การเกิดใหม่ของพระโสดาบัน

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  26 พ.ค. 2554
หมายเลข  18424
อ่าน  188,921

บุคคลที่บรรลุธรรมเป็นโสดาบันแล้ว จะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ครั้ง และหลักของอริยบุคคลก็คือ ธรรมที่บรรลุแล้วจะไม่เสื่อม เช่น ละกิเลสอะไรได้แล้วก็เป็นอันละได้เด็ดขาดไม่กลับมามีกิเลสตัวนั้นอีก

ปัญหาก็คือ ถ้าโสดาบันบุคคลนั้นกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็แปลว่า พอคลอดออกมาก็เป็นพระโสดาบันทันที ใช่หรือไม่? ถ้าไม่ใช่ ก็แปลว่าธรรมที่บรรลุแล้วยังเสื่อมได้ ก็ขัดกับหลักของอริยบุคคลดังกล่าวข้างต้น ถ้าใช่ จะอธิบายอย่างไรหากมีผู้สงสัยว่า เด็กทารกที่ยังไม่รู้เดียงสาเลย จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร ท่านผู้ใดพบหลักฐานในคัมภีร์ที่แสดงเหตุผลในเรื่องนี้ไว้อย่างไร ขอความกรุณาชี้แนะด้วย และถ้าไม่เอา "ความคิดเห็นส่วนตัว" เข้ามาตอบ ก็จะขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นก่อนครับ ในความเป็นจริงที่เป็นสัจจะนั้น มีแต่สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป อันนี้เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ และ พระองค์ก็แสดงว่า ชีวิตก็คือขณะจิตที่เกิดขึ้นและดับไป ขณะเกิดก็คือจิตที่เกิดคือปฏิสนธิจิต และก็มีจิตอื่นๆ เกิดขึ้นสืบต่อ มีจิตเห็น มีจิตที่คิดนึก มีจิตที่เป็นอกุศล เป็นกุศล และ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องตาย ก็เป็นจิตนั่นเอง ไม่มีสัตว์ บุคคลที่ตาย เป็นจุติจิตครับ ทำกิจเคลื่อนจากภพภูมินี้ เมื่อจุติจิตดับไป เมื่อยังมีกิเลส จิตที่จะเกิดต่อก็คือปฏิสนธิจิต คือ จิตที่เกิดนั่นเอง ก็แล้วแต่ว่าเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เกิดในภพภูมิใดและบัญญัติว่าเป็นอะไร จะเป็นมนุษย์หรือเทวดา จะเห็นนะครับว่า เมื่อตายแล้วเกิดทันที เพียงแค่วิถีจิตเดียวเท่านั้นเอง คือจุติจิตไปปฏิสนธิจิตครับ ซึ่งพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ทรงแสดงว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม เมื่อเกิดกุศล เกิดอกุศลก็สะสมเป็นอุปนิสัย เช่น เมื่อมีการให้ทานก็สะสม สะสมความเป็นผู้ให้ทาน ขณะที่โกรธ ขณะนั้นก็สะสมแล้ว ทำให้ต่อไปก็โกรธง่ายขึ้นทำให้เห็นว่าทำไมบางคนโกรธง่าย เพราะเคยสะสมความโกรธ เคยเกิดจิตที่เป็นโทสะมาก่อนบ่อยๆ อันสะสมมาจากชาติก่อนๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

บางคนในโลกนี้ทำไมสนใจพระธรรม บางคนไม่สนใจพระธรรม เหตุผลคือเพราะบางคนสะสมการฟังพระธรรมมาก่อน บางคนไม่สะสมการฟัง ซึ่งก็คือจิตนั่นเองที่สะสม ที่กล่าวตรงนี้เพื่อจะย้อนไปที่เมื่อขณะที่จุติจิตเกิดคือตาย ก็เกิดปฏิสนธิจิตเกิดต่อคือการเกิด ดังนั้นสิ่งที่สะสมมาทั้งฝ่ายที่เป็นกุศล มี ปัญญา เป็นต้น และฝ่ายที่เป็นอกุศลมีกิเลส เป็นต้น ไม่ได้หายไปไหนก็เกิดสืบต่อไป ระหว่างจิต ที่เป็นจุติจิต ไปปฏิสนธิจิตครับ เพียงขณะเดียว เท่านั้น ซึ่งถ้าหากหายไประหว่างตายแล้วไปเกิด ฝ่ายอกุศลก็ต้องหายไป จากคนขี้โกรธในชาตินี้ พอจุติเกิด ปฏิสนธิเกิดต่อ เกิดเป็นบุคคลใหม่ก็กลายเป็นคนไม่โกรธเพราะไม่สะสมไปในภพหน้า ความเป็นจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นครับ เช่นเดียวกับฝ่ายกุศล มีปัญญา เป็นต้น หากชาตินี้สนใจพระธรรม เข้าใจพระธรรม จุติจิตชาตินี้เกิด ตายไป เพียงขณะเดียวเท่านั้นของจิต ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที การสะสมปัญญาไม่ได้หายไปไหนครับ ดังเช่น พระอริยสาวกทั้งหลายที่ท่านอบรมปัญญามาในอดีตชาติ เมื่อถึงชาติที่เจอพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังพระธรรม ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้า แสดงถึงการสะสมไม่ได้หายไปไหนครับ เพราะถ้าการสะสมหายไปเพียงแค่เปลี่ยนภพภูมิก็จะไม่มีทางบรรลุเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

โดยนัยเดียวกัน เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าไม่เกิน ๗ ชาติย่อมเป็นพระอรหันต์ อย่างช้าที่สุดคือ ชาติที่ ๗ หากว่าการสะสมหายไปคือความเป็นพระโสดาบันหายไปเพียงแค่ตายแล้วเกิด ซึ่งกระผมก็ได้กล่าวแล้วว่าตายแล้วเกิดเพียงจิตขณะเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นการสะสมปัญญา ก็สะสมไปกับจิตอีกขณะครับ ไม่ได้หายไปไหนเลย ซึ่งหากการสะสมปัญญา มีความเป็นพระโสดาบันหายไปเพียงตายแล้วเกิด เช่น เกิดป็นมนุษย์ เป็นทารก พระพุทธองค์จะไม่ทรงแสดงเลยครับว่าต่อไปไม่เกิน ๗ ชาติจะเป็นพระอรหันต์ เพราะการจะเป็นพระอรหันต์ได้ก็ต้องอาศัยปัญญาที่สะสมมาตั้งแต่ปัญญาเบื้องต้น ปัญญาขั้นพระโสดาบัน ปัญญาระดับพระสกทาคามี จนถึงปัญญาระดับพระอรหันต์ ดังนั้น การสะสมปัญญาไม่ได้หายไปไหนครับ สืบต่อไปที่จิต เกิดดับทีละขณะ ขณะที่จุติดับไป (ตาย) ปัญญาก็สะสมต่อไปในจิตดวงต่อไป คือ ปฏิสนธิจิต (การเกิด) ที่เกิดขึ้น

อย่างเรื่องของท้าวสักกะ ท่านได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า เรื่องสักกปัญหสูตร เมื่อพระอินทร์ท่านฟังจบท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อท่านบรรลุแล้วจุติ ท่านก็เกิด คือตายเกิดขึ้นในขณะนั้นเลยและปฏิสนธิจิตท่านก็เกิดต่อ เกิดเป็นท้าวสักกะองค์ใหม่ที่ยืนฟังพระธรรมอยู่นั่นแหละครับ แต่ท่านก็เป็นพระโสดาบันแล้ว ความเป็นพระโสดาบันของท่านก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่จิตขณะเดียวเท่านั้น ถ้าว่าตามความเป็นจริงระหว่างตายแล้วเกิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

เด็กทารกก็เช่นกัน ก่อนที่จะตายก็เพียงจุติจิตดับไป เพียงขณะเดียวเท่านั้น ปฏิสนธิจิตสืบต่อเกิดเป็นเด็กในภพภูมิมนุษย์ ความเป็นพระโสดาบันไม่ได้หายไปไหน ปัญญาไม่ได้หายไปไหน ปัญญาและความเป็นพระโสดาบันสืบต่อไปในขณะจิตต่อไปนั่นเอง

ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า กิเลสใดที่ละได้แล้วด้วยมรรค มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น กิเลสนั้นจะไม่หวนกลับมาเกิดอีกเลย ไม่ว่าชาติไหนๆ ครับ ซึ่งกระผมจะขอแสดงหลักฐานในเรื่องต่างๆ ที่อ้างอิงเกี่ยวกับความคิดเห็นนี้ในพระไตรปิฎกครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อละด้วยมรรคจิต [มหานิทเทส]


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 423

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า " กิเลสเหล่าใด อันอริยบุคคลละได้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค,เธอย่อมไม่มาหา คือไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก ; กิเลสเหล่าใด อันอริยบุคคลละได้แล้วด้วยสกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค,เธอย่อมไม่มาหา คือไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก " ดังนี้


เรื่องแรกแสดงให้เห็นว่ากิเลสที่พระโสดาบันดับแล้วจะไม่กลับมาอีก เพราะท่านดับด้วยปัญญาระดับมรรคแล้ว กิเลสนั้นจึงไม่เกิดอีกเลย เหมือนต้นไม้ที่ตัดรากแก้วแล้วถูกเผาราก ต้นไม้นั้นย่อมไม่เติบโตอีกครับ ดังนั้นความเป็นพระโสดาบันจึงไม่ได้หายไปไหน ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใดเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

อีกประเด็นหนึ่งครับ แสดงให้เห็นว่าพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ตายไปเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งคุณสมบัติของพระโสดาบันคือ ท่านจะรักษาศีล ๕ โดยไม่ขาดเลย คือไม่ล่วงศีล ๕ เลยครับ ดังนั้นเมื่อท่านเป็นพระโสดาบันแล้วตายไปเกิดในภพภูมิอื่น มีมนุษย์ เป็นต้น ท่านก็จะไม่ล่วงศีล ๕ เลย แม้เหตุแห่งชีวิต นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วครับว่าความเป็นพระโสดาบันไม่ได้หายไปไหน แม้เปลี่ยนภพภูมิไปแล้วก็ตาม ดังข้อความในพระไตรปิฎกครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 308

ถามว่า. ก็พระอริยสาวก พึงปลงชีวิตคนอื่นหรือ?

ตอบว่า แม้ข้อนั้นก็ไม่ใช่ฐานะ (ที่มีได้) ก็ถ้าใครๆ จะพึงกล่าวกะพระอริยสาวกผู้อยู่ในระหว่างภพ (ผู้ยังเวียนว่ายตายเกิด) ทั้งที่ไม่รู้ว่าตนเป็นพระอริยสาวก แม้อย่างนี้ว่า ก็ท่านจงปลงชีวิตมดดำ มดแดงนี้แล้ว ครอบครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในห้องจักรวาลทั้งหมด ดังนี้ท่านจะไม่ปลงชีวิตมดดำ มดแดงนั้นเลย. แม้ถ้าจะกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ถ้าท่านจักไม่ฆ่าสัตว์นี้ ฉันจักตัดศีรษะท่าน. แต่ท่านจะไม่ฆ่าสัตว์นั้น. คำนี้ท่านพูดเพื่อแสดงว่า ภาวะของปุถุชนมีโทษมากและเพื่อแสดงกำลังของพระอริยสาวก.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ประเด็นที่จะยกมา เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการสะสมปัญญาไม่ได้หายไปไหน แม้เป็นทารกเพิ่งเกิดท่านก็สนทนาธรรมกันได้ ลองอ่านเรื่องนี้ที่พอจะอธิบายสังเขปดูนะครับ เป็นประโยชน์มากในการเข้าใจเรื่องแม้พระโสดาบันเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วไปเกิดเป็นทารกท่านก็ยังคงเป็นพระโสดาบันอยู่ครับ ซึ่งถ้าเป็นเทวดาเกิดทันทีอันนี้เราไม่สงสัย แต่เพราะเมื่อเราเห็นเป็นทารก ดูไม่รู้เรื่อง แต่ในความเป็นจริงถ้าเป็นผู้มีปัญญาสะสมมามาก ย่อมแสดงให้เห็นได้ แม้เมื่อเป็นทารกครับ ดังเช่นพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้าย เมื่อท่านประสูติ ท่านก็รู้ว่าท่านเป็นผู้เลิศที่สุด และท่านก็ก้าวไป ๗ ก้าว กล่าวอสภิวาจา ว่าเราเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย นี่ก็แสดงถึงปัญญาที่สะสมไม่ได้หายไปไหนเลย แม้เป็นทารก ความเป็นพระโสดาบันก็ไม่ได้หายไปไหนเลย แม้เมื่อเกิดใหม่เป็นทารกครับ ซึ่งจะขอยกเรื่องในพระไตรปิฎก ประกอบเรื่องนี้ครับ

ซึ่งขอเล่าย่อๆ ว่า ราชธิดานามว่าสุมนาได้ยินเสียงคนสนทนากัน มีคำว่าธาตุ เป็นต้นซึ่งเสียงนั้นคือเสียงทารก สองคนที่เพิ่งคลอด สนทนากัน ได้ยินว่าทารกสองคนนี้ เคยเป็นพระภิกษุอบรมปัญญามาในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ภิกษุรูปหนึ่งบำเพ็ญวัตรสาราณียธรรม คือเป็นปกติผู้ให้ ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้เป็นผู้ให้ พอเมื่อเกิดอีก รูปหนึ่งที่มีปกติเป็นผู้ให้ก็เกิดในตระกูลบุตรของพระราชา อีกรูปหนึ่งที่ไม่ได้มีปกติให้ก็เกิดในท้องของนางทาสี คนรับใช้ของพระราชานั้นเอง นอนอยู่ที่นอนต่ำ ส่วนรูปที่ให้เกิดเป็นบุตรพระราชานอนอยู่ที่นอนสูง ก็เมื่อรู้ว่าอยู่ใกล้กันก็สนทนากัน โดยภิกษุรูปที่มีปกติให้เกิดเป็นบุตรพระราชาก็กล่าวกับทารกที่เป็นลูกของนางทาสีว่า เจ้าไม่เชื่อเราคือควรเป็นผู้ให้ มาบัดนี้เจ้าเลยเกิดในตระกูลต่ำ นอนที่ลาดที่แข็ง ทารกที่เป็นลูกนางทาสีที่เคยเป็นภิกษุด้วยกันมาในอดีตชาติก็พูดว่า ท่านอาศัยมานะ (ความสำคัญตน) เพราะสิ่งเหล่านี้หรือ ในความเป็นจริงแล้ว เตียงที่นอนก็เป็นเพียงปฐวีธาตุเท่านั้นคือเป็นสภาพธรรมที่แข็งเท่านั้น จึงไม่ควรทำมานะในสิ่งเหล่านี้

เชิญคลิกอ่านเรื่องราวนี้ในพระไตรปิฎกได้ที่นี่ครับ

ทารกแรกเกิดสนทนาธรรมกัน [สุมนสูตร]


จากเรื่องที่เล่ามา แสดงให้เห็นครับว่าเมื่อเป็นทารกที่เพิ่งเกิดเท่านั้นก็สนทนาธรรม เรื่องธาตุได้ แสดงว่าปัญญาที่สะสมมาไม่ได้หายไปไหนเลย ในอดีตชาติของท่าน ไม่ต้องกล่าวถึง เมื่อพระโสดาบันแล้ว เมื่อตายไปเกิดเป็นทารก ปัญญาของท่านจะหายไปและความเป็นพระโสดาบันจะหายไปครับ เพราะเป็นปัญญาระดับสูงที่ประจักษ์นิพพาน และกิเลสที่ท่านละแล้วก็จะไม่เกิดอีกต่อไปครับ คุณธรรมของพระโสดาบันจึงไม่เสื่อมไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใดและท่านเข้าใจหนทางดับกิเลสแล้ว จึงสามารถอบรมปัญญาต่อจนบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามีและพระอรหันต์ได้ อย่างช้าสุดไม่เกิด ๗ ชาติครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

พระโสดาบันพึงยังภพที่ ๘ ให้เกิด ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะที่มีได้ [วิภังค์]

ขออนุโมทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สัมภเวสี
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ประเด็นที่น่าสนใจคือ พระโสดาบันจะเกิดเป็นมนุษย์อีกได้ไหม และ จะเกิดเกิน ๗ ชาติได้ไหม

ขอให้ลองศึกษาตามหลักฐานในชั้นพระไตรปิฎกและอัฏฐกถาดังนี้ครับ

๑. อัฏฐกถาสุมังคลวิลาสินี ขยายความคัมภีร์ฑีฆนิกาย ซึ่งสามารถสอบทานได้ในฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑๔ สักกปัญหสูตร หน้าที่ 206-208 ซึ่งแสดงถึงตัวอย่างบุคคลผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ครับ และจะให้รายละเอียดอย่างพิสดารของวัฏฏาภิรตโสดาบัน (ในกรณีนี้เป็นตัวอย่างของท้าวสักกะ) น่าสนใจมากทีเดียวครับ

๒. อัฏฐกถาสัทธัมมปกาสินี ขยายความคัมภีร์ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งสามารถสอบทานได้ในฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๖๙ หน้าที่ 82 ซึ่งขยายความว่าสำหรับพระโสดาบันในกามภพ จะมีปฏิสนธิไม่เกิน ๗ ชาติ แต่สำหรับในรูปภพและอรูปภพ สามารถถือปฏิสนธิแม้มากได้ ซึ่งน่าสนใจมากอีกเช่นกันครับ

๓. พระไตรปิฎก คัมภีร์บุคคลบัญญัติ และ อัฏฐกถาปรมัตถทีปนี ซึ่งสามารถสอบทานได้ในฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๗๙ หน้าที่ 232-237 ซึ่งกล่าวอธิบายถึงภพของพระโสดาบันสามประเภทครับ ซึ่งน่าสนใจอีกเช่นกันครับ

เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้สนใจครับ อนุโมทนา สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเกิดในภพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุคติภูมิ หรือ ทุคติภูมิก็ตาม เป็นผลเนื่องมาจากยังมีกิเลสอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ตัณหา และ อวิชชา เพราะยังมีตัณหาและอวิชชา การเกิดในภพใหม่ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น เพราะบุคคลผู้ที่ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ คือ พระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์ดับตัณหาและอวิชชาได้อย่างเด็ดขาด

ประเด็นเรื่องพระโสดาบัน ก่อนอื่นควรที่จะได้เข้าใจว่า พระโสดาบัน คือใคร?

