ความสงัด ปวิเวกกถา

 
pirmsombat
วันที่  24 พ.ค. 2554
หมายเลข  18403
อ่าน  3,864

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บทว่า ปวิเวกกถํ ได้แก่ กถาเกี่ยวกับความสงัด. จริงอยู่ ความสงัดมี ๓ อย่าง คือ สงัดกาย ๑ สงัดจิต ๑ สงัดจากอุปธิ (กิเลส) ๑. ในความสงัด ๓ อย่างนั้น รูปหนึ่งเดิน รูปหนึ่งยืน รูปหนึ่งนั่ง รูปหนึ่งนอน รูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาต รูปหนึ่งก้าวไป รูปหนึ่งเดินจงกรม รูปหนึ่งเที่ยวไป รูปหนึ่งอยู่ นี้ชื่อว่า กายปวิเวก (สงัดกาย) . สมาบัติ ๘ ชื่อว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 89

จิตตปวิเวก (สงัดจิต) . นิพพานชื่อว่า อุปธิปวิเวก (สงัดจากกิเลส) . สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กายปวิเวกของผู้มีกายตั้งอยู่ในความสงัด จิตตปวิเวกของผู้ยินดีในเนกขัมมะแล้ว อุปธิปวิเวกของบุคคลผู้ไม่มีอุปธิ ผู้มีจิตบริสุทธิ์ถึงความผ่องแผ้วอย่างยิ่ง ถึงนิพพานแล้วดังนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ปวิเวกกถา คือคำพูด ถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อความสงัด วิเวก คือ ความสงัด

ความสงัดที่เป็นวิเวก มี 3 อย่างคือ

1.กายวิเวก

2. จิตวิเวก

3.อุปธิวิเวก

กายวิเวก คือ ความสงัดทางกาย ในที่นี้คือเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ เป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไปแต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ กายวิเวกเป็นเรื่องของการเห็นโทษด้วยปัญญาในการที่จะต้องอยู่กับผู้คนมากมาย เห็นคุณในการอยู่ผู้เดียว จึงเป็นผู้มีปัญญา มีความเข้าใจพระธรรมและเห็นโทษของการคลุกคลีด้วยหมู่ จึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ผู้เดียว ด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจครับ ดังนั้น ไมได้หมายความว่าผู้ที่จะอบรมปัญญาต้องเป็นผู้หลีกออกจากหมู่แต่ผู้เดียว เที่ยวไปผู้เดียว แต่เป็นเรื่องของอัธยาศัยของเหล่าสัตว์ครับ ว่าเป็นผู้มีอัธยาศัยหลีกผู้เดียวหรือไม่มีอัธยาศัยหรือกำลังที่จะเป็นผู้มีกายวิเวก แต่สำคัญที่สุดคือการมีปัญญาเข้าใจหนทางในการดับกิเลสนั่นเอ ง ย่อมเป็นทางที่จะทำให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ซึ่งสภาพธรรมไม่ได้เลือกเลยว่าจะเกิดตอนอยู่ผู้เดียวหรืออยู่กับผู้คนมากมาย ดังนั้น หากเข้าใจหนทางในการอบรมปัญญาแล้ว ย่อมทำให้ไม่ว่าอยู่ที่ใด อยู่ผู้เดียว ด้วยกายวิเวกหรืออยู่กับสิ่งต่างๆ มากมาย ปัญญาก็สามารถเกิดรู้ความจริงได้เพราะได้สะสมปัญญามานั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ค. 2554

พระพุทธเจ้าจึงไมได้บังคับให้ภิกษุทั้งหลาย หรือ อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว เป็นกายวิเวก แต่พระองค์ทรงแสดงหนทางในการอบรมปัญญา เพื่อว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหน มีสภาพธรรมก็สามารถแทงตลอด ปัญญาเกิดละกิเลสได้ในขณะนั้น ซึ่งก็มีตัวอย่างในพระไตรปิฎกมากมายที่มีผู้ที่บรรลุธรรม ท่ามกลางบริษัท ผู้คนมากมายขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครับ

