สอนให้ทำบุญ หรือสอนให้ละบุญ
ดูหัวข้อธรรมะเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ท่านก็สอนให้ทำบุญมากมายหลายอย่าง แต่พอ
ไปดูที่คุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้ที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกว่า เป็นผู้ละบุญ
บาปได้แล้ว ก็คือท่านสอนให้ละบุญ
เวลาจะทำบุญ ถ้านึกถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ ก็ ไม่ต้องทำ เพราะท่านสอน
ให้ละบุญ แต่พอจะละบุญ ถ้านึกถึงบุญกิริยาวัตถุ ก็ไม่ต้องละ เพราะท่านสอนให้ทำบุญ
ตกลงว่าจุดร่วมจุดต่างของเรื่องนี้อยู่ตรงไหนครับ
ขอบพระคุณที่จะกรุณาชี้แนะหลักคิดที่ถูกต้องครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย คำว่าบุญ หมายถึง สภาพธรรมที่ขำระล้างสันดาน แสดงว่าสันดาน คือ สภาพธรรม
ที่เป็นจิต เจตสิก ย่อมสะสมสิ่งที่ไม่ดี จึงต้องอาศัยสภาพธรรมที่เป็นบุญ อันเป็นสภาพ
ธรรมที่ชำระล้างอันเป็นสิ่งที่ไม่ดีคือกิเลสประการต่างๆ ดังนั้นสภาพธรรมที่เป็นกิริยาคือ
ไม่ใช่กุศลหรือ อกุศลไม่สามารถละ ดับกิเลสได้ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ชำระล้างสันดาน
ซึ่งกิริยาจิต ก็เป็นจิตของพระอรหันต์ในบางประเภท ที่ไม่ใช่บุญและบาป สภาพธรรม
ที่เป็นอกุศล ไม่สามารถชำระล้างสันดาน คือ ชำระจิต ให้หมดจดจากกิเลส ทำหน้าที่
ละกิเลสได้ มีแต่เพิ่มกิเลสครับ ส่วนสภาพธรรมที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ก็ไม่
สามารถทำหน้าที่ละกิเลสได้เช่นกัน ดังนั้น สภาพธรรมที่ทำหน้าที่ละ สละ ขัดเกลา
กิเลส ดับกิเลส คือ สภาพธรรมที่เป็นกุศล หรือ บุญ อันหมายถึงสภาพธรรมที่ชำระล้าง
สันดานนั่นเองครับ
ในบุญกิริยาวัตถุ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่สละ ขัดเกลากิเลสและชำระล้างสันดาน
ให้หมดจดจากสิ่งที่ไม่ดี คือ กิเลสครับซึ่งพระอรหันต์ ท่านละบุญและบาปได้แล้ว
หมายความว่า จิต ของท่านจะไม่เป็นกุศลหรือ อกุศลเลยครับ เพราะท่านดับเหตุที่จะ
ทำให้จิตเป็นกุศล หรือ อกุศล คือ ดับกิเลสทั้งปวงครับ จิตของพระอรหันต์จึงมี 2 ชาติ
คือ กิริยาจิตและวิบากจิตครับ
คุณสมบัติของพระอรหันต์ จึงไม่มีจิตที่เป็นกุศล หรือ อกุศลจิตเกิดขึ้นเลยครับ ดังนั้น
ท่านจึงเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว เพราะจิตเป็นกิริยาจิตนั่นเองครับ แต่ไม่ได้หมาย
ความว่า สอนให้ละบุญและบาปครับแต่เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์จึงไม่มีบุญและบาป
เกิดขึ้นครับ เป็นผู้ละบุญและบาปแล้วนั่นเอง เพราะเมื่อเหตุปัจจับดับกิเลสหมด อัน
เกิดจากการเกิดของบุญ ของกุศล ที่เป็นอรหัตถมรรค ก็ทำให้ดับเหตุคือกิเลสทั้งหมด
จิตของท่านก็ไม่เป็นกุศล หรือ อกุศลอีก ท่านจึงละบุญและบาปแล้ว แต่ไม่ใช่จะต้องไป
ละบุญและบาปครับ แต่เจริญกุศล เจริญบุญในหนทางที่ถูกต้อง ย่อมทำให้ถึงการละบุญ
ละบาปได้ เพราะไม่มีการเกิดขึ้นของกุศล หรือ อกุศลอีกเลยสำหรับบุคคลที่เป็นพระ
อรหันต์ครับ
ดังนั้น อาศัย บุญ อาศัยกุศล ย่อมสามารถชำระล้าง สันดาน ละกิเลสทั้งหมดได้ในที่
สุด ก็ย่อมถึงความเป็นผู้ละบุญและบาปได้ครับ เพราะถ้าไม่ใช่ด้วยกุศลและบุญแล้ว มี
บุญญกิรยาวัตถุก็จะไม่ถึงความเป็นผู้ละบุญและบาปได้เลยครับ แต่เมื่อเจริญ บุญ กุศล
จนถึงอรหัตถมรรคกุศล ย่อมถึงความเป็นผู้ละบุญและบาปแล้ว เพราะไม่มี กุศล หรือ
อกุศลเกิดขึ้นอีกเลยครับ อันถึงความเป็นพระอรหันต์นั่นเองครับ
หนทางการดับกิเลส คือ การเจริญ กุศล เจริญ บุญด้วยการเจริญวิปัสสนา ด้วยความ
เข้าใจในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แม้ขณะที่ บุญเกิด ก็เข้าใจสิ่งที่เป็นบุญ แต่ไม่ใช่ละบุญ
คือเข้าใจตามความเป็นจริงว่า บุญ เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นละ อกุศล คือ ความไม่รู้
และความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล และจิตขณะที่เข้าใจอย่างนั้นก็เป็นบุญที่ประกอบ
ด้วยปัญญาครับ ดังนั้น ไม่ใช่ละบุญ แต่เข้าใจบุญ เข้าใจในสิ่งทีเกิดขึ้นตามความเป็น
จริง ย่อมถึงความเป็นผู้ไม่มีบุญและบาป เพราะดับกิเลสได้หมดเพราะอาศัย การเกิดขึ้น
เจริญขึ้นของบุญคือการเจริญวิปัสสนาครับ ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
บุญ...เปรียบเหมือนเรือที่จะพาข้ามไปให้ถึงฝั่ง
เมื่อถึงฝั่งอย่างปลอดภัยแล้ว...เรือนั้นก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป
จะแบกเอาไปก็ใช่ว่าจะเกิดประโยชน์