พระโสดาบัน คือ ผู้ที่ถึงพระนิพพาน เป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๑ ที่ได้ประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง ดับกิเลสได้เพียงบางส่วนตามสมควรควรแก่มรรคที่ท่านได้ ยังไม่สามารถดับได้ทั้งหมด พระโสดาบันดับความเห็นผิดทุกประการ ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ดับความตระหนี่ ดับความริษยา ดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะพระโสดาบันเป็นผู้ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป ท่านเกิดอีกอย่างมาก ไม่เกิน ๗ ชาติ เป็นผู้แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงๆ ขึ้นไป กล่าวคือ บรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด พระโสดาบัน (ไม่ใช่ปุถุชน) แต่ก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อท่านเป็นพระโสดาบัน ชีวิตก็ดำเนินไปตามปกติของพระโสดาบัน (แต่กิเลสที่ดับได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีก) จนกระทั่งถึงจิตขณะสุดท้ายในภพนั้นจะเกิดขึ้น คือ จุติจิต และเมื่อจุิติจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นทันทีคือปฏิสนธิจิต พระโสดาบันเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วย่อมเกิดในภพใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นสุคติภูมิ กับ พรหมภูมิ เท่านั้น เพราะพระโสดาบันปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องไปเกิดในอบายภูมิอีก เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นพระโสดาบัน เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ไปเกิดเป็นอนาถบิณฑิกเทพบุตร ในสวรรค์ชั้นดุสิต นางวิสาขามิคารมารดาเป็นพระโสดาบันตั้นแต่อายุ ๗ ขวบ เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ตามควรแก่กุศลกรรมที่ท่านได้กระทำแล้ว แต่การเกิดในภพใหม่ของพระโสดาบัน ไม่ใ่ช่เพราะโสดาปัตติมรรคจิต เนื่องจากโสดาปัตติมรรคจิต เป็นโลกุตตรกุศล ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในสังสารวัฏฏ์ ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ สำหรับพระโสดาบันที่ได้ฌาน เมื่อฌานไม่เสื่อมก่อนจุติ เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ก็ไปเกิดในพรหมภูมิ ตามสมควรแก่ระดับขั้นของฌานที่ท่านได้

พระโสดาบัน คือ ผู้ที่มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ความเป็นพระอริยะที่ท่านได้ จะไม่เสื่อม ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นปุถุชนได้อีก มีแต่จะมีการอบรมเจริญปัญญาสะสมปัญญาเพิ่มขึ้นเพื่อการบรรลุมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไป จนกว่าจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด การเป็นพระโสดาบัน เป็นได้ด้วยปัญญา จะขาดปัญญาไม่ได้เลย สำคัญที่เหตุ คือ การได้คบกับผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมจากกัลยาณมิตร นั้น กัลยาณมิตรสูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง และเพราะได้สะสมปัญญามาแล้วในอดีต จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ ซึ่งปัญญาที่ได้สะสมมานั้น ไม่สูญหายไปไหน มีแต่จะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ นอ.ทองย้อย, อ. ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 26 พ.ค. 2554

ที่ตั้งประเด็นว่า ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็เป็น พระโสดาบันตั้งแต่เกิดเลยใช่ไหม ก็เนื่องจากอาจมีหลักวิชาสมัยใหม่โต้แย้งว่า ทารก ตั้งแต่คลอดออกมา (หรือจะถอยไปตั้งแต่ถือปฏิสนธิเลยก็ได้) ยังไม่รู้เดียงสา ยังไม่รู้ เลยว่า กุศล อกุศล บุญ บาป ดี ชั่ว เป็นอย่างไร และอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส (ที่ตนละได้เด็ดขาดแล้วในชาติก่อน) นั้น หมายถึงอะไร อย่างไร กระนี้แล้วจะเป็นโสดาบันได้ด้วยเหตุอย่างไร นี่ประการหนึ่ง ที่ควรจะมี คำอธิบายที่ขาวกระจ่างให้คนช่างสงสัยสมัยใหม่ยอมจำนนได้ด้วยเหตุผล (กรณีไปเกิด ในกำเนิดโอปปาติกะ ไม่สงสัย เพราะไม่ต้องเป็นทารกมาก่อน และท่านก็อุปมาว่า เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น จะพูดว่าเปลี่ยนแต่รูปธรรม แต่นามธรรมไม่ได้เปลี่ยน ก็ได้ แต่ การมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้น วิชาการสมัยใหม่จะแย้งว่า นามธรรมก็เปลี่ยนไปด้วย คือ จากผู้มีสติปัญญาสามารถตัดสักกายทิฏฐิ ฯลฯ ได้ ก็กลายมาเป็นผู้ไม่รู้เดียงสา)

อีกประการหนึ่ง น่าสังเกตว่าผู้บรรลุธรรมเป็นโสดาบันที่ปรากฏในคัมภีร์นั้น ไม่มีผู้อายุต่ำกว่า ๗ ขวบเลย ตรงนี้ก็ถูกวิชาการสมัยใหม่ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากมนุษย์สามารถ เป็นโสดาบันตั้งแต่คลอดออกมาได้แล้วไซร้ ทำไมจึงไม่ปรากฏว่าเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบบรรลุธรรมเป็นโสดาบันเลย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ปุถุชนที่ไร้เดียงสานั้น สามารถจะบรรลุธรรมเป็นโสดาบันตั้งแต่คลอดออกมาได้หรือไม่? ประเด็นเหล่านี้ เราจะต้องมีคำอธิบายที่สามารถสยบข้อสงสัยได้อย่างราบคาบ ผมรู้ว่าเรามีคำตอบ แต่ที่ไม่รู้ก็คือ จะตอบว่าอย่างไรจึงจะตรงประเด็น

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

ถ้าเรานำเอาความคิดสมัยใหม่มาตัดสิน กับพุทธที่เป็นปัญญาตรัสรู้ก็คงยากครับที่จะเข้าใจได้ ดังเช่น พระพุทธเจ้าเมื่อประสูติ ยังเป็นเด็กทารก ท่านก็พูดได้และพิจารณาได้ด้วยปัญญาแล้วว่าท่านเป็นบุคคลที่เลิศที่สุดในโลก และท่านก็กล่าวอสภิวาจาวา ท่านเลิศที่สุดในโลกครับ นี่เมื่อยังเป็นเด็กทารก เพราะฉะนั้นจะเอาเด็กทารกส่วนมากที่เราเห็น ที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกิเลสมากมาย มาตัดสินรวมกันกับผู้ที่เป็นทารกแต่สะสมปัญญามากมา มีพระโพธิสัตว์และพระอริยเจ้าที่ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ว่าท่านจะไม่รู้เรื่องเหมือนกับทารก เด็กอื่นที่ไม่ใช่พระอริยะและพระโพธิสัตว์ครับ และแม้เรื่องนี้ เรื่องที่พระโพธิสัตว์ ประสูติและพิจารณาด้วยปัญญา เดินไป ๗ ก้าว และพูดเปล่งวาจาอันเกิดจากปัญญา แม้คนส่วนมาก ไม่ต้องนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เชื่อเรื่องนี้ครับ เพราะอะไร เพราะบุคคลเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจและเกิดปัญญาที่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ และที่สำคัญแม้พระพุทธเจ้าเอง ผู้มีโวหารเทศนา สามารถอธิบายธรรมได้เหนือใครในโลกก็ไม่สามารถที่จะอธิบายให้สัตว์โลกทั้งหมดได้เข้าใจความจริง ให้เชื่อตามพระองค์ให้เกิดปัญญาเข้าใจเหมือนพระองค์ ให้เชื่อในคำสอนของพระองค์ เพราะว่า ธรรมหรือความเข้าใจถูกไม่สาธารณะกับสัตว์โลกทั้งหมด เพราะสัตว์โลกบางพวกก็ไม่ได้สะสมบุญ สะสมศรัทธา สะสมปัญญาที่จะเข้าใจ มีในสมัยพุทธกาลมีพวกอัญญเดียรถีย์เป็นต้น ที่ไม่นับถือพระพุทธเจ้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2554

และจากคำถามที่ว่า

อีกประการหนึ่ง น่าสังเกตว่าผู้บรรลุธรรมเป็นโสดาบันที่ปรากฏในคัมภีร์นั้นไม่มีผู้อายุต่ำ กว่า ๗ ขวบเลย ตรงนี้ก็ถูกวิชาการสมัยใหม่ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากมนุษย์สามารถเป็นโสดาบันตั้งแต่คลอดออกมาได้แล้วไซร้ ทำไมจึงไม่ปรากฏว่าเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบบรรลุธรรมเป็นโสดาบันเลย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ปุถุชนที่ไร้เดียงสานั้น สามารถจะบรรลุธรรมเป็นโสดาบันตั้งแต่คลอดออก มาได้หรือไม่?


- คงต้องแยกเป็นประเด็นไปนะครับ

ถ้าบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วในชาตินี้ พระโสดาบันละอนุสัยกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น กิเลสนี้จะไม่เกิดอีกเลยเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อพระโสดาบันตายไป ปฏิสนธิเกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้นจะต้องไม่มีอนุสัยกิเลสตัวนี้เหมือนกันคือไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นเลย และไม่มีกิเลสที่เป็นพืชเชื้อคืออนุสัยกิเลสที่เป็นความเห็นผิด ปฏิสนธิจิตนั้นจึงไม่มีอนุสัยกิเลสประเภทนี้ นี่แสดงให้เห็นแล้วครับว่า เพียงแค่ปฏิสนธิจิตของบุคคลที่เคยเป็นพระโสดาบันมาก่อนก็ต่างกับปฏิสนธิจิตของผู้ที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน มีปุถุชนอย่างพวกเราครับ และสิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรม จะพิสูจน์ได้ ไม่ใช่การเข้าห้องแล็บหรือให้เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เห็นด้วยปัญญาครับ ในเมื่อปฏิสนธิจิตไม่มีอนุสัยกิเลสก็แสดงถึงความเป็นพระโสดาบันก็สืบต่อมาที่จิตแต่ละขณะครับ

แยกประเด็นอีกประด็นคือ

สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน จะไม่มีทางเลยที่จะเป็นพระโสดาบันตอนปฏิสนธิจิตหรือเป็นตอนคลอดครับ เพราะการบรรลุเป็นพระโสดาบันจะต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายประการคือ การได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าแต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น รูปที่เกิดขึ้นยังไม่บริบูรณ์พอที่จะมีหน้าที่รับเสียงคือได้ยิน คือ หูยังไม่เจริญเติบโต บริบูรณ์นั่นเองครับ เพราะพระสาวกต้องเป็นผู้ฟัง ศึกษาจากพระพุทธเจ้าหรือพระธรรม ไม่สามารถบรรลุในท้องด้วยตัวเองครับ และที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการบรรลุต้องอาศัยความแก่กล้าของปัญญาผู้นั้น หากปัญญาผู้นั้นไม่ถึงพร้อมจะอายุเท่าไหร่ก็ยังไม่บรรลุครับ ดังนั้นเราจะต้องมองกว้างว่าการบรรลุเป็นพระโสดาบัน จากปุถุชนเป็นพระโสดาบันจะต้องมีเหตุปัจจัยหลายประการครับ และจะเอาเรื่องที่เป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อตายไปก็ยังเป็นพระโสดาบันมาปนกับ บุคคลที่ยังไม่บรรลุเป็นพระโสดาบัน จะบรรลุตอนคลอดได้หรือไม่ครับ เอามาเปรียบเทียบตรงนี้ไม่ได้ครับเพราะประเด็นคือผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือผู้ที่ยังไม่บรรลุเป็นพระโสดาบัน เหตุปัจจัยและเหตุผลจึงต่างกันไปครับ

สำคัญที่สุด เราไม่สามารถทำให้แผ่นดินนี้ราบเรียบด้วยฝ่ามือได้ฉันใด เราก็ไม่สามารถทำให้บุคคลและสัตว์โลก มีศรัทธาและเชื่อในคำสอนของพระพุทธศาสนาเพราะพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา เป็นนามธรรมจะรู้ได้ก็ด้วยการศึกษาพระธรรมของผู้นั้นเอง จนปัญญาของผู้นั้นเกิดเองครับ พระพุทธเจ้าผู้ฉลาดในการแสดงธรรม ก็ไม่สามารถจะทำให้สัตว์โลกเชื่อได้หมดเพราะสัตว์โลกบางพวกไม่ได้สะสมปัญญาและศรัทธามาครับ ธรรมจะแจ่มแจ้งกับผู้ใดก็ต่อเมื่อผู้นั้นศึกษาพระธรรมของพระองค์จนเข้าใจครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
khampan.a
วันที่ 26 พ.ค. 2554

เรียนความคิดเห็นที่ 9 (เพิ่มเติม) ครับ

ตามหลักฐานที่ปรากฏ ในทางพระพุทธศาสนา บุคคลผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมอายุต่ำกว่า ๗ ขวบก็มี คือ พระวิลลิยเถระ ตามข้อความที่ปรากฏในวัลลิยเถรคาคา ตอนหนึ่ง คือ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 122

...เราออกบวชเป็นบรรพชิตตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ เมื่อปลงผมเสร็จ เราก็ได้บรรลุพระอรหัต... (พยัญชนะในที่นั้น แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า ชาติยา ปญฺจวสฺเสน แปลว่า มีอายุได้ ๕ ปี โดยกำเนิด) จะเห็นได้ว่าต้องเป็นผู้ได้สะสมอบรมเจริญปัญญามาพร้อมแล้ว เป็นจิรกาลภาวนาถึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ได้ และประการที่สำคัญ ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล บุคคลเป็นเพียงสมมติเพราะมีความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป เท่านั้น แม้แต่ขณะที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ท่านยังแสดงทั้งโดยขณะจิต คือ ในขณะที่มัคคจิต ผลจิตเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ในขณะจิตอื่นเลย และแสดงโดยบุคคลตามลำดับมรรค คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม คือ เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และสิ่งที่จะสามารถศึกษาและเข้าใจได้ ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจมีจริงอยู่ทุกขณะ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
govit2553
วันที่ 27 พ.ค. 2554

ได้ความรู้มากครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ลุงหมาน
วันที่ 27 พ.ค. 2554

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 18424 ความคิดเห็นที่ 9 

ที่ตั้งประเด็นว่า ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็เป็นพระโสดาบันตั้งแต่เกิดเลยใช่ไหม ก็เนื่องจากอาจมีหลักวิชาสมัยใหม่โต้แย้งว่า ทารกตั้งแต่คลอดออกมา (หรือจะถอยไปตั้งแต่ถือปฏิสนธิเลยก็ได้) ยังไม่รู้เดียงสา ยังไม่รู้เลยว่า กุศล อกุศล บุญ บาป ดี ชั่ว เป็นอย่างไร และอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส (ที่ตนละได้เด็ดขาดแล้วในชาติก่อน) นั้นหมายถึงอะไรอย่างไร กระนี้แล้วจะเป็นโสดาบันได้ด้วยเหตุอย่างไร นี่ประการหนึ่ง ที่ควรจะมีคำอธิบายที่ขาวกระจ่างให้คนช่างสงสัยสมัยใหม่ยอมจำนนได้ด้วยเหตุผล (กรณีไปเกิดในกำเนิดโอปปาติกะ ไม่สงสัย เพราะไม่ต้องเป็นทารกมาก่อน และท่านก็อุปมาว่าเหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น จะพูดว่าเปลี่ยนแต่รูปธรรม แต่นามธรรมไม่ได้เปลี่ยน ก็ได้ แต่การมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้น วิชาการสมัยใหม่จะแย้งว่า นามธรรมก็เปลี่ยนไปด้วย คือจากผู้มีสติปัญญาสามารถตัดสักกายทิฏฐิ ฯลฯ ได้ ก็กลายมาเป็นผู้ไม่รู้เดียงสา) อีกประการหนึ่ง น่าสังเกตว่าผู้บรรลุธรรมเป็นโสดาบันที่ปรากฏในคัมภีร์นั้นไม่มีผู้อายุต่ำกว่า ๗ ขวบเลย ตรงนี้ก็ถูกวิชาการสมัยใหม่ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากมนุษย์สามารถเป็นโสดาบันตั้งแต่คลอดออกมาได้แล้วไซร้ ทำไมจึงไม่ปรากฏว่าเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบบรรลุธรรมเป็นโสดาบันเลย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ปุถุชนที่ไร้เดียงสานั้น สามารถจะบรรลุธรรมเป็นโสดาบันตั้งแต่คลอดออกมาได้หรือไม่? ประเด็นเหล่านี้ เราจะต้องมีคำอธิบายที่สามารถสยบข้อสงสัยได้อย่างราบคาบ ผมรู้ว่าเรามีคำตอบ แต่ที่ไม่รู้ก็คือ จะตอบว่าอย่างไรจึงจะตรงประเด็น ขอร่วมวงสนทนาด้วยครับ

เผื่อที่จะได้เป็นข้อคิดอันประโยชน์บ้าง และขอแสดงความคิดเห็นดังนี้

พระโสดาบันบุคคลท่านได้ละ ทิฏฐิ และ วิจิกิจฉา ได้เป็นสมุจเฉท เมื่อจะปฏิสนธิในภูมิมนุษย์นั้น ก็ไม่เห็นแปลกพูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่ท่านละแล้วท่านก็ละไปแล้ว ก็เมื่อปฏิสนธิอีก ท่านก็ไม่มีเพราะท่านละไปแล้ว คือท่านก็จุติด้วยชาติที่เป็นพระโสดาบันนั่นเองและก็ปฏิสนธิด้วยพระโสดาบันนั่นเองคือจุติกับปฏิสนธิก็เหมือนกันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หมายถึงว่าสิ่งที่ละไปแล้วจะกลับมาเกิดอีก และยังหมายถึงว่าท่านก็เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดานั่นแหละครับ เพราะว่าท่านได้เป็นพระโสดาบันมาก่อน

ความคิดนี้ถ้าหากผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยเพราะเป็นความเข้าใจส่วนตัว และให้ผู้รู้แสดงความคิดเห็นขัดแย้งได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 27 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 14 ครับ

