการ ซึ่งก็ต้องเป็นเรื่องของธรรมฝ่ายดีที่จะสามารถขัดเกลากิเลสอันถึงความไม่มีกิเลสคือบริสุทธิ์ที่วิสุทธิได้ครับ ที่สำคัญที่สุด วิสุทธิ 7 ต้องขาดไม่ได้คือเรื่องของปัญญา หากไม่มีปัญญาแล้วก็ไม่สามารถถึงความเป็นวิสุทธิ์คือดับกิเลสหมดสิ้นครับ
หนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ วิสุทธิ มี 7 ประการดังนี้ครับ
1. ศีลวิสุทธิ
2. จิตตวิสุทธิ
3. ทิฏฐิวิสุทธิ
4. กังขาวิตรณวิสุทธิ
5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
7. ญาณทัสสนวิสุทธิ
1.ศีลวิสุทธิ คือศีลใดอันเป็นไปในการขัดเกลากิเลสและทำให้ถึงการบรรลุธรรม ศีลนั้นเป็นศีลวิสุทธิเพราะเป็นศีลที่ทำให้ถึงความบริสุทธิ์ (วิสุทธิ) เพราะฉะนั้นหากเป็นศีลที่ไม่ได้มีความเข้าใจ ไม่มีปัญญาและไม่เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ศีลวิสุทธิครับ แต่ศีลใดเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสและขณะที่สติปัฏฐานรู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นศีลที่เป็นวิสุทธิเพราะทำให้ถึงการดับกิเลสได้ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่...วิสุทธิ ๗ -- ๑. ศีลวิสุทธิ
2.จิตตวิสุทธิ ความสงบแห่งจิตใดที่ทำให้ถึงการดับกิเลสได้หรือเป็นไปในการขัดเกลากิเลสนั่นชื่อว่าจิตวิสุทธิ เพราะเป็นจิตที่สงบและทำให้ถึงการดับกิเลสครับ
เพราะฉะนั้นความสงบแห่งจิตที่เป็นไปในการขัดเกลากิเลสจึงมีตั้งแต่ต้น ที่สงบเพียงเล็กน้อยและถึงขั้นฌาน แต่ต้องมีปัญญาเข้าใจหนทางในการดับกิเลสจึงเป็นจิตวิสุทธิครับ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็เป็นจิตวิสุทธิเพราะจิตขณะนั้นสงบและทำให้ถึงความบริสุทธิ์คือดับกิเลสด้วยสติปัฏฐานครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่... วิสุทธิ ๗ -- ๒. จิตตวิสุทธิ
3.ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ด้วยความเห็น ที่มีความเห็นว่ามีสัตว์ บุคคลนั่นเป็นความเห็นผิด ดังนั้นทิฏฐิวิสุทธิจึงเป็นปัญญาระดับสูงขั้นวิปัสสนาญาณที่เป็นการแทงตลอดสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แยกขาดจากกันว่านี่เป็นนามธรรม นี่เป็นรูปธรรมครับ อันเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นวิสุทธิคือบริสุทธิ์จากความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล บริสุทธิ์ดวยปัญญาว่ามีแต่นามธรรมและรูปธรรมครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่... วิสุทธิ ๗ -- ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ
4.กังขาวิตรณวิสุทธิ ปัญญาที่ข้ามจากความสงสัยว่าทุกอย่างเกิดตามเหตุปัจจัยครับ จึงบริสุทธิ์ วิสุทธิจากความไม่รู้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันเป็นป็นปัญญาระดับวิปัสสนาญานที่เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ
เชิญคลิกอ่านที่นี่...วิสุทธิ ๗ -- ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ
5.มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือปัญญาที่ข้ามพ้นจากกิเลสที่หลอกให้หลงที่เป็นวิปัสสนูกิเลส ซึ่งเป็นปัญญาระดับสูงที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นอุททยัพพยญาณ
เชิญคลิกอ่านที่นี่..วิสุทธิ ๗ -- ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
6.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ปัญญาที่ข้ามระดับอุททยัพพยญาณ จนถึงระดับมรรคจิตครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่... วิสุทธิ ๗ -- ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
7.ญาณทัสสนวิสุทธิ คือปัญญาระดับมรรคจิต คือสามารถดับกิเลสได้ในขณะนั้น อันถึงความบริสุทธิ์คือการดับกิเลสครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่... วิสุทธิ ๗ -- ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ
จะเห็นได้ว่าจะขาดความเข้าใจคือปัญญาไม่ได้เลยในเรื่องของวิสุทธิเพราะหากขาดปัญญาแล้ว จะถึงความสิ้นกิเลส เป็นวิสุทธิไม่ได้ครับ แต่ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจทีละเล็กละน้อย เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็จะค่อยๆ นำไปสู่ความเป็นวิสุทธิโดยไม่มีตัวตนไปทำวิสุทธิ 7 ครับ หนทางเดียวคือฟังพระธรรมในหนทางที่ถูกเท่านั้น ปัญญาจะทำหน้าที่เองครับ
สำหรับข้อความที่คุณหมอยกมากำลังเปรียบเทียบในเรื่องกถาวัตถุและวิสุทธิ 7 ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ซึ่งในเรื่องกถาวัตถุเป็นเรื่องของคำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสและถึงการดับกิเลสที่สุด ส่วนวิสุทธิคือทางแห่งความบริสุทธิ์ 7 ประการอันจะทำให้ถึงความบริสุทธิ์และดับกิเลสเช่นกัน จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกันทั้งวิสุทธิ 7 และกถาวัตถุเพราะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสและถึงความดับกิเลสเช่นกันครับ ดังนั้นข้อความที่ว่า
ข้อนั้นพึงทราบโดยนัยนี้. จริงอยู่
ในวิสุทธิทั้งหลาย
สีลวิสุทธิอย่างเดียวก็มาเป็นกถาวัตถุ ๔ คือ
อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา อสังสัคคกถา สีลกถา.
