ฌาน8เป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนาหรือไม่?

 
วินิจ
วันที่  2 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18469
อ่าน  14,146
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ฌานคือสภาพธรรมที่เพ่ง หรือ เผา ธรรมฝ่ายตรงกันข้าม ดังนั้นฌานจึงมีทั้งที่เป็น

ฝ่ายกุศล ที่เป็นการเพ่งหรือเผา ธรรมที่เป็นข้าศึกคือกิเลสในขณะนั้นที่เป็น นิวรณ์

เป็นต้น โดยนัยตรงกันข้าม ฌานที่เป็นอกุศลก็มี ซึ่งขณะนั้นก็เผา กุศล คุณความดี

เพราะเป็นอกุศลในขณะนั้นครับ ดังนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด เมื่อไม่ศึกษาหรือฟังให้

เข้าใจก็สำคัญสิ่งที่ทำ คิดว่าเป็นฌานแล้วจะต้องเป็นกุศล ซึ่งไม่เสมอไปหากเริ่มจาก

ความเข้าใจผิดครับ

สำหรับกรณีของฌาน 8 คือ การอบรมสมถภาวนา จนบรรลุฌานขั้นต่างๆ จนถึง

สูงสุด คือ ฌานที่ 8 สมถภาวนาเป็นเรื่องของปัญญา ต้องเริ่มจากความเข้าใจถูก

หากไม่มีปัญญาเห็นโทษของกิเลส แต่อยากสงบ และที่สำคัญไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นกุศล

หรือ อกุศล ก็ไม่สามารถรู้ว่าขณะที่ทำเป็นกุศล หรือ อกุศล ก็ไม่สามารถเริ่มที่จะเป็น

สมถภาวนาได้เลยครับ เพราะแม้ชีวิตประจำวันในขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศลหรือเปล่า

ขณะที่ทำ เพียงนิ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกุศลครับ ซึ่ง ฌาน 8 พวกฤาษี ดาบส

ที่มีปัญญา เช่น กาฬเทวิลดาบส อาฬารดาบส ท่านอบรมปัญญาจนได้ฌานที่ 8 แต่ก็

ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะไม่มีปัญญาที่เข้าใจหนทางดับกิเลส เพราะ

สมถภาวนา มีก่อนพุทธกาล และไม่ใช่หนทางดับกิเลสครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

พระพุทธเจ้าทรงแสดงประโยชน์ของ กุศล คือเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศล

ทุกๆ ประการ เพราะกุศลนำมาซึ่งสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์กับผู้เกิดกุศล แต่กุศลก็มีกุศลที่

สามารถดับกิเลสได้ และไม่สามารถดับกิเลสได้ พระพุทธองค์ไม่ทรงปฏิเสธไม่ให้

เจริญกุศล มีการเจริญฌานคือสมถภาวนา แต่พระองค์ทรงแสดงความจริงที่พระองค์

ทรงตรัสรู้ หนทางดับกิเลสว่า การอบรมสมถภาวนา ไม่ใช่หนทางดับกิเลส เป็นแต่

เพียงธรรมเครื่องอยู่เท่านั้น คือเป็นเครื่องอยู่ให้สงบจากกิเลส แต่ไม่สามารถดับกิเลส

และไม่ใช่หนทางดับกิเลสได้จริง

ฌานก็เปรียบเหมือน ก้อนหินทับหญ้า หญ้าก็ไม่งอกขึ้น แต่ไม่ตายตราบเท่าที่ก้อน

หินทับอยู่ การเจริญสมถภาวนาที่ได้ฌานก็เช่นกัน สงบจากกิเลส ตราบเท่าที่อยู่ใน

ฌานแต่เชื้อของกิเลสไม่สามารถดับได้เพราะไม่ใช่หนทางดับกิเลสครับ พระพุทธเจ้า

ทรงตรัสรู้ความจริงที่เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นการเจริญสติปัฏฐาน 4 ทีเป็นการเจริญ

วิปัสสนา ซึ่งหนทางในการดับกิเลส คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงใน

ขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เห็นถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา

ดังนั้นเป็นการเห็นลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่สมถภาวนาที่เป็น