ถูกต้องครับ ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อจุติจิตของท่านเกิด ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อเป็นภพภูมิใหม่ อนุสัยกิเลส รวมทั้งสังโยชน์ ที่เป็นกิเลสที่พระโสดาบันละได้ กิเลสเหล่านี้ของท่านก็จะไม่เกิดอีกและจะไม่มีอนุสัยกิเลสที่ดับแล้วมีความเห็นผิด เป็นต้น จะไม่มีอยู่ที่จิตคือปฏิสนธิจิตที่เกิดเป็นมนุษย์แล้วอีกเลย และจิตอื่นๆ ที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตก็ไม่มีอนุสัยกิเลสที่ดับแล้วเหลืออยู่แล้วที่จะทำให้เกิดกิเลสนั้นเกิดขึ้น

ดังนั้นความเป็นพระโสดาบันก็ยังอยู่แม้ท่านจะไปเกิดเป็นมนุษย์เพิ่งปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นครับ ที่คุณลุงหมานกล่าวไว้ถูกแล้วไม่ผิดครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Yongyod
วันที่ 27 พ.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Jesse
วันที่ 27 พ.ค. 2554
ได้รับความรู้และความกระจ่างมากขึ้นเลยค่ะ   ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
akrapat
วันที่ 27 พ.ค. 2554

ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน คงต้องพูดว่า เมื่อไหร่ที่เป็นพระโสดา เมื่อนั้นท่านก็หายสงสัย แต่ ครั้นตอบอย่างนี้บางทีก็อาจจะมีคนไม่ชอบใจ

อริยมรรคจะเกิด ตลอดสังสารวัฏฏ์ นั้นไม่เกิน ๔ ครั้ง ครั้งแรก เป็นโสดา ครั้งที่ ๒ สกทา คร้ังที่ ๓ อนาคา และครั้งที่ ๔ อรหันต์ ความเป็นโสดานั้น ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดบุคคลที่บรรลุแล้ว ชาติต่อไป ถ้าไม่พักก็จะเป็น พระสกทา หรือถึงขั้นพระอรหันต์ เลยก็ได้ เพราะแม้พระโสดาบันเอง ก็แยกไปอีก ๓ ประเภท ตามอินทรีย์ของแต่ละท่าน เช่น เมื่อชาตินี้ท่านเป็นพระโสดา ชาติหน้าท่านเกิดเป็นมนุษย์อีก ยังเป็นทารกอยู่ ท่านคงไม่ทราบหรอกว่า ตัวเองเป็นพระโสดา เพราะ อินทรีย์ ๕ สัทธินทรีย์ สตินทรีย์ วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ จะไม่พอที่จะรู้ได้ เหมือนกับนกที่บินได้ แต่ฟักออกจากไข่ก็ยังบินไม่ได้ ต้องรอเวลาให้ปีกกล้า ขาแข็ง พอถึงพร้อมจะบินได้ ฉันใด มนุษย์ก็เช่นกัน ต้องคลาน นั่ง ยืน พูด ตามลำดับ เพราะการสะสมบารมี ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญบารมีมาเยอะ อินทรีย์ก็แก่กล้า มากกว่า คนทั้งหลายในโลก ท่านอาจจะยืนได้ เลยหลังจากประสูติ และมี อินทรีย์ ๕ ที่พร้อมที่จะเป็นพระพุทธเจ้า แต่เนื่องด้วยวิบากจากอดีตชาติ ระหว่างบำเพ็ญบารมี ช่วงเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านเลยต้องใช้ชีวิต เหมือน ชาวโลกคือ แต่งงาน มีครอบครัว แต่ท้ายสุดเนื่องด้วย แรงของวิถีพุทธภูมิ (พุทธบารมี ที่หลายแบบ วิริยาธิกะ ศรัทธาธิกะ ปํญญาธิกะ) ก็ต้องออกบวชเพื่อแสวงหาสัจธรรม จนบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด เหล่าสาวกของท่านก็เช่นกัน (หมายถึงพระอริยบุคคล)

ความเป็นโสดา นับเนื่องจากวิถีจิต ภายหลังจากโสดาปัตติมรรคจิตตัดประหารกิเลสเกิดแล้ว โสดาปัตติผลจิตเกิดต่อเป็นโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ ภพภูมิใดก็ตาม ยกเว้นบางภูมิ เช่น จากมนุษย์ เป็น เทวดา ซึ่งกำลังของกุศลสูงกว่ามนุษย์ และเป็นประเภท โอปะปาติกะ จึงรู้ตัวทันทีไม่ต้องใช้เวลา เมื่อชาตินี้เป็นโสดา ชาติที่สองเกิดเป็นมนุษย์อีก กว่าอินทรีย์จะแก่กล้า อาจจะใช้เวลา ๗ ปีหรือบางคนอาจน้อยกว่า ตามการสั่งสม บางท่านจะยังไม่รู้ตัว และเนื่องด้วยผลของกุศล และอกุศล ก็จะทำให้ท่านได้วนเวียน ศึกษาธรรมและปฏิบัติ เจอกัลยาณมิตรที่เป็นญาติธรรม ในอดีตชาติ หรือ (บางท่านเป็นพระอริยะที่สูงกว่าตนเอง) บางชาติอาจไม่เจอ จนในที่สุด ท่านก็รู้ตัวท่าน แต่ถึงจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เมื่อไหร่ ที่ท่านคิดจะทำผิดศีล สติและปัญญาที่ติดตัวท่านมา จะเกิดเป็นวิรัตงดเว้น กลายเป็นอริยกันตศีลเหมือนชาติก่อนที่ท่านเป็นพระโสดา และถ้าท่านพัก ไม่เพียรต่อ อริยมรรคก็จะไม่เกิด ชาตินี้ทั้งชาติ อาจจะไม่ต่างชาติปุถุชนทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างคือท่านไม่ผิดศีล

เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว นะครับ อาจจะผิดพลาดต้องขออโหสิกรรม แต่ผู้ดูแลเว็บกรุณาอย่าลบทิ้งเลย ผมรู้ว่าเจตนาท่าน ต้องการที่เผยแพร่ให้ตรงตามพระไตรปิฎก ไม่อยากให้พระธรรมผิดเพี้ยน แต่ภาษาพระไตรปิฎกมันยากไป สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน ขอใช้เป็นภาษาพูด และเป็นการแสดงความเห็นอย่าถือเป็น สรณะ

กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ล่วงเกินใคร ขออโหสิกรรมด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 27 พ.ค. 2554

ขอขอบพระคุณทุกความเห็นครับ

ปัญหานี้ผมถูก "รุก" จากคนช่างสงสัยและชอบโต้แย้ง ตอบให้เขาพอใจไม่ได้ จึงรู้สึกว่าตัวเองอ่อนด้อยในการที่จะกระทำคำสอนของพระบรมครูให้แพร่หลาย คล้ายๆ กับเรามีสินค้าที่มีคุณภาพดี แต่พอถูกลูกค้าช่างซักถามไล่ไปไล่มาก็อธิบายคุณภาพให้เขาพอใจไม่ได้ เขาก็เลยออกจากร้านเราไปมือเปล่า ตรงนี้แหละที่ "เจ็บใจ" ตัวเอง

ความคิดเห็นที่ทุกท่านกรุณาแสดงออกมา เป็นประโยชน์มากจริงๆ โดยเฉพาะที่กรุณาชี้ไปถึงหลักฐานต่างๆ ในพระไตรปิฎกนั้น ประเสริฐมาก เพราะทุกวันนี้เราอุดมไปด้วย "ความคิดเห็นส่วนตัว" หรือคำสอนของครูบาอาจารย์จนแทบจะลืมไปว่า แล้วพระพุทธองค์ท่านตรัสสอนไว้อย่างไร

ปัญหาที่ถูกรุกในลักษณะเดียวกันนี้ยังมีอีกครับ เช่น กรณีที่พระนางมัลลิกามเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลสิ้นพระชนม์แล้วไปตกนรกอยู่ ๗ วัน พระเจ้าโกศลไปเฝ้าพระพุทธองค์ตั้งพระทัยจะทูลถามว่าพระนางไปเกิดที่ไหน พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ลืมทูลถาม เพราะถ้าทูลถามในระหว่างนั้นก็จะต้องตรัสตอบตามจริงว่าพระนางตกนรกอยู่ พระเจ้าโกศลก็จะสิ้นศรัทธาว่าคนที่บำเพ็ญบุญอย่างมากมายอย่างพระนางมัลลิกายังตกนรกแล้วจะทำบุญไปทำไมกัน จนล่วงไป ๗ วัน พระนางพ้นจากนรกไปเกิดในสวรรค์แล้ว จึงทรงระลึกได้และทูลถาม เมื่อทรงทราบว่าพระนางไปเกิดในสวรรค์ก็ทรงโสมนัส

ถ้าวันหนึ่งและคืนหนึ่งในนรกเท่ากับร้อยปีในมนุษย์ (ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อน แต่เป็นอัตราเทียบในทำนองนี้แหละ) กรณีที่พระนางมัลลิกาไปตกนรกอยู่ ๗ วันของมนุษย์ก็แทบจะพริบตาเดียวในนรกเท่านั้นเอง ก็ไหนว่ากันว่าทำบาปแล้วจะต้องไปตกนรกอยู่ช้านาน ถ้าตกนรกแค่พริบตาเดียวอย่างกรณีพระนางมัลลิกา จะต้องกลัวบาปทำไม

ปัญหานี้ผมก็อธิบายเปรียบเทียบอัตราส่วนเวลาระหว่างมนุษย์กับนรกให้เป็นที่พอใจไม่ได้ ลูกค้าก็เดินมือเปล่าออกจากร้านไปอีกเช่นกัน

อันที่จริงปัญหาในลักษณะนี้หลายๆ ประเด็น คัมภีร์มิลินทปัญหาให้คำตอบที่เฉียบคมและขาวสะอาดด้วยอุปมาอุปมัย แต่ก็มีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ทราบว่าจะไปหาคำตอบได้ที่ไหน ผมขอเสนอให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายรวบรวมคำตอบปัญหาที่มีแง่มุมแปลกๆ ที่ดูขัดแย้งกันในทำนองนี้ไว้ในที่เดียวกัน จะเป็นมหากุศลอย่างมหาศาล จึงขอ "อาราธนา" มา ณ ที่นี้ และขออนุโมทนาล่วงหน้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
paderm
วันที่ 28 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 18 ครับ

เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ จะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นพระโสดาบันก็ตาม แต่ความเป็นพระโสดาบันก็เกิดกับท่านติดตามไปแม้เพียงปฏิสนธิจิตที่เกิดในภพภูมิที่เป็นมนุษย์ในภพใหม่แล้วครับ

ส่วนพระโสดาบันเมื่อเป็นพระโสดาบัน อย่างช้าที่สุดจะเกิดไม่เกิน ๗ ชาติครับ ไม่ใช่ช้าสุด ๔ ชาติ มีตัวอย่างคือท้าวสักกะท่านจะเกิดไม่เกิน ๗ ชาติ และอยู่จนครบชาติที่ ๗ ก็ปรินิพพานที่พรหมโลกชั้นสุทธาวาสครับ

ขออนุโมทนาครับที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

พระโสดาบันพึงยังภพที่ ๘ ให้เกิด ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะที่มีได้ [วิภังค์ ]

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
paderm
วันที่ 28 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 19 ครับ

ในประเด็นเรื่องพระนางมัลลิกาที่ตกนรก ๗ วัน แล้วมีผู้แย้งว่าตกนรกจะต้องตกเป็นเวลานานๆ อันนี้ไม่เสมอไปครับ ที่จะต้องตกนรกเป็นเวลานานครับ แล้วแต่กรรมที่ทำ ที่จะให้ผล ถ้าเป็นกรรมหนักก็จะอยู่ในนรกนาน ถ้าเป็นกรรมไม่หนักก็ไม่จำเป็นอยู่ในนรกนานครับ ที่สำคัญ ตามที่ผมบอกว่าแม้พระพุทธเจ้าผู้ฉลาดในเทศนาสูงสุด ก็ไม่สามารถที่จะช่วยสัตว์โลกให้เชื่อ มีศรัทธาได้ เพราะสัตว์บางพวกไมได้สะสมศรัทธามา พระองค์ทรงเลือกบุคคลที่ฝึกได้ คืออบรมปัญญามาครับ ดังนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเรากล่าวธรรมอธิบายแล้วจะเป็นสัจจะ มีเหตุผลดีแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนได้เข้าใจและเห็นตามเรา เพราะบุคคลนั้นไม่ได้สะสมศรัทธาและปัญญามา

ขออนุโมทนาครับที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
bsomsuda
วันที่ 29 พ.ค. 2554

"... เพราะว่าธรรมหรือความเข้าใจถูกไม่สาธารณะกับสัตว์โลกทั้งหมด เพราะสัตว์โลกบางพวกก็ไม่ได้สะสมบุญ สะสมศรัทธา สะสมปัญญาที่จะเข้าใจ ..."

ทุกสิ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บางทีบางคนก็ยังไม่มีเหตุปัจจัยที่พร้อมจะให้เกิดศรัทธาในธรรมะของพระพุทธองค์ค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
วินิจ
วันที่ 30 พ.ค. 2554

ด้วยความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ...

จาก คห. 10

ต้องยอมรับความจริงว่าเห็นด้วยว่าคนสมัยใหม่ ไม่ค่อยเชื่อหรอกที่ว่าพระพุทธเจ้าเดิน ๗ ก้าวตอนเกิด (ขออนุญาตไม่ใช้ราชาศัพท์เพื่อความรวดเร็วและเข้าใจง่าย) หรือแม้เรื่องคลอดเอาขาออก ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจคาดเดาได้เลยว่าอาจเสียชีวิตทั้งแม่ ทั้งลูก (เว้นแต่จะผ่าตัดช่วยชีวิตทันเพราะการแพทย์ยุคนี้ทันสมัย) ยิ่งสมัยก่อนโอกาสรอดก็ยิ่งน้อยมาก แล้วก็เรื่องมีดอกบัวเกิดรองรับตอนเกิดแล้วเดินได้ ๗ ก้าว (ต้องเป็นบัวที่เกิดบนบกด้วยและทั้งใบและดอกก็ต้องไม่ชูก้าน (ดอกและใบต้องแบนเรียบและแผ่ติดพื้น)  เพราะไม่เช่นนั้น กว่าจะก้าวข้ามได้ ก็คงเกะกะติดขัดน่าดู) ฝรั่งจึงมองว่าเป็นเรื่องเหลไหล (nonsense) รวมเรื่องที่พูดได้ตั้งแต่เกิดทั้งที่ยังไม่เคยเรียนภาษามาก่อน (และ ก็คงผิดหลักทางการแพทย์มากๆ) ดังนั้นคนสมัยนี้จึงไม่ค่อยเชื่อ เพียงแต่เขาไม่ค่อยพูด แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ, ซึ่งอย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย แม้แต่พระดังๆ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับบางรูปก็ยังพูดทำนองว่า "พระอภิธรรม" ไม่ต้องใช้ (สอน) ก็ได้ (ประมาณนี้) , จะไป "นิพพาน" ไม่ต้องใช้ "พระอภิธรรม" ก็ได้ (ทำนองนี้ ถ้าผิดขออภัย)  แล้วที่สุด สังคมพุทธก็ปล่อยให้มันแล้วๆ ไป ไม่นำมาถกสังคายนากันให้มันชัดเจนไปเลย โดยเฉพาะ สังคมไทยก็ชอบแต่อะไรๆ เทาๆ อยู่ด้วย ทำไปทำมาก็เลยมีบางกระแสก็ตีเอาประโยชน์ ปัจจุบันไปเลย, คือบอกว่า ๗ ก้าว หมายถึงพระพุทธเจ้าจะบรรลุธรรมต้องเดิน ๗ ก้าว (เล็งถึง ต้องใช้หลักธรรม "โพชฌงค์ ๗ เพื่อจะบรรลุธรรม) , หรือที่บอกว่าพูดตอนเกิดว่า "นี่เป็นชาติสุดท้าย, เราจะไม่กลับมาเกิดอีก อื่นๆ " (หมายถึง กล่าวตอนตรัสรู้ "เกิด"พระพุทธเจ้า"ไม่ใช่ "ประสูติ" เจ้าชาย "สิตธัตถะ") หรือแม้แต่คำพูดที่ว่า"พระพุทธเจ้า"ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน (สังเกตว่าไม่มี "ปริ...") วันเดียวกัน (ซึ่งหมายถึงวันที่ "พระพุทธเจ้า" ตรัสรู้"ก็หมายความถึงวันที่"พระพุทธเจ้า"เกิด (ไม่ใช่เจ้าชาย "สิตธัตถะ"ประสูติ)  และก็คือวันที่พระพุทธเจ้าบรรลุ "พระนิพพาน" ซึ่งก็คือวันเดียวกันนั่นเอง แต่ไม่ได้หมายถึงวันที่เข้าสู่การ "ดับขันธ์ปรินิพพาน")  ซึ่งก็คือว่ากันแบบ "ภาษาธรรม" (ว่ากันแบบ "ปรมัตถ์") ไปเลย เรื่องไหนข้ามชาติก็หลีกเลี่ยงไม่ต้องเอามาพูดถึงขอให้อยู่ในชาตินี้ให้ "พ้นทุกข์" มีความสุขก็พอ ตกลงแบบไหนถูกแบบไหนผิด และจะเอาอย่างไรกันดี

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
วินิจ
วันที่ 30 พ.ค. 2554

สืบเนื่องจากคห.18 + คำตอบคหฺ.20,

เข้าใจว่าการสื่อภาษาอาจคลาดเคลื่อน,

ผมเข้าใจว่าคห.18 ต้องการสื่อว่า, นับจากปุถุชนมนุษย์จะต้องผ่านการบรรลุธรรมตามแนว "พุทธ" ๔ ครั้ง, ดูเหมือนไม่ได้เน้นจำนวนชาติ, อาจจะบรรลุ ๔ ขั้นในชาติเดียวก็ได้, สรุปง่ายๆ ก็คือ จะเรียนกี่มหาลัยกี่รอบกี่ครั้งก็ตามเมื่อจบถึงป.เอกแล้วก็คงไม่ต้องย้อนไปเรียนเพื่อให้จบอีก ในสาขาวิชาเดิม, คือสรุปว่าจบแล้วจบเลยไม่เกิน ๔ ครั้ง (ถ้าทางโลกก็ต้องเปลี่ยนเป็นว่า ๓ ครั้งคือตรี, โท, เอก, แต่จริงๆ ทางโลกสามารถพลิกแพลงซับซ้อนเรียนซ้ำได้มากกว่านี้ขึ้น กับวัตถุประสงค์, เรียนตลอดชีวิตก็ได้) , ถ้าเข้าใจผิดก็ขออภัยด้วย ...