ศีลวิสุทธิ ศีลที่ทำให้ถึงความบริสุทธิ์ คือละ สละ ขัดเกลากิเลส ซึ่งอัปปิจฉกถา คือคำพูดที่เป็นไปเพื่อไม่มีโลภะ คำพูดที่เป็นไปในการมักน้อย ย่อมเกี่ยวเนื่องกับเรื่องศีล เช่น ผู้ที่มักมาก ย่อมแสดงอาการมีอิริยาบถสำรวมเพื่อให้บุคคลเข้าใจว่าเป็นผู้มีศีลสำรวม เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้มักมาก การไม่แสดงออกทางกายอย่างนั้นก็เป็นผู้มักน้อยเพราะไม่มีความปรารถนาให้คนอื่นเข้าใจผิด ศีลจึงเป็นเรื่องของกายและวาจา เพราะฉะนั้นคำพูดอันเป็นไปเพื่อความมักน้อยจึงเป็นการทำให้ถึงการละ สละกิเลสในขณะนั้น จึงเป็นวิสุทธิ เป็นศีลวิสุทธิ อันเป็นการสละ ละเพื่อถึงความสละ ขัดเกลากิเลส ถึงความบริสุทธิ์คือไม่มีกิเลสอีกโดยเริ่มจากความเป็นผู้มักน้อย หรือเป็นผู้มีศีลวิสุทธิครับ แม้ความสันโดษ ก็เป็นคุณธรรมที่แสดงออกทางกายและวาจา อันเป็นไปในเรื่องของศีล จึงเป็นศีลวิสุทธิด้วยเพราะเป็นไปเพื่อสละ ขัดเกลากิเลส ถึงความบริสุทธิ์ได้เพราะอาศัยความสันโดษด้วยความเข้าใจ อันมีปัญญาเพื่อสละกิเลสครับ ยกตัวอย่างเช่น ความสันโดษในจีวร คือเมื่อได้ก็ไม่รับเพราะของตัวเองมีพอแล้ว จึงเป็นเรื่องของกายวาจาที่เป็นศีล และเป็นศีลวิสุทธิเพราะทำให้ถึงการดับกิเลสได้เพราะมีปัญญา พร้อมๆ กับการสละ ขัดเกลากิเลสด้วยคุณธรรมประการต่างๆ มีความสันโดษ เป็นต้น
ความไม่คลุกคลี ก็เป็นเรื่องของกายและวาจาที่เป็นไปในเรื่องศีล ที่ทำให้ถึงความบริสุทธิ์ที่เป็นวิสุทธิ เป็นศีลวิสุทธิเพราะเป็นไปในการขัดเกลากิเลส อันมีปัญญาและความเห็นถูกในการขัดเกลากิเลส เห็นโทษของการคลุกคลีครับ จึงจัดอยู่ในศีลวิสุทธิ และสีลกถาคือถ้อยคำ คำพูดที่เป็นไปในเรื่องศีล ก็ย่อมจัดอยู่ในศีลวิสุทธิ แต่ต้องเป็นผู้เห็นโทษของกิเลสและมีปัญญาในความเข้าใจธรรม ย่อมพูดในเรื่องของศีล โทษของกายและวาจาที่ไม่ดีและให้เจริญกายและวาจาที่ดี รวมทั้งในเรื่องศีลที่เป็นอินทรียสังวรศีล คือการเจริญสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจก็เป็นเรื่องของศีลครับ เพราะฉะนั้นคำพูดอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสโดยการปรารภเรื่องศีลก็ย่อมถึงความวิสุทธิคือขัดเกลากิเลสได้ จึงเป็นศีลวิสุทธิครับ
ข้อความต่อมาที่ว่า
จิตตวิสุทธิอย่างเดียวก็มาเป็นกถาวัตถุ ๓ คือ
ปวิเวกกถา วิริยารัมภกถา สมาธิกถา.