จิตวิเวก คือขณะที่จิตสงบจากกิเลส สูงสุดคือขณะที่ได้ฌาน เป็นสมบัติ 8

อุปธิวิเวก คือสภาพธรรมที่สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในทุกข์ เป็นไปในกิเลส นั่นก็คือพระนิพพานครับ อุปธิวิเวก จึงเป็นความสงัดจากสังขารธรรม สงัดจากกิเลสธรรมและสภาพธรรมทีทุกอย่างคือพระนิพพานนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ค. 2554

การฟังพระธรรม การอบรมปัญญา ย่อมเป็นทำให้เป็นผู้มีความเห็นถูกและทำให้เข้าใจในการอบรมปัญญา แม้แต่ในเรื่องวิเวก ความสงัด ว่าไม่ใช่จะต้องเป้นผู้หลีกออกจากหมู่ผู้เดียวเสมอไป แต่สำคัญที่สุดคือการอบรมปัญญาเพื่อเข้าใจหนทางที่ถูกต้องเพราะหากไม่เข้าใจหนทางในการดับกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จะผู้เดียวหรือผู้คนมากมาย ก็ไม่สามารถเข้าใจความจริงในขณะนั้นที่เป็นเพียงสภาพธรรมไม่ใช่เราได้เลย แต่ถ้าเข้าใจหนทางในการดับกิเลสแล้วไม่ว่าอยู่ที่ใดก็สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ถึงการดับกิเลสได้ไม่ว่าที่ใดเลยครับ กายวิเวก จิตวิเวกและอุปธิวิเวก จึงเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริงครับ ซึ่งวิเวกจึงเป็นธรรมเครื่องขัดแกลากิเลสประการหนึ่ง อันมีความเห็นถูกเป็นสำคัญครับ การอบรมปัญญาย่อมทำให้ถึงอุปธิวิเวกคือการดับกิเลส ถึงพระนิพพานที่สุดครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 24 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิเวก หมายถึง ความสงัด ความสงัดที่ว่านี้ไม่ไ้ด้หมายถึงสถานที่ แต่เป็นสภาพจิตที่สงัดจากอกุศล สงัดจากกิเลส ซึ่งก็มีหลายระดับขั้นด้วยกัน เพราะว่าในบางแห่ง จะแสดงวิเวก (ความสงัด) ไว้ ๕ ประการ คือ
๑.ตทังควิเวก ความสงัดจากอกุศล ชั่วขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น
๒.วิกขัมภนวิเวก ความสงัดจากอกุศล ด้วยการข่มไว้ด้วยกำลังของฌานขั้นต่างๆ
๓.สมุจเฉทวิเวก ความสงัดจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่มัคคจิตเกิดขึ้นทำกิจประหารกิเลส ดับกิเลสตามลำดับมรรค
๔.ปฏิปัสสัทธิวิเวก ความสงัดจากกิเลส ซึ่งเป็นความสงบระงับจากกิเลส เป็นผลของการดับกิเลส นั่นก็คือ ขณะที่ผลจิตเกิดขึ้น
๕. นิสสรณวิเวก
ความสงัดอย่างแท้จริง คือ พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่สงัดจากกิเลส สงัดจากสังขารธรรมทั้งปวง (สังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ)
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องอาศัยการฟังการศึกษา จึงจะเข้าใจ แม้แต่ในเรื่องของวิเวกก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยนัย ๓ หรือ โดยนัย ๕ ก็ตรงกัน เพราะเป็นเรื่องความสงัดจากกิเลส สงัดจากอกุศล ไม่ใช่สถานที่ สำคัญอยู่ที่ปัญญาเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ความสงัด มีเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นต้นที่เป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงความสงัดขั้นที่สามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

หลีกเร้นออกอยู่.
..

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pirmsombat
วันที่ 24 พ.ค. 2554

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณคำปั่น,คุณเผดิม และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พรรณี
วันที่ 25 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มกร
วันที่ 11 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