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
วินิจ
วันที่ 30 พ.ค. 2554

สำหรับคห.19,

อาจมีเข้าใจคลาดเคลื่อนเช่นกันหรือเปล่า?,

เคยทราบมาว่า, "สวรรค์" ความหมายคือ"สุข", ต่อยอดจาก"ไอสไตน์-เวลาเป็นสัมพัทธภาพ", ดังนั้น ความสุขย่อม ผ่านไปเร็ว (เป็นสัมพัทธภาพเช่นกัน) , ๑ วันสวรรค์อาจ = ๑๐๐ วันหรือ ๑๐๐ ปีมนุษย์ (แต่ ๑๐๐ ปีมันจะหนักข้อไปหน่อย, ตัวเลขไม่รับรอง, เอาแต่หลักการก็แล้วกัน) , ส่วน"นรก" คือ "เร่า ร้อน", ดังนั้น ความทุกข์ย่อมผ่านไปอย่างเชื่องช้า (เป็นสัมพัทธภาพเช่นกัน) , ดังนั้น ๑๐๐ วันหรือ ๑๐๐ ปีนรกอาจ = ๑ วันมนุษย์ (ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนเช่นกัน) , สรุป:-

๑. สวรรค์จะพูดว่า"อ้าวเวลามนุษย์ผ่านไป ๑๐๐ วันแล้วรึ? ทำไมฉันรู้สึกเหมือนพึ่งผ่านไปวันเดียว!?!"

๒. นรกจะพูดว่า"อ้าวนี่แค่วันนึงของมนุษย์เองหรือนี่, ฉันทุกข์ทรมานมาก, ทำไมมันรู้สึกเวลาผ่านไปช้าอย่างนี้, ยังกะผ่านไปตั้ง ๑๐๐ วันแน่ะ!!! แล้วเมื่อไหร่จะสิ้นสุด เวลาการลงโทษเสียทีนะ?"

คงพอเห็นภาพเปรียบเทียบบ้างแล้วนะครับ, ถ้ายังนึกไม่ออกก็ขออภัยด้วย ...

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
pamali
วันที่ 30 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 23 และ 24 ครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงเรื่องข้ามภพ ข้ามชาติด้วยและแสดงโดยนัยที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่สืบเนื่องกันไปในปัจจุบันด้วยครับ ไม่ใช่เพียงชาตินี้ ขณะนี้เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีการอบรมบารมีของพระพุทธเจ้าที่เกิดเป็นบุคคลต่างๆ ในอดีต ทำความดีต่างๆ มามากมาย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาลอยๆ ชาติเดียวแล้วก็ดับนิพพาน ในชาตินี้ทันทีครับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจธรรม ย่อมเข้าใจความจริงว่า พระองค์ทรงแสดงทั้งสองนัยครับ อันแสดงถึงชาติหน้ามีจริงและชาติก่อนมีจริง แต่มีจริงเพราะมีสภาพธรรมที่เป็น จิต และ เจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไปครับ ขอนุโมทนา

ส่วนประเด็นใน ความเห็นที่ 24 ใช่ครับ เผอิญผมอ่านไม่ละเอียด เป็นอย่างผู้ที่แสดงความคิดเห็น กล่าวไว้แล้วครับ

ขออนุโมทนาที่ช่วยให้ละเอียดขึ้นครับ ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
akrapat
วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขอขอบคุณ และอนุโมทนา กับอาจารย์ paderm นะครับ สำหรับความเห็นเพิ่มเติม "เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ จะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นพระโสดาบันก็ตามแต่ ความเป็นพระโสดาบันก็เกิดกับท่านติดตามไปแม้เพียงปฏิสนธิจิตที่เกิดในภพภูมิที่เป็นมนุษย์ในภพใหม่แล้วครับ"

ส่วนพระโสดาบันเมื่อเป็นพระโสดาบัน อย่างช้าที่สุดจะเกิดไม่เกิน ๗ ชาติครับ ไม่ใช่ช้าสุด ๔ ชาติ มีตัวอย่างคือท้าวสักกะท่านจะเกิดไม่เกิน ๗ ชาติ และอยู่จนครบชาติที่ ๗ ก็ปรินิพพานที่พรหมโลกชั้นสุทธาวาสครับ ขออนุโมทนาครับ ร่วมสนทนา

ผมเห็นด้วยครับ กับความเห็นของท่าน แต่ในความหมายของผม ผมหมายความว่า ถ้าชาติที่แล้ว อริยมรรคเกิด (มรรคญาณและผลญาณในวิปัสนาญาณ ๑๖ ขั้น) และเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ปฏิสนธิจิตก็จะติดตัวไปกับท่าน แต่ในชาตินี้ถ้าท่านพัก คือไม่เพียร อริยมรรคจะไม่เกิดอีกคร้ัง แต่ความเป็นพระโสดายังคงอยู่ แต่ถ้าท่านเป็นพระโสดาที่อินทรีย์แก่กล้า ดังพระสูตรที่ท่านยกมา อริยมรรคก็จะเกิด แต่ท่านก็จะเป็นพระสกทาคา อนาคา หรือ อรหันต์ ตามลำดับตามการสั่งสมบารมีอริยมรรคจะเกิด ตลอดสังสารวัฏฏ์นั้นไม่เกิน ๔ ครั้ง ตลอดสังสารวัฏฏ์ ฉะนั้น ในชาติที่แล้วถ้า อริยมรรคเกิด (โสดาปัตติมรรคจิต ในญาณ ๑๔ เกิด และ โสดาปัตติผลจิต ญาณ ๑๕) เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ขบวนการดังกล่าวจะไม่เกิดอีก ถ้าจะเกิดก็เป็นพระสกทาคามีเลย เพราะฉะนั้น ที่ผมบอกว่า พระโสดาบางท่านอาจจะไม่รู้ตัว ในชาตินี้ว่าชาติที่แล้วเคยเกิดอริยมรรค แต่เนื่องด้วยวิถีจิตของท่านก็ยังให้ท่านอยู่เส้นทางธรรมเหมือนเดิม คือจะไม่กลับไปทำผิดศีล ๕ อีก ก็เพราะปฏิสนธิจิตที่ท่านอาจารย์ paderm กล่าวข้างตนนั่นแหละยังคงให้ท่านเป็นพระโสดาบัน

สิ่งนี้เอง ทำให้ผมตระหนักเสมอ ว่าคนรอบข้างแต่ละคนเราไม่รู้ว่า สั่งสมบารมีมาแต่อดีตชาติมามากแค่ไหน จึงไม่กล้าตัดสินใครแต่ภายนอกหรือแม้เพียงคำพูดไม่กี่คำ แม้ว่าชาตินี้เขาเหล่านั้นเองเพิ่งจะเริ่มศึกษาธรรมะ แต่การศึกษาอาจจะเป็นการต่อยอดจากชาติที่แล้ว ก็เป็นได้

แม้ ท้าวสักกะเอง ตามพระสูตรที่ท่านกล่าวถึง ตัวท่านเป็นพระโสดาอีกประเภทหนึ่งที่มีบุญญาธิการมาก คือท่านอธิษฐานต้องการใช้ชีวิตในสารวัฏฏ์ให้นานที่สุด เพราะท่านมีโอกาสได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ก็มีนางวิสาขา อีกคนผมจำชื่อไม่ได้ แต่ก็จะไม่เกิน ๗ ชาติ

เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว นะครับ ผมเองก็เป็นลูกศิษย์บ้านธัมมะ มา ๓-๔ ปี แต่ก่อนหน้านั้นก็ไปมาหลายสำนัก ชอบศึกษามาตั้งแต่เด็ก ช่วงแรกที่มาศึกษากับ ท่าน อ.สุจินต์ ก็นึกว่าครูบาอาจารย์สำนักอื่น สอนผิดแต่เมื่อกลับไปดูก็ถึงบางอ้อ ครูบาอาจารย์สายพระป่าสมัยนั้นท่านไม่ได้เรียนพระไตรปิฎก (บางรูปนะครับ) แต่ท่านเรียนสภาวธรรมล้วนๆ (ปรมัตถ์) ซึ่งคล้ายๆ กับลองผิด ลองถูกมาด้วยตัวเอง เมื่อพิจารณาก็เลยพอเข้าใจว่า ปรมัตถธรรม คืออันเดียวกัน เพียงแต่ครูบาอาจารย์ บางท่านไม่รู้ชื่อก็เท่านั้นเอง

อนุโมทนากับ อ. paderm และทุกๆ ท่านด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 28 ครับ

ขออนุโมทนาคุณ akrapat ด้วยครับ ที่สนใจในพะรธรรมและร่วมสนทนาธรรมครับ

ประเด็นเรื่องการบรรลุเป็นลำดับขั้น เป็นไปตามที่คุณ akrapat กล่าวถูกต้องแล้วครับ

ขออนุญาตเรียนสนทนาในเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้ถึงการบรรลุธรรมครับ

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่า พุทธ มี ๓ คือ สัมมาสัมพุทธ ปัจเจกพุทธ และสาวกพุทธ พุทธ ๒ ประเภทแรก ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ไม่ต้องอาศัยการฟังธรรมจากใคร ปฏิบัติด้วยตนเองและรู้ได้ ส่วนสาวกพุทธ คือ ผู้ที่ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า โดยสาวกแปลว่าผู้สำเร็จด้วยการฟัง ดังนั้นเมื่อเป็นสาวกพุทธ ก็ต้องเป็นผู้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมจึงจะบรรลุได้ ดังนั้นผู้ที่จะบรรลุธรรมในสมัยนี้ ด้วยตนเองโดยไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่ลองผิดลองถูกและบรรลุด้วยตนเอง ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าจะบังเกิดเมื่อช่วงที่ว่างจากศาสนาครับ

ดังนั้นผู้ที่จะบรรลุในสมัยนี้คือผู้ที่เป็นสาวก ผู้ที่สำเร็จจากการฟัง จากการศึกษา ศึกษาอะไร ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งก็คือพระไตรปิฎกที่พระองค์ทรงแสดงไว้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ ดังนั้น ถ้าไม่ศึกษา ไม่ฟังพระธรรม จะรู้ได้ด้วยตนเอง ประจักษ์สภาวธรรมด้วยตนเอง ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยครับ เพราะไม่ใช่พุทธ ๒ ประเภทแรก การจะเข้าใจถึงลักษณะ สภาวะของสภาพธรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงมี ทางสายเอก สายเดียว ไม่มีหลายทางที่จะถึงคือ สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นทางที่ถูก ดังนั้นจะไม่มีทางหลายสายให้ถึงการบรรลุธรรม ถึงสภาวธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ผู้ที่ศึกษาพระธรรม มีความเห็นถูกแล้วย่อมสามารถแยกอธิบายในหนทางที่ถูกว่า ถูกอย่างไร และถ้าผิด มีหนทางที่ผิด ผิดอย่างไร ครับ

พระพุทธองค์ทรงแสดงมิจฉามรรค คือหนทางที่ผิดด้วย ไม่ใช่มีแต่หนทางที่ถูกเท่านั้นครับ การจะเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเท่านั้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ปัญญานั้นเองทำหน้าที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ครับ เพราะอาศัยการฟัง การศึกษา เพราะเราเป็นสาวก ไม่ใช่พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าที่จะไม่ฟัง ไม่ศึกษาจากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วไปลองผิด ลองถูกครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

มีข้อความพระไตรปิฎกเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2554

เรื่อง การอบรมเจริญปัญญาขาดปริยัติไม่ได้

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 881

แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางแห่งอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ ดังนี้เป็นต้น ด้วยคำว่า เมื่อเราตรวจดูหมวดสามแห่งธรรมอันยังสัตว์ให้เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกายอยู่ มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ ชื่อว่าปริยัติ ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ดังนี้ ย่อมแสดงซึ่งความที่ตนเป็นคนมีปัญญามาก. ก็เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมทำลายพระศาสนา. ชื่อว่า มหาโจรเช่นกับบุคคลนี้ ย่อมไม่มี เพราะว่า บุคคลผู้ทรงพระปริยัติ ชื่อว่า ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ หามีไม่.

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
akrapat
วันที่ 31 พ.ค. 2554

ขอขอบคุณครับ สำหรับความเห็นเพิ่มเติม ไม่ได้ตั้งใจ จะต่อประเด็นใหม่นะครับ เพียงแต่อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย

ผมเห็นด้วยกับท่านครับว่าสาวกภูมินั้น จำเป็นต้องฟังธรรมเพราะบารมีไม่พอที่จะบรรลุธรรมเอง แต่ในความหมาย ลองผิดลองถูก ด้วยตัวเอง คือ ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วนำไปปฏิบัติด้วยตัวเอง จนบรรลุธรรม (อาจจะมีน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี) และท่านอาจารย์ paderm ทราบไหมครับว่า คนที่เกิดในยุคนี้ อาจจะไม่ได้มีเฉพาะสาวกภูมิเท่านั้น แม้แต่ตัวท่านอาจารย์paderm เองเคยปรารถนาอะไรตั้งแต่อดีตชาติ เราจะไม่อาจทราบได้ (แม้พระพุทธเจ้าเองชาติสุดท้ายที่ท่านตรัสรู้ ด้วยบุพเพนิวาสนุสติญาณของท่านทำให้ท่านรู้สึกสลดสังเวช ว่าแท้จริงตัวท่านเองปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้านานแสนนานนักหนา) บางท่านศึกษาธรรมะ มานานแสนนานเจริญสติปัฏฐานจนเกิดวิปัสสนาญาณจนถึง สังขารุเบกขาญาณ แต่ไม่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาสักที ก็อาจจะด้วยเหตุว่าแท้จริงนั้น ตัวเอง ในอดีตชาติเคยปรารถนาพุทธภูมิ หรือแม้แต่พระปัจเจกเองก็เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ถึงขั้นนี้ คือ ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว คือเที่ยงแท้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า แต่บารมียังไม่พอ

ครูบาอาจารย์บางท่าน ท่านอาจจะ ปรารถนาพุทธภูมิ (พุทธจริต) แต่ภายหลังต้องลาพุทธภูมิเพื่อสืบทอดพระศาสนาของพระสัมมามาสัมพุทธเจ้า และเห็นว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีกนานแสนนานกว่าจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ด้วยวิสัยของ พุทธจริตของท่านในช่วงเริ่มต้นของท่าน ท่านอาจจะลองผิด ลองถูกมาด้วยตนเอง (แต่ศึกษาธรรมะจากสื่อต่างๆ ตำหรับตำราแล้วลองปฏิบัติเอง) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ปรารถนาพุทธภูมิแต่ละชาติที่เกิดมาบำเพ็ญบารมี จะไม่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อน เพียงแต่ท่านปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านเลยไม่บรรลุธรรมในชาตินั้น แม้ในสมัยพุทธกาลเอง พระอชิตะเถระ (พระศรีอารยเมตไตร) ก็เกิดในยุคนั้นและได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า (สมณโคดม) ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าเอง นับครั้งไม่ถ้วน และชาติสุดท้ายของท่านที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ อนาคตกาลข้างหน้าอีกนานแสนนาน ท่านไม่จำเป็นต้องฟังธรรมจากใครเพราะบารมีเพียงพอที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

ไม่ได้ตั้งใจ จะย้อนไปในอดีต หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึงนะครับ เพียงแต่เนื้อหามันพาไป ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความเห็น และอนุโมทนากับท่านอาจารย์ paderm และทุกๆ ท่านด้วยนะครับ ขอให้บรรลุธรรมในชาติปัจจุบันทุกคนนะครับ (ไม่รู้จะขอมากไปหรือเปล่านะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
paderm
วันที่ 31 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 31 ครับ

ดังนั้นผู้ที่จะบรรลุธรรม ประจักษ์ความจริง ต้องเป็นผู้ฟัง ไม่ใช่ลองผิดด้วยตนเองครับ ในปัจจุบันนี้ เพราะ ในสมัยนี้ไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นพร้อมกันสององค์ครับ ดังนั้นจึงต้องฟังพระธรรม ผู้ที่จะรู้ด้วยตนเอง ลองผิดด้วยตนเองมี ๒ บุคคลเท่านั้นครับ คือ พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า ส่วนกรณีของผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ เป็นพระพุทธเจ้า ในเมื่อกาลเวลานี้ ยังมีพระพุทธเจ้าอยู่ จึงไม่มีทางที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง ลองผิดด้วยตนเองแล้วบรรลุได้ครับ เพราะยังไม่สิ้นศาสนานี้ครับ

ดังนั้นผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ก็ยังต้องฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าในอดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต จะเห็นนะครับว่าการอบรมปัญญาก็ต้องฟังพระธรรม แม้พระโพธิสัตว์เองครับ จะรู้ด้วยตนเองในปัจจุบันไม่ไ่ด้ จะรู้ได้ด้วยตนเองก็เมื่อศาสนาสิ้นแล้ว และถึงกาลเวลาเมื่อพระศรีอริยเมตไตรจะอุบัติ สมัยนั้นเองที่ท่านจะบรรลุได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องฟังพระธรรมจากใครครับ แต่สมัยนี้ไม่ว่าใครก็ต้องฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า แม้พระโพธิสัตว์ที่อบรมบารมีก็ตามครับ ต้องฟังพระธรรมเช่นกัน ไม่มีใครที่จะบรรลุได้ด้วยตนเอง ลองผิด ลองถูกแล้วจะรู้ด้วยตนเอง นอกจากพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าครับ ดังนั้นขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นชาติสุดท้ายที่จะบรรลุเป็นพระศรีอริยเมตไตร กับ การเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ใช่ชาติสุดท้าย แต่เกิดในสมัยพระพุทธเจ้าจึงต่างกันครับ เพราะพระโพธิสัตว์ชาติสุดท้าย คิดธรรมโดยไม่ได้ฟังจากใคร บรรลุได้ด้วยตนเอง แต่พระโพธิสัตว์ที่ไม่ใช่ชาติสุดท้าย ไม่มีทางเลยที่จะลองผิดแล้วจะรู้ด้วยตนเองเพราะปัญญายังไม่แก่กล้าพอที่จะคิดได้ด้วยตนเองครับปัจจุบันมีพระศาสนา พระโพธิสัตว์ก็ต้องอบรมปัญญาจากการฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อชาติสุดท้ายที่จะเป็นพระพุทธเจ้าจึงบรรลุได้ด้วยตนเองครับ

ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ต้องฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า หรือศึกษาพระธรรมจากพระพุทธเจ้าครับ ไม่สามารถลองผิดลองถูกโดยไม่ฟังพระธรรมจากพระพุทะเจ้าแล้วจะเข้าใจครับ ดังที่ได้อธิบายมาครับ ไม่เช่นนั้นการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะมีผู้ที่คิดธรรมได้เอง มีพระโพธิสัตว์ ทั้งๆ ที่ชาตินั้นไม่ใช่ชาติสุดท้ายครับ แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นชาติสุดท้าย แน่นอนครับ คิดได้เองไม่ต้องฟังจากใคร

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

คำว่า "ธาตุ" หรือ "ธรรม" คำเดียว

ถ้าผู้นั้นเข้าถึงสภาวะ ถึงแก่นจริงๆ สามารถรู้แจ้งอริสัจจธรรมได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอริยบุคคลแต่ละท่านที่บรรลุธรรม ท่านก็บรรลุที่ความเป็น "ธาตุ" เนี่ยแหละ หรือว่าจำเป็นต้องรู้อะไรเยอะๆ มากๆ อาจจะกลายเป็นรู้ชื่อ จำเรื่องราว มากกว่าเข้าใจสภาวธรรม ยิ่งถ้าขาดการพิจารณาด้วยแล้ว จินตามยญาณไม่เกิดแน่

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
วินิจ
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

"สุตตฯ" คือฟังแล้วเข้าใจเลย, เพราะผู้ฟังสะสมปัญญามามาก หรือ ผู้แสดงธรรมพูดได้เข้าใจง่าย, แต่ "จินตาฯ" คือตอนฟังยังไม่ค่อยเข้าใจ, แต่เมื่อเอามาขบคิดทวนตามภายหลังจึงค่อยเข้าใจถูกไหมครับ?, แต่อยากทราบว่า "จินตาฯ" เกิดแทรกสลับกับ "สุตตฯ" ไปด้วยได้ไหม? เพราะแต่ละครั้งที่พูดคงไม่ใช่สั้นๆ , หรือ "สุตตฯ" ถึงแม้เข้าใจแล้วยังต้องมา "จินตาฯ" ซ้ำเป็น "ไฟล์ทบังคับ" (ลำดับแห่งการบรรลุธรรม) หรือเปล่า? "ปัญญา" ที่เกิดจาก "สุตตฯ" & "ปัญญา" ที่เกิดจาก "จินตาฯ" มีน้ำหนัก (ความหนักแน่น) เท่ากันหรือเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า?...