แต่คนที่ยังเดินทางไม่ถึงฝั่ง ยังต้องอาศัยเรือ
คือ บุญและบารมีทั้งหลายนั่นเองค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บุญคือกุศลจิต ขณะใดปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นคือบุญ ซึ่งก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นต้น จนถึง ขั้นสูงสุด (คือขึ้นที่เป็นโลกุตตระ สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด) , บุญกุศลทุกประการ นำมาซึ่งความสุข ไม่ให้ผลที่เป็นทุกข์ใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ควรประมาทว่านิดหน่อย เล็กน้อย หรือไม่ควรประมาทว่าได้กระทำเพียงพอแล้ว แต่ควรที่จะเจริญบ่อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน บุคคลผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของบุญกุศล มีปัญญารู้ว่าบุญ เป็นที่พึ่ง นำสุขมาให้ ก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศล พร้อมทั้งสะสมกุศลไปเรื่อยๆ ตามกำลัง ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้งฉันทะ (ความพอใจ) ในการเจริญกุศล ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อกุศลจึงจะลดน้อยลง เบาบางลงเพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ประมาท ไม่ได้เจริญกุศลอะไรๆ เลย อกุศลย่อมจะเบาบางไม่ได้เลย มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น ต้องสะสมกุศลประการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการอบรมเจริญปัญญา สะสมความเห็นที่ถูกต้อง เมื่อปัญญาคมกล้าขึ้นก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นต่างๆ ตามลำดับมรรค สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ [ข้อที่ควรพิจารณา คือ แม้กุศลเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่เกิดขึ้น แล้วจะดำเนินไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้อย่างไร ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างแท้จริง]
พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้ทำลายข้าศึกคือกิเลสได้หมดสิ้น เป็นผู้ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป หลังจากที่ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีทั้งบาป ไม่มีทั้งบุญ จิตของท่านมีเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ ชาติวิบาก (ขณะที่ได้รับผลของกรรม) และชาติกิริยา (เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดผลข้างหน้า) กล่าวคือ การกระทำและคำพูดในชีวิตประจำวันของท่านก็เป็นเพียงกิริยาจิต ไม่ใช่บุญที่จะส่งผลอีกต่อไป เช่น พระอรหันต์แสดงธรรมเกื้อกูลผู้อื่น ขณะนั้นเป็นกิริยาจิต เป็นต้น และ หลังจากที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก จึงเป็นผู้ดับวัฏฏะได้อย่างเด็ดขาด ครับ. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
พระอรหันต์ ไม่มีบุญ ไม่มีบาป [คาถาธรรมบท] ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จากที่ได้ฟัง (อ่าน) คำอธิบาย กระผมสรุปสั้นๆ ว่า ละบุญละบาปได้ (จิตไม่เป็นบุญ
เป็นบาป) เป็นผลมาจากการบำเพ็ญบุญ (ตามความหมายที่ถูกต้อง) จนถึงที่สุดนั่นเอง
จึงเป็นอันว่า ยังต้องบำเพ็ญบุญอยู่ต่อไป จนกว่าจะเกิดผลถึงที่สุด คือจิตไม่เป็นบุญ
เป็นบาปอีกต่อไป
คำสรุปนี้ผิดถูกประการใด โปรดชี้แนะด้วยครับ - ขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 5 ครับ
สรุปได้ถูกต้องแล้วครับ อาศัยการทำบุญ การเจริญกุศล ทุกประการ รวมทั้งการเจริญ
วิปัสสนา จนถึงที่สุด ก็สามารถละกิเลสทั้งหมดด้วยโลกุตตรกุศล ที่เป็นอรหัตถมรรคจิต
ก็ดับกิเลสหมด ถึงความเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้วนั่นเองครับ ขออนุโมทนาที่มีความ
เข้าใจถูกต้องครับ
กุศลหรือบุญ มี 2 อย่าง คือกุศลที่วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ และ กุศลที่ออกจากวัฏฏะ
พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญกุศลที่ออกจากวัฏฏะค่ะ
บุญมี 2 อย่างคือ บุญที่ประกอบด้วยปัญญา กับบุญที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาบุญที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นเหตปัจจัยที่ทำให้ออกจากวัฏฏะ..ที่ว่า (จิตไม่เป็นบุญเป็นบาป) เป็นผลมาจากการบำเพ็ญบุญ (ตามความหมายที่ถูกต้อง) จนถึงที่สุดนั่นเอง..การบำเพ็ญบุญนั้นต้องประกอบด้วยปัญญาระดับสูงที่สามารถประหารกิเลสเป็นสมุทเฉทสำเร็จเป็นพระอรหันต์