ฌานในขณะนั้น เพ่งอารมณ์ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และ

เป็นอนัตตาของสภาพธรรมครับ ดังนั้นการเจริญวิปัสสนาเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน เป็น

หนทางในการดับกิเลสครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล มีทั้งที่ท่านอบรมสมถภาวนา ได้ฌานพร้อมกับอบรม

วิปัสสนาและได้บรรลุธรรม กับพระอรหันต์ที่ท่านเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ไม่ได้

อบรมฌาน สมถภาวนาแต่ก็ได้บรรลุธรรม ดังนั้นการบรรลุธรรมจึงมีได้เพราะอาศัยการ

เจริญวิปัสสนา ที่เป็นสติปัฏฐานครับ ดังนั้นไมได้หมายความว่าเมื่อจะรู้ลักษณะของ

สภาพธรรม เห็นความจริงที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จะต้องอาศัยการเจริญ

สมถภาวนาให้ได้ฌานก่อนครับ ตามที่กล่าวแล้วพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานแต่บรรลุธรรม

ในสมัยพุทธกาลมี และมีมากกว่าผู้ที่ได้ฌานแล้วเจริญวิปัสสนา บรรลุธรรมครับ ดังนั้น

จะต้องเข้าใจเสียใหม่ครับว่า การจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เห็นสภาพธรรมตามความเป็น

จริง ด้วยการเจริญวิปัสสนา ทีเป็นสติปัฏฐาน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอบรมให้ได้

ฌานจึงเจริญวิปัสสนาได้ครับ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขาอุบาสิกา ท่านไม่ได้

ฌาน แต่ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ฌานจึง มี 2 อย่าง คือ เพ่งลักษณะ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา) ที่เป็น

ลักขณูปนิชฌาน อันเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

ฌาน ที่เพ่งอารมณ์ คือ อารัมมณูปนิชฌาน มีการเจริญฌาน 8 เป็นต้น แต่ไม่ได้รู้

ลักษณะและไม่ใช่หนทางดับกิลสครับ ซึ่งในพระไตรปิฎก พระโพธิสัตว์ท่านเกิดเป็น

มหาโควินทพราหมณ์ ท่านได้ฌานและสั่งสอนสาวกของท่านได้ฌานไปเกิดพรหมโลก

พระพุทธเจ้าทรงแสดงสูตรนี้ในอดีตชาติของพระองค์ แต่พระองค์ทรงแสดงว่า ทางนี้

(สมถภาวนา ฌาน) ไม่ใช่ทางเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ที่จะหลุดพ้นได้ แต่ในสมัยนี้ เรา

แสดงอริยมรรค อันเป็นหนทางที่จะหลุดพ้นได้ครับ ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ.... สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา

ปฐมฌานไม่ใช่สัลเลขธรรม

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ.... ปัญญาในสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้แต่ในเรื่องของฌาน ก็จะต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะฌานถ้าศึกษาครบถ้วนแล้ว มีประเภทใหญ่ๆ ๒ ประการ คือ คือ กุศล-ฌาน กับ อกุศลฌาน (ในขณะที่เป็นอกุศล) แม้กุศลฌานก็จำแนกเป็น ๒ ประเภท คืออารมณูปนิชฌาน ๑ ลักขณูปนิชฌาน ๑ ตามคำอธิบายข้างต้นแล้ว กล่าวคือ อารัมมณูปนิชฌาน เป็นการเจริญความสงบเป็นฌานขั้นต่างๆ ส่วน ลักขณูปนิชฌาน เป็นการ การอบรมเจริญปัญญา (สติปัฏฐาน) ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนปัญญามีกำลังและบรรลุเป็นพระอริยบุคคลโดยที่ไม่ต้องเจริญฌานซึ่งเป็นอารมณูปนิชฌาน ก็มีมากมายในสมัยครั้งพุทธกาล แต่บางคนถึงแม้ว่าจะได้อบรมเจริญฌาน จนได้ฌานขั้นสูงสุด แต่ก็ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็มีเช่นเดียวกัน เป็นผู้ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ เพราะฉะนั้นแล้ว จุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพ-ธรรมตามความเป็นจริง หนทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นหนทางที่ทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจถูก เห็นถูก เป็นปัญญาของตนเอง ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Yongyod
วันที่ 2 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