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
วินิจ
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

ผมอ่านคห.32 เมื่อวันก่อนและมาอ่านวันนี้ทบทวนอีก, วันละ ๒ รอบรวมเป็น ๔ รอบ, คำอธิบายแจ่มแจ้งเป็นลำดับ,ใช้ภาษาง่ายๆ , เข้าใจง่าย (ถ้ามีสมาธิและปัญญาเบื้องต้น) , คงจะต้องได้วนกลับมาอ่านอีกหลายรอบเป็นระยะๆ , อยากให้ใช้ภาษาง่ายๆ อย่างนี้ตลอดไป, แจ่มแจ้งชัดเจนดีครับ, ขอบคุณมากครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 37  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 18424 ความคิดเห็นที่ 35 โดย วินิจ

"สุตตฯ" คือฟังแล้วเข้าใจเลย, เพราะผู้ฟังสะสมปัญญามามากหรือผู้แสดงธรรมพูดได้เข้าใจง่าย, แต่ "จินตาฯ" คือตอนฟังยังไม่ค่อยเข้าใจ, แต่เมื่อเอามาขบคิดทวนตามภายหลังจึงค่อยเข้าใจ ถูกไหมครับ?, แตอยากทราบว่า "จินตาฯ" เกิดแทรกสลับกับ "สุตตฯ" ไปด้วยได้ไหม? เพราะแต่ละครั้งที่พูดคงไม่ใช่สั้นๆ , หรือ "สุตตฯ" ถึงแม้เข้าใจแล้วยังต้องมา "จินตาฯ" ซ้ำเป็น "ไฟล์ทบังคับ" (ลำดับแห่งการบรรลูธรรม) หรือเปล่า? "ปัญญา" ที่เกิดจาก "สุตตฯ" & "ปัญญา" ที่เกิดจาก "จินตาฯ" มีน้ำหนัก (ความหนักแน่น) เท่ากันหรือเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า?...

ถ้าฟัง (สุตต) แล้วไม่ไตร่ตรองพิจารณาด้วยดี (จินตา) ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้มั้ยคะ

จากการฟังครั้งที่ ๑ ครั้ง ๒ ครั้งที่ ๓ จะไม่มีความแตกต่างกันเลย

หากไม่พิจารณาใคร่ครวญเนื้อความให้ดี

ฟังครั้งเดียว ... แต่ต้องพิจารณาเป็นร้อยครั้งค่ะ เพื่อความแจ่มแจ้ง

อย่างคำว่า "ธรรม" คำเดียว เราเข้าใจแค่ไหน?

ไม่ควรลืมนะคะว่า ... ธรรมมีอยู่ทุกขณะจิต

ใคร่ครวญพิจารณาเห็นความเป็น "ธรรม" รึยังคะ?

 
  ความคิดเห็นที่ 38  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 5 มิ.ย. 2554

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 18424 ความคิดเห็นที่ 25 โดย วินิจ

สำหรับคห.19, อาจมีเข้าใจคลาดเคลื่อนเช่นกันหรือเปล่า?, เคยทราบมาว่า, "สวรรค์" ความหมายคือ "สุข", ต่อยอดจาก "ไอสไตน์-เวลาเป็นสัมพัทธภาพ", ดังนั้น ความสุขย่อมผ่านไปเร็ว (เป็นสัมพัทธภาพเช่นกัน) , ๑วันสวรรค์อาจ = ๑๐๐ วัน หรือ ๑๐๐ ปีมนุษย์ (แต่ ๑๐๐ ปีมันจะหนักข้อไปหน่อย, ตัวเลขไม่รับรอง, เอาแต่หลักการก็แล้วกัน) , ส่วน "นรก" คือ "เร่าร้อน", ดังนั้น ความทุกข์ย่อมผ่านไปอย่างเชื่องช้า (เป็นสัมพัทธภาพเช่นกัน) , ดังนั้น ๑๐๐ วัน หรือ ๑๐๐ ปีนรก อาจ = ๑ วันมนุษย์ (ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนเช่นกัน) , สรุป:-

๑. สวรรค์จะพูดว่า "อ้าวเวลามนุษย์ผ่านไป ๑๐๐ วันแล้วรึ? ทำไมฉันรู้สึกเหมือนพึ่งผ่านไปวันเดียว!?!"

๒. นรกจะพูดว่า "อ้าวนี่แค่วันหนึ่งของมนุษย์เองหรือนี่, ฉันทุกข์ทรมานมาก, ทำไมมันรู้สึกเวลาผ่านไปช้าอย่างนี้, ยังกะผ่านไปตั้ง ๑๐๐ วันแน่ะ!!! แล้วเมื่อไหร่จะสิ้นสุดเวลาการลงโทษเสียทีนะ?"

คงพอเห็นภาพเปรียบเทียบบ้างแล้วนะครับ, ถ้ายังนึกไม่ออกก็ขออภัยด้วย ...

ขออนุญาตใช้สิทธิ์ในฐานะผู้ตั้งกระทู้ ร่วมอภิปรายในประเด็นนี้ด้วยครับ แม้ว่าจะเป็นประเด็นที่งอกเพิ่มออกมาจากกระทู้เดิม

คือตามข้อความของความคิดเห็นที่ 25 กระผมเข้าใจว่าท่านพูดถึง "ช่วงแห่งวันเวลาตามความรู้สึก" หมายความว่า วันและเวลาในภพภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนรก สวรรค์ หรือมนุษย์ ล้วนแต่เท่ากันทั้งสิ้น "ความรู้สึก" ของผู้ที่อยู่ในภพภูมินั้นๆ ต่างหากที่ทำให้เห็นไปว่าจำนวนวัน จำนวนเวลานั้นมากน้อยกว่ากัน

ขอยกตัวอย่างเพื่อความชัดเจน เช่น มนุษย์ ๒ คนนั่งอยู่ด้วยกันเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง คนที่มีความสุขจะรู้สึกว่า ๒๔ ชั่วโมงผ่านไปเหมือนครู่เดียว แต่คนที่มีความทุกข์จะรู้สึกว่า ๒๔ ชั่วโมง กว่าจะผ่านไปได้เหมือนกับตั้งร้อยปีพันปี ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเขาใช้เวลาหมดไป ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน

เพราะฉะนั้น ๑๐๐ ปีในโลกมนุษย์ ก็เท่ากับ ๑๐๐ ปีในสวรรค์ และเท่ากับ ๑๐๐ ปีในนรก นั่นเอง เพียงแต่ความรู้สึกของชาวสรรค์บอกว่า ๑๐๐ ปีนั้นแค่ "ครู่เดียวเท่านั้น" ส่วนความรู้สึกของสัตว์นรกจะบอกว่า ๑๐๐ ปีนั้น "นานตั้งพันปีหมื่นปี"

ถ้าความคิดเห็นที่ 25 หมายความเช่นนี้แล้วไซร้ พระพุทธพจน์ที่ตรัสแก่นางวิสาขาใน อุโบสถสูตร (กระผมเชื่อว่าผู้ร่วมสนทนาคงสามารถหาอุโบสถสูตรมาศึกษารายละเอียดได้ไม่ยาก แม้จากบ้านธรรมะนี้เอง) เกี่ยวกับอายุของมนุษย์เทียบกับอายุของสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น เราจะต้องเข้าใจกันว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง?

ขอขอบพระคุณที่จะกรุณาชี้แนะหลักคิดที่ถูกต้องครับ - ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 40  
 
parusit
วันที่ 11 ก.ค. 2554

เรียนท่านเจ้าของกระทู้

ขอกล่าวในเบื้องต้นก่อน ก่อนที่จะอภิปรายตามประเด็นกระทู้ต่อไป

อันที่จริงแล้ว หลักฐานที่กล่าวถึง เวลา อายุของเทวดา-สวรรค์ มีปรากฏอยู่ในชั้นพระบาลีนั่นเทียว ทั้งในพระสูตรและพระอภิธรรม

โดยหนึ่งในนั้นคือ อุโปสถสูตร ดังที่ท่านกล่าวใน คห.ที่ 38 แต่อุโปสถสูตรนั้น มีหลายพระสูตรคือ ในที่นี้คือ ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

นอกเหนือไปจากอุโปสถสูตรนี้ ก็ยังมีอีก เช่น วิตถตสูตร ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

และ อุปปาทกัมมอายุปมาณวาร ในพระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ ซึ่งมีกล่าวถึงอายุของสัตว์ต่างๆ ไปจนถึงพรหมโลกชั้นสูงสุด

โดยที่ควรน่าสังเกต ก็คือ มิได้มีการกล่าวถึงเวลา อายุของสัตว์นรก-นรกภูมิ ไว้แต่อย่างใด ไม่ว่าจะในพระบาลีหรืออรรถกถา แต่ทั้งนี้มีในพระบาลีอยู่ชัดเจน ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสระบุถึงลักษณะของนรก ภูมิทัศน์ และสภาพ ไว้อย่างละเอียดยิ่งกว่า สวรรค์เทวโลกเสียอีก (และละเอียดชัดเจนกว่าในคติทางศาสนาพราหมณ์ จึงย่อมไม่มีเหตุผลเลย ที่ผู้ใดจะมากล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องที่ถูกแต่งเติมเข้ามา)

ในพระบาลีและอรรถกถา รวมใจความได้แต่ว่า เมื่อทำอกุศลกรรมก็จะต้องทนทุกข์ต่างๆ ในนรกเป็นเวลานาน ไม่ควรดูเบา และหลายๆ เหตุการณ์แสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำบาปที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติเล็กน้อยในสายตาสังคม แต่ก็ส่งผลร้ายแรงนักให้ต้องทรมานในนรกเป็นเวลามิใช่น้อย หรือถึงนรกอเวจีเลยก็มี

แต่ที่จริง เรื่องเวลา-อายุในนรกภูมิ นั้น มีที่มาจากหลักฐานชั้นฎีกาลงไป แต่ไม่แน่ใจว่าปรากฏที่ไหนอย่างไรบ้าง จากที่พบเห็น การเทียบเวลานรกกันดังกล่าวนั้น ใช้การอ้างอิงจากไตรภูมิพระร่วงกันก็มาก

อายุของสัตว์

๑. อายุของสัตว์นรก มีแสดงไว้ในชินาลังการฎีกา และในธัมมหทยวิภังค อนุฎีกา เป็นการกำหนดอายุของสัตว์นรกแต่ละขุม แต่อย่างไรก็ดี มีสาธกบาลีแสดง ไว้ในวิภาวนีฎีกาว่า อปาเยสุ หิ กมฺมเมว ปมาณํ แปลเป็นใจความว่า ในอบายภูมิ นั้น อกุสลกรรมนั่นแหละเป็นเครื่องประมาณอายุ หมายความว่า ถ้าอกุสลกรรมนั้น หนักมาก ก็ต้องทนเสวยทุกข์อยู่ถึงอสงขัยปี ถ้าอกุสลกรรมนั้นเบา ก็ต้องเสวยทุกข์ น้อยลงมาตามลำดับ และหากว่าขณะที่กำลังเสวยทุกข์ทรมานอยู่ สัตว์นรกนั้นเกิดระลึกนึกถึงกุสลที่ตนได้สร้างสมไว้แต่ปางก่อนขึ้นมาได้ ก็สามารถพ้นจากสัตว์นรก ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดาได้ทันทีก็มีมาก เรียกว่าเป็นการจุติจากสัตว์นรก เพราะหมดกรรมในชาตินั้น ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่จนสิ้นอายุขัย

จะเห็นได้ว่า แม้ในชั้นฎีกาเอง ก็ดูอาจจะไม่เป็นที่สรุปลงรอยกันแน่นอนนัก แต่อย่างไรก็ดี ความใน วิภาวนีฎีกา นั้น ดูจะสอดคล้องกับที่ปรากฏในพระบาลีและอรรถกถา

ดังนี้ในเบื้องต้น จึงน่าพิจารณาก่อนด้วยว่า หากจะมีผู้ช่างสงสัยและชอบโต้แย้งผู้ใด จับเอาเรื่องเวลาในนรกนี้มาเป็นมั่นเป็นเหมาะ มาเป็นข้อตั้งแง่กับพุทธศาสนา ก็ควรจะได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนในข้อนี้ด้วย

ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะมิให้เชื่อถือในฎีกาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องข้อพิจารณาในการสอบทาน การรับฟังหลักฐาน ที่ไม่ควรมองข้าม และแม้การเทียบเวลาในนรกหรือต่างภพภูมิดังที่กล่าวมานั้น ก็พอสามารถที่จะอธิบายได้ ดังจะกล่าวในลำดับต่อๆ ไป

 
  ความคิดเห็นที่ 41  
 
parusit
วันที่ 11 ก.ค. 2554

อภิปรายตามประเด็นกระทู้ ในสองเรื่อง

ตามที่มีปัญหามีผู้ช่างสงสัยและชอบโต้แย้ง โดยปกติ ผู้ที่โต้แย้งมักจะใช้มุมมองของตนเป็นเกณฑ์ โดยไม่รู้ตัว (ไม่ว่าจะมาจากสามัญสำนึก หรือกระบวนทัศน์จากหลักวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ที่เป็นประจักษ์นิยม จับต้องได้) และมักไม่ได้สอบทานความรู้ในพุทธศาสนาให้ถี่ถ้วน จึงมักเกิดปัญหาโต้แย้งต่างๆ

จึงควรต้องพิจารณาดูในจุดนี้ก่อนให้มาก ว่าจะไปเอากระบวนทัศน์นั้นๆ มามองมาตัดสิน อย่างผิดฝาผิดตัว นี้ไม่ถูกต้อง

๑. "ที่ตั้งประเด็นว่า ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็เป็นพระโสดาบันตั้งแต่เกิดเลยใช่ไหม ก็เนื่องจากอาจมีหลักวิชาสมัยใหม่โต้แย้งว่า ทารกตั้งแต่คลอดออกมา (หรือจะถอยไปตั้งแต่ถือปฏิสนธิเลยก็ได้) ยังไม่รู้เดียงสา ..."