อันดับแรกข้อที่ท่านย่อไว้ในวิสุทธิทั้งหลาย
จิตวิสุทธิคือความสงบแห่งจิตหรือสัมมาสมาธิอันทำให้ถึงความบริสุทธิ์ ละสละขัดเกลากิเลสจนหมดสิ้นเพราะฉะนั้นจะต้องเป็นเรื่องของปัญญาด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับในกถาวัตถุ ในปวิเวกกถา คือ กถาอันเป็นไปเพื่อความสงัด ซึ่งวิเวกมี 3 ประการ คือ กายวิเวก จิตวิเวกและอุปธิวิเวก กายวิเวกกคือความสงัดทางกาย หลีกออกผู้เดียว จิตวิเวกคือจิตที่สงบด้วยปัญญา มีฌาน เป็นต้น และอุปธิวิเวก คือความสงบจากกิเลสทั้งปวงมีพระนิพพาน เพราะฉะนั้นความสงัดที่เป็นวิเวก จึงเป็นการละ สละ ขัดเกลากิเลส ตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูงสุดคือดับกิเลสเป็นอุปธิวิเวก เพราะฉะนั้นจึงเป็นจิตวิสุทธิ เพราะเป็นความสงบจิตตั้งแต่ระดับต้นจนถึงสูงสุดครับ
วิริยารัมภกภถา คำพูดที่เป็นไปปรารภความเพียร คือจากที่เป็นอกุศลก็เพียรเป็นกุศลนั่นเอง อันให้ถึงความสงบของจิตด้วยปัญญา และที่สำคัญขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ขณะนั้นจิตสงบ พร้อมปัญญาอันทำให้ถึงการดับกิเลสได้ เพราะเป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นเป็นจิตวิสุทธิด้วยครับ ซึ่งมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นการปรารภความเพียรในขณะนั้นเพื่อถึงความเป็นวิสุทธิครับ และสมาธิกถาก็โดยนัยเดียวกัน อันเป็นคำพูดที่ปรารภให้ถึงความสงบแห่งจิต จึงเป็นจิตวิสุทธิครับ
และจากข้อความที่ว่า
ส่วนบรรดากถาวัตถุทั้งหลาย ปัญญากถาอย่างเดียวมาเป็นวิสุทธิ ๕ คือ
ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ
ปัญญากถาคือคำพูด ถ้อยคำอันเป็นไปในเรื่องปัญญา ซึ่งปัญญาก็มีหลายระดับแต่เมื่อกล่าวในวิสุทธิ 7 แล้ว ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ จะเป็นไปในเรื่องของปัญญาเท่านั้น เพราะเป็นปัญญาระดับสูงอันเป็นระดับวิปัสสนาญาณครับเพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญญา และเกี่ยวข้องกับปัญญากถาครับ เพราะเป็นเรื่องของปัญญาครับ
ซึ่งในเรื่องนี้ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถามท่านพระปุณณะเถระในเรื่องวิสุทธิ 7 คือ หนทางที่จะทำให้ถึงความบริสุทธิ์จากกิเลส ถามโดยนัย กถาวัตถุ 10 ประการ เพราะเหตุว่าท่านพระปุณณเถระท่านเป็นผู้เลิศและเป็นผู้ได้กถาวัตถุ 10 ประการอย่างชำนาญคล่องแคล่วครับ ท่านพระสารีบุตรจึงถามโดยนัยนี้ ซึ่งในความเป็นจริง วิสุทธิ 7 ก็เป็นเรื่องของศีล สมาธิและปัญญา เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้หลากหลายนัย เพราะเป็นหนทางดับกิเลส จะถามวิสุทธิ 7 โดยนัย อริยมรรคก็ได้ หรือนัยสติปัฏฐานก็ได้ หรือโดยศีลสมาธิและปัญญาก็ได้เพราะเป็นเรื่องของหนทางในการดับกิเลสทั้งหมด ตามที่กล่าวมา คือให้ถึงความบริสุทธิ์นั่นเองครับ และกถาวัตถุ 10 ประการก็เป็น คำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อละ สละ ขัดเกลากิเลสให้ถึงการดับกิเลสได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นวิสุทธิ 7 จึงสัมพันธ์กันกับกถาวัตถุ 10 เพราะเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสให้ถึงความบริสุทธิ์ สิ้นกิเลสด้วยกันทั้งคู่ ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่สำคัญ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลจริงๆ เพราะพระธรรมแต่ละคำนั้นมีคุณค่ามาก เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของกถาวัตถุ ๑๐ และ วิสุทธิ ๗ ก็ตาม ถ้าจะกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นกถาวัตถุ เพราะเป็นถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ เป็นไปเพื่อเป็นผู้มีศีล เป็นไปเพื่อการปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลเจริญกุศล เป็นไปเพื่อความเป็นผู้สิ้นโลภะ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องหรือตรงกับวิสุทธิ เพราะเหตุว่าวิสุทธิ นั้น เป็นความหมดจด หรือ เป็นความบริสุทธิ์ จะหมดจดหรือจะบริสุทธิในทันทีทันใดไม่ได้ ไม่ใช่จะเป็นไปอย่างรวดเร็วต้องอาศัยการอบรม ตั้งต้นด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะถ้าหากว่าไม่เริ่มต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจแล้ว ก็ไม่สามารถถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เลย ความบริสุทธิ์ เป็นเรื่องของปัญญา สัตว์ทั้งหลายจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ,คุณผเดิม และ ทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณมากและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม,คุณคำปั่นและทุกๆ ท่านครับ