สาระสำคัญของศาสนาพุทธคือธรรมเครื่องนำออกที่เป็นฝ่ายวิวัฏฏะ

คือ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้นค่ะ

กุศลธรรมอื่นๆ นอกนี้เป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะยังเป็นไปกับวัฏฏะ

ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล หรือ สมถภาวนา

แต่การเจริญสติปัฏฐานจะปฏิเสธกุศลธรรมขั้นอื่นไม่ได้

เพราะกุศลทุกประการเป็นการขัดเกลาทั้งหมด

เปรียบเสมือนแม่ทัพที่เก่งกาจอาจหาญสามารถคุมกองทัพใหญ่ได้

แต่รบคนเดียวไม่ได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วินิจ
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

ผมอ่านทุกตัวอักษรตั้งแต่คห.1-4,ตรวจปรู๊ฟให้เสร็จ,ตัวอักษรคำพูดละเอียดถูกต้องเกือบ

ทั้งหมด,มีตก"ร"อยู่ตัวเดียวตรงบรรทัดสุดท้ายของเนื้อความของคห.4,ตรงคำว่า'อริยมรค',

เนื้อความชุดนี้อ่านแล้วเข้าใจง่าย,เป็นภาษาพื้นๆ ,แจ่มแจ้งดีครับ,ขอโมทนากับความตั้งใจ

ดีแบบเข้มข้นจริงจังของอ.เผดิมด้วยครับ,ขอให้สุขภาพแข็งแรงครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

ขอขอบพระคุณคุณวินิจ ที่ช่วยตรวจสอบและอนุโมทนาบุญที่เข้าใจพระธรรมครับ

ปรารถนาดีอย่างไรในกุศลของคุณวินิจ กุศลก็รักษาคุณวินิจเช่นกัน ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
WS202398
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

ชอบข้อความนี้มากครับ ไม่เคยได้ยินชัดๆ แบบนี้มาก่อน

" * * * * * * * * * * * * * * *

ฌานจึง มี 2 อย่าง คือ เพ่งลักษณะ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา) ที่เป็น

ลักขณูปนิชฌาน อันเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

ฌาน ที่เพ่งอารมณ์ คือ อารัมมณูปนิชฌาน มีการเจริญฌาน 8 เป็นต้น แต่ไม่ได้รู้

ลักษณะและไม่ใช่หนทางดับกิลสครับ ซึ่งในพระไตรปิฎก พระโพธิสัตว์ท่านเกิดเป็น

มหาโควินทพราหมณ์ ท่านได้ฌานและสั่งสอนสาวกของท่านได้ฌานไปเกิดพรหมโลก

พระพุทธเจ้าทรงแสดงสูตรนี้ในอดีตชาติของพระองค์ แต่พระองค์ทรงแสดงว่า ทางนี้

(สมถภาวนา ฌาน) ไม่ใช่ทางเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ที่จะหลุดพ้นได้ แต่ในสมัยนี้ เรา

แสดงอริยมรรค อันเป็นหนทางที่จะหลุดพ้นได้ครับ ขออนุโมทนา"

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

* * อกุศลฌาน นี่เจริญไปเรื่อยๆ เป็นทางเดียวกับ ฌาน 8 ข้างต้นหรือไ่ม่?

* * มีอกุศลฌาน 8 หรือไม่?

* * อกุศลฌาน มีองค์ธรรมต่างกับ อารัมมณูปนิชฌาน หรือไม่อย่างไรครับ อย่าง

ปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วอกุศลปฐมฌานมีไหม มีองค์ธรรมต่างกัน

อย่างไร สามารถแบ่งออกเป็น 8 ขั้นได้เหมือนกันหรือไม่?

* * กรณีของท่านอุทกดาบส ท่านอาฬารดาบส เป็นกุศลฌานหรืออกุศลฌาน??

* * ลักขณูปนิชฌาน กับ อารัมมณูปนิชฌาน คือใช้คำว่าเพ่งเหมือนกัน แต่อาการเพ่ง

ต่างกันใช่หรือไม่ครับ อันหนึ่งเพ่งแบบไม่เจาะจงอารมณ์ อีกอันเพ่งแบบน้อมเจาะจง

อารมณ์หน่วงอารมณ์ที่เพ่งไว้ ยึดไว้??