- ในข้อนี้ ก่อนอื่นเลย ดังเช่นที่กล่าวแล้วข้างต้น ผู้นั้นจะไปถือมุมมองตามหลักวิชาอะไรๆ ว่าทารกนั้นย่อมต้องไร้เดียงสา แบบเหมือนผ้าขาว เหมือนกระดาษเปล่า นั้นไม่ถูกต้อง หรือจะไปถือมุมมองว่า เมื่อตายเกิดใหม่แล้ว จะเหมือนถูก reset ใหม่หมดนั้น ก็ไม่ถูกต้อง อันที่จริงแล้วตายเกิด ก็คือ จุติ ปฏิสนธิ มีการสืบเนื่องทางจิตนิยาม กรรมนิยาม ด้วยตามกฎธรรมชาติ (นิยาม ๕)

ดังที่มีท่านได้อธิบายมาแล้ว ในเรื่องการสืบต่อของจิต การเกิดตายทางปรมัตถ์

โดยจะขออธิบายให้เห็นภาพว่า การบรรลุธรรมนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในถึงขั้นสันดาน จะเรียกในภาษาสมัยใหม่ว่าในความเป็นตัวตนทั้งหมด / ในระดับจิตไร้สำนึก อย่างสิ้นเชิง ก็ได้ เรียกได้ว่าเปลี่ยนในระดับสัญชาติญาณเลยนั่นเอง มิใช่เป็นแค่การได้ความรู้ ความจำอะไรมา

(โปรดอ่านพิจารณา หนังสือพุทธธรรม หน้าที่ 374-375 ด้วย เพื่อที่จะเข้าใจความได้ชัดเจน)

เทียบเคียงให้เห็นภาพชัด เหมือนอย่างเกิดเป็นลิง ก็ย่อมมีสัญชาติญาณอย่างลิงอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะฝึกฝนลิงนั้นจนรู้ความ บวกเลขได้ รู้ภาษาได้ ก็ไม่อาจทำให้เปลี่ยนสัญชาติญาณความเป็นลิงไปได้ ไม่ว่าจะสอนอย่างไรก็ไม่อาจทำให้มีความรู้สำนึกได้อย่างมนุษย์ไปได้ ในขณะที่หากเกิดเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ลำพังในป่าแต่เกิด ไม่มีการเลี้ยงดูสอนสั่ง แต่สัญชาติญาณก็ย่อมมีความเป็นมนุษย์อยู่ดี นั่นเอง แม้อาจจะด้อย แสดงออกมาไม่ได้เต็มที่

ภูมิพระโสดาบันนี้ก็เช่นกัน เมื่อเปลี่ยนไปจากสัตว์ปุถุชนอย่างถึงรากถึงโคนแล้ว ก็ย่อมมีธรรมชาติของท่านเช่นนั้นเอง เป็นอาการที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ แม้จุติแล้วมาปฏิสนธิ (เกิดใหม่) เป็นมนุษย์ จิตสำนึกจะจำอะไรไม่ได้ ด้วยเพราะธรรมชาติของการเกิดในครรภ์ และขณะที่ยังเป็นทารก แสดงออกอะไรไม่ได้ เพราะอินทรีย์ร่างกายยังไม่พร้อม และ "ไร้เดียงสา"

แต่ "ไร้เดียงสา" ในที่นี้นั้น เป็นจุดที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ต้องตีความให้ถูกต้อง

เพราะมิได้หมายความว่า ท่านจะมีสัญชาติญาณ มีธรรมชาติไร้เดียงสาเหมือนอย่างทารกตามความหมายความเข้าใจทั่วๆ ไปแต่อย่างใด

นี่เท่ากับไปเอาวิชาความเข้าใจทั่วๆ ไป มามองมาตัดสิน จึงเข้าใจผิดไปว่าความเป็นอริยะจะหายไป แท้จริงแล้ว ทารกโสดาบันมีความแตกต่างกับทารกปุถุชนเป็นแน่แท้ แม้ความรับรู้ ความเข้าใจ ภาษา ฯลฯ จะไม่มีเหมือนๆ กัน แต่ในระดับสันดานย่อมต่างกัน มีธรรมชาติ อุปนิสัยต่างกันโดยแท้ ซึ่งเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีการสอนสั่งบังคับ เปรียบเหมือนเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่มีสัญชาติญาณแบบลิง ย่อมมีภูมิต่างกัน

ฉะนั้น การที่บอกว่า "ยังไม่รู้เลยว่า กุศล อกุศล บุญ บาป ดี ชั่ว เป็นอย่างไร และอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส (ที่ตนละได้เด็ดขาดแล้วในชาติก่อน) นั้นหมายถึงอะไรอย่างไร"

ลักษณะเหล่านี้ เป็นความรู้ความเข้าใจ ทางการเรียนรู้ ทางสมมติ มิใช่ปรมัตถ์ ขันธสันดาน จึงไม่เกี่ยวอะไร เหมือนการที่ ภูมิของมนุษย์ (ปุถุชน) สัญชาติญาณของความเป็นคน มีความรู้สำนึกในเหตุผลเป็นพื้นฐานติดตัวมาตามธรรมชาติ จึงแตกต่างจากสัตว์

ถามว่า ตอนเป็นทารก มนุษย์นั้นรู้หรือ ว่า เหตุผลนั้นหมายถึงอะไรอย่างไร? ก็ไม่รู้. แต่ทำไมมนุษย์ถึงมีสัญชาติญาณรู้สำนึกในเหตุผล ติดตัวมากับความเป็นมนุษย์ได้เล่า ความเป็นพระอริยะที่ติดตัวมาก็ทำนองเดียวกัน ท่านมิรู้หรอกว่า สักกายทิฏฐิ หมายถึงอะไร แต่ท่านจะมีมุมมองโลกไปเองโดยอัตโนมัติ แม้เป็นเด็กอ่อน ไม่มีความรู้ว่านี่คือดี-ไม่ดี แต่ท่านก็จะไม่มีความรู้สึกเห็นแก่ตัว ไม่รู้สึกเลือกที่รักมักที่ชัง (อคติ ๔) เป็นอาการที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องมีใครสอนสั่ง พูดง่ายๆ ว่า "เป็นมาเอง" เปรียบกับในกรณีทั่วๆ ไป ก็เหมือนอุปนิสัยติดตัวของเด็กทารกทั่วๆ ไป ที่เป็นมาเอง ที่แตกต่างกัน บางคนว่าง่าย บางคนดื้อจัด บางคนอัจฉริยะมาก (ดู William James Sidis) เป็นแต่กำเนิด ไม่เกี่ยวกะสิ่งแวดล้อม ยังแทบไม่ทันจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมอะไรเลย ทางพุทธก็อธิบายได้เลยว่า เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่สั่งสม อุปนิสัยการกระทำกรรม มาในอดีต (แต่ทางวิทย์ก็คงจะอธิบายไปว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ ถามต่อว่าแล้วเพราะเหตุปัจจัยใด ทารกนี้ๆ จึงได้สืบทอดกรรมพันธุ์ดี-เลวนั้นๆ ทำไมต้องมาเกิดในตระกูลที่มีกรรมพันธุ์นั้น ก็คงจะตอบว่าเป็นความสุ่ม บังเอิญของเหตุการณ์ในจักรวาล ที่สืบมาจาก ณ จุดกำเนิดจักรวาล)

เปรียบเทียบให้เห็นต่อไปยิ่งขึ้น ก็เหมือนธรรมชาติของ ปัจจเวกขณญาณ ที่ย่อมจะเกิดมีขึ้นหลังบรรลุธรรม หลังผ่านมรรคญาณ ผลญาณมาแล้ว โดยญาณนั้น การพิจารณา มัคค ผล นิพพาน รวม ๓ ประการนี้ จะต้องมีแน่นอน แต่สำหรับการพิจารณากิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่รวม ๒ ประการนี้ จะพิจารณาได้เฉพาะพระอริยเจ้าที่ได้ศึกษาพระปริยัติ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระปริยัติก็ไม่มีความรู้พอที่จะพิจารณาได้

ดังนั้นการพิจารณา ๒ ประการหลังนี้ จึงกล่าวว่าไม่แน่นอน บ้างก็มี บ้างก็ไม่มี.

ดังนี้ก็จะพอเห็นได้ว่า การรู้ว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นั้นหมายถึงอะไรอย่างไร

เป็นเรื่องทางการเรียนรู้ ทางปริยัติ มิได้เป็นข้อกำหนดเอามากะเกณฑ์ได้ว่าจะเป็นโสดาบันหรือไม่

เปรียบเทียบให้เห็นต่อไปอีก อย่างเรื่องของ พระสัพพัญญุตญาณ (จำได้ว่ามีใน มิลินทปัญหา) พระสัพพัญญุตญาณ สามารถหยั่งรู้สิ่งได้ทั้งปวง แต่ยังเป็นของเนื่องด้วยการนึก นั่นคือ ถ้าพระพุทธองค์ไม่นึก ไม่ประสงค์จะรู้ ก็ยังไม่เกิดความหยั่งรู้ในเรื่องนั้น แต่ถ้าทรงประสงค์จะรู้ นึกขึ้น ก็ย่อมรู้ได้โดยพลัน ไม่ติดขัด ไม่ขัดข้องใดๆ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จึงเกิดปัญหาถามว่า ไม่อาจเรียกได้ว่าพระพุทธองค์เป็นพระสัพพัญญูน่ะสิ แต่แท้จริงแล้ว หาได้เป็นเช่นนั้น ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น เพราะเมื่อทรงประสงค์ ย่อมรู้ได้พลันทั้งสิ้น จะไปกล่าวว่า สิ่งที่พระองค์ไม่นึกถึง ไม่ประสงค์หมายเอา = พระองค์ไม่รู้ ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะอันที่จริงแล้ว พระองค์เพียงแต่ยังมิได้ทรงใช้ทรงแสดงออก มิได้แปลว่าภูมิจิตของพระองค์ท่าน ไม่มีกำลัง ไม่ได้ในสิ่งเหล่านี้ แต่อย่างใด ถ้าทรงใช้ ทรงแสดงออกเมื่อใด ก็ย่อมรู้ได้โดยแท้ ความเป็นพระโสดาบันในทารก ก็มีทำนองคล้ายกัน คือแม้อินทรีย์ยังไม่เติบใหญ่ ยังแสดงออกไม่ได้ แต่ก็มิได้แปลว่า ไม่มีความเป็นพระโสดาบันแต่อย่างใด เมื่อถึงเวลาเหมาะสม ก็จะแสดงออกให้เห็นได้เองและถึงจุดหนึ่งท่านก็จะรู้ความขึ้นมาเองว่า อย่างนี้เป็นพระโสดาบัน อันเราเป็นเช่นนี้คืออะไร.

 
  ความคิดเห็นที่ 42  
 
parusit
วันที่ 11 ก.ค. 2554

สรุปในประเด็นกระทู้ ประเด็นแรก ก็คือ

การที่พระโสดาบันตายแล้วเกิดใหม่มาเป็นทารกมนุษย์

ความตาย-เกิด มิได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนามธรรม ขันธสันดาน แต่อย่างใดครับ

แม้ยังด้อยในหลายๆ อย่าง เช่น แรกปฏิสนธิ ยังไม่มีอวัยวะคือ ตา ก็ยังไม่มีจักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นได้ ยังแสดงออกไม่ได้ เพราะอินทรีย์ไม่พร้อม ในนามธรรมในหลายๆ ลักษณะ ยังไม่รู้ความ ก็ยังไม่รู้ภาษา ไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง ฯลฯ ทำให้ดูแล้ว เห็นเหมือนว่าไม่มีความต่างระหว่างทารกปุถุชน กับทารกโสดาบัน แต่แท้จริงแล้ว ขันธสันดานที่ติดตัวมา สัญชาติญาณพื้นฐาน ต่างกันเป็นคนละเรื่องครับ

เปรียบเหมือน ทารกลิง กับ ทารกมนุษย์ เมื่อแรกเริ่มดูโง่เขลาพอๆ กัน แต่เวลาผ่านไป ถึงจุดที่พร้อม ย่อมแสดงออกต่างกันชัด ถึงภูมิจิตที่มีติดตัวมา ฉะนั้น การจุติ ปฏิสนธิ ไม่ได้ทำให้ ในนามธรรม ในขันธสันดาน ถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นปุถุชนครับ

แท้จริงแล้ว นามธรรมท่านเปลี่ยนเป็นโสดาบัน ก็ตอนขณะบรรลุธรรมต่างหาก นั่นต่างหากคือจุดเปลี่ยน มิใช่ที่การตาย

ที่มีผู้แย้งว่า

"การมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้น วิชาการสมัยใหม่จะแย้งว่า นามธรรมก็เปลี่ยนไปด้วย คือ จากผู้มีสติปัญญาสามารถตัดสักกายทิฏฐิ ฯลฯ ได้ ก็กลายมาเป็นผู้ไม่รู้เดียงสา) " นั้น ไม่ถูกต้องครับ

นั่นเป็นแต่เพียงมุมมองภายนอก มุมมองที่ได้มาจากการสังเกตเชิงประจักษ์ รวบรวมข้อมูลมาว่า ทารกทั่วๆ ไป จะไม่รู้เรื่องรู้ความอะไร จึงวินิจฉัยลงว่าไม่มีปัญญา ไม่มีภูมิปัญญาของพระโสดาบันเป็นปัญญาทางธรรม ทางจิต ลึกในระดับอนุสัยสันดาน (จริงๆ แล้ว วิชาสมัยใหม่ทางโลกยังเถียงกันอยู่เลยว่า "จิต" มีจริงหรือไม่ ถ้ามี เป็นลักษณะอย่างไร (ลองดูนิยามพวกทางวิชาจิตวิทยา) แล้วจะนำโลกทัศน์ มุมมองแบบนั้น มาตัดสิน ปัญญาทางจิต ในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ย่อมผิดฝาผิดตัว)

แต่ถ้าให้อธิบายก็สามารถทำได้ ดังกล่าวแล้วว่าทารกปุถุชนกับทารกโสดาบัน มีความแตกต่างกัน ชนิดเรียกว่า ต่างกับสัญชาติญาณดั้งเดิม ในจิตไร้สำนึกสามัญ ทีเดียว นั่นเอง

ส่วนคำถามนี้

"มนุษย์ปุถุชนที่ไร้เดียงสานั้น สามารถจะบรรลุธรรมเป็นโสดาบันตั้งแต่คลอดออกมาได้หรือไม่?"

- เป็นคำถาม ที่ต้องใช้คำอย่างระมัดระวังอยู่สักหน่อย เพราะมีความหมายไม่เหมือนกัน มนุษย์ปุถุชน ที่ยังไร้เดียงสานั้น ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะไม่พร้อมจะรับรู้ รับฟังธรรม

ในข้อนี้ มีอธิบายไว้ในพระอภิธรรม กถาวัตถุ ด้วย

แต่พระโสดาบันนั้น ท่านบรรลุติดตัวมาในทุกขณะจิตอยู่แล้ว จึงไม่อาจเรียกว่า "ไร้เดียงสา" (ไร้เดียงสา ในความหมาย ตามสภาพความเป็นทารกที่พูดไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่องนั้น เรียกได้ แต่ไม่เรียกว่า "ไร้เดียงสา" ตามมุมมองทางโลกทั่วๆ ไปที่หมายถึง ไม่มีภูมิปัญญา ภูมิจิตอะไรเลย) กรณีจึงไม่มีการที่จะกลับไปเป็น ไร้เดียงสาแบบปุถุชนแต่อย่างใด (ความเป็นทารกไม่เกี่ยวอะไร)

และดังนี้จึงย่อมไม่มีการบรรลุอะไรขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีแต่จะแสดงออกให้เห็นถึงสิ่งที่มีฝังอยู่แล้วได้เมื่อใดต่างหาก

 
  ความคิดเห็นที่ 43  
 
parusit
วันที่ 11 ก.ค. 2554

กล่าวต่อไปในเรื่องที่สอง อันเป็นเรื่องของเวลา และอายุสัตว์ในต่างภพภูมิ

๒. "ปัญหาที่ถูกรุกในลักษณะเดียวกันนี้ยังมีอีกครับ เช่น กรณีที่พระนางมัลลิกามเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลสิ้นพระชนม์แล้วไปตกนรกอยู่ ๗ วัน ...

ถ้าวันหนึ่งและคืนหนึ่งในนรกเท่ากับร้อยปีในมนุษย์ (ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อน แต่เป็นอัตราเทียบในทำนองนี้แหละ) กรณีที่พระนางมัลลิกาไปตกนรกอยู่ ๗ วันของมนุษย์ก็แทบจะพริบตาเดียวในนรกเท่านั้นเอง ก็ไหนว่ากันว่าทำบาปแล้วจะต้องไปตกนรกอยู่ช้านาน ถ้าตกนรกแค่พริบตาเดียวอย่างกรณีพระนางมัลลิกา จะต้องกลัวบาปทำไม"

"พระพุทธพจน์ที่ตรัส ... เกี่ยวกับอายุของมนุษย์เทียบกับอายุของสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น เราจะต้องเข้าใจกันว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง?"

- ในข้อนี้มีข้อน่าพิจารณาอยู่ด้วยว่า อัตราเทียบเวลาของนรกนั้น จริงๆ แล้วมีที่มาจากบางคัมภีร์ในชั้นฎีกา (ดังกล่าวแล้วเป็นเบื้องต้น ที่ใน คห.40)

แต่ในมติโดยทั่วไป ตามหลักฐาน พบว่า

"อายุของผู้เสวยวิบากแห่งอกุศลกรรมในนรก มีกำหนดไม่แน่นอนตายตัว อาจเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี หรืออาจจะเป็นร้อยปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายหมื่นปี หรือหลายแสนปี โดยปีของมนุษย์ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอกุศลกรรมหรือบาปกรรมที่ทำไว้มากน้อยแค่ไหน"

อย่างไรก้ดี แม้ถือตามที่พระฎีกาจารย์ระบุเทียบเวลาไว้นั้น ก็เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับสวรรค์ คือมีอายุยาวนานกว่ามนุษย์มาก (แม้ตัวเลขจะไม่เท่ากัน) ดังนี้ก็สามารถอธิบายได้ในนัยเดียวกัน ดังจะกล่าวต่อไป

และเช่นเดียวกันกับเรื่องที่แล้ว มีจุดที่ต้องพิจารณาก่อน

คือ ต้องระวัง ในการที่จะไปเอากระบวนทัศน์จากสามัญสำนึก หรือหลักวิชาทางวัตถุทางโลก มามอง มาตัดสิน อย่างผิดฝาผิดตัว เช่นจะไปเอาทฤษฎีทางฟิสิกส์ เป็นต้น มาใช้ตัดสินไม่ได้ เพราะวิชาทางฟิสิกส์นี้เป็นเรื่องศึกษาจากการค้นคว้าทางวัตถุ สสาร แต่ภพภูมิทางศาสนาพุทธมีนัยมากกว่านั้น ต่างออกไป ธรรมชาติของสวรรค์ของเทวดา ก็เป็นทิพย์ มิใช่ทั้งสสารหรือพลังงาน ในแบบที่วิทยาศาสตร์ใช้เป็นฐาน แต่อย่างใด ปีในสวรรค์ก็ตรัสว่าเป็น ปีทิพย์ อายุทิพย์ มิใช่การเปลี่ยนแปลงทางกาลอวกาศแบบในโลกมนุษย์ จึงจะเอามุมมองมาคิดเหมือนกันไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณากันไปให้ถูกเรื่อง ถูกลักษณะ

เรื่องเวลานี้ พิจารณาตามหลักฐานต่างๆ ในพระไตรปิฎก พอจะพบได้ว่า เป็นไปในลักษณะที่มิติของเวลาในแต่ละภพภูมินั้น มิได้แตกต่างหรือบิดเบือนออกจากกัน แต่ไหลไปเท่าๆ กัน นั่นคือ มิได้เป็นไปอย่างที่ผู้ตั้งคำถาม (เรื่องนรก) เข้าใจ และยกเทียบมา แต่อย่างใด

