ธนสูตร และ อุคคสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔

 
มศพ.
วันที่  24 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18606
อ่าน  2,712

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมที่

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ม.ศ.พ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ธนสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ ๕ ประการ)

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก- ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๐๗

และ อุคคสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ ๗ ประการ)

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้าที่ ๑๔

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก- ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๐๗

ธนสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ ๕ ประการ)

[๔๗] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๕ ประการนี้, ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ทรัพย์ คือ ศรัทธา ๑ ทรัพย์ คือ ศีล ๑ ทรัพย์ คือ สุตะ ๑ทรัพย์ คือ จาคะ ๑ ทรัพย์ คือ ปัญญา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์ คือศรัทธาเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ... ฯลฯ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ ศรัทธา. ก็ทรัพย์ คือ ศีลเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ... ฯลฯ ... เว้นขาดจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ ศีล. ก็ทรัพย์ คือ สุตะเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสู ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้ เรียกว่า ทรัพย์ คือ สุตะ.

ก็ทรัพย์ คือ จาคะเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้วมีฝ่ามืออันชุ่มยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ จาคะ. ก็ทรัพย์ คือ ปัญญาเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันหยั่งถึงความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ ปัญญา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๕ ประการนี้แล. (พระคาถา)

ผู้ใด มีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม อันพระอริยะ ชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสใน พระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิต ทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบ ศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็น- ธรรมเนืองๆ เถิด.

จบธนสูตรที่ ๗.

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้าที่ ๑๔

๗. อุคคสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ ๗ ประการ)

[๗] ครั้งนั้นแล มหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อว่าอุคคะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมา โดยเหตุที่มิคารเศรษฐีผู้เป็นหลานโรหณเศรษฐีเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากถึงเพียงนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนอุคคะ ก็มิคารเศรษฐี หลานโรหณเศรษฐีมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากสักเท่าไร? อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทองแสนลิ่ม จะกล่าวไปไยถึงเงิน. พ. ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่แล เรามิได้กล่าวว่า ไม่มี แต่ทรัพย์นั้นแลเป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์ ๗ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูก่อนอุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชาโจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก. (พระคาถา) ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้ มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม เป็นผู้มีทรัพย์ มากในโลก อันอะไรๆ พึงผจญไม่ได้ ในเทวดา และมนุษย์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึง ประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการ เห็นธรรม.

จบสูตรที่ ๗.

อรรถกถาอุคคสูตรที่ ๗

อุคคสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า อุคฺโค ราชมหามตฺโต ได้แก่ มหาอำมาตย์ ของพระเจ้าปเสนทิโกศล. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เป็นผู้บริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้า. บทว่า อทฺโธ ความว่า เป็นผู้มั่งคั่งเพราะทรัพย์ที่เก็บไว้.ด้วยบทว่า มิคาโร โรหเณยฺโย นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสหมายเอามิคารเศรษฐีเป็นหลานแห่งโรหณเศรษฐี. บทว่า มหทฺธโน ได้แก่ เป็นผู้มีทรัพย์มากโดยทรัพย์สำหรับใช้สอย. บทว่ามหาโภโค ได้แก่ เป็นผู้มีโภคะมาก เพราะมีสิ่งอุปโภคและปริโภคมาก. บทว่าหิรญฺสฺส ได้แก่ ทองคำนั้นเอง. จริงอยู่ เฉพาะทองคำของเศรษฐีนั้นนับได้จำนวนเป็นโกฏิ. บทว่า รูปิยสฺส ความว่า กล่าวเฉพาะเครื่องจับจ่ายใช้สอย เช่นที่นอน เสื่ออ่อน ขัน เครื่องลาด และเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น จะประมาณไม่ได้เลย.

จบ อรรถกถาอุคคสูตรที่ ๗.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 24 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป ธนสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ ๕ ประการ) พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงทรัพย์ ๕ ประการ คือ ทรัพย์คือศรัทธา (ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย) ทรัพย์ คือ ศีล (เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น) ทรัพย์คือสุตะ (การสดับตรับฟังพระธรรม) ทรัพย์ คือ จาคะ (การลสะความตระหนี่ การสละกิเลส) ทรัพย์ คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม)

ผู้มีทรัพย์ ๕ ประการนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ไม่ขัดสน และเป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์

----------------------------------- อุคคสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ ๗ ประการ)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทรัพย์ ๗ ประการ โดยก่อนทรงแสดงนั้น ได้ทรงปรารภทรัพย์ของมิคารเศรษฐี ที่อุคคมหาอำมาตย์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลถวาย ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงปฏิเสธทรัพย์เหล่านั้นว่า ไม่มี แต่ทรัพย์เหล่านั้น ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ เป็นต้น ต่อจากนั้นจึงทรงแสดงทรัพย์ ๗ ประการที่ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ เป็นต้น คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ (ความละอายต่ออกุศลธรรม) ทรัพย์คือโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ และ ทรัพย์คือปัญญา

ผู้มีธรรม ๗ ประการนี้ ชื่อว่า เป็นผู้มีทรัพย์มาก อันเป็นทรัพย์ที่อะไรๆ ก็ทำลาย ไม่ได้ ใครๆ ก็ลักไปไม่ได้. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ อริยทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์? ต้องเร่งขวนขวายสะสมอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน กับ ทรัพย์ภายนอก สิ่งที่มีค่าที่แท้จริง สิ่งที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือปัญญา .....ประโยชน์จริงๆ ของการฟังพระธรรม.......... ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผิน
วันที่ 25 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natre
วันที่ 25 มิ.ย. 2554
กราบอนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
กุ้งแก้ว
วันที่ 26 มิ.ย. 2554
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paew_int
วันที่ 27 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 27 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 27 มิ.ย. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาคะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 29 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
หลานตาจอน
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
raynu.p
วันที่ 30 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
patcharin
วันที่ 30 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
panasda
วันที่ 1 ก.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Nataya
วันที่ 12 มิ.ย. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