* * อารัมมณูปนิชฌาน คือใช้คำว่าเพ่ง คือการเพ่งอารมณ์นั้น อะไรเป็นปัจจัยครับที่ทำ

ให้เพ่งแต่อารมณ์เดียวได้ ทั้งที่ธรรมชาติของจิตเป็นของกวัดแกว่งต่ออารมณ์ อีก

ประการหนึ่ง อารมณ์ีมีอยู่มากมายหลายชนิด ว่าโดยปรมัตถ์แล้ว เช่น ขณะมีเจตนาว่าจะ

เจริญอานาปานสติสมาธิ นั้น แสดงว่าการเพ่งอารมณ์ต้องอาศัย เจตนาเจตสิก ร่วมกับ

วิตกเจตสิกในตอนเริ่มต้นและต่อไปใช่หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจิตจะกำหนดที่อารมณ์หนึ่ง

อารมณ์เดียวได้โดยอาศัยปัจจัยอะไร

* * ว่าโดยปรมัตถ์ ปัจจัยใด เจตสิกใดที่ทำให้การเพ่งของลักขณูปนิชฌาน กับ อารัม

มณูปนิชฌาน ต่างกัน อันหนึ่งไม่ติดในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเหมือนการเพ่งแบบพลวัต

อันหนึ่งติดอยู่ในอารมณ์เพียงอารมณ์เดียวเป็นการแพ่งแบบสถิต

การเพ่ง 2 ลักษณะนี้ ฟังดูเหมือนจะแยกต่างได้ไม่ยาก แต่เืมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว

ไม่ค่อยแจ่มชัดนักครับคือผมยังอ่อนอภิธรรมครับ ไม่มีอภิธรรมเป็นเครื่องกับสังขารธรรม

มากนักในปัญญาระดับขั้นการฟัง การพิจารณา ผมชักแน่ใจมากขึ้นว่าพระอภิธรรมจะมี

ประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่เป็นพวกชอบคิดพิจารณา ไม่ให้หลงเคว้งเพราะกำลังคิดใน

สิ่งที่ยังไม่ได้รู้เองเห็นเอง และมีความละเีอียดลึกซึ้งอย่างมากอีกด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

อกุศลฌาน นี่เจริญไปเรื่อยๆ เป็นทางเดียวกับ ฌาน 8 ข้างต้นหรือไ่ม่?

ไม่ครับ เพราะอกุศลฌาน เป็นอกุศลจิต แต่ฌาน 8 เป็นกุศลที่เป็นไปในเรื่อง

สมถภาวนาครับ ดังนั้น เจริญอกุศล จะเป็นกุศลไม่ได้ครับ

--------------------------------------------------------

* * มีอกุศลฌาน 8 หรือไม่?

ไม่มีครับ

---------------------------------------------------------

อกุศลฌาน มีองค์ธรรมต่างกับ อารัม มณูปนิชฌาน หรือไม่อย่างไรครับ อย่างปฐมฌาน

มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วอกุศลปฐมฌานมีไหม มีองค์ธรรมต่างกันอย่างไร

สามารถแบ่งออกเป็น 8 ขั้นได้เหมือนกันหรือไม่?

องค์ธรรมของอกุศลฌาน คือ มี วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ที่เกิดกับ อกุศลจิต

วิตก วิจาร ปิติ เกิดกับ อกุศลจิตได้ เป็น ปกิณณกเจตสิกครับ คือเกิดกับจิตประเภท

ไหนก็เป็นชาตินั้นประเภทนั้นครับ เช่น เกิดกับ อกุศลจิต เจตสิก มีวิตก วิจาร ก็เป็น

ชาติ อกุศลด้วย ส่วน สุข คือ เป็นเวทนาเจตสิก และเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตได้

ทุกประเภท เกิดกับ อกุศลจิตก็ได้ ดังนั้น ขณะที่เป็นอกุศล มี วิตก วิจาร ปิติ สุข

เอกัคคตา เป็นอกุศลฌานครับ ซึ่งโดยทั่วไปที่ไปนั่งสมาธิกัน ก็เข้าใจว่าพอนั่งแล้วนิ่ง