โดยจะขออธิบายดังนี้ เช่น ระยะเวลา ๗ วันตามที่นับกันในโลกมนุษย์ ในนรกหรือสวรรค์ก็ได้เสวยระยะเวลาเท่าๆ กันนั้นเอง มิได้กลายเป็นเพียงชั่วแวบ ชั่วพริบตา หากมองจากมุมมองมนุษย์ ไปในนรก ก็มิใช่ว่าจะเห็นเหตุการณ์ การกระทำอะไรๆ เป็น slow motion ก็คงเห็นเป็นความเร็วปกติเดียวกันนั่นเอง ระยะความนานก็ผ่านไปเท่าๆ กัน เป็นแต่ว่า สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อายุที่เสื่อมสลายผ่านไป เกิดขึ้นน้อย (ช้า) กว่ามนุษย์ มุมมองของสัตว์ในภพภูมินั้น จึงรู้สึกเหมือนว่าเวลารอบตัวผ่านไปไม่นานเลย นั่นก็คือ เทวดาก็ได้เสวยสุขเป็นระยะเวลาเท่ากับ ๗ วันมนุษย์ เท่าๆ กันนั้นเอง สัตว์นรกก็เสวยทุกข์สาหัสเต็มๆ ระยะเวลา ๗ วันนั้น มิได้บิดเบือนทางมิติจนเหลือเป็นแค่ชั่วพริบตาแต่อย่างใด เพียงแต่ สภาพแวดล้อมในสวรรค์/นรก ปรากฏเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลายไปน้อยกว่าโลกมนุษย์นัก (เช่น ในสวรรค์ชั้นสูงไม่มีดวงอาทิตย์ดวงจันทร์บ่งเวลา ดอกไม้ทิพย์ในสวรรค์ชั้นยามา ดอกไม้นั้นบานถือกันว่าเป็นกลางวัน หุบถือว่าเป็นกลางคืน ดอกไม้นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงช้ามาก ใช้เวลาเท่ากับ ๒๐๐ ปีมนุษย์ กว่าจะบานหุบ) อายุก็แทบไม่เสื่อมลง จึงดูเหมือนอะไรๆ เปลี่ยนผ่านไปเพียงแค่ชั่วครู่ ไม่ต้องรีบเร่งอะไร โดยเฉพาะที่น่าพิจารณาก็คือ สวรรค์ชั้นแรกคือ จาตุมหาราชิกา ก็มีที่อยู่ทับซ้อนอยู่ในโลกมนุษย์นี้เอง เคลื่อนไหว มองเห็นเหตุการณ์อะไรในโลกก็เร็วเท่าๆ กับมนุษย์ ทั้งที่เวลา-อายุต่างกับมนุษย์หลายเท่านัก เวลาก็ไหลไปตามปกติ แต่สวรรค์มีความเพลิดเพลินสูง เทวดาก็เสพทิพย์สมบัติไปเรื่อยๆ มุมมองจึงไม่รู้สึกว่าเวลายืดยาวนั้นน่าเบื่อหน่ายเลย เช่น บรรจงประดับดอกไม้ทิพย์กันเป็นระยะเวลาตลอด ๗ วันมนุษย์ หรือเป็นหลายปีก็ตาม แต่เทวดาก็รู้สึกว่าระยะเวลานั้น ผ่านไปเหมือนครู่เดียว ไม่นานเลย และตนก็แทบไม่แก่ลงเลย (ถ้าจะมีผู้สงสัยอีกว่า ถ้าตั้งนานเช่นนั้นแล้ว ดอกไม้นั้นจะไม่จำนวนมากมายก่ายกองหรอกหรือ? ก็ต้องบอกว่า สิ่งต่างๆ ในเทวโลกนั้นเป็นทิพย์ สภาพความเป็นอยู่ก็ต่างไปจากที่มนุษย์เข้าใจ อย่างร่างกายเทวดาที่เป็นทิพย์ ก็สามารถเนรมิตกายให้ใหญ่เล็กต่างกันไปได้มาก และพิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏ ก็จะเห็นได้ เช่นใน อรรถกถามหาโควินทสูตร ความว่า

"ครั้นเขาตายแล้ว ก็ไปเกิดในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกา มีอายุ ๙ ล้านปี. ร่างของเขาคล้ายกับกองทองมีขนาดเท่าสามคาวุต. เขาประดับเครื่องประดับประมาณ ๖๐ เล่มเกวียน พรมของหอมประมาณ ๙ หม้อ ทรงผ้าทิพย์สีแดง ประดับดอกกรรณิกาทองแดง มีแหยม ๕ แหยมห้อยอยู่ที่เบื้องหลัง"

จะเห็นได้และพบว่าสอดคล้องกันเป็นอย่างดี โดยเทวดานั้น แม้เพียงบารมีในระดับสวรรค์ชั้นแรก ก็ทรงร่างกายได้ใหญ่โตมโหฬารนัก ประดับทั้งเครื่องประดับ ทั้งดอกไม้เป็นกองขนาดใหญ่โต มีจำนวนมากมายจริงๆ ยิ่งถ้าในเทวดาชั้นสูงกว่านี้ บารมีมากกว่านี้ ก็คงยิ่งมโหฬารกว่า) เปรียบเหมือน คนเราเห็นยุง ก็รู้สึกว่า รอบวันเวลากินนอนพักผ่อนหนึ่งๆ ของยุงนั้นน้อยนัก

จากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ก็มาพิจารณาตามหลักฐานต่างๆ ในรายละเอียดกันต่อไป

ซึ่งเบื้องต้นที่เห็นได้ไม่ยาก และปรากฏมากแห่ง ก็คือเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีการไปมาหาสู่ข้ามภพภูมิกันนั่นเอง ไม่ว่าจะเทวดาหรือพรหม ลงมายังโลกมนุษย์ หรือที่จากภพมนุษย์ขึ้นไปบนสวรรค์ หรือพรหมโลก โดยเฉพาะกรณีที่มนุษย์ขึ้นไปสวรรค์ ใช้เวลาสนทนาหรือทำอะไรๆ ด้วยความเร็วเท่ากันกับเทวดา แล้วค่อยกลับลงมายังโลกมนุษย์ ก็ไม่มีที่พบว่าเวลาบนโลกมนุษย์ได้ผ่านไปนานมากแล้ว จนบรรดาคนรู้จักล้มหายตายจากไป แต่อย่างใด ยิ่งกรณีที่ขึ้นไปพรหมโลก อันมีเวลาอายุ ยืนยาวมหาศาลกว่ากามาวจรสวรรค์จนเทียบไม่ได้ถ้าเทียบเวลาตามตรรกะแบบผู้ที่ตั้งปัญหาตามประเด็นแล้ว กลับลงมาโลกมนุษย์เดิมก็คงสลายหายไปหมดแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด (เช่น เรื่องพระพุทธเจ้าทรงขึ้นไปสนทนาแก้ทิฏฐิพกพรหม เรื่องพระเถระต่างๆ ขึ้นไปยังสวรรค์ ฯลฯ โดยเฉพาะใน มหาปทานสูตร ที่พระพุทธองค์ขึ้นไปยังพรหมโลกชั้นสุทธาวาส เสด็จพบปะ ใช้เวลาสนทนากับเทพจำนวนมาก ตั้งแต่ในชั้นอวิหา ไปทีละชั้นจนถึงชั้นสูงสุดคือ อกนิษฐา หรือเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จลงบันไดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มายังโลก พระพุทธองค์ก็ทรงค่อยๆ ก้าวเสด็จลงมาด้วยความเร็วเป็นที่เห็นตามปกติ)

ถ้าไม่นับกรณีที่ไปมาหาสู่ข้ามภพภูมิแล้ว ก็ยังมีหลักฐานอื่นๆ อีกที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน เช่น จวมานสูตร และอรรถกถาจวมานสูตร ว่าด้วยเรื่องเทวดาที่กำลังใกล้จะจุติจากสวรรค์ในข้อ ๒๖๑ ถึง ๒๖๒ โดยจะขอยกมาบางส่วนดังนี้:-

[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑ ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑ เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑ ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑ เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑ ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑ ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑ ฯ ...

เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งออกไปว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด ท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น มีมูลเกิดแล้ว มั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยทาน แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์ เมื่อใด เทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้น ย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า แน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อยๆ ฯ

อรรถกถา

บทว่า สเก เทโว เทวาสเน นาภิรมติ ความว่า จะไม่ยินดี คือไม่ได้ความชื่นใจในทิพอาสน์สำหรับเล่นและบำเรอกับด้วยหมู่สาวสวรรค์ของตน. ได้ยินว่า ความตายจักมีแก่เทพบุตรนั้นโดย ๗ วันด้วยการนับวันในมนุษย์ เพราะฉะนั้น บุพนิมิตเหล่านี้จึงปรากฏด้วยการเกิดขึ้นแห่งบุพนิมิตนั้น เทพบุตรนั้นย่อมถูกความโศกมีกำลังครอบงำด้วยคิดว่า เราต้องพลัดพรากจากสมบัติเห็นปานนี้ ...

บทว่า ยทา วิทู ความว่า เวลาใด เทวดาทั้งหลายพึงรู้ คือพึงทราบเทวดาผู้จะจุติ เวลานั้น เทวดาทั้งหลายจะอนุโมทนาด้วยความอนุเคราะห์ คือด้วยความเป็นผู้ใคร่ เพื่อบำบัดทุกข์ตามที่กล่าวแล้ว นี้ว่า ดูก่อนเทพ ท่านจงมา คือจงกลับมาสู่เทวกายนี้บ่อยๆ ดังนี้.

---> จากความใน จวมานสูตรและอรรถกถา ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

ในช่วงระยะเวลา ๗ วันมนุษย์นั้น เทวดาทั้งหลายที่ทราบเข้า ก็จะพากันมาอวยพรปลอบใจเทวดาองค์ที่ใกล้จะจุติ ด้วยถ้อยคำต่างๆ มิใช่น้อย

ซึ่งสมมติในกรณีที่เป็นเทพชั้นดาวดึงส์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ๑ วันของเทพชั้นนี้เท่ากับ ๑๐๐ ปีมนุษย์ ... เทวดาชั้นนี้มีอายุ ๑๐๐๐ ปีทิพย์ ก็จะคำนวนได้เป็นว่า ๗ วันมนุษย์ เท่ากับเพียง ๑๘ วินาทีของเทพดาวดึงส์ เท่านั้น

หากเป็นไปตามตรรกะของผู้ที่ตั้งปัญหามา ก็จะกลายเป็นว่า เทวดาตั้งหลายองค์ ต้องใช้เวลาอวยพร กล่าวคำมิใช่น้อย ให้เสร็จภายในชั่วเวลาไม่ถึง ๑๘ วินาทีเท่านั้น จึงไม่น่าจะถูกต้อง เพราะระยะเวลาน้อยแค่นั้น แค่ทักทายปราศัย ก็ไม่ทันแล้ว โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นเทพในสวรรค์ชั้นสูงยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะยิ่งเหลือเพียงชั่วแวบเดียวเท่านั้น จะเอาเวลาที่ไหนไปกล่าวอะไรได้

ดังนี้ ในทำนองเดียวกัน

กรณีพระนางมัลลิกาเสวยกรรมในนรก เป็นช่วงระยะเวลา ๗ วันมนุษย์ แม้ในภูมินรกนั้นๆ จะถือนับหน่วยระยะเวลากันว่า ผ่านไปนับเท่ากับเพียงชั่วครู่นิดเดียว แต่จริงๆ แล้ว ก็ตกนรกเป็นระยะเวลาความนานเท่ากับ ๗ วันมนุษย์นั่นแหละ มิใช่ตกนรกแค่ชั่วพริบตาตามที่เข้าใจไป แต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น ควรพิจารณาด้วยว่า แม้การอยู่ในนรกแม้เพียงชั่วพริบตาเดียวก็เถอะ ก็เป็นการเสวยความทุกข์มากมายมหาศาลยิ่งนัก กว่าความทุกข์ทรมานตลอดชีวิตมนุษย์รวมกันเสียอีก ดังจะเห็นได้จาก ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสอุปมาความทุกข์ในนรก ใน พาลบัณฑิตสูตร

(หลักฐานอื่นๆ ในการพิจารณาเรื่องเวลา จะขอกล่าวต่อไปในภายหลัง)

 
  ความคิดเห็นที่ 44  
 
parusit
วันที่ 12 ก.ค. 2554

เรื่องอายุและเวลาในนรกภูมินั้น ตามหลักฐานชั้นอรรถกถา ระบุไว้ชัดเจนว่า เกิดจากกรรมเท่านั้นเป็นประมาณ ดังนี้

อรรถกถา อุปปาทกัมมอายุปมาณวาร พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ :-

ภูมิคือ กามาวจร ๖ พรหมโลก ๙ สุทธาวาส ๕ อรูป ๔ อสัญญสัตตา ๑ และเวหัปผลา ๑ รวมเป็นเทวโลก ๒๖ ภูมิ และมนุษยโลกอีกหนึ่ง จึงเป็น ๒๗ ภูมิด้วยประการฉะนี้.

บรรดาภูมิทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงกำหนดอายุของมนุษย์และเทวดา มิได้ทรงกำหนดอายุสัตว์ในอบายภูมิ ๔ และในภุมมเทวดาทั้งหลาย.

ถามว่า เพราะเหตุไร จึงมิได้ทรงกำหนดอายุในอบาย ๔ และภุมมเทวดาเหล่านั้น.

ตอบว่า ในนรกก่อน กรรมเท่านั้น เป็นประมาณ คือว่า กรรมยังไม่สิ้นไปตราบใด ก็ย่อมไหม้อยู่ในนรกตราบนั้น ในอบายที่เหลือก็เหมือนกัน. กรรมนั่นแหละเป็นประมาณแม้ของภุมมเทวดาทั้งหลาย. จริงอยู่ เทวดาบางพวกเกิดแล้วในภูมินั้น ย่อมตั้งอยู่เพียง ๗ วัน บางพวกตั้งอยู่กึ่งเดือน บางพวกตั้งอยู่หนึ่งเดือน แม้ตั้งอยู่ถึงหนึ่งกัปก็มี.

- หลักฐานตามอรรถกถาดังนี้ สอดคล้องกับความที่ปรากฏในพระบาลีและในอรรถกถาต่างๆ บางท่านตกนรก ๖๐,๐๐๐ ปี บางท่าน ๗ วัน บางท่าน ๑ กัป

ดังนี้จะยิ่งเห็นได้ว่า เรื่องอัตราเทียบเวลาในนรก ซึ่งมีที่มาจากไตรภูมิพระร่วง และอาจจะในบางฎีกา นั้น ไม่ใคร่จะตรงกับในหลักฐานชั้นต้นนัก เพียงแต่รับฟังไว้ก็เป็นดี แต่มิควรเลยที่จะนำมาใช้เป็นข้อสรุปฟันธง และโต้แย้งพุทธศาสนา.

แต่อย่างไรก็ดี ก็จะขออภิปรายเรื่องการเทียบเวลา (ตามนัยที่พระพุทธองค์ระบุไว้ถึงสวรรค์) ต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 45  
 
parusit
วันที่ 12 ก.ค. 2554

- พิจารณาตามเหตุผล จากพุทธพจน์ที่ทรงตรัสถึงเรื่องอายุของเทวดานั้นนั่นเอง

ถ้าได้พิจารณาแล้ว จะพบว่าเป็นการที่พระพุทธองค์ทรงตรัสโดยมุ่งแสดงอายุของเทวดานั้น มีระยะเวลายืนยาวตั้งเพียงใด ได้รับความสุขมากกว่ามนุษย์ตั้งเท่าไร

นั่นคือ ได้เปรียบกว่ามนุษย์ การที่ตรัสอัตราเทียบวันเวลาไว้นั้น ก็เพื่อมุ่งแสดงให้คำนวนเห็นถึงอายุอันยืนยาวของเทวดาแต่มิได้มุ่งแสดงความบิดเบือนทางมิติเวลาระหว่างภพภูมิ (เหมือนอย่างพวกในทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์) แต่อย่างใด

เช่นพิจารณา ตามนัยดังนี้:-

วิตถตสูตร - อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต (อุโปสถสูตร ก็มีนัยเดียวกัน)

"... การเสวยราชดำรงอิสรภาพและอธิปไตยของพระราชานั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้าเมื่อเทียบสุขอันเป็นทิพย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๕๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง ๑๒ เดือน โดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง ๕๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า ราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้าเมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๑๐๐ ปี มนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่งพันปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ...

... ดาวดึงส์นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า ราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้า เมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ "

ยิ่งในพระอภิธรรม ก็จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการมุ่งแสดงอายุ โดยรวมคำนวนแล้ว เทวดานั้นๆ มีอายุยืนคิดเป็นตั้งกี่ปีๆ แสดงเอาไว้ในตอนจบ เป็นเรื่องการนับอายุของเทวดาว่าเป็นระยะยืนยาวเพียงใด มิใช่เรื่องมิติการไหลของเวลาที่ผิดแผกไป และให้สังวรณ์ว่าแม้ยืนยาวตั้งเพียงนั้น จนดูเหมือนคงที่เที่ยงแท้ แต่แท้จริงแล้วย่อมไม่เที่ยง เสื่อมสลาย

อุปปาทกัมมอายุปมาณวาร - พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ :-

[๑๑๐๖] อายุของเหล่ามนุษย์ มีประมาณเท่าไร คือ ประมาณ ๑๐๐ ปี ต่ำกว่าบ้าง เกินกว่าบ้างก็มี อายุของเหล่าเทวดาชั้นจาตุมมหาราช มีประมาณเท่าไร คือ ๕๐ ปี ของมนุษย์ นับเป็นวันหนึ่งและคืนหนึ่งของเหล่าเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ๓๐ ราตรี โดยราตรีนั้น เป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น เป็น ๑ ปี ๕๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นกำหนดอายุของเหล่าเทวดาชั้นจาตุมมหาราช นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณเท่าไร มีประมาณ ๙ ล้านปี อายุของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีประมาณเท่าไร คือ ๑๐๐ ปีของมนุษย์ นับเป็นวันหนึ่งและคืนหนึ่งของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้น เป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น เป็น ๑ ปี ๑,๐๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นกำหนดอายุของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณเท่าไร มีประมาณ ๓ โกฏิ ๖ ล้านปี พวกเทวดากามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณทั้งปวง อายุของพวกเทวดากามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น นับรวมกันทั้งหมดเป็นเท่าไร เป็น ๑๒๒๘ โกฏิ ๕ ล้านปี โดยนับอย่างปีมนุษย์

[๑๑๐๗] ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างสามัญ ไปเกิดที่ไหน ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างสามัญ ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นพรหมปาริสัชชา

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร มีประมาณเท่าส่วนที่ ๓ ที่ ๔ แห่งกัปป์ [คือ ๑ ใน ๓ หรือ ๑ ใน ๔ แห่งกัปป์]

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ มีประมาณเท่าไร มีประมาณ ๘๔,๐๐๐ กัปป์

เหล่าสัตว์ที่มีอำนาจแห่งบุญส่งเสริม ไปแล้วสู่กามภพ และรูปภพ หรือแม้ไปสู่ภวัคคพรหม ย่อมกลับไปสู่ทุคติอีกได้ เหล่าสัตว์มีอายุยืนถึงเพียงนั้นก็ยังจุติเพราะสิ้นอายุ ภพไหนๆ ชื่อว่า เที่ยง ไม่มี


จะขออธิบายเทียบให้เห็นภาพว่า

ถ้ากรณีเป็นเรื่องการที่มิติการไหลของเวลาผิดแผกต่างจากกัน จริง (เหมือนอย่างที่ผู้ตั้งคำถามเข้าใจ เช่น ๗ วันมนุษย์ เท่ากับเวลาจริงๆ ชั่วพริบตาเดียวในสวรรค์ หรือ เหมือนอย่างในทฤษฎีสัมพัทธภาพ ที่ผู้ที่ยิ่งเคลื่อนที่เร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง เวลายิ่งบิดเบือนออกจากผู้ที่เคลื่อนที่ช้ากว่า เช่น นั่งจรวดความเร็วสูง พอกลับมายังโลก พบว่าเพื่อนฝูงคนรุ้จักแก่ตายไปหมดแล้ว ทั้งๆ ที่ตนเองก็เพิ่งได้ใช้เวลาทำอะไรไปไม่กี่ปี)

เช่นนี้เท่ากับว่า ที่จริงแล้วมิได้มีใครอายุยืนกว่าใคร หรือได้เปรียบกว่าใครเลย เป็นแต่เพียง มิติของเวลาบิดเบือนออกจากกัน จึงเหมือนการได้เดินทางข้ามไปในอนาคต แต่ไม่ได้เป็นว่าตนได้เวลาเสวยสุข (หรือทุกข์) มากกว่า หรือได้อายุยืนยาวกว่าแต่อย่างใดเลย

แต่เทพสวรรค์ ในพุทธศาสนามิได้เป็นเช่นนั้น ดังจะเห็นได้ตามหลักฐานที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น การตีความตามตรรกะของผู้ที่ตั้งคำถามโต้แย้งมา จึงไม่ถูกต้อง ไม่ถูกเรื่อง และเพราะอย่างนี้ จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจ เกิดความสับสนงุนงงขึ้น นั่นเอง

(จะขอกล่าวถึงหลักฐานอื่นๆ ต่อไปอีก)

 
  ความคิดเห็นที่ 46  
 
parusit
วันที่ 12 ก.ค. 2554

(หลักฐานเพิ่มเติม ตามประเด็นใน คห.ที่แล้ว)

ที่เห็นชัดว่า พระพุทธองค์มุ่งแสดงถึงความอายุยืนของเทวดาเมื่อเปรียบกับมนุษย์

เห็นถึงความได้เปรียบของเทวดา แต่มิใช่จะมีการแตกต่างในมิติการไหลของเวลาแต่อย่างใด

ชราสุตตนิทเทส - ขุททกนิกาย มหานิทเทส :-

อนึ่ง เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ชีวิตของมนุษย์ก็น้อย คือเล็กน้อย นิดหน่อย เป็นไปชั่วขณะ เป็นไปพลัน เป็นไปชั่วกาลเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่ช้า ดำรงอยู่ไม่นาน. เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นยามา เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นดุสิต เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นนิมมานรดี เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาที่เนื่องในหมู่พรหม ชีวิตของมนุษย์ก็น้อย คือเล็กน้อย นิดหน่อย เป็นไปชั่วขณะ เป็นไปพลัน เป็นไปชั่วกาลเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่ช้า ดำรงอยู่ไม่นาน. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อยจำต้องละไปสู่ปรโลก มนุษย์ทั้งหลายจำต้องประสบความตายตามที่รู้กันอยู่แล้ว ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีมนุษย์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดอยู่นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือที่เกินกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีน้อย

 
  ความคิดเห็นที่ 47  
 
parusit
วันที่ 12 ก.ค. 2554

* หลักฐาน ที่สำคัญและชัดเจน *

- หลักเรื่องความเร็วในการเกิดดับของจิต ธรรมชาติของขณะจิต วิถีจิตที่ย่อมเหมือนกันในสัตว์ทั้งปวง ทุกภพภูมิ รวมถึงความดำรงอยู่ และเกิดตายทางปรมัตถ์ เบื้องต้นขอให้พิจารณา ตาม ชราสุตตนิทเทส - ขุททกนิกาย มหานิทเทส :-

ชีวิตน้อยเพราะตั้งอยู่น้อยอย่างไร? ชีวิตเป็นอยู่แล้วในขณะจิตเป็นอดีต ย่อมไม่เป็นอยู่ จักไม่เป็นอยู่. ชีวิตจักเป็นอยู่ในขณะจิตเป็นอนาคต ย่อมไม่เป็นอยู่ ไม่เป็นอยู่แล้ว. ชีวิตย่อมเป็นอยู่ในขณะจิตเป็นปัจจุบัน ไม่เป็นอยู่แล้ว จักไม่เป็นอยู่.

สมจริงดังพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งมวล เป็นธรรมประกอบกันเสมอด้วยจิตดวงเดียว ขณะย่อมเป็นไปพลัน เทวดาเหล่าใดย่อมตั้งอยู่ตลอดแปดหมื่นสี่พันกัป แม้เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ประกอบด้วยจิตสองดวงดำรงอยู่เลย ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ที่ตายหรือของสัตว์ที่เป็นอยู่ในโลกนี้ดับแล้ว ขันธ์เหล่านั้นทั้งปวงเทียว เป็นเช่นเดียวกัน ดับไปแล้ว มิได้สืบเนื่องกัน ขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้วในอดีตเป็นลำดับ และขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้วในอนาคตเป็นลำดับ ความแปลกกันแห่งขันธ์ทั้งหลาย ที่ดับไปในปัจจุบันกับขันธ์เหล่านั้น มิได้มีในลักษณะ สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคต ขันธ์ย่อมเป็นอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์ สัตว์โลกตายแล้วเพราะความแตกแห่ง

จิตนี้เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์ ขันธ์ทั้งหลายแปรไปโดยฉันทะ ย่อมเป็นไป ดุจน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น ย่อมเป็นไปตามวาระอันไม่ขาดสายเพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย ขันธ์ทั้งหลายแตกแล้ว มิได้ถึงความตั้งอยู่ กองขันธ์มิได้มีในอนาคต ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วย่อมตั้งอยู่ เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น ก็ความแตกแห่งธรรมขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วนั้น สกัดอยู่ข้างหน้าแห่งสัตว์เหล่านั้น ขันธ์ทั้งหลายมีความทำลายเป็นปกติ มิได้เจือปนกับขันธ์ที่เกิดก่อน ย่อมตั้งอยู่ ขันธ์ทั้งหลายมาโดยไม่ปรากฏ แตกแล้วก็ไปสู่ที่ไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ

- สำนวนฉบับหลวง สยามรัฐ-

ลองพิจารณาสำนวนฉบับมหาจุฬาฯ ดูประกอบ :-

"ชีวิตเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร คือ ในขณะจิตที่เป็นอดีต ชีวิตเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่ ในขณะจิตที่เป็นอนาคต ชีวิตจักเป็นอยู่ ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน ชีวิตกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่

(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)

ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งปวง เป็นธรรมที่ประกอบกันขึ้นชั่วขณะจิตเดียว ขณะย่อมหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทวดาผู้ดำรงอยู่ได้ตั้ง ๘๔,๐๐๐ กัป ก็มิได้ประกอบด้วยจิต ๒ ดวง (ในขณะจิตเดียว) เป็นอยู่ได้ ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ที่ตายไป หรือยังดำรงอยู่ในโลกนี้ดับไปแล้ว ขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด เป็นอย่างเดียวกัน ดับไปแล้วก็มิได้สืบต่อกัน ขันธ์ที่แตกไปในอดีตอันหาลำดับมิได้และขันธ์ที่จะแตกไปในอนาคต มีลักษณะไม่ต่างกับขันธ์ที่ดับในปัจจุบัน

สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมดำรงอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์ เพราะจิตแตกดับไป สัตว์โลกชื่อว่า ตายแล้ว นี้เป็นปรมัตถบัญญัติ

เพราะมีอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย ขันธ์ทั้งหลายที่แปรไปตามฉันทะ ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย เหมือนน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้ว กองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มี ส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น

ความแตกทำลายแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ปรากฏอยู่ข้างหน้า ขันธ์ทั้งหลายที่มีการแตกเป็นธรรมดา ดำรงอยู่ มิได้รวมกับขันธ์เก่า ขันธ์ทั้งหลายมาโดยสภาวะที่ไม่ปรากฏ แตกทำลายไปแล้ว ก็ไปสู่สภาวะที่ไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและดับไป เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ฉะนั้น."

ดังนี้ ก็จะเป็นที่เห็นได้ว่า อัตภาพทั้งมวล ไม่ว่าจะสัตว์เหล่าใด เทพที่มีเวลาอายุยืนยาวขนาดไหน ก็ย่อมเกิดขึ้น ดำรงอยู่ ตายไป ตามชั่วขณะจิตเป็นไปพลันเท่าๆ กัน ตามความจริงที่เป็นปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น ความรวดเร็วในการเกิดดับของจิต การมีวิถีจิตรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของสัตว์ในทุกภพภูมิ ย่อมเป็นไปด้วยเวลารวดเร็วเสมอกันโดยแท้ ตามการเกิดดับของจิต โดยปรมัตถ์ มิได้ยืดออก หรือหดเข้า ช้าเร็ว เปลี่ยนแปลงไปตามมิติทางเวลาระหว่างภพอะไร แต่อย่างใด

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็เหมือนการที่นาฬิกา ใช้การสั่นของอะตอมที่สม่ำเสมอ เป็นตัวชี้วัดเวลา กรณีนี้ก็เช่นกัน ใช้ความเร็วรอบการเกิดดับของจิต เป็นตัวชี้วัดเวลา ซึ่งล้วนเท่ากันทุกภพภูมิ

ถ้าตีความโดยเข้าใจผิดไปว่า การไหลของเวลาในสวรรค์ (หรือนรก) จะมีการบิดเบือนทางมิติแตกต่างออกจากกัน (เช่น เข้าใจผิดไปว่า 'ตกนรกอยู่ ๗ วันของมนุษย์ก็แทบจะพริบตาเดียวในนรกเท่านั้นเอง') นั่นก็แปลว่า ขณะที่ในโลกมนุษย์ จิตเกิดดับไปแล้ว สมมติว่า แสนโกฏิขณะ แต่ในพรหมโลกชั้นสูงสุด อย่างเทพผู้มีอายุตั้ง ๘๔,๐๐๐ กัป อันมีมิติเวลาต่างกับโลกมนุษย์ อย่างมหาศาลประมาณมิได้ (แสนโกฏิปีของมนุษย์ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวเดียวของ ๑ กัป ตามที่พระพุทธองค์ตรัส) จิตของพรหมในชั้นนั้น ก็ต้องยังไม่ทันเกิดดับไปแม้แต่ขณะจิตเดียวเลย เพราะมีเวลาช้ากว่าโลกมนุษย์มากๆ แต่ความจริงแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามิได้เป็นเช่นนั้น ดังพระสูตรที่ปรากฏชัดแล้วถึงความจริงทางปรมัตถ์

และที่สำคัญ เวลาที่พระพุทธเจ้าหรือพระเถระทั้งหลาย หยั่งรู้วาระจิตของบรรดาเทพเทวดา ก็เป็นหลักฐานจำนวนมาก ที่ยืนยันชัดเจนว่า การเกิดดับของจิตในภพภูมิอื่น มิได้ช้าลงแต่อย่างใด เพราะถ้าช้าลงแล้ว ด้วยว่ามิติการไหลของเวลาช้ากว่า จิตก็เกิดดับช้ากว่า ย่อมแปลว่าเทวดาต้องรับรู้อารมณ์ คิด และทำอะไรๆ ช้ากว่าโลกมนุษย์มาก และเมื่อพระเถระหยั่งรู้วาระจิตของเทวดาในภพภูมิอื่น ก็ต้องพบปัญหาว่า เทวดายังคิดไม่เสร็จเสียที วาระจิตอืดอาดยังไม่ไปไหนเลย ด้วยว่ามิติเวลาเดินช้า แต่ในความเป็นจริง ก็หาได้ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านสามารถตรวจสอบในข้อนี้ได้ไม่ยาก

- หลักฐานในพระสูตร เรื่องของวันพระ ซึ่งตรงกันทั้งสามโลก

โดยเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา และชั้นดาวดึงส์ จะมาร่วมประชุมกันที่สุธรรมาสภา ทุกรอบกำหนดวันพระ ที่พร้อมเพรียงกัน และมีเทพพรหม คือสนังกุมารพรหม ลงมาจากพรหมโลกชั้นสูงเพื่อแสดงธรรมอย่างสม่ำเสมอ ตามรอบวาระที่มาประชุมกัน

(โปรดศึกษาได้จาก ชนวสภสูตร และ มหาโควินทสูตร รวมทั้งอรรถกถาประกอบด้วย)

จะเห็นได้ว่า เทวดาจากต่างแห่งสามที่นั้น ล้วนมีคำนวนเวลาอายุต่างกันตั้งเป็นเท่า โดยเฉพาะเทพพรหม ยิ่งต่างออกไปอย่างมาก หลายล้านปีของเทวดา อาจไม่ถึง ๑ วินาที ของพรหม ด้วยซ้ำ เพราะพรหมมีเวลาอายุยืนยาวมาก เป็นตั้งมหากัปๆ (นานจนมิอาจประมาณปีได้ โปรดดูเพิ่ม) แต่แม้กระนั้น ก็ถือรอบวันเวลาที่จะมาประชุมกัน ได้พร้อมเหมือนๆ กันนั่นเอง ถ้ากรณีเป็นเรื่องที่มิติการไหลของเวลาผิดแผกต่างจากกัน จริงเหมือนอย่างที่ผู้ตั้งคำถามเข้าใจ เช่น ๗ วันมนุษย์ เท่ากับเวลาจริงชั่วพริบตาเดียวในสวรรค์ (หรือนรก)

นั่นย่อมเท่ากับว่า ในเพียงเสี้ยววินาทีนั้น สนังกุมารพรหมต้องคอยลงมาแสดงธรรม ไปตั้งไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแล้ว จนเป็นไปมิได้เลยที่จะมีเวลาพักผ่อน หยุดพักทำอะไรๆ บนพรหมโลก ไม่มีเวลาเสวยบุญเลย และย่อมไม่มีเวลาไปกล่าวคาถา ต่อหน้าพระพุทธเจ้า (ตามในพระสูตรอื่น) เป็นแน่แท้

ระหว่างเทวดาชั้นจุตามหาราชิกา กับเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็เช่นกัน เป็นที่รู้กันว่าเทวดาสองชั้นนี้ สามารถไปมาหาสู่กันได้เป็นปกติ โดยไม่ติดขัด (ศึกษาได้จากพระสูตร) และกระทำอะไรร่วมกัน ด้วยความเร็วปกติธรรมดาเท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่คำนวนเวลา อายุต่างกันตั้งเป็นเท่า

ในเรื่องรอบการร่วมประชุมฟังธรรมนี้ก็เช่นกัน ถ้าคิดตามตรรกะที่มิติไหลเวลาแตกต่างบิดเบือน อย่างที่ผู้ตั้งคำถามใช้แย้งมา ก็จะกลายเป็นว่า พอถึงรอบวันฟังธรรมของเทวดาชั้นจาตุฯ แล้ว แต่เวลาของเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมยังมาไม่ถึง ย่อมอีกนานกว่าจะมาถึง แล้วจะมาประชุมพร้อมกันได้อย่างไร นี้ก็จะเห็นได้ว่าจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นในการตีความ

ดังนี้ การพิจารณาเรื่องเวลาตามตรรกะของผู้ที่ตั้งคำถามโต้แย้งมา จึงไม่ถูกต้อง ตามที่ปรากฏแล้ว

โดยสรุป จากหลักฐาน และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ในหลาย คห. ก็น่าจะเป็นที่เห็นได้ว่า

เกี่ยวกับอายุของมนุษย์เทียบกับอายุของสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น ควรจะต้องเข้าใจอย่างไร. โดยเฉพาะเวลาในนรกนั้น ยิ่งควรพิจารณา เพราะอัตราเทียบเวลาในนรกนั้น จริงๆ แล้วน่าจะเป็นเพียงมติจากบางฎีกาเท่านั้น และอ้างอิงจากไตรภูมิพระร่วงกันโดยมาก แต่ตามหลักฐานชั้นต้น ไม่มีอัตราเทียบเช่นนั้นแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ดี แม้ถือตามมติในฎีกานั้นๆ ก็สามารถอธิบายได้ดังกล่าวแล้ว ว่าต้องเสวยทุกข์ในนรกเป็นระยะเวลาความนานเท่านั้นจริงๆ มิได้เกิดการบิดเบี้ยวทางมิติเวลาเหมือนสมการฟิสิกส์แต่อย่างใด

และถึงที่สุดแล้ว ต่อให้ผู้ใด ตกนรกเพียงชั่วพริบตาเดียวก็ตาม (เพราะอกุศลกรรมนั้นน้อย) ก็ยังต้องได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสมากมายนัก อย่างประมาณแทบมิได้ มิใช่ว่าจะรู้สึกเพียงน้อยนิดแต่อย่างใด ในข้อนี้ขอให้พิจารณาตาม พาลบัณฑิตสูตร แล้วดูเอาเถิด

 
  ความคิดเห็นที่ 48  
 
Patikul
วันที่ 21 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 49  
 
Witt
วันที่ 16 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 50  
 
chatchai.k
วันที่ 5 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 52  
 
nui_sudto55
วันที่ 18 ก.พ. 2567

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