มีความสุข ปิติก็เลยเข้าใจไปแล้วว่าได้ฌาน เป็นกุศล แต่ความจริงแม้ อกุศลฌานก็นิ่ง

อยู่กับอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งและก็มี ปิติ มีความสุข เพราะปิติเกิกับโลภะก็ได้ครับ ส่วน

อารัมมณุปนิชฌานที่เป็นไปในการอบรมสมถภาวนา เป็นกุศลเท่านั้น ปฐมฌานก็มี วิตก

วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา เหมือน อกุศลฌาน ต่างกันที่ ปฐมฌานทีเป็นสมถภาวนาหรือ

อารัมมณูปนิชฌาน เป็นไปในฝ่ายกุศลครับ อกุศลปฐมฌาน ไม่มีครับ ขออนุโมทนา

---------------------------------------------------------

* * กรณีของท่านอุทกดาบส ท่านอาฬารดาบส เป็นกุศลฌานหรืออกุศลฌาน??

เป็นกุศลฌานครับ

--------------------------------------------------------------------

ลักขณูปนิชฌาน กับ อารัมมณูปนิชฌาน คือใช้คำว่าเพ่งเหมือนกัน แต่อาการเพ่งต่าง

กันใช่หรือไม่ครับ อันหนึ่งเพ่งแบบไม่เจาะจงอารมณ์ อีกอันเพ่งแบบน้อมเจาะจงอารมณ์

หน่วงอารมณ์ที่เพ่งไว้ ยึดไว้??

อารัมมณูปนิชฌาน เป็นการเพ่งที่ตัวอารมณ์ ตัวอารมณ์ แต่ไม่ใช่ตัวลักษณะของ

อารมณ์ เช่น ระลึกพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า เป็นการเจริญสมถภาวนา มี

การน้อมนึกถึงพระคุณเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเป็นลักขณูปนิชฌาน ขณะนั้น เพ่งที่ลักษณะ

ของจิตที่กำลังคิดนึกถึงพระพุทธคุณครับ ดังนั้น จึงเป็นการเพ่งที่ตัวลักษณะของ

สภาพธรรมที่เป็นตัวปรมัตธรรม ที่เป็น ตัว จิต เจตสิก รูปครับสำหรับลักขณูปนิชฌาน

------------------------------------------------------------------

ว่าโดยปรมัตถ์ ปัจจัยใด เจตสิกใดที่ทำให้การเพ่งของลักขณูปนิชฌาน กับ อารัมมณูป

นิชฌาน ต่างกัน อันหนึ่งไม่ติดในอารมณ์ใด้อารมณ์หนึ่ง อันหนึ่งติดอยู่ในอารมณ์เพียง

อารมณ์เดียว

ปัจจัยต่างกัน คือ ผู้ที่อบรมปัญญาสมถภาวนา ย่อมเพ่งที่อารมณ์ แต่ไม่รู้ลักษณะ

ส่วนผู้ที่ฟังพระธรรม เข้าใจในการเจริญวิปัสสนา เข้าใจเรื่องสภพาธรรมที่มีจิต เจตสิก

รูปและเข้าใจตามที่พระพุทะเองค์ทรงแสดงว่า หนทางในการละกิเลสจริงๆ คือรู้ตัวจริง

ของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ความเข้าใจนี้ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติ

และปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
WS202398
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณ คุณ paderm ครับ ได้รู้ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง ทำให้ชัดแจนขึ้นครับ

เป็นคำตอบที่เป็นกลางดีครับ

ผมก็คงต้องระวังตัวให้มากเพราะมักจะแสดงความเห็นแบบเจือความเห็นความรู้สึกส่วนตัว

แต่ยังดีที่เวลากล่าวเช่นนี้ผมก็จะกำกับไว้ว่าเป็นความเห็นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 3 มิ.ย. 2554
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วินิจ
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

คห.10คำถามคมเข้ม,คห.11คำตอบเคี่ยวข้น,ผมอ่านวนแล้ววนอีกหลายรอบเพื่อทำความ

เข้าใจให้ถ่องแท้,ขอบคุณทั้ง2ท่านครับ,ทุกสิ่งเป็นประโยชน์ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Sensory
วันที่ 5 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ กระทู้เป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะคำตอบข้อ11ของคุณเผดิมและลิงค์ที่คุณวรรณีโพส
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